วิธีเดินกำหนด

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๑๔ ก.ย. ๓๒

…การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ ทำให้จิตใจนั้นอยู่ที่คงวาคงศอก คิดไม่พลาดคิดไม่ผิด ทำอะไรก็ถูกต้อง ทำอะไรก็ไม่หมองใจ จิตใจก็ไม่เศร้า จิตใจก็ไม่มีความคิดที่ผิดพลาด โดยอย่างนี้ถือว่าบริสุทธิ์

คนที่จะบริสุทธิ์ได้นั้นต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีอย่างเดียวที่แก้กรรมเก่ามาเล่ากันใหม่ เราสามารถจะรู้กรรมวิธีการกระทำของเราได้โดยปัจจุบัน ถ้าเรารู้ปัจจุบันได้เช่นนี้แล้ว ไหนเลยล่ะจะพลาดผิด ใช้สติสัมปชัญญะเป็นหลักปฏิบัติตัวกำหนดนี่เป็นหลักปฏิบัติ สติเข้าควบคู่กับสติ จิตก็อยู่กับที่ จิตจะคิดฟุ้งซ่านและวุ่นวายก็คงจะมีน้อย

ถ้าบุคคลใดมีสติสัมปชัญญะโดยยึดเอาสติปัฏฐาน ๔ เป็นบทปฏิบัติ เป็นกิจกรรมแล้วรับรองได้เลยว่า คนนั้นจะปิดประตูอบายได้ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน จะไม่ไปสู่ภูมิต่ำช้าสามานย์แต่ประการใด

เรารักษาอุโบสถทุกวัดตามประเพณีทุกแห่ง แต่ก็ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน องค์มรรคจะไม่เกิด ศีลก็ไม่ประเสริฐ ศีลคือปกติ ทำอย่างไรจึงจะเกิดปกติที่มีสติสัมปชัญญะได้ จะตอบออกมาได้ มีใจความดังนี้

คนที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติหน้าที่ทุกอิริยาบถ มีการกำหนดสติควบคุมจิต มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในอิริยาบถทุกการกระทำของตน คนนั้นจึงมีศีลบริสุทธิ์ ศีลนี้จะบริสุทธิ์ได้ต้องปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าอยู่ เฉย ๆ จะเกิดความเป็นปกติได้

ท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่ท่านไปรักษาอุโบสถตามวัดวาอารามต่าง ๆ พระท่านจะแสดงธรรมบอกให้ สำรวมอินทรีย์หน้าที่คอยระวัง ท่านเทศน์อย่างนี้กันทั้งนั้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะสำรวมอินทรีย์ได้ หน้าที่คอยระวังคือสังวร จะรู้ได้อย่างไรเล่า เลยก็รักษาอุโบสถตามกันมา เลยก็ไม่รู้เรื่องอะไร เพราะไม่เคยปฏิบัติเหตุผลที่ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายโปรดเสวนาการดังนี้

การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องเจริญสติบวกสัมปชัญญะในปัจจุบัน จึงเรียกว่า คุณธรรม ธรรมจะเกิดได้ต้องปฏิบัติในจุดนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติในจุดนั้นแล้วไหนเลยล่ะจะพบธรรมที่แปลว่าทุกข์ จะหาความสุขได้อย่างไรเล่า เพราะเรายังไม่รู้สุขแท้ ยังไม่รู้ทุกข์แท้ ยังไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ยังไม่รู้อารมณ์ของเราที่แน่นอน เลยก็ปล่อยไปตามอารมณ์ตามใจของเรา และเราจะพบของดีในตัวเราในคุณธรรมก็ยาก มันเกิดมาด้วยความลำบากเหลือเกิน

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมทุกท่าน เรามาเจริญสติปัฏฐาน ๔ เอาง่าย ๆ ไม่ต้องเอายาก ไม่ต้องเชื่อใครให้มันเกินความลำบาก และเกินวิสัยของเรา ปัญหามันเกิดขึ้นโดยวิธีนี้

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติได้ โดยรู้ได้ดังนี้

กายจานุปัสสนาวสติปัฏฐาน กายคือ ตัวเราทั้งหมด จะสำรวมอยู่ตรงไหนที่กายนี้ ก็ตั้งสติไว้ที่จิต สำรวมกายจะยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้ายแลขวา ตั้งสติกำหนดจึงจะเป็นบทความที่ถูกต้อง

ถ้าเราขาดการกำหนด เราก็ไม่มีความปกติ ความปกติมันก็หายไป ไหนเลยล่ะศีลจะอยู่กับเราได้ มันอยู่ตรงนี้ กายทั้งหมดนี้น่ะ เราใช้สติน้อย เพราะนักปฏิบัติธรรมเอาไปทิ้งหมด จึงไม่ปรารภกายปกติขึ้นมา ที่เราจะได้ความปกตินี้ เราจะต้องปฏิบัติตรงกายนี้

สติปัฏฐาน ๔ ข้อแรก กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราก็มีการกำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง ปักจิตไว้ที่กระหม่อน เอาสติตาม ยืน… นี่เรียกว่า ยืนปฏิบัติ “ยืน…” เอาสติตามจิตไปถึงสะดือ แล้วก็หยุดใช้จังหวะ แล้วตั้งสติต่อไป ตามจิตไป มันจึงจะทันกำหนด มิฉะนั้นจะเอาสติตามจิตไม่ทัน เพราะมันไวมาก ต้องมีที่พัก

ศูนย์สะดือ เป็นศูนย์ที่พักของศูนย์ประสาท เส้นประสาทรวมอยู่ที่ศูนย์สะดือทั้งหมด จึงต้องหยุดแล้วนำรวมสติต่อไปจากสะดือ ไปตั้งสติกำหนดว่า “หนอ” ลงไปที่ปลายเท้า มันจึงจะทันกัน ไม่อย่างนั้นสติตามจิตไม่ทันเลย ขอนักปฏิบัติจงสังวรอยู่ที่ข้อนี้ จึงจะรู้ได้ดี จึงจะมีความเข้าใจมิฉะนั้นท่านจะเข้าใจไม่ได้ในเมื่อไม่เข้าใจแล้ว ท่านจะปฏิบัติได้ประการใด ขอให้ปฏิบัติตรงนี้

ยืน…เบื้องต้นสำรวมจากปลายเท้า สังวรจิตเอาสติตามมโนภาพ แล้วก็ยืน… เอาจิตปักที่ปลายเท้าทั้งสองมโนภาพด้วยการยืนหลับตา เอาสติตามขึ้นมาเป็นอันดับขั้นตอน ยืน… ขึ้นมาถึงสะดือ หยุด ปักหลักไว้ก่อน ตั้งสติต่อตั้งสติไว้ให้ดี หายใจยาว ๆ ไว้ ถึงสะดือแล้วก็ตั้งท่าใหม่ “หนอ…” จากสะดือมาถึงกระหม่อม แล้วท่านจะทำได้คล่องดี มิฉะนั้นท่านจะคว้าไม่ถูก จับจุดไม่ได้ ข้อนี้สำคัญ ต้องโปรดจำและปฏิบัติเลยนะ

กำหนดอย่างนี้ ๕ ครั้ง ปักศีรษะลงไปปลายเท้าหนึ่งครั้ง สำรวมจากปลายเท้าขึ้นถึงกระหม่อนเป็นสองครั้ง ครั้งที่สามปักที่กระหม่อมลงไปปลายเท้าดังที่กล่าวข้างต้น ครั้งที่สี่ สำรวมจากปลายเท้าขึ้นมาถึงกระหม่อม ครั้งที่ห้า สำรวมจากศีรษะที่กระหม่อม มโนภาพเอาสติตามจิตไปว่า “ยืน…” ถึงสะดือหยุดหายใจยาว ๆ ได้จังหวะ “หนอ…” ใช้สติตามถึงปลายเท้า ท่านจะหายใจคล่อง แล้วท่านจะใช้สติได้ดีด้วย

ขอฝากนักปฏิบัติไว้ด้วย ทำให้มันถูก ถ้าทำไม่ถูกแล้ว มันจะไม่ได้ผล ถ้าสิ่งใดทำถูกต้องแล้วมันจะทำให้เราเกิดความคล่องแคล่ว เกิดความคล่องใจ สติก็ตามไม่ทัน กิจกรรมก็ดีขึ้นเป็นปัจจุบันอย่างนี้ อันนี้นักปฏิบัติธรรมโปรดได้จำ ทำแต่ละอย่างให้มันถูกไปเลย อย่าทำผิด อย่าไปเชื่อใครที่สอนผิด ต้องเอาอย่างนี้

บางคนก็ทำมานานแล้ว ยังจับอะไรไม่เป็นหลัก หาสติปักไม่ได้ เลยก็พลาดท่าเสียที ปฏิบัติไม่ได้ดี จิตถึงได้ฟุ้งซ่านกันมาก ออกไปนอกประเด็นสังวรและสำรวม จิตก็ไม่สำรวม สังวร ระวัง จิตก็ฟุ้งซ่านไม่เกิดปัญญาญาณ ญาณตัวนั้นหมายถึง รู้สึกนึกคิด รู้ซึ้งเข้าไปภายในจิต รู้ข้อคิดรู้อารมณ์ของจิตว่ามันคิดประการใด มันจะเกิดตัวญาณทัศนวิสุทธิ์ มันจะเกิดบริสุทธิ์

จิตใจเกิดฟุ้งซ่าน จิตใจกำลังหายนะ จิตใจไม่ลดละสิ่งอื่นที่เกาะอยู่ด้วยความไม่ถูกต้อง มันจะเปลี่ยนแผนเข้าสู่ภาวะของความเป็นปกติ มีสติดีศีลก็เกิดขึ้นตรงนี้ สติก็ดีขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น จิตก็แจ่มใส ใจก็ไม่เศร้าหมอง จิตก็ประคองไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ ตรงนี้จะเป็นตัวปัญญาที่ดีมาก

ขอให้ผู้ปฏิบัติทำให้ได้เป็นอย่าง ๆ ไป อย่าไปลามปาม คว้าผิดคว้าถูก เลยทำไม่ถูกต้อง จิตใจก็ออกไปนอกประเด็น สังขารปรุงแต่เข้าไปสู่ทางกามคุณห้า และจิตก็เข้าไปหลักในเบาะแสมันไม่ได้ เลยสติก็ควบคุมจิตไว้ไม่ได้ คนเราจึงเสียสติกันตรงนี้ ทำอะไรก็ขัดข้อง มันหมองใจอยู่ในจุดนี้เสมอไป

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติโปรดทราบและเข้าใจด้วย ต้องไปทำให้ได้อย่างนี้แต่ละอย่างไป อย่าไปทำลามปามหลายอย่างมารวมกัน ทำให้วุ่นวาย ทำให้สับสน ทำให้เกิดอลหม่าน ไม่รู้แน่ประการใด

ขอนักปฏิบัติธรรมทำตรงนี้ก่อน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทำตรงยืนนี้ ยืนแล้วก็ต้องเดินด้วย เดินแล้วต้องมานั่ง นั่งแล้วต้องไปนอนปฏิบัติ เพราะอิริยาบถทั้งสี่นี้เป็นหลักที่ท่านต้องปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

วันนี้จะพูดง่ายลงมา และให้ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้ทำมานานจะได้รู้ผลงานของตนว่าทำได้หรือเปล่าประการใด อยู่ตรงนี้

การสำรวม สังวร ระวัง พูดกันมานานไม่รู้จะสำรวมตรงไหน ไม่ทราบว่าจะคอยระวังตรงไหน เราก็ ไม่รู้ เราก็ไปดูที่อื่นกันเสียหมด ไปหวังผลอย่างอื่นโดยไม่เข้าใจ เลยสติเสียไป จิตใจก็ไม่ดี เพราะกำหนดไม่ได้ปัจจุบัน

คำว่า ปัจจุบันนั้น หมายความว่า สติตามจิตทัน จิตก็กำหนดได้ คือ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ก็พร้อมกัน จิต กับ สติ ที่กำหนดได้ ความรู้ตัว ก็รู้พร้อมกันขึ้นมา เรียกว่า ปัจจุบัน

นักปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วอีก ๑๐๐ ปี ก็เอาดีไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ เป็นคนที่ไร้สติ เป็นคนไม่มีสติ เป็นคนไม่มีความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกต้อง มันก็ออกมาในรูปแบบของตน ตามใจอารมณ์ของเรา จิตใจก็เหลวแตกราญไปในทางชั่ว เลยเอาตัวไม่รอดไม่ปลอดภัย ตัวนี้เป็นตัวปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว ขอนักปฏิบัติโปรดได้รับทราบดังที่กล่าวมา

การกำหนดยืนหนอ ๕ ครั้งนี้ เรียกตามศัพท์ธรรมะว่า ตจปัญจกกรรมฐานเบื้องต้น ที่เรากำหนดนี้ ตั้งแต่ศีรษะของเราก็คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา กลับไปกลับมานี่แหละถูกแล้ว เพราะเป็นวิธีปฏิบัติ คนไม่เข้าใจ เลยก็คว้ากันผิดถูกเลยปลูกสติไม่ขึ้น ปัญญาก็ไม่เกิด จิตใจก็ไม่ประเสริฐในชีวิตของตน ข้อนี้นักปฏิบัติโปรดทราบ เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์หน่อยเถิด

ในเมื่อเราทำได้ มันจะเกิดความคล่องแคล่ว มันจะเกิดความว่องไวในการปฏิบัติ และสติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ก็เข้ามาสู่จิตใจของเราได้ชัดเจน ใจก็ซื่อ มือก็สะอาด ทำอะไรก็เฉียบขาด มันก็เกิดเป็นธรรมขึ้นมา โดยเหตุผลดังกล่าวนี้

อย่าไปสอนกันอย่างอื่น เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน เป็นอันดับหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ต้องเอาอย่างนี้ก่อน อย่าไปสอนให้มันสูงโดยที่เราก็ไม่รู้ด้วย เราต้องมีความเข้าใจเบื้องต้น เป็นพื้นฐานของคนก่อน

คนเราจะเข้าสู่ความเป็นมนุษย์แห่งความเป็นปกติดี ต้องมีสติในการยืน ต้องยืนก่อน แล้วก็ลืมตาเมื่อกำหนดครอบ ๕ ครั้ง ลืมตาแล้ว ไม่ต้องไปเหลียวลอกแลกดูคนอื่น ให้เพ่งไปที่ปลายเท้า เมื่อเพ่งไปที่ปลายเท้าสักครูหนึ่ง ดูเหตุการณ์สำรวมจิตไว้ที่ปลายเท้า ตั้งสติปักลงไป แล้วก็กำหนดจิตว่า ขวา…ย่าง…หนอ… ให้ช้าเหมือนคนเป็นไข้ เหมือนคนใกล้จะตาย

เพราะจิตเรามันเร็ว ไวกว่าเครื่องบิน จิตใจมันมองไม่เห็น ใจร้อน ไม่ใจเย็น จิตใจก็ฟุ้งซ่านเพราะร้อนรน เพราะเราทนไม่ไหว เราทำเร็วไป ขอให้ผู้ปฏิบัติธรรม ทำให้ช้า ตั้งสติไว้ก่อน

ขวา… ยกส้นสูงแค่ ๒ นิ้ว หรือ ๑ นิ้ว ก็พอแล้ว เพื่อจะได้ทราบว่า นี่เท้าขวา ไม่ใช่ยกหมดทั้งเท้า ยกหมดเดี๋ยวจะล้มไป เพียงแต่ให้สำนึกสมัญญาในหน้าที่ นี่ ขวา แปลว่าอะไร แปลว่า สติระลึกก่อนที่เท้าขวา และย่าง ด้วยการกำหนดปัจจุบัน

ขอให้ครูอาจารย์ควบคุมดูให้เห็นชุด อย่าให้เขาทำเป็นอดีต เป็นอนาคต เดี๋ยวจะไม่ได้ปรารภธรรม อยู่ตรงนี้

ย่าง… หนอ… ลงถึงพื้นพอดี อย่าทำให้มันผิดหลักอย่าให้มันผิดกฎนี้ เดี๋ยวจะไม่ได้ผล ต้องเอาอย่างนี้ตามวิชาครู

ย่าง… คือ สัมปชัญญะรู้ตัวขณะที่ย่างไปนั้น ให้ช้าที่สุด เอาจิตตามไป สติตามดู ว่าได้ปัจจุบันหรือเปล่า ลงหนอ…พอดี

แล้วก็ตั้งสติใหม่ จิตเกิดใหม่ ซ้าย… ระลึกก่อนกำหนดใหม่ ขวา… อยู่เฉย ๆ อย่าขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายแต่ประการใด เอาสติกำหนดจิต ซ้าย … ยกขึ้นมาพร้อมกัน หยุดไว้นิดหนึ่ง แล้วก็กำหนด ย่าง…หนอ… ลงพื้นพอดี

ท่านจะดีมาก ท่านจะทำอะไรก็ดีขึ้น นี่แหล่ะฝึกจิต ทำให้สติดี หนอ… ลงแล้ว อย่าเคลื่อนย้าย อย่าขยับทั้งหมด หยุดสักครูหนึ่ง เว้นช่องไฟไว้ แล้วก็ตั้งสติใหม่ จิตดวงใหม่จะเกิดชัดเจน

ขวา… ยกไว้ ยกนิดเดียว อย่างน้อยหนึ่งนิ้ว อย่างมากไม่เกิน ๒ นิ้ว อย่ายกทั้งหมด ยกไว้แล้วอย่าเพิ่งย่างไปยกไว้สักครู่หนึ่ง แล้วบอก ย่าง… ลงพอดี หนอ… กดลงไปให้เท้าลงพื้นลงหนอพร้อมกัน เรียกว่า ปัจจุบันธรรม

อย่างนี้อธิบายให้ง่ายที่สุดแล้ว อย่าเพิ่งเคลื่อนย้าย สติดีหยุดไว้เหมือนเขียนหนังสือมีช่องไฟ กำหนด ซ้าย.. ยก แล้วหยุด อย่าเพิ่งย่าง สำรวมความรู้ ปักลงไปให้เกิดปัจจุบัน ย่าง… ต้องย่างให้ได้ตามจิตที่เรากำหนด หนอ… ให้ช้าที่สุด ถ้าช้ามากมีสมาธิดีมาก ถ้าเร็วมากไม่มีสมาธิเลย จิตใจร้อนเหมือนเดิม จิตใจไม่ยับยั้ง ขาดสติสัมปชัญญะตรงนี้

ที่พูดนี่ไม่ใช่ง่ายนะ ทำได้ยากมาก คนที่บอกทำง่ายน่ะ คนนั้นพูดผิด คนนั้นคิดไม่ถูก บอกโอ๊ยเรื่อง เล็ก ๆ ทำง่ายไม่จริง

เพราะเรื่องสติสัมปชัญญะที่จะมีควบคุมจิตทำยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย แต่เราพยายามทำไปจนได้จังหวะ ก็จะเป็นเรื่องง่ายต่อภายหลัง มันต้องเรื่องยากก่อน ทำเรื่องยากให้เข้าหาเป็นส่วนง่าย ง่ายแล้วมันจะคล่องเอง คล่องดีแล้วสติก็ดี จับจุดของสติได้ จับจิตได้ จิตก็จะไม่ออกไปฟุ้งซ่านที่ข้างนอก คิดเหลวแหลก คิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มันอยู่ตรงนี้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ตนเอง

ย่างไปถึงปลายทางจะเลี้ยวขวา หยุดชิดขวา ขวาชิดซ้าย สำรวมจิต หยุดหนอ หยุดแล้วกำหนดยืนหนออีก ๕ ครั้ง กำหนดยืนอีก ฝึกให้ละเอียดเข้าไป กำหนดยืน ๕ ครั้งเสร็จแล้ว ลืมตา

ขณะที่ยืนกำหนดน่ะ ญาติโยมอย่าลืมตานะ หลับตาเพื่อดูอารมณ์ภายในของเรา อารมณ์นั้นมันออกไปข้างนอกอย่างไร จะได้รู้มันว่าเป็นประการใด

พอกำหนดยืนได้ ๕ ครั้งแล้วลืมตาเพ่งไปที่ปลายเท้า ไม่ใช่ดูที่ยอดไม้ ไม่ใช่หลับตาเดินจงกรม เห็นญาติโยมบางคนหลับตาเดินจงกรม หรี่ตาก็ใช้ไม่ได้ ต้องลืมให้เป๋ง เพ่งไปที่ปลายเท้า เป็นการฝึก ฝึกให้คุ้นเคย ฝึกให้แนบสนิท สติคิดอยู่ในจิต แล้วจิตท่านจะไม่พิกลพิการ จิตของท่านจะมีภาวะมีศีลประจำจิต จิตใจของท่านจะเบิกบาน ใจประเสริฐเพราะศีล ปัญญาก็เกิดขึ้นตอนนั้น

ในเมื่อยืน ๕ ครั้ง ลืมตาดูปลายเท้า แล้วก็ขยับทางขวา อย่าไปทางซ้าย ที่ครูสอนขอให้เอาตามแบบที่อาตมาสอน อย่าไปนอกครูโดยที่รู้ไม่จริง ขอฝากไว้ด้วย กลับทางขวา กลับ… ขยับ หนอ… ลงพื้น กลับ…ขยับ หนอ… ลงพื้น กลับ…หนอ…กลับ…หนอ…. ๔ จังหวะก่อน อย่าไปนอกครู

อย่าไปเอาตำราที่อื่น ต้องกลับ ๔ จังหวะก่อน อย่าไปเอาคนอื่นมาเป็นอารมณ์ กลับหนอ ได้แล้ว ๒๕% กลับหนอ ได้อีก ๒๕% กลับหนอได้อีก ๒๕% กลับหน… หันหลังกลับพอดี ตรงทีเดียว อย่าไปเอาตำราอื่นไม่ได้เด็ดขาด มันไม่ได้ผล เดี๋ยวจะสับสน พอได้ฉาก ๙๐ องศา กลับหลังหันพอดี

ทำให้ละเอียดเข้าไปอีก อย่ารีบเดิน จะเดินไปหาอะไร ใช้ไม่ได้ ต้องกำหนด ยืน…หนอ…อีก ๕ ครั้ง เรียกว่า เก็บอารมณ์ภายใน ดูอารมณ์ภายใน หลับตา เดี๋ยวค่อยลืมตาทีหลัง หลับตายืนหนอ ๕ ครั้ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

กำหนดได้แล้ว สำรวมอินทรีย์ กำหนดจิตลืมตาเพ่งดูหลายเท้า แล้วก็กำหนด ขวา…ย่าง…หนอ… ลงพื้นรับรองท่านเดินสัก ๔-๕ รอบ ท่านจะมีสติดีเพิ่มขึ้นมิใช่น้อย ท่านจะมีจิตยับยั้งจะคิดอะไรได้แปลกๆ

ขอฝากไว้ด้วยนะ ทำไม่ได้กัน มัวแต่ใจร้อน เดินจงกรมไม่รู้จะรีบไปไหนกัน เท่าที่อาตมาสังเกต เดินจงกรมเดินกันพรวด ๆ ๆ ๆ เดินเหมือนย่างม้าเหาะเลาะขอบรั้ว เอาตัวไปไหนกัน

เดินระยะแค่ ๔-๕ วาเท่านั้น แล้วเดินกลับไปกลับมา ก็เพียงพอแล้ว อย่างน้อยสั้น ๆ ต้อง ๓ วา อย่างมากสัก ๕ วา หรือไม่เกิน ๘ วา อย่าให้เดินเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไป ไม่รู้ว่าจะเดินไปไหนกัน ต้องรู้จักกลับ จะได้มีกำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง เพิ่มขึ้นได้มาก

ขณะที่เดินนั้นมันเกิดเวทนา ปวดต้นคอมาก หรือปวดเอวปวดขามาก ให้หยุดทันที ยืนอยู่ที่หยุด หยุดอยู่กับที่ อย่าเดินต่อ เลิกกำหนดอื่นทั้งหมด สำรวมจิตให้สติมาปักที่เวทนานั้นแล้วก็กำหนดว่า ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ อย่าส่งจิตไปอื่น ให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของเวทนา ด้วยการสัมผัสปรุงแต่งเกิดสังขาร สังขารปรุงแต่งเกิดเวทนา เอาอย่างนี้ก่อน

ในเมื่อกำหนดเวทนารู้สภาพความจริงของมันแล้ว รู้ว่าปวดมาก ปวดน้อยเป็นอย่างไร โดยสังขารมันเกิดปรุงแต่ง มันอาศัยรูป คือ สภาวะอาศัยกัน มันจึงปวดรวดร้าว ปวดต้นคอ ปวดขา ปวดบั้นเอว เรากำหนดได้แล้ว เราก็สำรวมจิต เดินจงกรมต่อไปใหม่ อย่างนี้นะ ทำให้ละเอียด

ขณะเดินจงกรมอย่างที่ได้อรรถาธิบายแล้ว เกิดจิตฟุ้งซ่าน เพราะเวทนาที่ยังไม่หาย จิตมันก็ออกไปคิดถึงอะไรมากมาย คิดถึงความสบาย คิดถึงความสุข ไม่น่าจะมาเดินจงกรมให้ลำบาก มันออกมาคิดอย่างนี้ หรือจิตอาจจะคิดว่าเลิกเดินเถอะ หยุดก่อนเดี๋ยวมาเดินใหม่ก็ได้ มันคิดอย่างนี้เพราะมารผจญไม่ให้สร้างความดีแล้ว มันจะเป็นตัวขัด

โยมต้องฝืนใจต่อไปถึงจะได้เห็นธรรมะ อย่าหยุดอย่าเลิก กำหนดอะไร กำหนดจิตฟุ้งซ่าน ที่ฟุ้งนั้น ไปคิดอะไรมากหลายให้กำหนด ยืนอยู่ที่ เอามือไหล่หลังนะ ขวาจับซ้ายไว้ข้างหลัง อย่าเอามาไว้ข้างหน้า จะได้ไม่หลังงอ จะได้ไม่ปวดหลัง เอามือประสานกันที่กระเบนเหน็บอยู่ข้างหลังนั้น แล้วกำหนดให้ได้ก่อน

จิตฟุ้งซ่านก็กำหนดฟุ้งซ่านหนอ เวลากำหนดจิตฟุ้งซ่าน เอาจิตปักไว้ที่ไหน เอาไว้ที่ลิ้นปี่ หายใจให้ยาว ๆ จากจมูกถึงสะดือ หายใจยาวๆ แล้วเอาจิตปักไว้ที่ลิ่นปี่ให้ลึก เอาสติตามดูว่า ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ หายใจยาว ๆ เดี๋ยวจิตจะมีความรู้สึก

สมาธิเกิด ปัญญาก็บอกออกมาว่า ที่คิดนั้นไม่เกิดประโยชน์ จิตมันก็กลับมาสู่แหล่งได้ไว นี่ปัญญาอย่างนี้นะเสร็จแล้วเดินจงกรมต่อไป จนกว่าจะสมควรแก่เวลาที่ตั้งใจไว้ว่า เดินจงกรม ๓๐ นาทีอย่างนี้

ถ้าเสียใจขณะเดินจงกรม หยุด กำหนดว่า เสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ เอาจิตปักไว้ที่ลิ้นปี่ให้ลึก กำหนดให้ได้ ให้จิตแจ่มใส ปัญญาก็เกิด ในเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ความเสียใจหายไปเลย ความเสียใจเป็นเหตุให้เกิดความโกรธ เป็นการลงโทษความเสียใจแก่ตัวเอง เมื่อปัญญาเกิดแล้วจะไมรับอารมณ์เช่นนี้อีกต่อไป จิตใจก็สบาย ไม่มีอารมณ์ค้าง ไม่มีอารมณ์เสียใจอีก เดินจงกรมต่อไปใหม่

เดินเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ได้เวลา ๓๐ นาที แล้วค่อย ๆ ย่องไปช้า ๆ ไปหาที่นั่ง เดินขวาย่างหน อ อย่าไปเอาอะไรมาอีก เดี๋ยวเพิ่มโน่นเพิ่มนี่อะไรอย่าเอา เอาอย่างนี้ให้มันได้เป็นอย่าง ๆ ก่อน ยังไม่ได้เลยไปเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ ขอครูบาอาจารย์บอกด้วยนะ ไปเพิ่มให้เขาฟุ้งซ่าน จิตใจรำคาญด้วย อย่าเดียวก็เหลือกินเหลือใช้แล้ว ค่อยไปเพิ่มทีหลังเพิ่มต่อเมื่อเขาแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเพิ่มระยะ ๒ ระยะ ๓ ไปตามขั้นตอน อย่าไปสอนผิดหลักแต่ประการใด ทำอย่างนี้เหลือกินเหลือใช้แล้ว พอได้กำหนดจิต ได้เวลาก็กำหนดไปหาที่นั่ง ที่จัดสถานที่ไว้