ตามรอยธรรมะ

โดย อัญชลี วงศ์วาสิน (เจ้าของ ห.จ.ก. เอเชียไทยโปรดัก)

บทเรียนของชีวิต

๒๒ ปี ของการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตธุรกิจของดิฉันนั้น ถ้าเปรียบกับอายุของหญิงสาวก็ถือว่า กำลังอยู่ในช่วงของความเป็นสาวสะพรั่ง แต่เมื่อมองถึงคนซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กผู้หญิงจนเจริญเติบโตหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจอย่างดิฉันย่อมจะต้องผจญกับอุปสรรคปัญหานานัปการ ในช่วงกว่า ๒๐ ปีที่ดิฉันเริ่มชีวิตครอบครัวพร้อม ๆ กับเริ่มต้นงานธุรกิจสินค้าเสื้อผ้าส่งออกนั้น ดิฉันได้พานพบกับความสุขความทุกข์มากมายจนเกือบต้องแลกกับชีวิตของตัวเอง ดิฉันพบกับชีวิตการแต่งงานที่อบอุ่นสมบูรณ์ มีสามีที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม มีลูกชายสองคนที่ไม่เคยทำความลำบากใจใด ๆ ให้เลย สิ่งนี้เป็นพลังใจของการต่อสู้ในวงการธุรกิจซึ่งทั้งสามีและดิฉันประสบผลสำเร็จค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อธุรกิจยิ่งเติบโตขึ้น ความรับผิดชอบต่อพนักงานมีมากขึ้น ความต้องการผลผลิตทวีสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความภาคภูมิใจของดิฉัน คือ ความวิตกกังวลในปัญหาต่าง ๆ ที่สุมเข้ามา ประกอบกับความเป็นคนชอบเอาชนะกับปัญหาและความใจร้อน ดิฉันมักจะเข้าไปจัดการกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้น คิดหาทางแก้ไขทั้งเรื่องการเข้าการออกของพนักงาน ความผิดพลาดในการผลิต และความวิตกล่วงหน้าว่าลูกค้าจะสั่งของเข้ามาอย่างไรในช่วงต่อไป ดิฉันมักกังวลเสมอว่าโรงงานต้องอยู่รอด เพราะชีวิตของพนักงานเป็นพันคนอยู่ในความรับผิดชอบของเรา

เมื่อเอาชนะปัญหาไม่ได้ก็เริ่มนอนไม่หลับ ดิฉันต้องหันไปพึ่งยานอนหลับ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปยานอนหลับก็ไม่สามารถช่วยหยุดความวิตกกังวลของดิฉันได้ สามีพูดปลอบใจให้ดิฉันคิดเสมอว่า “คุณจะทุกข์กังวลอะไรมาก ทุกวันนี้เราเดินมาไกลแล้ว ลองหันกลับไปมองเมื่อสิบกว่าปีก่อน เราเท่ากับศูนย์ เมื่อเทียบกับปัจจุบันเราน่าจะพอได้แล้วนะ” แต่คำพูดของสามีก็ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ช่วยยับยั้งความคิดของดิฉันได้ ญาติพี่น้องรวมถึงเพื่อนฝูงต่างเป็นห่วงเป็นใย คอยแนะให้ดิฉันใช้ธรรมะเป็นที่พึ่ง บางคนหาหนังสือธรรมะมาอ่านให้ฟัง หาเทปธรรมะมาให้ แต่ดิฉันกลับรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ รู้สึกว่าธรรมะเป็นเรื่องยากเข้าใจยาก

ในที่สุดดิฉันได้ตัดสินใจไปพบแพทย์ประจำตัว และได้รับการวินิจฉัยในวินาทีนั้นเลยว่า “คุณต้องพักผ่อนให้เต็มที่ มิฉะนั้นคุณจะไม่มีโอกาสได้ทำงานอีกเลย” เวลานั้นดิฉันไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ แต่ก็พร้อมทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยขอพักผ่อนที่โรงพยาบาล เพราะเชื่อว่าคงได้พักผ่อนอย่างจริงจัง

ช่วงเวลาสองสัปดาห์ในโรงพยาบาล สามีของดิฉันได้สั่งห้ามทุกคนพูดเรื่องงานใด ๆ ให้รับทราบประกอบกับความเงียบสงบ และคงเป็นบุญเก่าในอดีตที่ทำให้มีโอกาสทบทวนถึงความหลังเก่า ๆ ว่า “เราเป็นใคร เริ่มต้นมาจากศูนย์แท้ ๆ จนขณะนี้มีทรัพย์สินมีกิจการที่ดี แล้วยังไม่พออีกหรือ ครอบครัวก็ดี ลูกทั้งสองก็กำลังเจริญเติบโต แล้วถ้าเราเป็นอะไรไป ทั้งสามีทั้งลูกที่อยู่ข้างหลังจะเป็นอย่างไร เรารักพวกเขามาก แล้วทำไมไม่รักตัวเอง เราจะทำงานวันละ ๑๔ ชั่วโมงอยู่อย่างนี้เพื่ออะไร ทำไมไม่รู้จักปล่อยวาง ไม่รู้จักละ” พอคิดได้อย่างนี้มันก็เหมือนมีแสงสว่างวาบอยู่ตรงหน้า ในใจคิดว่าทำไมเราต้องทุกข์ไปกับทุกเรื่อง ต่อไปนี้จะต้องรู้จัก “พอ” เสียบ้าง

หลังจากออกจากโรงพยาบาล ดิฉันเริ่มหันมาอ่านหนังสือธรรมะ โดยพยายามเลือกประเภทของธรรมะที่ถูกกับจริตของตนเอง หนังสือธรรมประเภทประวัติของเกจิอาจารย์ เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชอบ

หลวงปู่ปาน พอรู้สึกสนุกกับประวัติความเป็นมาพร้อมกับธรรมคำสอนของท่านเหล่านั้น ดิฉันก็เริ่มอ่านธรรมขั้นสูงขึ้นโดยให้เวลา ๑ ชั่วโมงกับการอ่านธรรมะก่อนนอนทุกคืน

วันเวลาที่ผ่านมา ในที่สุดดิฉันก็พบว่ายานอนหลับไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับดิฉันอีกต่อไป จิตใจเริ่มเป็นสุข สงบสบาย หลับได้สนิท เพราะดิฉันเริ่ม “วาง” เป็น ละในสิ่งที่แบกรับจนเกินความจำเป็น ดิฉันมอบหมายให้หัวหน้าคนงานในแต่ละแผนกแต่ละระดับแก้ไขปัญหากันเอง และปัญหาต่าง ๆ ที่จะขึ้นมาถึงมือของดิฉันต้องมีความจำเป็น “เป็นที่สุด” แล้วเท่านั้น

 

กุศลบุญหนุนให้พบ

หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล

ภายหลังจากหายป่วยและได้ศึกษาธรรมะมากขึ้น ดิฉันมีความปรารถนาที่จะได้สร้างพระ แต่เนื่องจากเป็นคนที่ชอบช่วยในสิ่งที่คนอื่นขาด และต้องการจริง ๆ เท่านั้น ดิฉันจึงได้แวะเวียนไปตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ก็เห็นแต่ความสมบูรณ์ จนเกือบจะเรียกได้ว่าเกินพอ จึงได้บอกกับลูกน้องในโรงงานให้หาวัดในต่างจังหวัดที่ต้องการได้พระประธาน พอดีมีพนักงานคนหนึ่งซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี ได้มาบอกว่า พระครูสังฆรักษ์กมล วัดบางพาน มีความต้องการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในละแวกนั้น ดิฉันได้ไปเยี่ยมเยียนวัดและพบว่า ทางวัดไม่มีโบสถ์ ไม่มีศาลา แต่ทางวัดมีพระประธานแล้วจึงได้สร้างพระประจำศาลา และโบสถ์ให้ ด้วยความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระครู หรือที่พวกเราเรียกท่านว่า “หลวงน้า” ทำให้ดิฉันปวารณาตัวที่จะช่วยสนับสนุนสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวัด ซึ่งในขณะนี้เป็นเวลา ๕ ปี โบสถ์ของวัดบางพานกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ด้วยศรัทธาของญาติมิตรผู้คนเพื่อนฝูงที่รายรอบตัวดิฉัน เป็นแรงผลักดันในการสร้างสาธารณสถานดังกล่าว

ในช่วงที่เดินทางไปวัดบางพานนั้น ดิฉันจะต้องผ่านวัดอัมพวันเสมอ และคงจะเป็นด้วยกุศลผลบุญที่สร้างไว้จึงดลบันดาลให้ดิฉันได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการหลวงพ่อ ซึ่งดิฉันได้อ่านประวัติและข้อธรรมของท่านมาบ้างแล้ว จนในที่สุดดิฉันก็ได้เป็นลูกศิษย์ ได้ฟังธรรม ได้สนทนาเรื่องราวต่าง ๆ กับหลวงพ่อ ได้รับเมตตาจากหลวงพ่อที่รับนิมนต์มางานทำบุญโรงงาน พร้อมทั้งเมตตาจากหลวงพ่อเสมอในด้านการสั่งสอนธรรม ให้กำลังใจ และยังร่วมช่วยเหลือในการสร้างโบสถ์วัดบางพาน ด้วยเหตุผลที่หลวงพ่อบอกดิฉันว่า “พระครูสังฆรักษ์กมลเป็นพระที่ดี สมควรต้องสนับสนุน” สิ่งที่ดิฉันได้รับและสั่งสมมาจนใช้เป็นประโยชน์อยู่เท่าทุกวันนี้คือ “ธรรมะของหลวงพ่อ” เพราะหากปราศจากธรรมคำสั่งสอนของท่านแล้ว ดิฉันคงไม่สามารถปล่อยวางได้เท่านี้ จนขณะนี้แม้แต่สามียังอดที่จะปรารภไม่ได้ว่า “ผมไม่ผิดหวังเลย ที่คุณไปพบหลวงพ่อ และใช้ธรรมะของท่านเป็นที่พึ่ง เพราะเรายิ่งทำธุรกิจใหญ่มากขึ้น ก็ต้องปล่อยวางให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพจิตของเราเอง”

 

ปัญญาธรรมนำชีวิต

ทุกครั้งที่ดิฉันได้กราบนมัสการหลวงพ่อ ดิฉันมักจะได้รับข้อคิด แง่ธรรม ที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมากมาย หลวงพ่อจะสอนอยู่เสมอว่า “ทุกวันหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ก่อนนอนควรให้เวลากับตัวเองสักครู่เพื่อทบทวนว่า วันนี้เราทำอะไรมาบ้าง ทำผิดอะไรอย่างไร ทำให้ใครต้องเจ็บช้ำน้ำใจหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำแต่ภาพที่ปรากฏคือเราทำได้ดีที่สุดแล้วกับทุกคน แต่เราไม่ได้รับผลดีนั้นตอบแทน กลับได้ความเจ็บช้ำน้ำใจ” หลวงพ่อยังสอนดิฉันอีกว่า “โยมมีภารกิจมากมาย โยมต้องรู้จักเอาตัวเองให้รอด เอาตัวรอดอย่างไรก็คือ ในปัจจุบันนี้คนไม่ดีมีมากกว่าคนดี ถ้าเทียบกับในอดีตคนสมัยนี้ไม่ค่อยจะนึกถึงความดีของกันและกัน มักจะนึกถึงเรื่องปัจจุบันทันด่วน ซึ่งถ้าหากคนเรานึกถึงความดีของกันและกันแล้ว ก็จะไม่ทิ้งกัน จะมีการให้อภัยกันตลอดเวลา โยมได้ทำบุญมามากก็จริง แต่ต้องรู้จักทำบุญให้ตัวเองบ้าง เอาตัวเองให้รอดบ้าง รู้ไหมบุญคืออะไร บุญคือความสุข ทำอย่างไรให้ตนเองมีความสุข ถ้าโยมไม่ทำให้ใจมีสุข โยมก็จะไม่มีแรงที่จะทำงาน เพื่อหาเงินมาต่อบุญของโยมเอง จงทำใจให้สงบแล้วคิดว่า เป็นเพราะผลกรรมในอดีตชาติตามมาให้เราต้องชดใช้ในชาตินี้ เราคงต้องเคยทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้เขามาก่อน เมื่อเราพิจารณาได้ ปลงได้ วางได้ แล้วเราจะรู้สึกสงบ สบายใจ ไม่โกรธ” ด้วยวิธีนี้ ดิฉันได้ปฏิบัติตลอดมา และพบว่า ปัจจุบันนี้ดิฉันรู้สึกสามารถทำใจได้ที่จะไม่โกรธเคือง เมื่อต้องกระทบกับสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่า “ทำไมเราทำดีต่อเขาแล้วเขาถึงไม่ดีต่อเรา” คำหนึ่งที่หลวงพ่อสอนดิฉันที่ดิฉันจำได้ขึ้นใจคือ “ถ้าใครทำความไม่ดีให้กับเรา นั่นแหละคือ เรื่องธรรมดาของมนุษย์ในยุคสมัยนี้ แต่ตรงกันข้ามถ้าหากทำความดีให้กับเรา นั่นแหละถือว่าไม่ใช่คนธรรมดาเป็นบุคคลที่พิเศษสำหรับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน”

ในเรื่องของพี่น้องหรือลูก ๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่หลวงพ่อพยายามสอนให้เห็นว่า อย่าได้ทุกข์ใจเมื่อเห็นว่าพี่น้องไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะทุกคนเกิดมาพร้อมกับกรรมติดตัวมาแต่ชาติปางก่อน แม้แต่ลูกของเราเอง พ่อเดียว แม่เดียวกันได้ในสิ่งที่เท่ากัน แต่ผลบุญผลกรรมในอดีตชาติต่างกัน พี่น้องก็ย่อมมีวิถีชีวิต และผลแห่งชีวิตแตกต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องรู้จักวางใจให้เป็นอุเบกขา ในเรื่องการทำบุญซึ่งพวกเรามักจะคิดว่า บุญคือ การได้สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง ทำสังฆทาน ใส่บาตร ทำทาน แต่หลวงพ่อกลับเน้นย้ำให้หวนคิดพระที่บ้าน คือ คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในชีวิตเรามีอยู่เพียง ๒ องค์เท่านั้น ถ้าเรากตัญญูต่อพระที่บ้านแล้วนั่นย่อมเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต

ธรรมะที่ดิฉันประทับใจที่สุด คือหลวงพ่อให้ข้อธรรมมาว่า “บุญคือความสุข” อะไรก็ตามที่ทำให้ใจเราเป็นสุข ไม่ทำปัญหาต่อคนอื่น นั่นคือบุญ เช่น เราบริจาคเงินช่วยเหลือแต่ในขณะเดียวกัน เราไม่สบายใจที่เพื่อนอีกคนบริจาคเงินมากกว่าเรา ทำให้รู้สึกริษยาที่เขาจะได้หน้ามากกว่า จิตใจร้อนรุ่มอย่างนี้ไม่มีสุข ก็ย่อมไม่ใช่บุญ ในอีกทางหากบุคคลคนหนึ่งไม่มีเงินจะถวายสร้างโบสถ์ แต่ไปร่วมงานมีใจอนุโมทนากับการทำบุญนั้น จิตอิ่มบุญ สงบ สุขใจ อย่างนี้คือบุญ แม้จะไม่ได้ใช้ปัจจัยเงินทองเลยก็ตาม

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเคยสอนให้ดิฉันทำใจให้ปิด ไม่รับกับสิ่งที่มากระทบ คือ “วางเฉย” ไม่โต้ตอบแม้รู้ว่ามีคนว่าเรานินทาเรา หลวงพ่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “เหมือนอาตมาให้ขนมโยม แต่โยมไม่รับ โยมก็ไม่รู้รสชาติของขนมนั้น ฉะนั้น ใครจะว่า เราไม่เปิดรับ เราก็ไม่เกิดอารมณ์ เพราะปิดใจแล้ว” แง่คิดในเรื่องนี้ทำให้ดิฉันไม่เคยต้องรับความกระทบกระเทือนใจอีกเลย เมื่อรู้ว่าใครก็ตาม เราทำดีต่อเขาแล้ว เขาเอาเราไปว่า ไปนินทา เพราะขณะนี้ใจของดิฉันปิดจากสิ่งที่มากระทบแล้วโดยสิ้นเชิง

ณ บัดนี้ดิฉันเริ่มรู้สึกว่าการหันเข้าหาธรรมะได้ทันเวลาและเป็นบุญที่ได้รับเมตตา ได้รับคำสอนจากหลวงพ่อ ทำให้ดิฉันมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความแข็งแกร่งของจิตใจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หากแต่ลึกลงไปภายในดิฉันกลับมีความเยือกเย็นลงอย่างประหลาด ดิฉันเลิกทุกข์กังวลล่วงหน้ากับสิ่งต่าง ๆ ทำตัวให้มีความสุขกับปัจจุบัน มองปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยใจที่เย็นลง คิดว่าอะไรแก้ไขได้ก็ลงมือทำ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ด้วยตัวเอง และเกินความสามารถก็จะปล่อยวางลง

ดิฉันมองทุกอย่างที่เกิดขึ้นและบอกตัวเองว่า เราจะไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุอีกแล้ว เรา “พอ” แล้ว เรา “วาง” แล้ว แต่ดิฉันยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีในฐานะของลูก ภรรยา แม่ พี่ นายจ้าง อย่างไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เพราะความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ ทั้ง ๆ ที่ท่านมีอายุมากแล้ว แต่ท่านยังเมตตาต่อลูกศิษย์โดยถ้วนหน้า ท่านทำงานหนัก นอนน้อย รับประทานอาหารน้อย เพราะท่านบอกดิฉันเสมอว่า “จะเกียจคร้านหรือพักผ่อนไม่ได้ เพราะเวลาของการทำความดีเหลือน้อยแล้ว ต้องอดทน เพราะการเกิดเป็นคนสิ่งประเสริฐที่สุด คือ การทำความดี จะมัวซมเซาไม่ได้” แม้บางครั้งดิฉันอยากจะหยุดด้วยความเกียจคร้าน แต่เมื่อเสียงสั่งสอนของหลวงพ่อที่ยังก้องอยู่ในโสตประสาทดังขึ้นมา ดิฉันก็จะเกิดพลัง เกิดกำลังใจ ลุกขึ้นไปต่อสู้ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

กลอนต่อไปนี้ ดิฉันได้ร้อยเรียงขึ้นจากความประทับใจในธรรมะของหลวงพ่อ ที่ดิฉันและเพื่อนธรรมทุกท่านสามารถหยิบยกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างอเนกอนันต์

บุญคือสุขทุกข์หายมลายสูญ
เจิดจำรูญหยุดหายใจให้วางเฉย
อุเบกขาฝึกไว้ให้คุ้นเคย
อย่าคิดเลยพิรี้พิไรใคร่คร่ำครวญ
ทำงานหนักคือหลักชัยในมนุษย์
จุดสิ้นสุดใกล้เข้ามาอย่ากำสรวล
เร่งทำงานทำหน้าที่ที่ถูกควร
เพราะเราล้วนมีบทบาทที่ต่างกัน
กตัญญูรู้คุณหนุนชีวิต
ตรึกตรองจิตคิดถึงพระที่บ้าน
บุญใช่เพียงใส่บาตรทำทาน
พระที่บ้านพระที่วัดจัดให้เห็น
ธรรมะใดธรรมใครย่อมไร้ค่า
เพราะราคาแห่งธรรมใช่ตาเห็น
หากอยู่ที่ฝึกจิตคิดให้เป็น
รู้หลีกเร้นจากกิเลสเหตุทั้งปวง
สุดประเสริฐเปิดจิตคิดพอแล้ว นั่น
คือแววแห่งธรรมอันใหญ่หลวง
เพียงความพอช่วยให้พ้นสิ่งหลอกลวง
จิตทั้งดวงจักสงบพบนิพพาน