พัฒนา

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

อาตมามีความเห็นว่า การที่วัดวาอารามที่จะเจริญได้นั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือประชาชนในท้องถิ่นมีภูมิความรู้ ภูมิธรรม เป็นบุคคลสำคัญ จิตใจดี จึงมีแต่การมุ่งดี คิดดี ปฏิบัติดี มีเหตุผล เริ่มต้นแต่การพัฒนาคน ด้านการสร้างโรงเรียนเป็นโบสถ์ที่ ๑ ให้คนมีความรู้ดำเนินวิถีชีวิตด้านภูมิฐาน และเข้าหาภูมิธรรมด้วยการสร้างโบสถ์ที่ ๒ ขึ้น

ยุคนี้นับว่าเป็น “ยุคพัฒนา” เพราะชาวโลกกำลังตื่นตัวในเรื่องการพัฒนากิจการต่าง ๆ ทั้งในประเทศของเราและนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าเราจะเดินไปยังประเทศใด ก็จะเห็นมีคนพูดในเรื่องนี้กันอยู่ทั่วไป จนกระทั่งในเวลานี้ได้มีการแบ่งชั้นของประเทศออกเป็นระดับ คือ ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะไปไหนก็มีคนนับหน้าถือตา พูดอะไรเขาก็เชื่อ ไม่มีใครคิดดูถูกดูหมิ่น ส่วนพลเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนาก็ได้ความนับถือรองลงมา มีคนเห็นอกเห็นใจรีบช่วยเหลือให้ทุนอุดหนุน แต่สำหรับพลเมืองของประเทศที่ด้อยพัฒนาคือไม่ตื่นตัวขึ้น ที่จะทำการพัฒนาบ้านเมืองของตนเลย เป็นคนเคราะห์ร้ายที่สุดในโลก คือ นอกจากจะไม่มีใครยกย่องนับถือแล้ว ยังเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของชาวโลกด้วย

สำหรับประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังจะเห็นได้ว่า มีโครงการแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายโครงการ และทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นการพัฒนาพร้อมกันทั้งราชอาณาจักร และทางศาสนจักร สมกับที่ว่า ยุคนี้เป็นยุคพัฒนา

ในระหว่างที่เรากำลังพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างอยู่นี้ บรรดานักพัฒนาก็ได้ประสบการณ์หลายอย่าง มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว คือ ที่พัฒนาได้สำเร็จดีเกินคาดก็มีที่ทำไปแล้วไม่ได้มรรคได้ผลอะไรก็มี และที่ได้ไม่เท่าเสียก็มี สำหรับผู้ทำงานไม่สำเร็จนั้นบางคนก็คิดซัดโทษคนอื่นสิ่งอื่นตามวิสัยของคนไม่ยอมรับผิดง่าย ๆ เมื่อหาใครรับผิดไม่ได้ก็โยนความผิดเข้าวัด หาเรื่องเอากับพระ เช่น เหมาเอาว่า การที่ตนทำอะไรไม่สำเร็จนั้นเป็นเพราะคนนับถือพระพุทธศาสนา และว่าพระพุทธศาสนาสอนให้คนทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำสอนที่ขัดต่อการพัฒนา เช่น ในบางครั้งมีคนพูดว่า การที่คนยากจนก็เพราะถือธรรมข้อสันโดษ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของผู้นั้นเอง เรื่องอื่น ๆ ก็ยังมีอยู่อีกมากพฤติการณ์เช่นนี้เข้าหลักที่ว่า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง นั่นเอง

แต่ความไม่เข้าใจเช่นนี้ จะโทษคนที่ไม่เข้าใจเสียทั้งหมดหาเป็นการสมควรไม่ ควรจะต้องโทษเอากับผู้ที่ไม่ทำให้เขาเข้าใจด้วย คือ ผู้ที่มีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้ว่าผู้เผยแผ่แก้ตัวว่าเรื่องอย่างนี้ก็ได้เทศน์ไปแล้ว สอนไปแล้ว มันเป็นความเขลาเบาปัญญาของผู้ฟังเอง ที่ไม่เข้าใจ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เห็นจะแก้ตัวไม่หลุด จะไปเข้าภาษิตของท่าน เจ้าคุณพระสาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) ที่ว่า

พูดไป              เขาไม่รู้         กลับขู่เขา
ว่าโง่เขลา         งมเงอะ         เซอะนักหนา
ตัวของตัว         ทำไม           ไม่โกรธา
ว่าพูดจา           ให้เขา          ไม่เข้าใจ

แต่ก็มีเหมือนกัน คนบางคนไม่พยายามที่จะหาความเข้าใจ เพราะความลำเอียงในจิตใจของเขาเองบ้าง เพราะคิดทิฐิมานะของตนเองบ้าง เรื่องอย่างนี้ก็มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว

โดยบทความสั้น ๆ นี้ จะเสนอแนะให้เห็นว่า ธรรมะในพุทธศาสนานั้น ส่งเสริมหรือขัดขวางต่อการพัฒนาอย่างไร เพียงไร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนา และแก่พระศาสนาของเราด้วย

 

การพัฒนาคืออะไร?

ปัญหาแรกที่สุด คือ ความหมายของคำว่าพัฒนา ควรจะได้เข้าใจโดยถูกต้องเสียก่อนว่า ที่เราพูดกันว่าพัฒนา ๆ นั้นหมายถึงอะไร?

“พัฒนา” คำนี้ แผลงมาจากคำบาลีว่า “วัฒนา” และแปลออกมาจากภาษาอังกฤษว่า ดีเวลลอปเมนท์ (DEVELOPMENT) แปลว่า ความเจริญ ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เจริญขึ้น ฉะนั้น ถ้าถามว่า พัฒนาคืออะไร? ก็ตอบว่า คือ การทำให้เจริญขึ้น

ถ้าคำนี้ใช้เป็นคุณบทของคน ท่านใช้คำว่า “วัฑฒกะ” เช่นคำว่า อายุวัฑฒกะ แปลว่า ผู้เจริญด้วยอายุ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งความจริงคำเหล่านี้ เราใช้กันมาในวงพุทธศาสนิกชนหลายชั่วอายุคนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งได้มาจากฝรั่งมังค่าแต่อย่างใดเลย ส่วนที่เราถ่ายทอดเอามาจากต่างประเทศนั้นเป็นวิธีการในการพัฒนาเท่านั้น ข้อที่ควรซ้อมความเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การทำให้เจริญที่เรียกว่า การพัฒนานั้น หมายถึง การปรับปรุงของเดิมที่เรามีอยู่แล้วให้เจริญขึ้น คือ ทำขึ้นจากของเดิมซึ่งทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ อยู่ก่อนให้ใช้การได้ดี อย่างเช่น วัดเดิมมีอยู่แล้ว แต่มันรกรุงรังก็ปรับปรุงเสียใหม่ให้มันหายรก ถนนเดิมมีอยู่แล้วแต่มันเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็พากันถมหลุมถมบ่อเสีย หมู่บ้านเดิมมีอยู่แล้วแต่มันเกะกะไม่เป็นระเบียบก็วางผังจัดระเบียบเสียใหม่ อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า การพัฒนา โดยนัยนี้เราจะเห็นได้ว่า การพัฒนานั้น ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็พัฒนาขึ้นได้ มิใช่ว่าจะต้องเป็นพระอารามหลวง หรือเป็นบ้านใหญ่เมืองใหญ่เท่านั้น จึงจะพัฒนาได้ วัดบ้านนอกและบ้านป่าเขาดงทุกแห่งพัฒนาได้ทั้งนั้น

 

พระสงฆ์กับการพัฒนา

ที่นี้ จะตีวงเข้ามาพูดกันเฉพาะในเรื่องของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายด้วย ปัญหามีอยู่ว่า การที่พระสงฆ์จะทำการพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น จะเป็นการชอบด้วยหลักธรรมวินัยหรือไม่ และจารีตประเพณีในเรื่องนี้มีอย่างไร

พูดถึงหลักการทั่วไปเสียก่อน ได้กล่าวมาแล้วว่า การพัฒนา หมายถึง ทำให้เจริญขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การทำความเจริญนั่นเอง โดยหลักการแล้ว คนที่ทำความเจริญได้ก็คือคนที่เจริญเท่านั้น ส่วนคนเสื่อมย่อมทำความเจริญไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ตั้งปัญหาขึ้นถามว่า พระเป็นผู้เจริญหรือไม่ คำตอบก็จะมีอยู่ว่า “แน่นอน พระสงฆ์เป็นผู้เจริญ” นอกจากคนทั้งหลายจะยกย่องท่านเป็นผู้เจริญแล้ว ท่านเองก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้เจริญด้วย จะเห็นได้ เช่น ในวงการของพระสงฆ์ด้วยกัน ท่านมีคำร้องเรียกกันว่า “ภันเต” เช่นนี้ อามะภันเต ซึ่งแปลว่า “ครับ ท่านผู้เจริญ” ข้อนี้แสดงว่าพระกับพระท่านก็เรียกกันว่า “ผู้เจริญ” สำหรับชาวบ้านเราเวลาร้องเรียกท่าน เราก็ใช้คำเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน เช่น เวลาอาราธนาศีล เราก็ว่า มยัง ภันเต ติสรเณนสห… เวลาเราถวายผ้ากฐิน เราก็ว่า อิมัง ภันเต สปริวารัง กฐินทัสสัง คำว่า ภันเต ในประโยคเหล่านี้เป็นคำร้องเรียกพระว่า ผู้เจริญ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาว่า ตำแหน่งของพระสงฆ์เป็นตำแหน่งที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เจริญไม่ใช่ผู้เสื่อม ท่านจึงเป็นผู้ควรแก่การนำบุคคลอื่นทำการพัฒนา

ส่วนที่ว่าพระจะทำการพัฒนาในเรื่องใดบ้าง และเรื่องนั้น ๆ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ข้อนั้นเป็นรายละเอียด เราต้องพิจารณาเป็นอย่าง ๆ ไป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ และภาวะของบุคคลแต่ละประเภท แทนที่จะพูดกันในรายละเอียดเช่นนั้น อาตมาใคร่จะเสนอหลักการในการพัฒนาตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาก่อน เฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาตนเองและท้องถิ่น

 

หลักการในการพัฒนา

ในวงการพระศาสนา มีคำให้พรอยู่บทหนึ่ง เป็นพรว่า ด้วยความวัฒนา พรนั้นมี ๗ ประการ เป็นที่นิยมของผู้ได้รับและเป็นพรที่พระสงฆ์ท่านประสิทธิ์ประสาทให้ประชาชนเสมอ ๆ แสดงว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ได้รับการพัฒนาให้เจริญย่อมเจริญในเรื่องทั้ง ๗ ประการ

๑.   อายุวัฒนา  พัฒนาอายุ

๒.  ธนวัฒนา  พัฒนาทรัพย์

๓.   สิริวัฒนา  พัฒนามิ่งขวัญ

๔.   ยสวัฒนา  พัฒนาความดีเด่น

๕.   พลวัฒนา  พัฒนากำลัง

๖.   วัณณพัฒนา  พัฒนาผิวพรรณ

๗.   สุขวัฒนา  พัฒนาความสุขความสบาย

เวลาพระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านได้รับไทยทานในการทำบุญแล้ว ท่านนิยมสวดอวยพรแก่สัปบุรุษ โดยแปลงศัพท์เหล่านี้เป็นคุณบทของบุคคลว่า อายุวัฑฒโก ธนวัฑฒโก สิริวัฑฒโก ยสวัฑฒโก พลวัฑฒโก วัณณวัฑฒโก โหตุ ซึ่งแปลว่า ให้ท่านจงเป็นผู้เจริญด้วยอายุ เจริญด้วยทรัพย์ เจริญด้วยมิ่งขวัญ ฯลฯ บทอวยพรนี้ น่าจะเรียกว่า บทพัฒนาก็ได้

การที่พระท่านสวดบทพัฒนานี้เสมอ ๆ นั้น ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก แสดงว่าท่านได้ทำหน้าที่แนะแนวแก่ประชาชนในการพัฒนา หรือเตือนประชาชนให้ขวนขวายในการพัฒนาตัวเอง ประการที่สอง เป็นการเสนอหลักการพัฒนาชีวิตของแต่ละบุคคล ว่าสมควรทำการพัฒนาในเจ็ดหัวข้อนี้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่พระคุณเจ้าอวยพรด้วยบทนี้ ก็เป็นอันว่าท่านกำลังทำหน้าที่ผู้แนะนำในการพัฒนาให้แก่ศาสนิกชนนั่นเอง

สำหรับความหมายของพรวัฒนาทั้ง ๗ ก็เข้ากันกับความหมายในการพัฒนาสมัยนี้ที่ทำกันอยู่ทั่วไป เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการของประชาชนทุกรูปทุกนาม ดังเช่น

อายุวัฒนา  การพัฒนาอายุ ได้แก่ การพัฒนาด้านสุขภาพ อนามัย ซึ่งจะทำให้อายุยืน

ธนวัฒนา  การพัฒนาทรัพย์ ได้แก่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเพิ่มพูนรายได้ ปรับปรุงรายจ่าย

สิริวัฒนา  การพัฒนามิ่งขวัญ ได้แก่ การพัฒนาจิตใจ ความเชื่อ ความปลอดภัยทางจิต

ยสวัฒนา  การพัฒนาความดีเด่น ซึ่งรวมเรียกว่า ยศ หรือเกียรติยศ บริวารยศ อิสริยยศ

พลวัฒนา  การพัฒนากำลัง ได้แก่ การเพิ่มพูนสมรรถภาพทั้งทางกาย ทางใจ ทางปัญญา

วัณณพัฒนา  การพัฒนาผิวพรรณ ได้แก่ การบำรุงรักษาความสะอาดเรียบร้อยทางร่างกายและเครื่องแต่งตัว

สุขวัฒนา  การพัฒนาความสุขความสบาย ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ไปที่มา เช่น ความสะดวกสบาย

ที่นี้ ปัญหาต่อไปมีอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถพัฒนาให้เกิดพรทั้งเจ็ดนี้ในตัวได้แน่นอนที่สุด ผู้รับนั้นจะเพียงแต่นั่งคอยอยู่เฉย ๆ ย่อไม่สำเร็จ เมื่อพระท่านให้พรมาแล้ว ตนก็ต้องรับจึงจะได้ การรับนั้นก็เริ่มแต่การรับด้วยใจ นอบน้อม เป็นพรที่สำเร็จด้วยใจอธิษฐาน เสร็จแล้วก็รับเอาไปตามหลักที่ท่านแนะนำให้ คือ ไปพัฒนาเรื่องทั้ง ๗ นั้นขึ้น พรที่เราได้จากพระนั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนได้ข้าวปลูก หรือได้พันธุ์ถั่วงา เราต้องเอาไปลูกลงดินเอง จึงจะได้ผลงอกเงยขึ้น ยิ่งถ้าไปทำในทางที่ตรงกันข้าม พรก็ยิ่งจะเหือดหายไป เช่น พระท่านให้พรอายุ ตัวเองกลับไปทำในสิ่งที่ทำลายสุขภาพอนามัย อายุก็ยืนไปไม่ได้อยู่เอง

 

สัปปายะ ๔

เมื่อการพัฒนาตัวเองทั้ง ๗ ทางนั้นได้ผลสำเร็จสมปรารถนา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้หันไปช่วยกันพัฒนาถิ่นที่อยู่ของตน คือ ทำถิ่นที่อยู่ให้เห็น “ปฏิรูปเทส” ทำอย่างไร? คือ ทำให้มีสัปปายะทั้งสี่พร้อมบริบูรณ์ เช่น

อยู่วัด  ก็ทำให้วัดเกิดสัปปายะทั้ง ๔

อยู่บ้าน  ก็ทำให้บ้านเกิดสัปปายะทั้ง ๔

อยู่ประเทศ  ก็ทำให้ประเทศเกิดสัปปายะทั้ง ๔ นั่นคือ

๑.   อาวาสสัปปายะ ทำที่อยู่อาศัยให้สบาย ปลอดภัย น่าเจริญตา น่าเจริญใจ มีถนนหนทางไปมาหากันสะดวก

๒.   อาหารสัปปายะ ปรับปรุงในเรื่องอาหารการกิน ตั้งแต่ที่ทำมาหากิน น้ำท่า ไร่นา ตลอดจนอาหารที่จะรับประทานประจำวัน ให้เป็นที่สะดวกสบาย

๓.   ปุคคลสัปปายะ มีบุคคลคือ เพื่อนบ้าน มิตรสหาย ให้เป็นที่สบายใจ คือ เป็นคนดี ไว้วางใจได้ และรักใคร่ปรองดองกันดี

๔.   ธัมมะสัปปายะ ได้ธรรมที่สบาย เช่น มีระเบียบแบบแผน มีกฎเกณฑ์วิธีการ มีกฎหมายปกครอง มีความเที่ยงธรรม มีความยุติธรรม ตลอดจนมีการศึกษาอบรมกันในทางที่ดี

เนื่องจากวัดก็ดี หมู่บ้านก็ดี ประเทศก็ดี เป็นของหลายคนรวมกัน ฉะนั้นการที่จะทำให้เกิดสัปปายะทั้ง ๔ นี้ขึ้น คนที่เป็นสมาชิกของหน่วยนั้น ๆ จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์หรือช่วยกันพัฒนาขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ พอจะสรุปได้ว่า คนเราแต่ละคนจะต้องบำเพ็ญตนเป็นนักพัฒนา จะทำการพัฒนา ๒ ระดับ คือ พัฒนาตัวเอง และพัฒนาร่วมกับคนอื่น เพราะผลที่จะได้รับเป็นสิ่งต่อเนื่องกันเหมือนต้นข้าวกับเนื้อนา ดังนี้

อาตมาขออนุโมทนา และขอให้ทุก ๆ ท่าน ผู้หวังความเจริญ จงพัฒนาให้ประสบแต่ความสุขสันต์นิรันดร โดยทั่วกันเทอญ