จิต สติ และการกำหนด

จิตเท่านั้นที่รวบรวมบุญกุศลไว้ เหมือนเทปบันทึกเสียง

จิตเท่านั้นที่รวบรวมทุนบุญกุศลไว้ ใครทำใครได้ เหมือนเทปบันทึกเสียงและเปรียบเหมือนกระแสไฟฟ้า คือจิตไวมาก เหมือนเรากำลังคิดถึงเรื่องอะไร จะไปไหน จิตไวถึงก่อนเสมอ ขณะจิตจะดับไป ถ้าคิดถึงทุกข์ เดือดร้อนใจ เป็นห่วงเป็นใยแล้ว จิตก็ไปสู่อบายได้ ถ้าคิดถึงบุญกุศลที่ได้สร้างสมเข้าไว้ สวรรค์เป็นที่ได้แน่นอน

บุญกรรมมีจริง บาปกรรมมี
ยมบาลจดไม่มี จิตนี้เป็นผู้จด จดทุกวัน

ญาติโยมเอ๋ย โปรดได้ทราบไว้เถอะ บุญกรรมมีจริง บาปกรรมมี ยมบาลจดไม่มี จิตนี้เป็นผู้จด จดทุกวัน คือ อารมณ์ เรื่องจริงแน่ จดทุกกระเบียดนิ้ว บาปบุญคุณโทษบันทึกเข้าไว้ พอวิญญาณออกจากร่างไป มันก็ขยายออกมาใช้กรรมไป ถ้าเราทำดีก็ไปบังเกิดในสวรรค์ ทำชั่วก็ลงนรกไปแบบนี้

ดวงหทัย หายใจเข้าออกอยู่ที่ลิ้นปี่
(กึ่งกลางระหว่างจมูกกับสะดือ)

อย่าลืมที่ดวงหทัยที่หายใจเข้าออก อยู่ที่ลิ้นปี่ จำไว้ อยู่ที่ลิ้นปี่ คนเราถ้าจะมีปัญญานะ เอาเส้นกระแสวัดดูจมูกกับสะดือ เป็นการดูลมหายใจยาวๆ ถ้าโยมเกิดความโกรธขึ้นมา ไปนั่งตรงไหนก็ตามหายใจยาวๆ จากจมูกแล้วไป สะดือ สะดือไปจมูก แล้วเอาสติปักที่ดวงหทัย เรียกว่าเจตสิก อาศัยหทัยเดียวกับจิต อยู่กับเจตสิก คือ หทัยคือลิ้นปี่กำหนด โกรธหนอๆ รับรองเลย โยมหายโกรธแน่ หายโกรธจริงๆ แล้วจะไม่โกรธต่อไป

ทำไมต้องกำหนดที่ลิ้นปี่

ที่อาตมาบอกให้กำหนดที่ลิ้นปี่ อาตมาได้ประสบการณ์จากตอนที่คอหัก ตอนนั้นจะมีความรู้สึกที่ตรงลิ้นปี่ ส่วนอื่นๆ ของร่างกายไม่มีความรู้สึกเลยและลมหายใจที่จมูกไม่มี เหมือนถูกฟันคอขาดไปแล้ว เพราะกระดูกข้อที่สามมันหลุด คอก็พับไปแต่หนังมันดึงไว้ เส้นประสาทมันไม่ติดต่อ หัวใจสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่ได้ อาตมารู้สึกถึงความทรมานที่สุด อาตมาจึงหายใจทางสะดือได้ สะดือมีความสำคัญกับการ พองหนอยุบหนอมาก สติจะรู้ที่ลิ้นปี่ จะรู้ทุกระยะตาลืมขึ้นมามองเห็นเป็นหมอกเต็มไปหมด หูก็ได้ยินแว่วๆ คนพูดอยู่ใกล้ๆ เหมือนพูดอยู่ไกลๆ แสดงว่าสังขารตายแล้ว เหตุใดอาตมาจึงหายใจทางสะดือได้ บอกไปอย่างนี้ใครเขาจะไม่เชื่อ ถ้าไม่มีประสบการณ์เอง เหมือนนายแพทย์ที่สิงห์บุรีรู้ว่า อาตมาหายใจทางสะดือเพราะเลือดเต็มจมูกเต็มคอ หายใจคล่องคือพองหนอ ยุบหนอตลอด อาตมาก็ไม่รู้ว่าหายใจทางสะดือ รู้สึกตัวที่ตรงลิ้นปี่

เพราะฉะนั้นคนที่จะตายนั้น พองหนอยุบหนอยังอยู่ สติจะควบคุมจิตอยู่ที่ลิ้นปี่นี้แน่ บางคนบอกว่าตายตั้งแต่หัว หรือตายลงตายขึ้นนั้นไม่จริง และลมหายใจที่จมูกไม่มี กลับไปมีที่สะดือ แต่หัวใจยังไม่หยุดเต้น มันยังสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ แต่ไม่ไปเลี้ยงสมอง เพราะคอหักพับไปแล้ว เพราะคอหักพับไปแล้ว โลหิตจึงลงไปข้างล่างแล้วไปดันที่สะดือ สะดือจึงหายใจได้ เพราะฉะนั้น พองหนอ ยุบหนอ นั้นแน่นอนที่สุด อาตมาก็สำนึกสมัญญาได้ว่า ลิ้นปี่สำคัญมาก ตาก็มองไม่เห็นและก็ไม่รู้สึกว่าปวด อาตมามีความรู้สึกเมื่อตอนรถเข็นคนไข้ตกร่องประตูทางเข้า ถึงรู้สึกแล้วก็ปวดก้นเลย ส่วนหัวนั้นเมื่อตอนที่คอหักพับ เลือดไม่ไปเลี้ยงจะมีสีดำทั้งหัว พอเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงแล้วกลับขาว จึงขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติพองหนอยุบหนอให้เคย

ลิ้นปี่เป็นขั้วแบตเตอรี่ชาร์จไฟฟ้าเข้าหม้อ

ลิ้นปี่เป็นขั้วแบตเตอรี่ชาร์จไฟฟ้าเข้าหม้อ ทุกคนไปแปรธาตุการปฏิบัตินี้ไม่ใช่การวิจัย ไม่ใช่ประเมินผล แต่เป็นการให้ผุดขึ้นมาเองโดยปกติธรรมดานี่แหละให้มันใสสะอาด รู้จริงรู้จัง รู้ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ให้รู้ขึ้นมาเอง

คำว่ารู้เองนี้ทำยาก รู้วิชาการทำง่าย อ่านหนังสือท่องได้ก็ได้ แต่รู้เองให้ใสสะอาดขึ้นมารู้ยาก ทำไมจะรู้ได้ง่ายต้องปฏิบัติขึ้นมา ดีใจ เสียใจ มีความสุขการสุขใจ อย่าประมาทเลินเล่อนัก เราต้องตั้งสติทุกอิริยาบถตามกำหนด

การกำหนดจิตนี้หมายความว่า ให้ตั้งสติ เป็นวิธีปฏิบัติ สัมปชัญญะมีความรู้ตัวอยู่ตลอดปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ให้เอาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น ให้ปฏิบัติอย่างนี้ โดยข้อปฏิบัติง่ายๆ ถ้าเสียใจ มีความทุกข์ใจมันอยู่ในข้อนี้ จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ เสียใจหนอๆ หายใจลึกๆ ยาวๆ เสียใจเรื่องอะไร เป็นการป้อนข้อมูลไว้ให้ถูกต้อง

สตินี่ระลึกได้ หมายถึงตัวแจงงาน หาเหตุที่มาของทุกข์ ตัวสัมปชัญญะเป็นตัวบอกให้รู้ ให้มีความเข้าใจเรียกว่า ปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนั่นเอง คนเรานี่จึงต้องกำหนดที่เวทนานี้

สติคือตัวกำหนด ไม่ใช่ตัวบังคับจิต

สติกำหนด ตัวกำหนดนี่ ไม่ใช่ตัวบังคับจิต เป็นตัวตั้งสติก่อน ทำอะไรก็ตั้งหลักก่อน ตั้งฐานะก่อน อย่าหละหลวม เหลาะแหละ เหลวไหลแต่ประการใด จิตก็ผ่องใสเพราะมีสติควบคุมได้ สติ ตัวนี้ควยคุมจิตให้เกิดแสงสว่างคือปัญญา

ตัว สัมปชัญญะ ควบคุมให้เรารู้ตัว รู้กาลเทศะ กิจจะลักษณะให้เรา รู้กาลเวลาว่าเป็นอย่างไร ให้เรารู้ว่าเราเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ ให้เรารู้ฐานะหน้าที่ของตน ต้องการให้ตัวเองรับผิดชอบตัวเองทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น

เสียงหนอออ เห็นหนอออ รู้หนอออ ทันปัจจุบันไหม
ไม่ทันให้ไปกำหนดใหม่ พอได้ปัจจุบันแล้ว…
จะรู้อดีต อนาคต รู้กฏแห่งกรรมที่ทำไว้ ชัดเจนมาก

คำว่าปัจจุบัน

คำว่า ปัจจุบันนั้น หมายความว่า สติตามจิตทัน จิตก็กำหนดได้ คือ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ก็พร้อมกัน จิต กับ สติ ที่กำหนดได้ ความรู้ตัว ก็รู้พร้อมกันขึ้นมา เรียกว่า ปัจจุบัน

ทำกรรมฐานไม่ได้ เพราะไม่ได้กำหนด

ที่จะเน้นกันมากคือ เน้นให้ได้ปัจจุบันสำหรับพองหนอ ยุบหนอเพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าทำได้คล่องแคล่วในจุดมุ่งหมายอันนี้ รับรองอย่างอื่นก็กำหนดได้ พอได้ยินเสียง สติมีมา พอได้เห็น สติก็มีบอก เห็นอะไรไม่ต้องไปเคร่งมันว่าต้องกำหนดอะไร แต่วิธีปฏิบัตินั้นต้องฝึกให้มันได้และทำให้ได้ด้วย

ส่วนมากคนที่กลับไปแล้ว มาบอกว่า หลวงพ่อ ฉันกลุ้มใจมีแต่เรื่องราวก็แสดงว่าท่านทำกรรมฐานไม่ได้ ไม่ได้กำหนด พอถามโยมว่า กลุ้มเรื่องอะไร กำหนดบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าเปล่าเลย ทิ้งไปเสียนานแล้ว ทิ้งไปเสียนานแล้ว ตรงนี้ท่านจะแก้ไม่ได้ ท่านจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ท่านจะปรับปรุงไม่ได้ ท่านจะไปหาใครมาช่วยเราเล่า หมดโอกาสที่จะช่วยตัวเองได้ การที่จะช่วยตัวเองได้ต้องมีตัวกำหนด มีระบบเกิดขึ้นในจิตของตน จึงต้องปฏิบัติให้ได้ปัจจุบัน ข้อนี้ต้องเน้น ส่วนใหญ่โยมทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้ ไม่หมายความว่าโยมไม่ได้อะไร ได้ แต่โยมไม่ได้กำหนด เอาตัวกำหนดไปทิ้งเสีย อย่างนี้เป็นต้น

ธรรมชาติของจิต

จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ รู้นึกคิด จดจำ จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีความเกิด ดับ สืบต่อกันเสมอเป็นนิจ มิได้หยุดนิ่ง และจิตนั้นเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่ก็มีอำนาจในการสั่งสมสันดานหรือสามารถเก็บเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้ในจิต แล้วก็แสดงออกซึ่งอารมณ์นั้นได้…

จิต นั้นคือ ธรรมชาติ ที่มันต้องคิดอะไร อ่านอะไร เขียนอะไร จิตมันเป็นอารมณ์ มันมองไม่เห็นตัว มองไม่เห็นรูปแบบ เอามือคลำก็ไม่ได้ จับก็ไม่ได้เป็นกระแสคลื่นของอารมณ์ เรียกว่า ธรรมชาติ ชัดเจนเหมือนกระแสไฟฟ้า เรามีหลอดมีคลื่นกระแสไฟฟ้าให้เข้ากับเส้นสายแล้ว ก็พลังงานไฟฟ้ามีสวิตช์ มีการปิดเปิด จิตมีทั้งปิดและเปิดได้ กระแสจิตให้มันเดินก็ได้ คนไม่มีความเข้าใจ

การกำหนดนี่ตัวฝืนใจ เป็นตัวธรรมะ เป็นตัวปฏิบัติ

ตัวกำหนด คือตัวฝืนใจ เป็นตัวธรรมะ คนเราถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ของตนแล้ว มันจะเห็นแก่ความถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง อยู่ตรงนี้นะ… กรรมฐานสอนง่ายแต่มันยากตรงที่ท่านไม่กำหนด ไม่ได้เอาสติคุมจิตเลย… ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้กำหนด ไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติ อยู่ตรงนั้น… ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น

กำหนดจิต อย่าหายใจทิ้ง
เหมือนเปิดน้ำประปาทิ้ง ไม่มีประโยชน์

การเจริญสติต้องกำหนดตลอดเวลา เอาสติแนบที่จิต เป็นการสอนตัวเอง เป็นการฝึกฝนอบรมตัวเอง คนอื่นจะมาอบรมตัวเราคงไม่ได้ เราเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของตัวเอง สอนตัวเองได้…

ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติธรรมตั้งใจกำหนดตั้งสติทุกอิริยาบถ กำหนดจิตทุกลมหายใจเข้า-ออก อย่าหายใจทิ้งปล่อยอารมณ์ไปเปล่าๆ ไม่มีสติเสียไปเปล่าๆ เหมือนเปิดน้ำประปาทิ้งไม่มีประโยชน์ เราจะเดินไปทางไหนก็ต้องเดินอย่างมีสติ จะพูดก็พูดอย่างมีสติ จะทำการงานใดก็มีสติกำหนดไว้

สติกำหนดจิต ทำให้ไม่ประมาท

สติ สัมปชัญญะ ที่กำหนดใช้สติกำหนดจิต ให้จิตรู้หน้าที่การงานโดยถูกต้อง แล้วจะเหลืออยู่หนึ่งเดียว คือ ความไม่ประมาท ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความถูกต้องนี่เป็นหลักปฏิบัติ

หนอ…ตัวนี้เป็นการรั้งจิตให้มีสติดี

หนอ ตัวนี้เป็นการรั้งจิตให้มีสติดี มีความหมายอย่างนั้น คำว่าหนอนี้ เป็นภาษาไทย หนอดีมาก เราจะบอกว่าเสียงหนอ มันรั้งจิตได้ดีมาก มีสติดีในการฟัง ระลึกหนอว่าเสียงเขาด่า เสียงเขาว่า หรือเสียงเขาสรรเสริญเยินยอ ประการใด

สัมปชัญญะ ตัวรู้ว่าเสียงนี้ของนาย ก. เสียงนี้ของนาง ข. มาพูดเรื่องอะไร ตัวสติจะแจงเบี้ยหาเหตุที่พูด ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้น ตัวสัมปชัญญะก็บอกกับเราว่า อ๋อ เขาพูดนี้ เพราะอิจฉาเรา เขาด่าเรา มาว่าเรา สติบอก สัมปชัญขญะเป็นตัวคิด ปัญญาก็แสดงออก คอมพิวเตอร์ตีออกมาว่าเสียงนี้ไร้ประโยชน์ เกิดขึ้นตั้งอยู่ก็วูบดับไปทันทีที่หู เลยก็ไม่ต่อเนื่องเข้ามาภายในจิต เราก็ไม่มีการเศร้าหมองใจ เพราะข้อคิดนี้

จิตอยู่ตรงไหน พัฒนาให้ถูก

เราจะต้องรู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน จะได้พัฒนาได้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้ที่อยู่ของมันไปพัฒนามันได้หรือ มันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บางคนว่าอยู่ที่หัวใจ นั้นไม่ใช่จิตเมื่อหาไม่ถูกมันจึงได้ยุ่งวุ่นวายกันในสังคมทุกวันนี้ เพราะหาที่มาไม่ได้ ไม่มีต้นขั้ว ปลายขั้ว ไม่มีสำมะโนครัวแล้ว เจ้าความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ที่ไหนกันแน่ เราจะได้พัฒนาให้มันถูกต้อง…

จิตเกิดทางอายตนะ ทางอินทรีย์ ตาเห็นรูป เกิดจิตใช่ไหม หูได้ยินเสียงเกิดจิต จมูกได้กลิ่นเกิดจิต ลิ้นรับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เกิดจิตที่ลิ้น กายเรานั่งลงไป เกิดจิตทางกาย นี่รู้แล้ว รู้ที่มา จะได้พัฒนามันถูกแล้วในเมื่อเห็น ชอบเป็นอะไร ถ้าเราชอบเป็นโลภะ ตาเห็นรูปชอบ ถ้าไม่มีสติพิจารณาดูเป็นอะไร นี่ต้องพัฒนาตรงนี้ไม่ใช่นั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียว

วิธีฝึกเบื้องต้น จิตยังไม่เข้าขั้น ให้พยายามกำหนดให้ต่อเนื่อง

วิธีฝึกเบื้องต้น เราจิตยังไม่เข้าขั้นยังไม่วิปัสสนาญาณแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างนี้ ถ้าเราเข้าถึงขั้นแล้ว มันจะบอกได้ทั้งหมดเป็นการครอบจักรวาล โดยใช้สติสัมปชัญญะทุกประการ พยายามกำหนดโดยต่อเนื่อง

สำหรับผู้ปฏิบัติปล่อยปละละเลยมาก ไม่ปฏิบัติโดยต่อเนื่องเราจะเดินไปห้องน้ำ ห้องส้วม เดินจงกรมไป และรับประทานอาหารก็พิจารณาปัจจเวกณ์ด้วยการกำหนด กินหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ เป็นต้น ให้ช้าที่สุด อันนี้พิจารณาปัจจัยไปในตัวด้วย แต่งกายแต่งใจอยู่เสมอ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องกำหนด ตลอดเวลากาล ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติจะทำโดยต่อเมื่อเดินจงกรมกับพองหนอยุบหนอเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถจะใช้ได้ ที่จะให้ได้ต้องกำหนดสิ่งแวดล้อมทั้งหมด การปฏิบัติของเราจะได้รับผล สมความมุ่งมาดปรารถนา

เจ็บปวดที่ไหน ต้องตามกำหนด
ใช้สติไปควบคุม ไม่ใช่กำหนดเพื่อให้หายเจ็บปวด

ปวดเมื่อยเป็นเวทนาทางกาย แต่จิตไปเกาะ อุปาทานยึดมั่นก็ปวดใจไปด้วย เช่น เราเสียใจ ร่างกายไม่ดี สุขภาพไม่ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บจิตมันเกาะที่เจ็บนั้น จึงต้องให้กำหนดด้วยความประมาม เป็นวิธีฝึกปฏิบัติก็กำหนดเวทนานั้น ปวดหัวเข่าที่ไหนก็ตาม ต้องตามกำหนด กำหนดเป็นตัวปฏิบัติเป็นตัวระลึก เอาจิตไปสู่จุดนั้น เป็นอุปาทานยึดมั่นก่อนเพราะเราจะก้าวขึ้นบันไดก็ต้องเกาะยึด เราจะก้าวต่อไปก็ต้องปล่อย นี่อุปาทาน ถ้าใหม่ๆ นี้เรียกว่า สมถะ สมถะยึดก่อนแล้วปล่อยไปก็เป็นวิปัสสนา เป็นต้น เราจะทราบความจริงถึงจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมาต่อภายหลัง

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจอย่างนี้ ต้องกำหนด ส่วนใหญ่ไม่กำหนดกัน จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอย่างนี้เป็นต้น มีความสุขทางไหนก็ตาม เดี๋ยวจะทุกข์อีกนี่มันแก้ไม่ได้เพราะอย่างนี้ เกิดที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่ไปแก้กันที่อื่น หาเหตุที่มาของมัน คือ สติ สติเป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุ เป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผล ตัวสัมปชัญญะรู้ทั่วรู้นอก รู้ใน นั่นแหละคือตัวปัญญาความรู้มันเกิดขึ้น

ตัวสมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้ เช่น เวทนา ปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวด เพราะปวดนี่เราคอยยึดมัน จิตก็ไปปวดด้วย เลยก็กลับกลายให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอุปาทานไปยึดขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้เอาสติไปดู ไปควบคุมจิตว่ามันปวดมากแค่ไหนประการใด

อุเบกขาเวทนา ใจลอยหาที่เกาะไม่ได้ ต้องกำหนด

อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ใจก็ลอยหาที่เกาะไม่ได้ ใจลอยเหม่อมองไปแล้ว เห็นคนเป็นสองคนไป จึงต้องกำหนดอุเบกขาเวทนา กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาวๆ ลึกๆ สบายๆ แล้วก็ตั้งสติระลึกก่อน กำหนดรู้หนอๆ ๆ ๆ

ถ้าเราสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ครบ ป้อนข้อมูลเข้าไป รู้หนอๆ เดี๋ยวสติรวมยึดมั่นในจิต จิตก็แจ่มใส ความทุกข์นั้นก็จะหายไป อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่จะประมาทพลาดพลั้ง จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถดังที่กล่าวนี้

เห็นหนอส่งกระแสจิตไว้ที่หน้าผาก (อุณาโลม)

เห็นหนอ อย่าลืมนะ ส่งกระแสจิตไว้ที่หน้าผาก (อุณาโลม) ไม่ใช่หลับตาว่ากันส่ง ถ้าท่านทำดังที่อาตมาแนะแนว รับรองได้ผลทุกคน เห็นหนอ ก็ต้องส่งกระแสจิตจากหน้าผากออกไป เพราะว่าเราจะสังเกตตัวเองได้ทุกคน ความรู้สึกจะมารวมที่หน้าผากหมด ภาษาจีนเรียกว่า โหงวเฮ้ง มันจะมีแสงที่หน้าผากนะ ตอนนี้ไม่อรรถาธิบาย จิตท่านสูงท่านจะเห็นเองดูหน้าคนดูตรงไหน โหงวเฮ้ง อยู่ตรงไหน อย่าลืมที่อาตมาพูดหลายครั้ง ยังไม่มีใครตีปัญหาได้เลย อุณาโลม… มันเป็นการส่งกระแสจิตได้ดีมากในจุดศูนย์สมาธิ นี่แหละจะเกิดปัญญาได้สำหรับตัวตนบุคคลปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งเห็นนิมิต…

อดีต อนาคต ไม่เอา เอาปัจจุบัน

สติสัมปชัญญะ รำลึกก่อน ปากอย่าไว ใจอย่าเบา เรื่องเก่าอย่ารื้อฟื้น เรื่องคนอื่น อย่านำมาคิด กิจที่ชอบทำให้เสร็จไป อยู่กับปัจจุบัน อนาคตอย่าจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะผิดหวังจะเสียใจตลอดชีวิต ปัจจุบันตรงนี้ซิเป็นของเราแน่ อดีตหรือมันผ่านพ้นไปแล้ว จะไปรื้อฟื้นมันทำไมเล่า เรื่องของคนอื่นเอามาคิดทำไม คิดเรื่องของตัวเองว่า วันนี้จะทำอะไรกัน จะต้องทำให้เสร็จอะไรบ้าง อนาคตอยู่อีกยาวนาน วันพรุ่งนี้ เดือนหน้าต่อไปจะอยู่ถึงหรือเปล่า จะไปรำพึงรำพันให้เสียสมอง ให้สมองฝ่อ จิตตกทำไมเล่า เดี๋ยวพระอาทิตย์ก็เลี้ยวลัดอัศดงหมดไป ๑ วันแล้ว ท่านจะได้อะไรหรือ

ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอๆ นี่ต้นจิต
เป็นเจตสิก
เอาไว้ทีหลัง

กำหนดอยาก… กำหนดโน่น กำหนดนี่ มันจะมากไป เอาแต่น้อยก่อนเพราะเดี๋ยวจะกำหนดไม่ได้ เอาทีละอย่างไปเดี๋ยวก็ได้ดีเอง แล้วค่อยกำหนดต้นจิตทีหลัง ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอๆ นี่ต้นจิตเป็นเจตสิกเอาไว้ทีหลัง ค่อยเป็นค่อยไปก่อน ค่อยๆ ทำฝึกให้มันได้ขั้นตอน ให้มันได้จังหวะก่อนแล้วฝึกละเอียดทีหลัง ถ้าเรากำหนดละเอียดเลยขั้นตอนไม่ได้ ก็เป็นวิปัสสนึกไปเลย พองยุบก็ไม่ได้

การปฏิบัติหากรู้ว่าทำกรรมอะไรไว้
ต้องกำหนด ไม่ให้ฟุ้งซ่านอยู่ในกรรมนั้น

บางครั้งมันอาจจะนึกได้ไปทำเวรทำกรรมอะไรไว้ ไม่ต้องไปคำนึงถึงกรรมนั้นเลย ให้มีข้อปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีอารมณ์ฟุ้งซ่านไปอยู่ในกรรมก็ด้วยการกำหนดเวทนานั้นเอง นี่วิธีปฏิบัติไม่ต้องเอาอย่างอื่นอีกแล้ว กำหนดเวทนาที่เกิดขึ้นกับเราเองโดยเฉพาะ เดี่ยวมันจะแจ้งชัดขึ้นมาเองเจ็บมากให้กำหนด เราจะแผ่เมตตาตอนทำกรรมฐานไม่ได้ มีหลักปฏิบัติคือพอเรานั่งกำหนดเรียบร้อยดี ๑ ชั่วโมง หมดสัจจะที่เราอธิษฐานไว้ เราก็อโหสิกรรม วิธีปฏิบัติอโหสิกรรมต่อการกระทำ เวรกรรมที่ทำไว้อดีต เราอโหสิให้ได้ อโหสิแล้วก็แผ่เมตตาให้แก่เขาโดยวิธีนี้

สติปัฎฐาน ๔ มีอะไรเกิดขึ้น ให้กำหนด ไม่ปล่อยให้ดิ่งไปเฉยๆ

เรื่องวิปัสสนานี่มีอย่างหนึ่งที่น่าคิด คือประการแรก ปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น มันมีกิเลสมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นในตัวเราทั้งหมด เราจะรู้กฏแห่งกรรมความเป็นจริง จากภาพเวทนานั่นเอง ประการที่ ๒ รองลงไปมีอะไรก็กำหนดสติปัฎฐาน ๔ ให้ยึดหลักนี้ไว้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ให้กำหนดเหตุนั้น ไม่ใช่ดิ่งลงไปเฉยๆ ปัญญาที่จะเกิดนั้นไม่ใช่เกิดเพราะดิ่งเฉยๆ คือความรู้ตัวเกิดขึ้นโดยสติสัมปชัญญะภาคปฏิบัติจากการกำหนดนี่เอง เวทนาที่ปวดเมื่อยนั้น มันปวดตามโน้นตามนี้เราก็หยุดเอาทีละอย่าง อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว กำหนดเวทนาให้ได้ คือ เวทนากำหนดได้เมื่อใดมากมายเพียงใดซาบซึ้งเพียงนั้น มันเกิดเวทนาอย่างอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องเล็กไป อันนี้ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนครูมาสอน…
เราต้องเรียน คือ กำหนดจิตใช้สติตลอดเวลา

ถ้าเราสติดี ปัญญาดีแล้ว มันจะบอกได้เป็นขั้นตอน มีเวทนาอยู่จุดไหน กำหนดได้ จุดนั้น มันก็หายไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในการฝึกเบื้องต้นมักมีอย่างนี้ ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ครูเข้ามาสอนแล้วต้องเรียน ครูโลภะ ครูโทสะ ครูเวทนา ครูฟุ้งซ่าน ครุเสียใจมาสอนเราว่าทำไมเสียใจ แก้ไขอย่างไรก็กำหนดจิตใช้สติตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ก็ชัดขึ้น นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำเร็จมรรคผลมา ก็ใช้หลักสำเร็จที่อริยสัจ ๔ ก็ได้จากการเจริญสติปัฎฐานมานี่เอง

ปวดหนอ กำหนดให้ได้ ตายเป็นตาย

ปวดหนอ ปวดหนอ หายปวดไหม ตั้งแต่มานั่งที่นี่… (ปวดหนอ แต่ไม่หายหนอ เจ้าค่ะ) ยิ่งปวดหนักใช่ไหม ยิ่งหนักยิ่งกำหนดหนักเข้าไปตายก็ให้ตายต้องอย่างนั้น เดี๋ยวปวดหนอ ปวดหนอ ไม่หาย เลิกหนอ เลิกหนอ อย่างนั้นไหม …(ยังไม่ถึงขั้นเจ้าค่ะ) ยังไม่ถึงขั้นเลิกหนอ หรืองั้นก็ไปได้ซี ไปได้…(เปลี่ยนหนอเจ้าค่ะ) อ๋อ เปลี่ยนหนอ เออมีเปลี่ยนหนอเหมือนกัน เดี๋ยวปวดหนอ ปวดหนอ โอ๊ยทนไม่ไหวแล้วหนอ เปลี่ยน…หนอ เปลี่ยน…หนอ เปลี่ยน…หนอ งั้นเหรอ เอ้าก็พอไป พอไปได้ แต่อย่าเปลี่ยนบ่อยนักนะ เดี๋ยวจะเคย ใหม่ๆ นี้ได้ แต่หนักเข้า อย่าเปลี่ยนบ่อยนักนะ เดี๋ยวเคยชิน เปลี่ยนดี ทีแรกก็เปลี่ยนๆ ก่อน พอหนักเข้าตายให้ตายไม่ต้องเปลี่ยน ทีแรกเปลี่ยนได้เพราะเราไม่เคยนะ โยมนะ

ตัวธรรมะอยู่ที่ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์จะไม่รู้อริยสัจ ๔

อุปาทาน นี่เป็นสมถะก่อน ปวดหนอนี่เป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนาจำไว้ให้ได้ ปวดหนอนี่ยึดบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะว่ามีรูปมันจึงมีเวทนา วัตถุคือรูปนี่เกิดสัมผัส เกิดสังขารปรุงแต่ง มันจึงปวด ปวดแล้วกำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ ยิ่งปวดหนัก ถ้าเราไม่กำหนดเลยก็ไม่ปวดหรอก แต่วิธีปฏิบัติต้องกำหนดจะได้รู้ว่าเวทนามันเป็นอย่างไร นี่ตัวธรรมะอยู่ที่นี่ ตัวธรรมะอยู่ที่ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์จะไม่รู้อริยสัจ ๔ นะ เอ้าลองดูซิ ถ้าเกิดเวทนา-แล้วเลิก โยมจะไม่รู้จักอริยสัจ ๔ รู้แต่ทุกข์ข้างนอก ทุกข์ประจำไม่รู้เลยนะ รู้แต่ทุกข์จรนะจำไว้ จะไม่รู้อริยสัจ ๔ ในภายใน โยมจะรู้อริยสัจ ๔ ภายนอก รู้แต่ทุกข์จรเข้ามาเท่านั้นเอง

ปวดหนอตั้งสัจจะ อดทน ฝืนใจ

ทุกข์ประจำนี่สำคัญเอาก่อนปวดหนอ ปวดหนอ นี่ทุกข์ประจำ ทุกข์ประจำเลย ต้องให้เห็นธรรมะว่า ปวดหนอ ปวดหนอ โอ๊ยจะตายเลย บางคนนั่งทำไปเหลืออีก ๑๕ นาทีจะชั่วโมง หรืออีก ๕ นาทีจะถึง ๓๐ นาทีที่ตั้งใจไว้จะตายเลยทุกครั้ง ทุกคนเป็นอย่างนี้แหละ ถ้านั่ง ๑ ชั่วโมงจำไว้เหลือ ๑๐ นาทีเราจะแย่เราไม่ต้องดูนาฬิกา พอมันจะแย่เวทนามาเราจะทายได้เลยว่าอีก ๑๐ นาทีถึงชั่วโมง ไม่เกินแน่นอน อย่างต่ำก็ ๑๕ นาทีถึงชั่วโมงแน่

ลองดูเลย จะตายเลย เอ้าตายให้ตาย-ตายให้ตาย ปวดหนอ-ปวดหนอ โอ้โฮ มันทุกข์อย่างนี้เลย พิโธเอ๋ยกระดูกจะแตกแล้ว กระดูกจะแตกแล้ว แล้วที่ก้นทั้งสองนี่ร้อนฉี่เลย เหมือนหนามมาแทงก้น โอ้โฮ มันปวดอย่างนี้เองหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ กำหนดไป เป็นไร เป็นกัน พอใกล้เวลาเหลืออีก ๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง ที่ตั้งสัจจะไว้จะตายเลยนะ ลองดู ลองดู ต้องทนฝืนใจ

เก็บอารมณ์

เก็บอารมณ์ที่ถูกต้องก็คือ กำหนดจิตให้ได้ในอารมณ์ปัจจุบัน ถ้ากำหนดไม่ได้ปัจจุบันไม่ใช่เรียกว่าตัวเก็บอารมณ์ นักปฏิบัติต้องจำข้อนี้ไว้ให้ได้ เราเจอคนมาก เราฝึกไปแล้ว เจอคนมามาก มันทั้งด่าบ้าง ทั้งนินทาบ้าง หมุบหมิบบ้าง เก็บอารมณ์ไม่รับได้ไหม พาเอาออกไปรับแล้ว เขาด่า เขาว่า ออกเผชิญหน้าเลย อย่างนี้แสดงว่าไม่เก็บอารมณ์ แสดงอารมณ์ออกมานอกหน้าให้เขาเห็นอย่างนี้ เก็บอารมณ์ไม่อยู่แล้ว เก็บไม่อยู่แล้ว

ไม่ใช่ไปนั่งในห้องมืด ไม่ต้องเจอใครเลย ไม่มีประสบการณ์กับอารมณ์เลย ต้องกำหนดตัวนี้ให้ได้ เสียงหนอ เขามานินทาเราหน้ากุฏิ เสียงหนอ… เขามาว่าเราว่าไม่ล้างชาม เขามาว่าเราสกปรกเก็บอารมณ์ได้ไหม คือเสียงหนอ ไม่รับอารมณ์มาไว้ เก็บอารมณ์ไว้ให้ได้ คืออารมณ์ดี อารมณ์เสียที่เขามาด่ามาว่าก็ให้มันหายไป เลื่อนลอยไปตามสภาพ อย่าไปดึงมันมาเรียกว่าเก็บอารมณ์เข้าใจผิดกันมาก

อารมณ์รั่ว

อารมณ์รั่ว เก็บอารมณ์ไม่อยู่คืออะไร คือ ขาดตัวกำหนด ไม่มีตัวกำหนด ไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มีการแก้ปัญหาได้ อย่างนี้เป็นต้น คนเก็บอารมณ์อยู่ ทำงานตลอดไปได้เลยคนที่เก็บอารมณ์ไม่อยู่ มันปล่อยไปตามอารมณ์ไปตามใจตัวเองตลอดรายการแล้ว รับรองได้เลย พลังท่านจะตก กำลังจิตจะตก ทำอะไรก็ตกหมด จิตใจไม่เข็มแข็ง จิตใจไม่อดทน ตรงนี้ขอฝากพวกกรรมฐานไปด้วย

นอนกำหนดพองหนอยุบหนอ สติดีจะนอนไม่หลับ

พองหนอ… ยุบหนอ… นอนหนอ… กำหนดไปสติดีนะ นอนไม่หลับสติดีแล้วไม่หลับ มันจะสว่างโล่ง ถ้าขาดสติเมื่อใดมันอยากจะหลับ เพราะจิตมันอยากจะหลับ จิตมันอยากจะพักผ่อน จิตมันอยากจะนอน เอาสติใส่เข้าไป นอนไม่หลับเลย นี่แหละถูกต้องแล้ว ถุกต้อง ถ้าอยากหลับหรือ อยากหลับกำหนดที่คอหอย กลืนน้ำลายกำหนดจิตหลับทันที ง่ายนิดเดียวแต่ไม่ทำตรงนี้กัน

โกรธ เสียใจ ต้องกำหนด อย่าให้ค้างคืน

ถ้าท่านโกรธกำหนดเลยนะ ถ้าท่านรู้สึกอยากได้กำหนดเลย รู้สึกเกลียดใครก็กำหนดเลย เป็นวิธีแก้ปัจจุบัน วิธีการแก้ปัญหาที่โกรธ ผูกพยาบาทใครก็ต้องกำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าปล่อยให้ค้างคืน ปล่อยให้เลยไปถึงจิตใจ เหมือนโจรเข้าไปในห้องในฉะนั้น มันก็จี้เราได้ เราก็ยอมจำนนมัน โดยวิธีนี้… โกรธหรือ ต้องแก้ปัญหากำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าไปผลัดไว้แก้พรุ่งนี้ ผูกความโกรธเข้าไว้ทำให้ใจเศร้าหมอง ตลอดคืนยังรุ่ง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียเวลามาก จึงต้องแก้เดี๋ยวนี้ โกรธหนอ โกรธหนอ ปักจิตไว้ที่ลิ้นปี่ สติรวมไว้… ทำนองเดียวกัน เสียใจก็กำหนดเสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ หายใจยาวๆ ร้อยครั้งพันครั้ง จนกว่าความเสียใจจะหายไป ดีใจเข้ามาแทนที่ทำความดีกันต่อไป …เสียใจหนอ… เสียใจเรื่องสามี เสียใจเรื่องลูก เสียใจเรื่องภรรยา มันจะบอกเราไม่ได้ แต่กรรมฐานบอกเราได้แน่ เราก็กำหนด เสียใจหนอ… ที่ลิ้นปี่นี่ ไม่ใช่ที่หัวใจ…