ยืนหนอ ๕ ครั้ง
การกำหนดเวทนา จิต ธรรม

ยืนหนอ ไม่ต้องชิดเท้า ให้เอามือไพล่หลัง
มือขวาจับมือซ้ายตรงกระเบนเหน็บ

ยืนหนอ…ผู้ปฏิบัติยืนตรงแล้ว ไม่ต้องชิดเท้า เดี๋ยวจะล้มไป ยืนธรรมดา…เอามือไพล่หลัง มือขวาจับมือซ้าย ต้องการให้ตรงกระเบนเหน็บ หลังจะได้ไม่งอ ในเมื่อเฒ่าแก่ชราลงไป บางท่านก็ถนัดเอามือไพล่ข้างหน้า ก็ใช้ได้แต่โดยวิธีการแล้ว ทำให้ห่อตัว ทำให้หายใจไม่ปกติ ปอดผายไม่เข้าสู่ภาวะ…

ทำไมต้องเอามือไว้ข้างหลัง คนหนึ่งเป็นโรคปอด คนหนึ่งเป็นโรคหืดหอบ เป็นโรคหัวใจ เอามือไว้ข้างหน้า เดินไปนานๆ รัดหน้าอก เลยหายใจไม่ออก เป็นลมหวิวไป เอามือไว้ข้างหลัง เดินไปมันจะปวดไหล่ ปวดก็กำหนดปวดหนอ มันจะกดกระเบนเหน็บ จะไม่เป็นโรคไต ไม่ใช่เดิน ๑๐ นาทีนะ เดินเป็นชั่วโมงถึงจะรู้ หลังไม่งอ มีประโยชน์ด้วย บริหารลมหายใจได้ดีด้วย ขอฝากไว้ ผู้ทำกรรมฐานโปรดทำตามนี้

ยืนหนอ ต้องหลับตา ใช้สติกำหนด วาดมโนภาพ

ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา สำรวมจิต ให้สติจับอยู่ที่กลางกระหม่อม กำหนดว่ายืนหนอ…ช้าๆ ต้องใช้สติกำหนดมโนภาพ อันนี้มีประโยชน์มาก แต่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติจุดนี้ ปล่อยให้ล่วงไปเปล่า โดยใช้ปากกำหนดไม่ได้ใช้จิต ไม่ได้ใช้สติกำหนดเกิดมโนภาพ อันนี้มีความสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติมาก ผู้ปฏิบัติต้องจับจุดนี้ คำว่ายืนหนอ ๕ ครั้ง ยืนอยู่นั้นต้องหลับตา วาดมโนภาพ เพราะจิตนี้มันวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน คิดอ่านอยู่เสมอ แต่แล้วเราใช้สติกำหนดตามจิตโดยว่ายืนหนอ ๕ ครั้ง

ยืนหนอ ต้องใช้จิตปักที่กระหม่อม ไม่ต้องดูลมหายใจ

ต้องใช้จิตปักลงที่กระหม่อม กระหม่อมของเราทุกคนอยู่ตรงไหน ตั้งสติไว้ตามจิตลงไป… ไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำซ้ำๆ ให้เคยชิน ให้สติคุ้นกับจิต จิตคุ้นกับสติ อย่างนี้ ถึงจะเกิดสมาธิ ไม่ใช่หมายถึงว่าเรากำหนดแล้วได้ผลเลยนะ ยังไม่ได้ผล แต่เราทำซ้ำๆ ซากๆ ให้เคยชิน เราจึงต้องมีการฝึกจิตอยู่ที่กระหม่อม วาดมโนภาพลงไปให้ซ้ำ ลมหายใจนั้นก็ไม่ต้องมาดู แต่หายใจให้ยาวๆ มันจะถูกจังหวะ แล้วตั้งสติตามจิตไปว่า ยืน…ที่กระหม่อม แล้วก็ หนอ…ลงไปที่ปลายเท้า ดูมโนภาพ จะเห็นลักษณะกายของเรายืนอยู่ ณ บัดนี้ เห็นกายภายนอกน้อมเข้าไปเห็นกายภายใน

ยืนหนอ…วิธีปฏิบัตินี้ทำยาก
ต้องทำให้ได้จังหวะ ได้ระบบของเขา อย่าไปว่าติดกัน

การกำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง ปักจิตไว้ที่กระหม่อม เอาสติตามยืน…นี่เรียกว่า ยืนปฏิบัติ “ยืน…” เอาสติตามจิตไปถึงสะดือ แล้วก็หยุดใช้จังหวะ แล้วตั้งสติต่อไป ตามจิตไป มันจึงจะทันกำหนด มิฉะนั้นจะเอาสติตามจิตไม่ทันเพราะมันไวมาก ต้องมีที่พัก ศูนย์สะดือ เป็นศูนย์ที่พักของศูนย์ประสาท เส้นประสาทรวมอยู่ที่ศูนย์สะดือทั้งหมด จึงต้องหยุดแล้วนำรวมสติต่อไปจากสะดือ ไปตั้งสติกำหนดว่า “หนอ” ลงไปที่ปลายเท้า มันจึงจะทันกัน…

ยืน…เบื้องต้นสำรวมจากปลายเท้า สังวรจิตเอาสติตามมโนภาพแล้วก็ ยืน… เอาจิตปักที่ปลายเท้าทั้งสอง มโนภาพด้วยการยืนหลับตา เอาสติตามขึ้นมาเป็นอันดับขั้นตอน ยืน… ขึ้นมาถึงสะดือ หยุด ปักหลักไว้ก่อน ตั้งสติต่อ ตั้งสติไว้ให้ดี หายใจยาวๆ ไว้ ถึงสะดือแล้วก็ตั้งท่าใหม่ “หนอ” จากสะดือมาถึงกระหม่อม แล้วท่านจะทำได้คล่องดี

กำหนดอย่างนี้ ๕ ครั้ง ปักศีรษะลงไปปลายเท้าหนึ่งครั้ง สำรวมจากปลายเท้าขึ้นถึงกระหม่อมเป็นสองครั้ง ครั้งที่สามปักที่กระหม่อมลงไปปลายเท้า ดังที่กล่าวข้างต้น ครั้งที่สี่ สำรวมจากปลายเท้าขึ้นมาถึงกระหม่อม ครั้งที่ห้า สำรวมจากศีรษะที่กระหม่อม มโนภาพเอาสติตามจิตไปว่า “ยืน…” ถึงสะดือหยุดหายใจยาวๆ ได้จังหวะ “หนอ…” ใช้สติตามถึงปลายเท้าท่านจะหายใจคล่อง แล้วท่านจะใช้สติได้ดีด้วย…

ขณะยืนหนอ…ปวดไหล่ เวทนาเกิดขึ้นก็กำหนด คิดออกไปก็กำหนด ฟุ้งซ่านออกไปก็กำหนด กำหนดทีละอย่าง อย่าเอาหลายอย่างมาปนกัน ใช้ไม่ได้ ต้องรู้จริง รู้แจ้ง เห็นจริง เห็นแจ้ง เห็นใจใจ เห็นอารมณ์เรา อย่างนี้จะถูกต้อง

ยืนหนอ ไม่ใช่ว่าแต่ปาก ต้องใช้สติอยู่กับจิต ทำให้ได้จังหวะ

ยืนตั้งสติไว้ให้ดี ยืน… ถึงสะดือ หยุด ถอนหายใจพัก รวมสติอยู่กับจิต หนอ…ลงไปที่ปลายเท้าให้ได้ ทำให้มันได้จังหวะ และสำรวมปลายเท้าด้วยการยืนหลับตา ต้องการให้สติอยู่กับจิตให้ได้ ถ้าเราไม่ถอนหายใจ กว่าจะถึงเท้าถอนหายใจแย่ สะดือเป็นจุดสำคัญ

ขอให้ทำตามนี้ อย่าไปนอกคอก หลับตายืนหนอ ๕ ครั้ง ดูมโนภาพของเรา ถ้าสติตามจิตได้ทันแล้วจะคล่องแคล่ว ถ้าสติตามจิตไม่ทันจะอึดอัด หายใจพอดี ยืน…ถอนหายใจแล้ว หนอ…อย่าเอาจิตไว้ที่จมูก อย่าเอาจิตไว้ที่ลมหายใจ ต้องอยู่ตรงสะดือนี่ ถอนหายใจแล้ว หนอ…ถึงปลายเท้าพอดีเลย

หลับตาใหม่ ตั้งสติตามจิต จากปลายเท้าถึงสะดือ หยุด หนอ…ถึงกระหม่อมพอดี แล้วกำหนดยืน…หยุดดูซิ สติจะตามจิตทันไหม ถ้าตามทันจะคล่องว่องไวขึ้นและมีปัญญาขึ้น ส่วนมากว่าแต่ปาก จิตมันไม่ถึง สติตามไม่ได้ ไม่ได้ผลจะไม่พบทางสายเอกนะ…ยืนหนอ ใหม่ๆ ก็ยืน…อาจจะถอนหายใจตรงสะดือนี่แล้ว หนอ…จากสะดือลงไปถึงปลายเท้า พอทำได้แล้วไม่ต้องมีหยุด สติดีจิตดีแล้ว มันจะพอกัน ยืน… หนอ… ไปเลย ไม่ต้องถอนหายใจที่สะดือ

ยืนหนอ ๕ ครั้งกับลมหายใจเข้า
ลมหายใจอออก (อัสสาสะ ปัสสาสะ)

“ยืนหนอ” หายใจเข้าไว้ ยืนนี่ตั้งแต่ศีรษะให้หายใจเข้า หายใจเข้าไปเลยให้ยาวไปถึงเท้า ยืนหายใจเข้ายาวๆ สูดยาวๆ อย่างที่ไสยศาสตร์เข้าใช้กัน เรียกว่า “คาบลม” … หายใจเข้ายาวๆ จากกระหม่อมนี่เอง กระหม่อมนี่เป็นเซลล์ บางคนกระหม่อมบาง บางคนก็เซลล์บาง จะกระหม่อมอ่อน รับรองไหวติงง่ายจังเลย อยู่ตรงนี้มูลกรรมฐาน พระพุทธเจ้าทรงละเอียดมาก… ยืนกดอัสสาสะ-ปัสสาสะ “ยืน” หายใจเข้าไว้ “ยืนหนอ” พอสำรวมปลายเท้า หายใจออก “ยืน” หายใจออกไป “หนอ” พอดีเลย ถ้าทำได้คล่องแคล่วไวดี รับรองอัสสาสะ-ปัสสาสะได้ สามารถส่งกระแสจิตได้

ตรงนี้นะ อาตมาไม่ค่อยจะพูดให้ฟัง เพราะพูดแล้วไม่เข้าใจ ต้องทำให้ช่ำชองก่อนแล้วค่อยมาหัดเทคนิคตรงนี้ ได้ตรงนี้ รับรองแยกเวทนาได้ ส่งกระแสจิตได้โดยวิธีนี้นะ หัดไว้เสียให้ได้ เรื่องไสยศาสตร์ก็เป็นเรื่องเล็กไป… จิตจะเป็นกุศล ทำให้ยาว รับรองอารมณ์ของโยมที่เคยฉุนเฉียว จะลดลงไปเลย แล้วก็จิตจะไม่ฟุ้งซ่านด้วย โรคภัยไข้เจ็บมันจะค่อยเบา อวัยวะเลือดลมจะเดินได้อย่างปกติ ถึงศีรษะลงสู่ปลายเท้า ตจปัญจกรรมฐานข้อนี้เอง…นี่คาบลม มันมีพลังจิตสูง ผลพลอยได้เยอะ

ยืนหนอ…กว่าอาตมาจะทำได้ ๑๐ ปี

“ยืนหนอ” กว่าอาตมาจะทำได้ ๑๐ ปี ที่ว่ากว่าจะรู้จากพระอุปัชฌาย์ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นักขา โลมา เกสา ก็คือ “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง นี่เอง กว่าจะรู้เรื่องใช้เวลานาน เหลือเกิน “ยืน” หายใจยาวๆ ฝึกตรงนี้ หายใจลงไป สูดหายใจ ยืนหนอ หายใจลงไปถึงเท้า หยุดลมหายใจ สูดลมหายใจ สูดเข้ายาวๆ

“ยืน” แล้ว ก็ “หนอ” ว่าในใจนะ ไอ้ปากว่านั่นมันฝึก ที่ครูเขาบอกว่า “ยืน…หนอ…” นี่ฝึกให้เราทำตามหลักวิชานี้ แล้วคนฝึกไม่เป็น ก็ว่าปากเอา เอาเลย ให้ว่าในใจว่า ยืน…หนอ…อย่างนั้นเอง ถ้าจิตไปได้สักครั้งหนึ่งนะ รู้ภาวะของเราเลย ยืนหายใจยาวๆ ยืนอย่าให้ขาดอัสสาสะ-ปัสสาสะ

ยืนหนอจิตเราถากไปทางซ้าย ทางขวา (ไม่รู้สึก) ทำอย่างไร

ถ้าเรายืนหนอบางทีจิตเราถากมาทางซ้าย ทางขวาจะไม่รู้สึก หากถากทางด้านขวา ทางด้านซ้ายจะไม่รู้สึก วิธีปฏิบัตินี้ก็ให้กำหนดยืนหนอไห้เห็นตัวทั้งหมด ให้นึกมโนภาพว่าตัวเรายืนแบบนี้ ให้กึ่งกลาง ศูนย์กลางจากที่ศีรษะลงไประหว่างหน้าอกแล้วก็ลงไปถึงระหว่างเท้าทั้งสอง แล้วมันจะไม่มีความไหวติงในเรื่องขวาหรือซ้าย

บางทีถ้าเราไปทางขวา ทางซ้ายเราก็ไม่มีความรู้สึก แต่ไม่ใช่อัมพาต มันเกิดเอง ยืนนี่กำหนดไปเรื่อยๆ ช้าๆ ให้จิตมันพุ่งไปได้ตามสมควร จากคำว่า ยืนหนอ ยืนจากซ้าย หนอขึ้นบนศีรษะพอดี บางทีจิตนี่มันลงไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ทีนี้เราก็แวบลงไปมโนภาพให้รู้สึกว่าเรายืนท่านี้ลงไปเท่านั้น

ยืนหนอให้ได้ เห็นหนอให้ได้
พองหนอยุบหนอได้ อย่างอื่นไหลมาเอง

“ยืนหนอ” ให้ได้ ยืนหนอได้เมื่อใด จิตสติมีควบคู่กันไป จะ “เห็นหนอ” รู้นิสัยทันที ส่งกระแสจิตทางหน้าผากชาร์จไฟเข้าหม้อที่ลิ้นปี่ จำตรงนี้เป็นหลัก มา ๗ วัน ปฏิบัติ “ยืนหนอ” ให้ได้ “เห็นหนอ” ให้ได้ “พองหนอ ยุบหนอ” กำหนดให้ได้เท่านี้ เดี๋ยวอย่างอื่นจะ ไหลมาเองเหมือนไข่งู ต้องเดินจงกรมด้วย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้ายแลขวา มีสติสัมปชัญญะ กำหนดจิต กิริยาจะสวยงาม