วิปัสสนากรรมฐานให้อะไรผม

โดย นายธนู ปัญญาเอก

ผมเองเรียนมาทางด้านรังสีเทคนิค แต่เดิมทำงานที่ศูนย์เอ็กซเรย์พญาไท สาขาขอนแก่นในตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ ทำอยู่ประมาณ ๖ ปี ก็ลาออกมาเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตให้กับ บริษัท เอ.ไอ.เอ จำกัด เพราะเพื่อนบอกว่าที่นี่เขาจะสอนให้เราเป็นคนดีและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ตลอดจนพระครูท่านเจ้าคุณทองสา วัดธาตุ จ.ขอนแก่น บอกว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วได้บุญเยอะ ตั้งใจจริง ก็เลยยึดเป็นอาชีพสุดท้ายของชีวิต

ผมเองได้มีโอกาสฝึกวิปัสสนาครั้งแรก เมื่อครั้งที่บวชอายุครบ ๒๕ ปี ครั้งนั้นไม่ทราบหรอกว่าเป็นวัดอะไร ธรรมยุตหรือมหานิกาย เพียงแต่พ่อเลือกวัดให้ ครั้นเมื่อบวชเข้าจึงได้รู้ว่า ที่วัดป่าสุนทรอุทิศ อ.เมือง จ.สุรินทร์ แห่งนี้ เป็นวัดที่มีสอนและฝึกด้านวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง ครั้นเจ้าอาวาสพระครูสุนทร ได้นำผมซึ่งบวชพระอยู่นั้น ให้ไปจำวัดที่กุฏิแห่งหนึ่ง ซึ่งไม้ที่ใช้ทำกุฏินั้นใช้ไม้จากที่เหลือของเมรุนั้นเอง แต่ละกุฏิห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร มีต้นไม้ครึ้มไปหมด มองไม่เห็นแต่ละกุฏิ หลวงพ่อท่านห้ามทุกชนิด ห้ามยิ้ม, ฟังวิทยุ, อ่านหนังสือพิมพ์, ห้ามเด็ดใบไม้, ฆ่าสัตว์, ทุกสิ่งที่เป็นระเบียบสงฆ์ห้ามโดยเคร่งครัด คืนแรกผ่านไปด้วยดีไม่มีอะไร รุ่งเช้าหลังจากทำวัตรเช้า และฉันเสร็จแล้ว หลวงพ่อท่านก็เริ่มสอน

 

วิธีนั่ง เดินวิปัสสนาเบื้องต้น

พองหนอ-ยุบหนอ ช่วงกลางวัน ก็ไม่มีอะไร แต่พอกลางคืนเมื่อนั่งวิปัสสนาอยู่ในกุฏิเพียงองค์เดียว ก็มีทั้งเสียงคนเดินรอบข้างกุฏิ มีคนดึงมุ้ง, มีเสียงควายร้องใต้กุฏิ, มีเสียงสัตว์สี่เท้าเดินขึ้นลงกุฏิ เป็นว่าเล่น ผมเหงื่อออกโซมทั่วทั้งตัว จีวรเปียกชุ่ม ได้แต่นั่งไหว้พระ และวิปัสสนาต่อไป เสียงเหล่านี้ก็ดังกวนจนเกือบสว่าง วันนั้นเพลียมาก เพราะจำวัดไม่ได้ เมื่อมีโอกาสก็สอบถามหลวงพ่อว่าทำไมถึงมีสิ่งเหล่านี้ ขอย้ายกุฏิมาจำวัดกับหลวงพ่อได้หรือไม่ เพราะต้องการบวชเพื่อสงบ ทดแทนพระคุณพ่อแม่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ไหว หลวงพ่อท่านก็ชี้แจงให้ทราบว่านั้นคือกรรมเก่า ที่เราเคยทำบาปไว้ เขามาทวงหรือมาให้เห็น เพื่อที่เราจะได้ทำบุญยิ่งขึ้น เมื่อเรานั่งวิปัสสนา ภาพเหล่านั้นเสียงเหล่านั้นก็จะมาปรากฏให้เราเห็น อย่าไปยึดติดหรือจ้องมอง จงแผ่เมตตาให้เขา และพยายามควบคุมสติให้อยู่ในตัว ระลึกถึงแต่ภาพท้องพองออก ยุบเข้า ตามจังหวะ พองหนอ ยุบหนอ ก็เพียงพอ ถ้ายังได้ยินก็จงพูด เสียงหนอ รบกวนหนอ หยุดหนอ หยุดหนอ แล้วแผ่เมตตาให้เขา สิ่งเหล่านั้นก็จะหายไปเอง ผมก็ทำตามแต่ก็เป็นเหมือนเดิมอยู่อีกประมาณ ๔ คืน ไม่ดีขึ้น รู้สึกเพลียมาก จำวัดก็ลำบาก จีวรนี้เปียกทุกคืนเลย กลับมาวันที่ ๕ ของการบวช หลวงพ่อจึงได้แนะนำให้แผ่เมตตามาก ๆ เข้าไว้ ทุกครั้งที่มีสิ่งรบกวนเหล่านี้เกิดขึ้นก็จงแผ่เมตตา และตั้งใจมั่นกำหนด พองหนอ-ยุบหนอ เพียงอย่างเดียว

เช้าวันที่ ๖ แล้ว อาการที่เคยเพลียจากการจำวัดไม่ได้กลับมาหายโดยปลิดทิ้ง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ขณะเดินจงกรมในป่า ก็จะมีนก ลงมาเดินอยู่ข้าง ๆมีกระรอกลงมาเก็บเศษผลไม้ข้าง ๆ ทางที่เดินจงกรม เหมือนไม่ได้กลัวเราทำร้ายเอา ผมได้ถามหลวงพ่อว่าสัตว์เหล่านี้เขาไม่กลัวเราหรือ หลวงพ่อท่านก็บอกว่า จิตของเราสงบและมีเมตตา ตรงนี้สัตว์เหล่านั้นจะสื่อถึงกันและกันได้ เขาจึงไม่กลัวเรา คืนที่ ๖ ของการบวชขณะวิปัสสนา ก็มีภาพแม่ยืนร้องไห้มีพ่อยืนหันหลังให้ และทำงานของท่านต่อไป ยิ่งมองยิ่งเห็นชัดขึ้น สายตาแม่นิ่งสงบมีเพียงแต่น้ำตาเท่านั้นที่ไหลอยู่ตลอดเวลา มือของแม่พนมไหว้ลูก ที่กำลังยืนอยู่ ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

หลวงพ่อเคยบอกว่าถ้าภาพชัดขึ้น และไม่สามารถที่จะฝึกจิตควบคุมยุบหนอ-พองหนอได้ ให้พูดพักหนอ พักหนอ แล้วพักอย่าคิดและมองภาพนั้นอีก แต่ให้มองตัวเราโดยเริ่มตั้งแต่เส้นผม เรื่อยมาตามใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน ขา ว่าจริง ๆ แล้ว ร่างกายเราก็เป็นเพียงสิ่งจอมปลอมเปลือกนอกที่มาห่อหุ้มโครงกระดูก ซึ่งก็มีตั้งแต่กะโหลก มีตา มีขากรรไกร มีฟัน มีกระดูก คอ อก แขน ขา มีหลอดลมต่อจากช่องจมูกมาเชื่อมกับปอดเกิดการเคลื่อนตัวตามจังหวะหายใจ มีหลอดอาหารต่อจากช่องปากมาสู่กระเพาะ ซึ่งมีเศษอาหารหลาย ๆ อย่างรวมกันหมักหมมอยู่ ต่อไปยังสำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ซึ่งก็มีแต่เศษอาหารที่หมักหมมแล้วทั้งสิ้นเป็นภาพที่ไม่น่าดู ถึงเวลาร่างกายก็จะขับออกที่ทวารหนักเป็นอุจจาระอีกที จึงรู้สึกว่าที่แท้ร่างกายเราก็ไม่ใช่สิ่งที่สวยงามแต่อย่างไร มีแต่ของหมักหมมเน่าเหม็นไปทั้งตัว ไม่เห็นมีอะไรน่าพิสมัย ทำไมเราจึงยังยึดติดอยู่อีก

ช่วงที่กำลังมองและติดอยู่ตรงนี้ ก็เห็นภาพแม่อีกครั้ง และยังร้องไห้อยู่เช่นเดิม จึงคิดว่าตอนที่ท่านอุ้มท้องเรา ๙ เดือนคงจะลำบาก และอึดอัดน่าดู ครั้นคลอดออกมา กว่าจะเลี้ยงให้เติบใหญ่ มีการศึกษาก็ไม่เคย ปริปากบ่นแม้แต่คำเดียว และไม่เคยทักทวงบุญคุณอะไรให้เรามาตอบแทนเลย ไม่ทราบว่าน้ำตาของผมไหลมาได้อย่างไรและได้ตั้งสัตย์ไว้ว่า ชาตินี้ทั้งชาติจะทำบุญให้ท่านตลอดเวลาและจะดูแลท่านอย่างดี ทุกครั้งที่ไหว้พระก็จะขอพรจากพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คุ้มครองท่านให้ปลอดภัย เป็นที่รักใคร่ของผู้คน มีอายุยืนนาน ปราศจากโรคภัยทั้งสิ้น

ครั้นวันที่ ๗ ขณะที่ผมกลับจากบิณฑบาต ก็พบแม่นั่งอยู่กุฏิโรงธรรม และทำอาหารมาถวาย ฉันข้าวมื้อนั้นลำบากมาก กลืนไม่ค่อยลง เพราะโยมแม่ไหว้หลังถวายอาหารเช้าและน้ำตาของแม่ก็ไหลออกมาจริง ๆ ให้เห็น เหมือนภาพครั้งที่นั่งวิปัสสนาไม่มีผิดเพี้ยน แม่นั่งนิ่งมองผมโดยไม่กระพริบและน้ำตาท่านก็ไหลตลอดเวลา ผมทำอะไรไม่ถูก ได้แต่นึกในใจว่า ความผิดของตนที่ผ่านมา ที่ปกปิดหรือไม่ก็ตามจะขอหยุดเพียงแค่นี้ จะไม่ทำให้แม่ต้องเสียใจหรือผิดหวังในตัวเราอย่างเด็ดขาด สงสารแม่มาก

วันที่ ๘ ตรงกับกำหนดต้องสึก หลวงพ่อท่านบอกเพียงว่า เสียดายเวลาน้อยเกินไป ที่ลางานมาบวชได้เพียง ๗ วัน แต่ถ้ามีโอกาสให้เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี หรือขึ้นทางเหนือมาจังหวัดสุรินทร์ จะมีพระอยู่องค์หนึ่งที่จะสอนวิปัสสนาต่อให้ได้ หนังจากนั้นผมก็ทำบุญและสังฆทานมาเรื่อย ๆ จนประมาณปีที่ ๔ ซึ่งตอนนั้นผมได้ลาออกมาเป็นตัวแทนขายประกันแล้ว

วันหนึ่งได้ไปทำบุญ ที่วัดเวฬุวัน จ.ขอนแก่น เป็นวัดที่ไม่เคยรู้จัก เพียงแต่อยากถวายสังฆทานเท่านั้นจึงได้พบกับ พระครูธีรวัฒน์ รู้สึกศรัทธาพระรูปนี้มาก ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ทราบมาภายหลังแต่เพียงว่าท่านเป็นตัวแทนสงฆ์ของพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ภายหลังได้สนทนากับท่าน จึงได้รู้สึกว่าที่มีการฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้ จึงได้คิดว่า ก่อนหน้านี้หลวงพ่อสุนทรได้บอกว่าถ้าอยากเรียนต่อก็ให้เดินทางไปทางสิงห์บุรี ลพบุรี หรือทางขอนแก่น อุดรธานี จึงกราบเรียนให้พระธีรวัฒน์ทราบว่า ผมเองมีความคิดว่าคงจะเป็นวัดนี้แน่ ๆ ท่านก็ยิ้มแต่ก็ไม่พูดอะไร

หลังจากนั้นมาผมก็มาทำบุญที่วัดนี้อยู่เรื่อย ๆ จนวันหนึ่งได้รู้ว่าที่วัดจะมีคณะครูอาจารย์เข้ามาอบรมวิปัสสนาที่นี่จึงได้ขอเข้าร่วมการอบรม พระธีรวัฒน์ท่านก็อนุญาต บังเอิญในช่วงนั้นได้มีตัวแทนสงฆ์ของหลวงพ่อจรัญ คือ พระครูใบฎีกาคฑาวุฒิ มาเป็นผู้สอนแทน เพียงแรกพบก็รู้สึกศรัทธาพระครูท่านนี้มาก ท่านดูสงบ เยือกเย็น สำรวม คำพูดคำจา ของท่านแต่ละคำเป็นวรรคเป็นตอน มีพลังให้วิปัสสนาของผมได้สำเร็จผลด้วย (ก่อนการนั่งวิปัสสนาทุกครั้ง) ทุกครั้งที่เดินและนั่ง ไม่เคยมีภาพเหล่านี้ รบกวนเช่นวันแรก และพระครูท่านก็สอนเพิ่มเติมว่าขณะที่เรากำลังนั่งอยู่ แรก ๆ ก็คิดถึงแต่ภาพหนังท้องพองออก-ยุบเข้า สักครู่หนึ่งเกิดเห็นบ่ออากาศข้างหน้าคล้าย ๆ บ่อน้ำใสโดยทั่วไปแต่ไม่มีน้ำ มีแต่อากาศเป็นสีเขียวอ่อน ๆ ข้าพเจ้าได้ยื่นจมูกสูดอากาศเข้าไปสดชื่นมาก มีกลิ่นหอมอบอวล ยิ่งดูยิ่งมีความสุข ไม่มีนึกถึงภาพหนังท้องพองออก-ยุบเข้า แต่อย่างใด กำหนดรู้อย่างที่พระครูท่านสอน

ครั้นช่วงพักได้มีโอกาสสอบถามพระครูอีก ท่านบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิมิตหรืออาจเป็นจิตอุปาทาน อย่าได้ยึดติดกับมัน ทุกครั้งที่ได้เห็นหรือได้อะไรก็ตาม อย่าได้ติดตามสิ่งเหล่านั้น ให้กำหนดจิตให้สงบ นึกถึงภาพหนังท้องพองออก-ยุบเข้า และกำหนดจิตให้พองหนอ-ยุบหนอ ให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำแบบช้า ๆ กำหนด หนอ ให้ยาว ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นจะหายไปเอง ผมก็ลองทำตามที่ท่านบอกก็เป็นจริง ถ้าสิ่งรบกวนเป็นเสียงก็ให้เราตอบ เสียงหนอ ถ้าเป็นกลิ่นก็ตอบว่า กลิ่นหนอ ถ้าเป็นภาพก็ ภาพหนอ ตอบตามที่ได้เห็น ได้กลิ่น แต่หลังจากตอบแล้วให้รีบเพ่งจิตมาอยู่ที่ลิ้นปี่ และกำหนดภาพหนังท้อง พองหนอ-ยุบหนอ พร้อมจิตกำหนด พองหนอ-ยุบหนอ ให้สัมพันธ์กัน โดยลากเสียง หนอ ยาว ๆ ช้า ๆ ในใจ ผมก็ทำตามที่ท่านสอน ภาพ กลิ่น เสียง เหล่านั้น ก็หายไปทุกครั้ง ท่านบอกว่าการที่จิตเราออกนอกพองหนอ-ยุบหนอ และเรากำหนดรู้จึงดึงจิตเข้ามา ได้ตรงนี้จะเกิดปัญญาขึ้น คือรู้ว่ากำลังทำอะไร รู้แม้กระทั่งดวงจิตของเราเองว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร กำลังพองหนอ-ยุบหนออยู่ใช่หรือไม่ แล้วทำไมต้องมีบ่ออากาศ, มีปุยเมฆ หรืออื่น ๆ มาแทรกอย่ายึดติดหรือหลงในสิ่งเหล่านั้น จิตเราอยู่ที่พองหนอ-ยุบเข้า เท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น

เมื่อจิตไม่วอกแวก มีความสงบ เราจะมีแต่สมาธิ และก่อให้เกิดปัญญา พึงกำหนดพึงได้รู้ พระครูท่านบอกว่า หากการนั่งหรือเดินแล้วรู้สึกลำบากใจให้หายใจสักครู่ ปล่อยใจปล่อยกายให้สบาย นึกภาวนาแล้วจึงเริ่มวิปัสสนาต่อไป จะทำให้การวิปัสสนาเป็นไปโดยได้ผลเร็ว มีหลายครั้งเหมือนกันขณะเดินจงกรมนั้นจะรู้สึกเมื่อยที่หัวไหล่มาก เนื่องจากขณะเดินนั้นพระครูท่านให้เอามือไพล่หลัง เคลื่อนจิตกำหนดที่เท้า มีทั้งปลายเท้า นิ้วเท้า ปลายเท้า ใจกำหนด ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ วิธีนี้พระท่านบอกว่าจะก่อให้เกิดสติค่อนข้างดี กำหนดรู้ว่าขณะย่างเท้าจิตอยู่ที่ไหน เคลื่อนไปมาอย่างไร การฝึกจิตตรงนี้ จะก่อให้เกิดสติ คือรู้ว่าดวงจิตอยู่ที่ไหน

เมื่อมาคิดถึงชีวิตประจำวัน บางครั้งปัญหาในชีวิตมากมายเหลือเกิน ทุก ๆ สิ่งมีทั้งที่มาเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หลาย ๆ คนเข้าใจว่า ชีวิตนั้นวุ่นวาย บางคนก็สับสนมีปัญหาชีวิตเกิดขึ้น เพราะความที่จิตเป็นของเราตามที่กำหนดแต่จิตของคนอื่นเป็นอย่างที่เราไม่สามารถกำหนดได้ เพราะแต่ละคนก็มีจิตตามแบบลักษณะของตัวเอง ความแตกต่างของจิตจึงเกิดขึ้น ในลักษณะที่เหมือนกันก็จะเป็นแนวร่วมแนวเดียวกัน ในแนวที่ต่างกันก็จะเป็นความขัดแย้งหรือความแตกต่าง

ตรงจุดนี้ถ้าเรารู้จักตัวจิตเรา และมีความควบคุมที่ดีพอ หรือมีสติพอก็จะเห็นและเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ที่คนเราจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจเหตุผลเข้าใจคนอื่น, มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปัญหาความวุ่นวายในชีวิตประจำวันก็จะน้อยลงได้ การดำรงชีพก็จะมีความสุข เสมือนเรายืนอยู่บนยอดเขา แล้วมองลงมาที่เชิงเขาก็จะเห็นต้นไม้ต่าง ๆ สัตว์ต่าง ๆ ก็เคลื่อนไหวเช่น การวิปัสสนาจะทำให้จิตสงบมีสติมีสมาธิ ในส่วนของชีวิตประจำวัน เราเองก็จะเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการอย่างไร

หลายครั้งที่การนั่งวิปัสสนา เพียงยุบหนอ-พองหนอไม่กี่ครั้ง ก็จะเกิดอาการเหน็บชาขึ้นตาม แขน ขา หรือทั่วทั้งตัว สิ่งนี้พระครูท่านบอกว่าอย่าไปสนใจให้เพ่งจิตมาตั้งที่ ยุบหนอ-พองหนอ จินตภาพตั้งหน้าท้อง ยุบเข้า-พองออก อย่าได้ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งนิมิต หรือุปาทานหรืออาการเหน็บชาต่าง ๆ ให้ตัดออกหรือละทิ้งจากใจเรา ความนึกคิดของเราให้หมดสิ้น ท่านบอกว่าความลำบากคือบุญ มีกรรมเข้ามารับใช้ ยิ่งลำบากมากแสดงว่า ยิ่งได้บุญมาก ดูตัวอย่างพระอรหันต์ กว่าจะบรรลุ จะต้องอดทน อดกลั้น ทั้งความเจ็บปวดต่าง ๆ นานา จะจึงสำเร็จ อย่าได้กลัวความลำบาก

ขณะพักวิปัสสนาบางครั้งพระครูก็ถามว่า ใครบ้างที่นั่งได้ครบกำหนดเวลา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า จริง ๆ แล้วคนเรานั้นต่างกันที่ความเพียรนั้นเอง หากมีความตั้งใจจริง มีความมุ่งมั่น อดทนและต้องการสิ่งนั้นจริง ๆ เราก็จะทำได้และได้ในสิ่งที่ปรารถนา เฉกเช่นการนั่งได้ครบกำหนดเวลาเพียงแต่มีบ่อยครั้งที่คนเรามีความอดทนต่อสิ่งนั้นน้อยเกินไป จึงไม่สำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจ บางคนก็นั่งไปถึง ๕ นาที ก็ปรารถนาให้ดวงจิตสงบ คล้าย ๆ กับการเรียกร้องความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่มีความอดทนรอ ผมคิดว่าชีวิตประจำวันก็คงไม่ต่างกัน ที่ทำอะไรชั่วครู่ก็อยากให้สำเร็จหรือค้าขายชั่วระยะเวลาก็อยากได้กิจการที่ขยายใหญ่โต มีกำไรดีตลอด โดยไม่มีการวางแผนหรือพยายามในการทำงาน ในปัจจุบันให้ดีก่อน มัวแต่นั่งรอผลบั้นปลาย โดยไม่ลงมือหรือลงมือประเดี๋ยวประด๋าวก็หวังผลแล้ว หวังผลเร็วเกินไปหรือเปล่า

พระท่านยังบอกว่าคนเราบางครั้งคนรวยอยู่เฉย ๆ ก็จนได้ คนจนขยันทำมาหากินก็รวยได้ ทำให้ผมคิดว่าถ้าจิตเราสงบ มีสติ มีสมาธิ เราก็จะเข้าใจตัวว่าเป็นคนเช่นไร ควรทำอย่างไร อะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา ตรงนี้ผมคิดว่าการวิปัสสนาช่วยได้มาก ช่วยให้จิตเราสงบ เราเข้าใจตัวเรามากยิ่งขึ้น และการนั่งได้ครบตามกำหนดเวลา โดยอิริยาบถไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ผมคิดว่าคนผู้นั้นมีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง มีความอดกลั้นเป็นเลิศ จนสามารถบรรลุถึงที่หมายได้นั้น คือ กำหนดเวลาในชีวิตประจำวันของเราของเราก็เช่นเดียวกัน รสชาติของชีวิตมีทั้งความดี ความสุข ความทุกข์ เสียใจ สารพัด แต่ถ้าเราอดทน อดกลั้นพอ มีความตั้งใจจริง ชีวิตถึงจุดหมายปลายทางตามที่เราปรารถนาได้เช่นเดียวกัน

การอบรมวิปัสสนาในครั้งนี้ผมได้พบและเห็นด้วยกับคำสั่งสอนจากพระธีรวัฒน์ค่อนข้างมาก หลาย ๆ ครั้ง ขณะนั่งอยู่ เมื่อจิตเราสงบมากพอ และเราหยุดพัก พองหนอ-ยุบหนอ สักครู่ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ แล้วนำปัญหายาก ๆ มาทบทวนดูจะปรากฏว่าสามารถแก้ไขและเข้าใจได้โดยง่ายตรงนี้ผมเชื่อว่า เป็นความอัศจรรย์ของการวิปัสสนาและเมื่อพูดคุยกับผู้อบรมโดยทั่วไป จะรู้สึกแปลกใจที่ว่า คำพูดเราเปลี่ยนไป คำพูดสละสลวยขึ้น จึงได้เข้าใจว่า อาจเป็นไปได้ที่ จิต เป็นตัวกำหนดคำ และสติ คือตัวกำหนดว่าควรพูดหรือไม่ หรือจะเรียงลำดับอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลาจะต้องรู้ตัวตลอดเวลา ควรพูดอย่างไรทำอย่างไร การวิปัสสนาช่วยตรงนี้ได้มาก ผมคงไม่สามารถอธิบายถึงประโยชน์ และความมหัศจรรย์ของผม ที่ได้จากการอบรมวิปัสสนาได้หมด คิดแต่เพียงว่าโอกาสหน้า เมื่อมีเวลาว่างจะเข้ามาอบรมอีกครั้งเพื่อศึกษาต่อไป และคงขอยืมคำของพระที่ว่า “น้ำนมวางในแก้วนั้น เราคงไม่รู้รสว่าเป็นเช่นไรจนกว่าจะได้ดื่มกิน การวิปัสสนากรรมฐานก็คงเช่นเดียวกันคง จะไม่ได้ผลจากการฟังแต่คนอื่นเล่าให้ฟัง”