ผู้ที่สมัครเข้ามาปฏิบัติธรรม ณ สำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ ควรทำความเข้าใจ ในระเบียบปฏิบัติดังนี้

  • ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องแจ้งความจำนงต่ออาจารย์ผู้ปกครอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวก และรับลงทะเบียนโดยจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสับเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่จัดที่พัก แนะนำขั้นตอนแก่ผู้มาใหม่

  • ต้องแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร ซึ่งทางสำนักจัดเตรียมไว้ให้ ต้องมีบัตรประชาชน หรือใบสำคัญแสดงสัญชาติ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี เพื่อแสดงแก่อาจารย์ ผู้ปกครองของสำนักจนเป็นที่พอใจ

  • จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า จะอยู่ปฏิบัติกี่วัน ดังนี้

    • ผู้เข้าปฏิบัติธรรม ๗ วัน
      – ทางสำนักจะรับสมัครในวันโกน (ก่อนวันพระ ๑ วัน) โดยต้องอยู่ปฏิบัติธรรมต่อเนื่อง ๗ วัน
    • ผู้เข้าปฏิบัติธรรม ๓ วัน
      – ทางสำนักจะรับสมัครทุกวันศุกร์ ต้องอยู่ปฏิบัติธรรม วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

    *ส่วนผู้ที่มีความประสงค์อยู่ต่อ หลังจากปฏิบัติครบ ๗ วันแล้ว ให้ขออยู่ต่อเป็นกรณี ๆ ไป

  • ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ซึ่งไม่มีผู้ปกครองมาด้วย (ยกเว้นได้รับอนุญาต) ผู้ป่วยโรคจิต โรคติดต่อ โรคที่สังคมรังเกียจ หรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ และผู้ที่บวชเพื่อแก้บน ทางสำนักไม่สามารถรับไว้ปฏิบัติธรรมได้

  • หากนักปฏิบัติยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับอนุญาตจากมารดา บิดา สามี หรือผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร

  • สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน ในช่วงเช้าหรือก่อน ๑๖.๐๐ น. ควรเข้าที่พักเพื่อพักผ่อน หรือทำกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อถึงเวลาห้าโมงเย็น จึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดปฏิบัติธรรมสีขาวแบบสุภาพเรียบร้อย ไม่มีลวดลายหรือเครื่องประดับ และไม่สวมลูกประคำ เมื่อท่านแต่งชุดขาวแล้ว ห้ามออกไปนอกเขตภาวนา และห้ามไปรับประทานอาหาร

  • ให้ผู้ปฏิบัติมาพร้อมกัน ณ ศาลาคามวาสี (ศาลาหลวงพ่อเทพนิมิต) อยู่ตรงข้ามศาลาลงทะเบียน เวลา ๑๘.๐๐ น. หรือที่นัดหมาย ที่เจ้าหน้าที่จัดตามความเหมาะสม เพื่อทำพิธีขอศีลแปด จากพระภิกษุที่ได้รับนิมนต์ไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียม ดอกไม้ธูปเทียนไว้ให้ผู้ปฏิบัติใช้ในพิธี

  • ปฏิบัติธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ช่วงในแต่ละวันดังนี้

    ช่วงแรก ๐๔.๐๐ น. – ๐๖.๓๐ น.
    ช่วงที่สอง ๐๘.๐๐ น. – ๑๑.๐๐ น.
    ช่วงที่สาม ๑๓.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น.
    ช่วงที่สี่ ๑๘.๓๐ น. – ๒๑.๐๐ น.
  • ผู้ปฏิบัติต้องมาพร้อมกันที่ศาลาปฏิบัติของสำนัก ตามเวลาที่กำหนดโดยฟังจากสัญญาณระฆัง ใช้ศาลาเป็นที่นั่งกรรมฐาน และบริเวณรอบนอกศาลาเป็นที่เดินจงกรม

  • ขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมาพร้อมกันตามเวลาในการปฏิบัติช่วงแรก ณ สถานที่ปฏิบัติแล้ว หัวหน้าจุดเทียนธูปบูชา พระรัตนตรัย นำสวดมนต์ กราบพระประธานแล้ว จึงเริ่มปฏิบัติธรรม โดยการเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบถ เข้ามานั่งกรรมฐาน ๓๐ นาที สลับกันไปจนครบเวลาปฏิบัติที่กำหนด ส่วนเวลาในการปฏิบัติ ๓๐ นาที ที่กำหนดนี้ ผู้ปฏิบัติอาจปรับ ให้มากหรือน้อยกว่า ๓๐ นาที ตามความเหมาะสมของสภาวะอารมณ์

  • ก่อนถึงเวลาพักทุกช่วง ผู้ปฏิบัติธรรมควรอยู่ในอิริยาบถ ของการนั่งกรรมฐาน ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติในแต่ละช่วง จะได้แผ่เมตตาต่อไปได้ โดยไม่เสียสมาธิจิต

  • เมื่อแผ่เมตตา (สัพเพ สัตตา…) เสร็จแล้ว นั่งพับเพียบประนมมือ เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญในการปฏิบัติธรรมแก่มารดา บิดา ญาติพี่น้อง เทวดา เปรต และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (อิทัง เม มาติปิตูนัง โหตุ….) จากนั้นลุกขึ้นนั่งคุกเข่า สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย (อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา….) กราบพระประธาน

  • ให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติที่มาใหม่ อาจารย์หรือหัวหน้า ผู้ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น ส่วนการทดสอบอารมณ์ตลอดจนความรู้ที่ละเอียดขึ้น ทางอาจารย์ใหญ่ จะเป็นผู้ให้ความรู้หลังจากปฏิบัติธรรม ช่วงแรกเสร็จเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าใจ หากมีข้อสงสัยใด ๆ อาจใช้ช่วงเวลานี้สอบถามขอความรู้ได้

  • ห้ามคุย บอก หรือ ถามสภาวะกับผู้ปฏิบัติ เพราะจะเป็นภัย แก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยจะทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่าน และเพ้อเจ้อ หากมีความสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรแล้ว ให้เก็บไว้สอบถามครูผู้สอน ห้ามสอบถามผู้ปฏิบัติด้วยกันเป็นอันขาด

  • ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ให้พูดเบา ๆ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ไม่ควรพูดนาน เพราะจะทำให้ฟุ้งซ่าน ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง และทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า

  • ถ้ามีเรื่องจะพูดกันนาน ต้องออกจากห้องกรรมฐาน ไปพูดในสถานที่อื่น ห้ามใช้ห้องปฏิบัติรับแขก

  • ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ ห้ามอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เรียนหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี ตลอดจนสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก

  • ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่เสพเครื่องดองของมึนเมา หรือ นำยาเสพติด ทุกชนิด เข้ามาในบริเวณสำนักเป็นอันขาด

  • นักปฏิบัติต้องระลึกเสมอว่า เรามาปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจ ขัดเกลากิเลสตัณหาให้เบาบางลง มิใช่มาเพื่อหาความสุข ในการอยู่ดี กินดี จึงต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษต่อความไม่สะดวก และสิ่งที่กระทบกระทั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องทดสอบ ความอดทนและคุณธรรมของนักปฏิบัติว่ามีอยู่มาน้อยเพียงใด

  • หากผู้ปฏิบัติเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ให้รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่โดยเร็ว เพื่อหาทางช่วยเหลือตามสมควรแก่กรณี ไม่ควรละการปฏิบัติ ในเมื่อไม่มีความจำเป็น

  • ห้องหรือกุฏิที่จัดไว้เป็นห้องปฏิบัติ เฉพาะพระสงฆ์ก็ดี หรือห้องที่จัดไว้เฉพาะนักปฏิบัติที่เป็นบุรุษก็ดี สตรีก็ดี ห้ามมิให้เพศตรงข้ามเข้าไปนอน หรือใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมนั้นเด็ดขาด

  • นักปฏิบัติต้องเข้าอบรม รับศีล ประชุมพร้อมกันในอุโบสถ หรือ ศาลาที่จัดไว้ตามความเหมาะสมกับจำนวนนักปฏิบัติ ในวันพระ

  • ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ในช่วงบ่ายให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าปฏิบัติธรรม ณ สถานที่ ที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ โดยมาพร้อมกัน ณ กุฏิอาจารย์ใหญ่ เวลา ๑๓.๓๐ น. อาจารย์ใหญ่จะเป็นผู้นำไป และเริ่มปฏิบัติตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น. หลังจากนั้นหลวงพ่อ พระราชสุทธิญาณมงคล จะลงสวดมนต์ทำวัตรเย็น ประกอบพิธี ให้กรรมฐานแก่ผู้ปฏิบัติที่มาใหม่ และแสดงพระธรรมเทศนา

  • การเข้านั่งในอุโบสถ ให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั่งหันหน้าไปทางพระประธาน โดยสังเกตการนั่งให้เป็นแถวขนานไปกับพระสงฆ์

  • เมื่อถึงบริเวณพิธี ให้คอยสังเกตสัญญาณการนั่ง การกราบ จากอาจารย์ผู้นำ ทั้งนี้เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบและเจริญตา แก่ผู้พบเห็น

  • การออกนอกบริเวณสำนักโดยการพิธีทุกครั้ง อาจารย์ผู้ปกครองจะเป็นผู้นำทั้งไปและกลับ ให้เดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส ด้วยอาการสงบสำรวจ

  • นักปฏิบัติจะต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น ถ้าไม่มีธุระจำเป็น ไม่ควรออกนอกสถานที่ปฏิบัติ และถ้ามีธุระจำเป็นต้องออกนอกสำนัก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเสียก่อน

  • ทางสำนักได้จัดที่พักไว้โดยเฉพาะเป็นห้อง ๆ มีไฟฟ้า น้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วมพร้อม ขอความร่วมมือได้โปรดช่วยกันรักษาความสะอาดในห้อง หน้าห้อง ห้องน้ำ ห้องส้วม และขอให้ใช้น้ำ ไฟ อย่างประหยัด

  • ไม่ควรเปิดน้ำ ไฟฟ้า และพัดลมทิ้งไว้เมื่อไม่อยู่ในห้องพัก

  • เวลาว่างตอนเช้า ตอนกลางวัน หรือตอนเย็น ผู้ปฏิบัติธรรม อาจใช้เวลาว่าง ทำความสะอาดกวาดลานภายในเขตสำนักและบริเวณที่พัก เพื่อความสะอาดของสถานที่และเจริญสุขภาพของผู้ปฏิบัติ

  • รับประทานอาหารมี ๒ เวลา และดื่มน้ำปานะ ๑ เวลาดังนี้

    เวลา ๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า
    เวลา ๑๑.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
    เวลา ๑๖.๐๐ น. ดื่มน้ำปานะ
  • การรับประทานอาหารและดื่มน้ำปานะทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติธรรม ต้องมารับประทาน พร้อมกันที่โรงอาหารตรงตามเวลาที่กำหนด

  • เมื่อตักอาหารใส่ภาชนะแล้ว ให้เข้านั่งประจำที่ให้เป็นระเบียบ ควรนั่งให้เต็มเป็นโต๊ะ ๆ ไปก่อน โดยผู้ไปถึงก่อนต้องนั่งชิดด้านในก่อนเสมอ เมื่อเต็มแล้ว จึงเริ่มโต๊ะใหม่ต่อไป รอจนพร้อมเพรียงกัน แล้วหัวหน้าจะกล่าวนำ ขออนุญาตรับประทานอาหาร

  • ขณะนั่งรอและรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ควรคุยกันหรือแสดงอาการใด ๆ ที่ไม่สำรวม

  • เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ให้นั่งรออยู่ที่เดิม จนทุกคนรับประทานอาหารเสร็จ ให้ประนมมือ หัวหน้าจะให้พรผู้บริจาคอาหาร (สัพพี ฯลฯ..) ผู้ปฏิบัติธรรมสวดรับโดยพร้อมเพรียงกัน

  • เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหาร ให้ผู้ปฏิบัติธรรมช่วยกันเก็บกวาดสถานที่ ทำความสะอาดภาชนะ จัดโต๊ะ เก้าอี้ ให้เรียบร้อย

  • นักปฏิบัติจะต้องไม่นำของที่มีค่าติดตัวมาด้วย หากสูญหาย ทางสำนักจะไม่รับผิดชอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

  • นักปฏิบัติจะต้องไม่คะนองกาย วาจา หรือส่งเสียงก่อความรำคาญ หรือพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยไม่มีความจำเป็น ถ้ามีผู้มาเยี่ยม จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน การเยี่ยมนั้นให้แขกคุยได้ไม่เกิน ๑๕ นาที ถ้าเป็นแขกต่างเพศ ให้ออกไปคุยข้างนอกสถานที่ปฏิบัติธรรม

  • การลา เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ได้ปฏิบัติครบตามกำหนดที่ได้แจ้งความจำนงไว้แล้วนั้น เจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อทำพิธีลาศีล และขอขมาพระรัตนตรัย ให้ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะลาศีล พร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย (ฟังประกาศจากเจ้าหน้าที่) โดยอาจารย์ผู้ปกครองเป็นผู้นำไป

  • อนึ่ง ทางสำนักจะงดพิธีรับศีลในวันโกน และไม่มีพิธีลาศีลในวันพระ ดังนั้น ท่านที่มาลงทะเบียนเข้าปฏิบัติธรรมในวันโกน จะได้เข้ารับพิธีรับศีลในวันพระ ส่วนที่ที่จะลากลับในวันพระ หรือวันถัดจากวันพระ จะต้องเข้าลาศีลล่วงหน้า แต่คงปฏิบัติธรรมได้ตามปกติ จนถึงกำหนดวันที่ท่านได้แจ้งไว้ในใบลงทะเบียน

  • ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องลากลับก่อนกำหนดนั้น ผู้ปฏิบัติต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้ปกครองทราบสาเหตุ และหากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรหนีกลับไปโดยพลการ เพราะจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฏิบัติ

  • ถ้านักปฏิบัติผู้ใด ไม่ทำตามระเบียบของสำนักที่กำหนดไว้นี้ ทางสำนักจำเป็นต้องพิจารณาเตือนให้ทราบก่อน หากยังไม่ยอมรับฟัง ทางสำนักมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอให้ออกจากสำนัก ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่จะเข้ามาปฏิบัติต่อไป

  • ข้อแนะนำนี้ เป็นคู่มือให้รายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะได้เข้าใจ สบายใจในการอยู่อาศัยและปฏิบัติกรรมฐาน ร่วมกันอย่างสงบ ในสังคมของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมประหยัดการพูด