มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถวายปริญญา
ปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
แด่ พระราชสุทธิญาณมงคล

รายงานกิจการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 โดย รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ แสงสุข (อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

นมัสการ พระธรรมกิตติวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม

พระราชสุทธิญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน

พระเถรานุเถระทุกรูป ที่เคารพอย่างสูง

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดพิธีถวายปริญญาบัตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ แด่ พระราชสุทธิญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในวันนี้กระผมขอรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ นับถึงปัจจุบันมีอายุได้ ๒๓ ปี การดำเนินงานตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยได้ยึดมั่นในปณิธานและปรัชญาเดิม ที่จักดำรงความเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ให้โอกาสแก่ผู้ที่ปรารถนาวิชาความรู้ เข้ามาศึกษาวิทยาการสาขาต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระ จะต้องสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาหาความรู้ของบุคคลทั่วไปด้วย มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาและที่จะดำเนินต่อไปจัดเป็นงานสร้างสรรค์ ที่สามารถยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของประชากร และทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติได้อย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาต่าง ๆ ใน ๗ คณะ คือ

คณะนิติศาสตร์
คณะบริหารธุรกิจ
คณะมนุษยศาสตร์
คณะศึกษาศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์
และ คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดสอนบัณฑิตศึกษา ในระดับปริญญาโท รวม ๒๐ สาขาวิชา คือ

หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาเคมีประยุกต์
สาขาวิชาภูมิศาสตร์
สาขาวิชาจิตวิทยาและการให้คำปรึกษา
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชารัฐศาสตร์
สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
สาขาวิชาไทยศึกษา
สาขาวิชาภูมิศาสตร์
สาขาวิชาการแปล
หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
สาขาวิชาอุดมศึกษา
สาขาวิชาบริหารการศึกษา
และ สาขาวิชาการศึกษานอกโรงเรียน

มหาวิทยาลัยรามคำแหงเตรียมเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกในสาขาวิชาเคมี และเตรียมเปิดสอนระดับปริญญาโทในส่วนภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานแล้วในต่างจังหวัดมีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงได้มากขึ้น

ในด้านการพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยได้พยายามสนับสนุนให้มีการพัฒนาการเขียนตำราเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วยตนเอง ตลอดทั้งการใช้สื่อการสอนทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และขยายศูนย์บริการทางวิชาการภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสน

มหาวิทยาลัยมีความปีติยินดีเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนการศึกษา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๓๖ พรรษา แก่นักศึกษาปีละ ๓๖ ทุน มีนักศึกษาได้รับทุนไปแล้วรวมทั้งสิ้น ๑๔๔ ทุน

ในด้านความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ลงนามความร่วมมือ ทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยไลเด็น ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจัดส่งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปจัดทำโครงการไทยศึกษาและสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยไลเด็น เริ่มต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นปีแรก และจะดำเนินการโครงการหลักสูตรระยะสั้น ในสาขาวิชาที่จำเป็น ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เจรจาและลงนามความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยการจัดหลักสูตรนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในประเทศออสเตรเลีย มีมหาวิทยาลัยโมนาส มหาวิทยาลัยซิดนีย์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งกรุงเมลเบอรน สถาบันเครือข่ายการศึกษาอบรมระบบเปิดสภาการศึกษาผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยเวสเทอร์นซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยแมกควารี

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาวิชาการในการจัดหลักสูตรภาษากรีก สมัยใหม่ จากมหาวิทยาลัยอริสโตเติล แห่งกรุงเทสสาโลนิก ประเทศกรีซ จะจัดผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกเป็นศาสตราจารย์เยี่ยมเยือน มาช่วยมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และมีการจัดโครงการแลกเปลี่ยนและทุนการศึกษาต่อไปอีกด้วย

มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรต่าง ๆ ของวิทยาลัยเทคโนโลยี ทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๗ เพื่อผลิตบุคลากรสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยและสนับสนุนการรักษาพยาบาล รวม ๑๐ หลักสูตร โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดสอนวิชาพื้นฐานทางด้านการศึกษาทั่วไปและทางด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งนักศึกษามาลงทะเบียนในภาค ๑ ปีการศึกษา ๒๕๓๗ เป็นปีแรก รวม ๓๐๒ คน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด

ขณะนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ได้ส่งคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่างหลักสูตรเพื่อเปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ทันในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๙ นี้

บัดนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วรวม ๒๐ รุ่น จำนวน ๓๐๔,๖๖๑ คน และระดับปริญญาโท ๔ รุ่น รวม ๘๘ คน

มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ โดยการเปิดสาขาวิทยบริการและสนามสอบในส่วนภูมิภาค การเปิดสาขาวิทยบริการก็เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในต่างจังหวัด จะเปิดโดยคำนึงถึงความพร้อมในเรื่องที่ดินและอาคารสถานที่ ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดสาขาวิทยบริการของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ ๓ แห่ง ตามที่มีผู้บริจาคที่ดินและอาคารพร้อมใช้ให้แล้ว ที่จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดปราจีนบุรี

สาขาวิทยบริการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารการสอนทางไกล ที่เรียกว่า ONE WAY COMMUNICATION โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาจารย์ผู้ช่วย และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปบรรยายสรุปเป็นครั้งคราว ซึ่งในขั้นต้นจะเปิดสอนใน ๔ สาขาวิชา คือ

นิติศาสตร์
บริหารธุรกิจ
บริหารทั่วไป
และ สื่อสารมวลชน

การเปิดสาขาวิทยบริการของมหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ ผู้ไร้โอกาส ผู้ด้อยโอกาส และไม่มีโอกาส ให้มีโอกาสได้เล่าเรียนความรู้ชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเป็นการขยายการศึกษาสู่ภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม โดยสาขาวิทยบริการของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จะเปิดดำเนินการนี้ จะสามารถขยายตัวและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่อไปได้ในอนาคต การเปิดสนามสอบต่างจังหวัด จะจัดสอบเฉพาะวันเสาร์กับวันอาทิตย์ รวมวันสอบภาคละไม่เกิน ๔ วัน โดยนักศึกษาที่สอบจะต้องลงทะเบียนเรียนตามแผนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกำหนด

มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนโยบายจะเปิดสอนปริญญาโทในต่างจังหวัด ในมาตรฐานเดียวกับส่วนกลาง ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและมีผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท ให้เขา ได้มีโอกาสศึกษาในวันเสาร์ วันอาทิตย์ การจัดสอบในต่างจังหวัดนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ เช่นเดียวกับส่วนกลาง โดยจะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย รวมทั้งจะดำเนินการอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อมาตรฐานทางวิชาการและคุณภาพบัณฑิตรามคำแหง

นอกจากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ขณะนี้ยังมีผู้ยินดีบริจาคที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เช่น ที่ดินจังหวัดนครพนม ๑,๐๐๐ ไร่ จังหวัดอุบลราชธานี ๑,๐๑๐ ไร่ ที่ดินในจังหวัดชัยนาท ๑๓๐ ไร่ ที่ดินในจังหวัดเพชรบูรณ์ ๕๐ ไร่ ที่ดินในจังหวัดร้อยเอ็ด ๒ ไร่ และอาคารพาณิชย์ ๔ ชั้นที่จังหวัดตรัง

มหาวิทยาลัยรามคำแหงยินดีรับบริจาคที่ดินและสิ่งก่อสร้างตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ ในปีนี้ ชาวจังหวัดสิงห์บุรีสามารถสมัครเรียนที่สาขาวิทยบริการ ที่จังหวัดอุทัยธานีได้

มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีความเชื่อว่า ถ้ามนุษย์ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ประเทศไทยจะพัฒนาก้าวไกลมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงมุ่งมั่นพัฒนาคน เพื่อพัฒนาชาติ คนฉลาด ชาติเจริญ

เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดพิธีถวายปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ แด่พระเดชพระคุณในวันนี้ กระผมขอประทานอนุญาตชี้แจงขั้นตอนการพิจารณา เพื่อรับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ กล่าวคือว่า

เมื่อภาควิชาได้พิจารณาชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญาชั้นใดแล้ว กรรมการของภาควิชานั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการประจำคณะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ได้เมื่อใด ก็จะนำความเสนอมหาวิทยาลัย เพื่อเสนอคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นมากลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นมากลั่นกรองเห็นเป็นเอกฉันท์แล้ว จึงนำเรื่องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดที่ควบคุมการบริหารมหาวิทยาลัย

เมื่อสภามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในประเทศ ได้พิจารณาเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดังนั้น การที่ผู้ใดได้รับการเสนอชื่อ และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีผลงานสมควรยกย่องให้ปรากฏเป็นอย่างยิ่ง

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอประทานอนุญาตกราบเรียนเชิญ ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวประกาศเกียรติคุณของพระเดชพระคุณให้เป็นที่ปรากฎต่อสาธารณชนและผู้มีเกียรติ ตลอดจนศิษยานุศิษย์ให้เป็นที่ปรากฏต่อไป

นมัสการพระเดชพระคุณด้วยความเคารพอย่างสูง

 

คำประกาศเกียรติคุณ พระราชสุทธิญาณมงคล
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

โดย ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย

นมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง

พระราชสุทธิญาณมงคล สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนสุวิทดารามาศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เข้ารับการอุปสมบทตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา สนใจศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และพระอภิธรรมจนแตกฉาน ได้เขียนหนังสือเผยแพร่ธรรมะแจกจ่ายเป็นวิทยาทาน ประกอบคุณงามความดีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ และปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสุทธิญาณมงคล

พระราชสุทธิญาณมงคลเป็นผู้ใฝ่ศึกษา และตั้งใจอบรมสั่งสอน ทั้งภิกษุ สามเณร นักเรียน ข้าราชการ ประชาชนให้รู้จักปฏิบัติธรรม และอุทิศตนทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และสังคมส่วนรวม จนได้รับการยกย่องจากทางราชการ เป็นพระนักพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการประกาศเกียรติคุณ และรางวัลผลงานดีเด่นมากมาย ได้รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในฐานะส่งเสริมวัฒนธรรมดีเด่น และเสาเสมาธรรมจักร ในด้านส่งเสริมชักชวนประชาชนมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณจากสถาบันและองค์การต่าง ๆ อีกมาก

ในด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนา พระราชสุทธิญาณมงคลได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนฝึกอบรมครูพระ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุ สามเณร พระคุณเจ้า เป็นแบบฉบับของการใช้วิธีการสอนแบบง่าย ๆ โน้มน้าวให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชน เข้าหาธรรมะ ปฏิบัติธรรมในรูปของการสนทนา การบรรยาย และการฝึกปฏิบัติ

ในด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม พระราชสุทธิญาณมงคลได้สร้างอาคารผู้ป่วยนอกให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี จัดตั้งธนาคารน้ำช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแก่ประชาชน และจัดตั้งธนาคารข้าวช่วยเหลือผู้ขัดสน จัดตั้งกองทุนเลี้ยงอาหารกลางวัน ตลอดจนให้การอนุเคราะห์แก่ทางราชการ และสังคมส่วนรวมด้วยความเมตตาอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมของครูผู้เป็นกัลยาณมิตร

โดยเหตุที่พระราชสุทธิญาณมงคล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ความสามารถสูง ได้ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งแก่บุคคลทั่วไป สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติสืบไป

 

สัมโมทนียกถา

โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (กรรมการมหาเถรสมาคม วัดราชโอรสาราม)

ขอเจริญพร      ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ท่านอธิการบดี ท่านรองอธิการบดี

ท่านคณบดี และ

คณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี

พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ในพระเดชพระคุณ

หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล

ที่มาร่วมงานในวันนี้ทุก ๆ ท่าน

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่วัดอัมพวันและชาวคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้รับเกียรติอย่างสูงจากมหาวิทยาลัย-รามคำแหง ซึ่งได้มีพิธีถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ แด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หรือที่เรียกกันโดยทั่ว ๆ ไปตามนามเดิมของท่านว่า หลวงพ่อจรัญ

ความจริงแล้วงานนี้ถือว่าเป็นงานที่สมเกียรติ หรือว่าสมควรที่จะได้รับเกียรติอย่างนี้ และผู้ที่ได้มามอบถวายนั้นก็ได้ให้เกียรติอย่างเต็มที่ แก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ถ้าจะกล่าวกันตรง ๆ ก็คือว่า เป็นเกียรติแก่วงการคณะสงฆ์ไทยโดยส่วนรวม เพราะเหตุว่าการปฏิบัติหน้าที่ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้น ทำในนามของคณะสงฆ์ และทางโลกคือมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตรงนี้คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ เห็นผลงานของท่าน จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบถวายปริญญาบัตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต-กิตติมศักดิ์ ซึ่งถือว่าเป็นปริญญาระดับสูงของมหาวิทยาลัยที่จะพึงมอบให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ แก่สังคมได้

และถ้ากล่าวตามความเป็นจริง การปฏิบัติหน้าที่ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้น ท่านก็มิได้มุ่งหวังปริญญามาตั้งแต่แรกเริ่ม ท่านไม่ได้หวังว่าที่ทำไปทั้งหมด ไม่ว่าจะด้านศาสนา ด้านสังคม หรือในด้านอื่นใด ตามที่มีปรากฏอยู่ในคำประกาศเกียรติคุณ ซึ่งท่านได้รับฟังจากท่านนายกสภามหาวิทยาลัยไปแล้ว ท่านทำไปด้วยความเมตตามาตลอดชีวิตของท่าน แต่ผลสะท้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของท่านนั้นก็ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม นั่นคือมีผลงานปรากฏ ทำให้ประทับใจ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้มอบถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ท่าน และตัวท่านเองนั้นก็คงจะไม่ยินดียินร้ายอะไรมากนักกับปริญญาที่ได้รับมานี้ เพราะเหตุว่าท่าน โดยเฉพาะพระสงฆ์ ซึ่งทำหน้าที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้น อยู่เหนือลาภสักการะใด ๆ ทั้งสิ้น

ปริญญาบัตรที่ท่านได้รับในวันนี้ ท่านก็คงไม่เอาไปใช้ที่ไหน คงเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ว่าสิ่งที่ได้ มานั้นเป็นความภาคภูมิใจของลูกศิษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเกียรติคุณอันนี้ ไม่ใช่เป็นเกียรติคุณเฉพาะ ตัวหลวงพ่อเท่านั้น แต่เป็นเกียรติคุณสำหรับลูกศิษย์ด้วย เป็นเกียรติคุณสำหรับวัด สำหรับอำเภอ จังหวัด และเป็นเกียรติคุณสำหรับวงการคณะสงฆ์ไทยด้วย อันนี้ถือว่ายิ่งใหญ่

แม้ว่าตัวท่านเองจะไม่ยินดียินร้ายอะไร แต่ก็ถือว่าสิ่งเหล่านี้มีค่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่สูงค่า เป็นสิ่งที่หาราคาไม่ได้ ความจริงการที่ท่านทั้งหลายได้มาร่วมกันถวายปริญญาแด่หลวงพ่อในครั้งนี้ เพราะมองเห็นว่าหลวงพ่อได้ทำคุณงามความดี ได้สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นโดยตลอด ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

หลวงพ่อเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม โดยเฉพาะ เมตตาธรรม อย่างกว้างขวาง ไม่เห็นแก่หน้าว่าจะเป็นใคร นับถือศาสนาใด หรืออยู่ในวัยใด มียศถาบรรดาศักดิ์อย่างไร ยากดีมีจนอย่างไร ท่านก็ช่วยเหลือต้อนรับขับสู้เสมอหน้ากันหมด แม้ว่าในบางครั้งบางวัน สุขภาพของท่านจะทรุดโทรมหรือเกิดอาพาธ ท่านก็ยังมีวิริยะ อุตสาหะต้อนรับขับสู้ เพื่อประโยชน์ของทุกคนที่มุ่งมาที่นี่ได้

ท่านเป็นตัวแทนของผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมโดยแท้ เมื่อเราท่านทั้งหลายได้ถวายปริญญาแก่ท่านในครั้งนี้ ถ้าจะกล่าวโดยรวม มิใช่หมายความว่า ท่านได้ร่วมกันยกย่องเชิดชูหลวงพ่อเท่านั้น แต่สามารถพูดได้ว่า ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันยกย่องธรรม เพราะว่าสิ่งที่หลวงพ่อได้ประพฤติปฏิบัตินั้น เป็นเพราะท่านตั้งอยู่ในธรรม มั่นอยู่ในธรรม มั่นอยู่ในความดี เมื่อเรายกย่องท่าน ก็เท่ากับว่าเราท่านทั้งหลายยกย่องธรรมนั่นเอง เพราะว่าในโลกมนุษย์นี้ไม่มีอื่นใดประเสริฐสุดเท่ากับธรรม

ธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังคมมนุษย์ สังคมมนุษย์จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข หรือตกทุกข์ได้ยากอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมมนุษย์นั้น ตั้งอยู่ในธรรมหรือขาดธรรมอย่างไร คนที่มีธรรม มนุษย์ผู้มีธรรมนั้น ย่อมทำให้โลกนี้สงบสุข ย่อมทำให้โลกนี้เกิดสันติภาพได้ทุกยุคทุกสมัย ทุกหย่อมหญ้า

คนที่มีธรรมนั้น เริ่มต้นจะเป็นผู้ประกอบกรณียกิจ หรือประโยชน์สำหรับตัวเอง นั่นก็คือศึกษาหาความรู้ ให้ตัวเองมีความรู้มากที่สุด และเมื่อตั้งเนื้อตั้งตัวก็พยายามทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต เก็บหอมรอมริบด้วยความขยัน ประหยัด และอดทน ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ตนในเบื้องต้น แต่ผู้มีธรรมไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ผู้ที่หยุดเพียงแค่นี้ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีฐานะส่วนตัวดี เพียงแค่นี้ยังไม่เป็นผู้ชื่อว่ามีธรรมโดยสมบูรณ์

คนที่มีธรรมโดยสมบูรณ์ต้องทำอีกอย่างหนึ่ง หรือประกอบกรณียะอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้ความรู้ ความสามารถ หรือเศรษฐฐานะ ในด้านทรัพย์สินของตัวเองนั้น ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลอื่น ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวมไม่ได้หาไว้เพื่อเสวย หรือเพื่อบริโภค โดยส่วนตัว หรือพวกพ้องของตัวเพียงอย่างเดียว

แต่ยังเฉลี่ยเจือจานสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ว่าความรู้ ความสามารถ ทรัพย์สมบัติ หรืออื่นใดที่ตัวเองมีอยู่พร้อมมูล และได้กินได้ใช้โดยสะดวกสบายอยู่แล้ว เฉลี่ยเจือจานให้แก่บุคคลอื่น กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ได้นำสิ่งตัวเองมีอยู่นั้นช่วยเหลือสังคม ทางภาษาพระเรียกกันว่า

อัตถายะ หิตายะ สุขายะ

นั่นก็คือ ได้บำเพ็ญกรณียะ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น ทั้ง อัตถะ หิตะ สุขะ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นหัวใจของนักบำเพ็ญประโยชน์

ผู้ที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีทรัพย์ มีสมบัติส่วนตัวสมบูรณ์แล้ว ยังได้เฉลี่ยเจือจานช่วยเหลือเกื้อกูลประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น เท่าที่สามารถจะทำได้ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก กล่าวคือเป็นผู้มีน้ำใจเสียสละนั่นเอง บุคคลประเภทนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีธรรมโดยสมบูรณ์ หรือตั้งมั่นอยู่ในธรรมโดยสมบูรณ์ และบุคคลประเภทนี้แหละที่โลกยกย่องว่า เป็นผู้มีธรรม ควรแก่การยกย่องให้เกียรติ ควรแก่การบูชาด้วยประการทั้งปวง

คนที่ขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอมริบ มีทรัพย์ มีสมบัติ แต่ว่าใจคอคับแคบ ไม่เฉลี่ยเจือจาน ไม่แบ่งปันให้แก่ใคร คิดแต่จะได้ คิดแต่จะกอบโกยเพียงอย่างเดียว มีความสุขอยู่กับตัวเลข มีความสุขอยู่กับทรัพย์สมบัติ จะมีประโยชน์อะไรสำหรับบุคคลอื่น หรือมีความรู้ความสามารถ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถให้แก่บุคคลอื่น เก็บความรู้ความสามารถไว้ในสมองเพียงอย่างเดียว ไม่ยอมเปิดเผยความรู้ความสามารถให้แก่บุคคลอื่นบ้าง จะเป็นคนดีที่น่ายกย่องได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นที่โลกยกย่องกันทุกวันนี้ก็คือ ยกย่องคนที่ทำประโยชน์นั่นเอง คนที่ทำประโยชน์ ก็เพราะเป็นคนที่มีธรรม เมื่อเรายกย่องคนที่ทำประโยชน์ ก็เท่ากับว่าเรายกย่องธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยกย่องเพียงถ่ายเดียว และเป็นการยกย่องที่ถูกต้อง ยกย่องคนที่มีธรรม ย่อมจะทำให้โลกเกิดสันติ

ถ้าเราไปยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่อง คนที่มีความรู้ความสามารถ หรือคนที่มีทรัพย์สมบัติ มียศถาบรรดาศักดิ์สูง แต่เป็นคนใจคอคับแคบ คอยที่จะเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่น เบียดเบียนบุคคลอื่น ใช้ความได้เปรียบทางวิชาการ ทางยศถาบรรดาศักดิ์ ทางทรัพย์สินเงินทอง ตำแหน่งหน้าที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น นอกจากไม่เป็นผู้ที่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ยังจะได้ชื่อว่าเราไปยกย่องผู้ที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ควรยกย่อง

ถ้าหากสังคมใดยกย่องบุคคลพวกนี้ อย่างนี้ขึ้นมามาก ๆ ก็เท่ากับติดปีกให้แก่มฤตยู ติดปีกให้แก่บุคคลที่ทำความเดือดร้อนให้แก่สังคม ให้แก่โลก ได้มีโอกาสทำความเดือดร้อนให้แก่สังคม ให้แก่โลก ได้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรื่องอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็คงจะได้เห็นได้รู้ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้มาโดยตลอด เพราะเราไปยกย่องบุคคลที่ไม่ควรยกย่อง ไปบูชาบุคคลที่ไม่ควรบูชา

แต่สำหรับหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ท่านเป็นพระที่น่ายกย่อง น่าบูชา น่ากราบไหว้ เพราะว่าท่านทำทุกสิ่งทุกประการไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านเป็นพระที่ให้แก่สังคมมาโดยตลอด เป็นผู้ให้แก่มวลมนุษยชาติที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ ท่านก็เจือจานสิ่งที่ท่าน มีอยู่ให้แก่บุคคลเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ที่มีผู้ถวายท่าน ท่านก็นำออกแจกจ่ายให้แก่ทุก ๆ คน เลือดเนื้อของท่านก็มอบให้แก่ประชาชน หยาดเหงื่อ ที่ท่านได้ช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าหนาวร้อนลมแดดต่าง ๆ ที่ท่านอดทน ก็เพื่อประชาชน อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องของน้ำใจเสียสละที่น่ายกย่องดังกล่าวมา เมื่อท่านทั้งหลายได้มายกย่องท่านอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าท่านได้ยกย่องธรรมดังกล่าวแล้ว

เพราะว่าหลวงพ่อนั้นได้นำเอานามธรรม คือได้นำเอาธรรมะในศาสนาพุทธ ขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดทนหรือขันติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมตตากรุณาธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคหธรรมหรือธรรมะอื่น ๆ ซึ่งเป็นนามธรรม ในตำราพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ท่าน ได้นำเอานามธรรมนี้มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ขึ้นมา เมื่อเป็นรูปธรรมแล้วก็เกิดสันติ เกิดความสุขแก่มวลมนุษยชาติ ดังที่เราทั้งหลายได้เห็นอยู่ อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนักอย่างนี้

ก่อนที่จะจบสัมโมทนียกถานี้ อยากจะฝากท่านทั้งหลายไว้ว่า ในการที่ท่านทั้งหลายมา ไม่ว่าจะมาในฐานะอะไรก็แล้วแต่ จะมาในฐานะลูกศิษย์ มาในฐานะผู้เคารพนับถือ หรือมาร่วมงานอะไรก็แล้วแต่ เรามาในที่นี้เราได้อะไรบ้าง ไม่ใช่ได้เพียงความชื่นชมยินดีก็คงจะพอกระมัง คงไม่ใช่เพียงเพื่ออย่างนั้น

ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ควรจะได้ตระหนักว่า ความจริงนั้นหลวงพ่อจรัญท่านได้ทำอะไรให้ดูให้เห็นเป็นตัวอย่าง ท่านได้ใช้ชีวิตเลือดเนื้อร่างกาย ชีวิตของท่านให้เป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างในฐานะที่เราเคารพนับถือ หรือเป็นลูกศิษย์ท่าน เราก็ควรจะได้ดำเนินตามรอยวัตรปฏิบัติของท่าน ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อ อัตถะ หิตะ สุขะ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขของสังคม นั่นคือใช้ธรรมะที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมเหมือนอย่างกับท่านได้

แม้ว่าจะไม่ได้ระดับสูงสุดเหมือนท่าน แต่ก็ปฏิบัติได้บ้างอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้สังคมรอบ ๆ ตัว เช่นสังคมครอบครัว สังคมเพื่อนฝูง หรือสังคมเพื่อนร่วมงาน ได้รับความสุข ได้ความสงบบ้างตามสมควร เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการได้มาในงานนี้แล้ว แต่เพียงสักว่ามาในงานนี้ แล้วก็เลิกกันและพูดว่า หลวงพ่อทำอย่างนั้น หลวงพ่อดีอย่างนี้ แต่ตัวเองยังไม่ดีเลย ตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรเหมือนหลวงพ่อบ้างเลย อย่างนี้ก็เสียประโยชน์เหมือนกัน ก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ ณ ที่นี้

ในที่สุดนี้ อาตมาในนามของคณะสงฆ์ไทย และในนามของคณะสงฆ์ที่มาร่วมงานในวันนี้ โดยเฉพาะในนามของวัดอัมพวัน และพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุดจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในโอกาสนี้ ขอขอบคุณท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี ท่านรองอธิการบดี คณบดี คณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี รวมทั้งข้าราชการในจังหวัดนี้ พ่อค้า ประชาชน ศิษยานุศิษย์ และท่านที่เคารพนับถือ ที่มาร่วมงานในวันนี้

ขอให้ทุก ๆ ท่านจงเป็นผู้ประสบแต่อิฏฐบุญผลอันที่พึงปรารถนา ด้วยอำนาจพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ขอทุก ๆ ท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ จงทุกประการ และขอเชิญชวนท่านทั้งหลายจงตั้งกัลยาณจิตที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญความดี ถวายเป็นกุศลแก่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หลวงพ่อจรัญ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ซึ่งได้รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ ในวันนี้

ให้ทุกท่านตั้งกัลยาณจิตอวยชัยให้พรพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จงเจริญมั่นคง ร่มเย็นเป็นสุข มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง สมบูรณ์ อยู่ในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย อุปสรรคภัยพิบัติ พ้นจากโรคาพาธ ด้วยประการทั้งปวง

ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา

ด้วยอำนาจคุณาภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย ขอจิตอธิษฐานของพวกเราท่านทั้งหลายนี้

สะมิชฌะตุ สะมิชฌะตุ

จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ แก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ตลอดจิรัฏฐิติกาลเทอญ

 

สัมโมทนียกถา

โดย พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค ๓

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีต่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมคณาจารย์ได้นำมาถวาย ณ บัดนี้ ท่ามกลางพระเถรานุเถระข้าราชการ ประชาชน ศิษยานุศิษย์ มีผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีเป็นประธาน ข้าพเจ้ามีความเสียดายยิ่งนัก ที่มิได้มีโอกาสมายินดีร่วมกับท่านทั้งหลาย

ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หรือหลวงพ่อจรัญเป็นพระเถระที่บำเพ็ญคุณานุคุณประโยชน์นานาประการปฏิบัติตามปฏิปทาของพระอริยสงฆ์สาวก เจริญด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม หลวงพ่อให้ “อาหาร” ทั้งสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ทั้งหล่อเลี้ยงจิตใจ วัดอัมพวันจึงมิได้ว่างเว้นจากผู้ที่มารับ อาหาร จากหลวงพ่อ ทั้งพระสงฆ์สามเณร ข้าราชการ นักเรียน และประชาชน ตลอดทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอื่นและชาวต่างประเทศ กิตติศัพท์ของหลวงพ่อขจรไปทั่วทุกทิศ ข้าพเจ้าเคยไปต่างประเทศกับหลวงพ่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะไปเมืองไหน มีลูกศิษย์หลวงพ่ออยู่ทุกประเทศ หลวงพ่อจึงเป็น เพชร ที่เจียระไนแล้วของคณะสงฆ์ ของชาวสิงห์บุรี ของคนไทย และพระพุทธศาสนา

การที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ถวายท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล นี้ จึงเป็นเสมือนเป็นเรือนทองขึ้นรองรับเพชรน้ำงาม ย่อมเป็นที่ชื่นชอบยินดีโดยทั่วกัน

ข้าพเจ้าขออาราธนาพระคุณพระรัตนตรัย จงอภิบาลรักษาท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ สรรพผลอันพึงประสงค์จงทุกประการเทอญ

 

คำกล่าวสดุดีอนุโมทนา

โดย ร.ต.อุทัย ใจหงษ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี)

ขอกราบนมัสการ      พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์

คณะกรรมการมหาเถรสมาคม

พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล

เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี และ

เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน

พระเถรานุเถระทุกรูป ที่เคารพ

กราบเรียน       ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ท่านอธิการบดี ท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดี

คณาจารย์ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

กระผมในนามของข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดสิงห์บุรี มีความปีติซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง และขอสดุดีอนุโมทนา แด่พระราชสุทธิญาณมงคล ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่ง ที่พระคุณท่านได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันนี้

พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นศูนย์รวมแห่งความดีของจังหวัดสิงห์บุรี พระเดชพระคุณนำมาซึ่งความรัก ความเลื่อมใสศรัทธา ความร่วมมือร่วมใจ จากประชาชนและสถาบันต่าง ๆ โดยที่ได้นำวิปัสสนากรรมฐานมาเป็นรากฐานในการสร้างคน ให้เกิดมีความเสียสละ มีความรักความเมตตาเกิดขึ้นในสังคมแห่งนี้

โดยเฉพาะพระเดชพระคุณท่าน ได้มีเมตตาไม่ทอดทิ้งที่จะอบรมสั่งสอนให้การศึกษา เป็นที่พึ่งต่อกัน และเป็นที่พึ่งทางใจแก่ประชาชน ช่วยพัฒนาจิตใจให้เป็นกุศล ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างครอบครัวให้มีความสุข เกิดเป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข ส่งผลให้ประเทศชาติมั่งคงได้ในที่สุด

ในส่วนคุณธรรมที่เด่นชัดที่ชาวสิงห์บุรี ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง คือพระเดชพระคุณได้ถือ สัจจะ เป็นคุณธรรมที่สำคัญ พระเดชพระคุณจะอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไป ในสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติได้และปฏิบัติจริง สอนให้ทุกคนมีสัจจะต่อหน้าที่ โดยมีพระเดชพระคุณท่านเป็นแบบอย่าง ความเป็นคนจริงใจ นอกจากจะสร้างความมั่งคงในจิตใจให้แก่ทุกคนแล้ว ยังทำให้งานทุกอย่าง โดยเฉพาะงานสร้างคน ได้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ และประสบความสำเร็จดังที่ประจักษ์แก่เราท่านทั้งหลายในขณะนี้

พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นพระสงฆ์ผู้ใฝ่ศึกษาและตั้งใจอบรมสั่งสอน ทั้งพระภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการและประชาชน ให้รู้จักปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย และอุทิศตนทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมโดยส่วนรวม

พระเดชพระคุณท่านยังได้เขียนหนังสือเผยแพร่ธรรมะแจกจ่ายเป็นวิทยาทาน ประกอบคุณงามความดีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนได้รับพระราชทานปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา ครุศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศึกษา จากสถาบันราชภัฏเทพสตรี และยังได้รับการยกย่องจากทางราชการว่า เป็นพระนักพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการประกาศเกียรติคุณ และรางวัลผลงานดีเด่นมากมาย เช่น ได้รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้ส่งเสริมวัฒนธรรมดีเด่น และเสาเสมาธรรมจักร ในด้านส่งเสริมชักชวนประชาชนให้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในท้ายที่สุดนี้กระผมในนามของทางราชการและประชาชนชาวจังหวัดสิงห์บุรี ขอขอบพระคุณท่านนายกสภามหาวิทยาลัยท่านอธิการบดี ท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดี และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กรุณาจัดพิธีถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ แด่พระราช-สุทธิญาณมงคล เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี และเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ในวันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการถวายเกียรติยศชื่อเสียงและกำลังใจให้แก่พระเดชพระคุณแล้ว กระผมยังถือว่า เป็นการให้เกียรติแก่ชาวจังหวัดสิงห์บุรีอีกโสตหนึ่งด้วย

ขอขอบพระคุณ