การปฏิบัติธรรมครั้งแรกในชีวิตที่ …
เวฬุวัน ขอนแก่น

โดย สายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์

ดิฉันชื่อ นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์ อายุ ๓๙ ปี อาชีพข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๖ ทำการสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยเตยพัฒนา ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น การมาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ เกิดจากนโยบายของท่านหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น คือ นายปรีดา ทุมเทียง มีความประสงค์จะให้ข้าราชการครูเข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์วัดเวฬุวัน บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นเวลา ๘ วัน ตั้งแต่วันที่ ๓-๑๐ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ตามความเลื่อมใสศรัทธา หากครูผู้ใดต้องการเข้าอบรมให้แจ้งความจำนงไปที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองได้ โรงเรียนของดิฉันแจ้งรายชื่อไป ๓ คน คือ ๑. นาย คมกริช ซ้ายสุข อาจารย์ใหญ่ ๒. นายประดิษฐ์ รัตนวิสุทธิพันธ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ๓. นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์ ครูผู้สอน

เมื่อทราบกำหนดการแน่นอน ดิฉันเตรียมชุดขาวพร้อมทั้งสัมภาระที่จำเป็นต้องใช้ส่วนตัว ทั้งของสามีและของตนเองคนละกระเป๋า แต่เมื่อจวนถึงวันอบรม สามีติดธุระด่วนมีภาระผูกพันไม่ได้ร่วมอบรม ถึงวันรายงานตัว สามี ลูก และญาติ อนุโมทนาบุญ กรุณามาส่งถึงวัด เขาพูดให้กำลังใจว่า “คุณมีบุญมาก บุญผมยังไม่ถึง ขอเพียงมาส่งนะ” แล้วก็ช่วยหิ้วกระเป๋ามาส่งถึงเรือนพักผู้ปฏิบัติธรรมหญิง ห้องที่ ๗ ในจำนวน ๑๐ ห้อง

วันรายงานตัว คณะครูมาลงทะเบียนกันเรื่อย ๆ และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดขาว เข้าอบรมเป็นรุ่นแรกของอำเภอเมือง เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๙ คน แยกเป็นครูชาย ๒๐ คน ครูหญิง ๑๙ คน ครูพี่เลี้ยงในการปฏิบัติคือ อาจารย์เพ็ญศรี ศรีจินดา อาจารย์ ๒ ระดับ ๗ โรงเรียนสนามบิน อ.เมืองขอนแก่น พระอาจารย์ธีรวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส พระครูใบฎีกาคธาวุธ เป็นประธานอบรม

และเริ่มการอบรมเรื่อยไปตลอด ๗ วัน บรรยากาศภายในศูนย์ฯ ดิฉันประทับใจมากคือความเงียบสงบ เป็นระเบียบบริเวณศูนย์เต็มไปด้วยป่าไผ่ออกดอกทุกกอ ทราบว่าศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ตั้งมาเพียงปีเศษ แต่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆมีความพร้อมในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก เห็นแล้วน่าภูมิใจ เป็นศูนย์ฯ ที่พัฒนาได้รวดเร็วมาก อาคารที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ ศาลาปฏิบัติธรรม ที่พักสงฆ์ ๓ หลัง โรงครัว โรงอาหาร เรือนพักผู้ปฏิบัติธรรมหญิง ๑ หลัง ชาย ๑ หลัง ห้องน้ำ ห้องส้วมมีเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวก มีน้ำมีไฟฟ้าใช้เครื่องนอน หมอน เสื่อ ผ้าห่ม เตรียมให้พร้อมเป็นอย่างดี ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดเดิมของดิฉันก่อนที่จะเข้ามาสวนเวฬุวัน คือเดิมคิดว่าคงจะลำบาก แต่ในเมื่อตั้งใจลำบากก็ต้องอดทน เมื่อมาสัมผัสเข้าจริงไม่มีความลำบากใจลำบากกายแต่ประการใด เพียงแต่หากในโอกาสต่อไป ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นที่พักอาศัยไม่เพียงพอ ทางศูนย์ฯ ก็คงมีโครงการที่จะขยายอยู่แล้ว โดยขอความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีจิตศรัทธาหลาย ๆ ฝ่าย

การบรมตลอด ๗ วัน แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือภาคเช้า-ภาคกลางวัน และภาคค่ำ รับประทานอาหาร ๒เวลา คือ เวลาเช้าและก่อนเที่ยง สำหรับเวลาค่ำดื่มน้ำปานะ ช่วงพักหลังการปฏิบัติธรรมดิฉันเคยคิดว่าผู้ที่มาบริการในวัด เช่น แม่ครัว, ผู้บริจาคอาหาร, ผู้บริการช่วยตักแบ่งอาหาร, ผู้ช่วยบริการจัดโต๊ะอาหาร, รวมทั้งผู้ที่มาอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ แก่คณะผู้ที่มาปฏิบัติธรรม ล้วนเป็นผู้มีหน้าตาดี ท่าทางดี ผิวพรรณดี สอบถามดูท่านเหล่านั้นมีอาชีพเป็นพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พยาบาล คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประชาชนทั่วไป เขามาทำงานอย่างนี้ที่ศูนย์ฯ เพื่ออะไรกัน ไม่น่าจะเสียเลาเลย เขาทำอย่างนี้เขาได้สิ่งใดกลับไป ไม่เห็นมีอะไรติดมือไปเลย เขาต้องเหนื่อยกาย …. เขาทำเพื่อใคร … เหตุใด … ทำไม …. หลังจากดิฉันมีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมจากหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม จากเทปวิทยุ และวิดีโอเทป และท่านผู้รู้แนะนำแล้วจึงรู้และเข้าใจ ถ้าหากท่านผู้ใดยังมีความสงสัยอยู่ ขอเชิญมาสัมผัสด้วยตนเองนะคะ แล้วจะรู้เอง และเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตนอีกต่างหาก

ในระหว่างการปฏิบัติ จากวันแรกครูบาอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนแนะแนวทางด้านการปฏิบัติธรรมให้และบอกตลอดเวลาว่ากำหนดสติให้รู้เข้าไว้ ไม่ว่าจะกำลังยืน เดิน นั่ง นอน ให้กำหนดรู้ตลอดเวลา วันแรกเริ่มปฏิบัติ อย่างละ ๒๐ นาที และจะเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึง ๑ ชั่วโมง ขณะที่กำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ถ้าเห็นเป็นภาพนิมิตต่าง ๆ ก็อย่าไปติดใจ ปล่อยให้ผ่านไป ในระหว่างปฏิบัติผู้เข้าอบรมจะเกิดความสงสัย เห็นภูเขาจะไม่เป็นภูเขา แม่น้ำจะไม่เป็นแม่น้ำ หลังจากปฏิบัติครบกำหนดแล้ว ภูเขาก็ยังเป็นภูเขาเหมือนเดิม แม่น้ำก็ยังเป็นแม่น้ำเหมือนเดิม วันที่ ๒ ของการปฏิบัติแม้ครูบาอาจารย์จะแนะนำก็ตาม บางครั้งเราไม่ใส่ใจมากนักก็ลืมคำบอก ภาคเช้าดิฉันสมาธิภาวนาในเวลาที่ครูบาอาจารย์กำหนดก็เห็นภาพนิมิตต่าง ๆ เกิดความสงสัยหลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้วล้างแก้วล้างจานเสร็จพอจะมีเวลาว่างอยู่ ได้สนทนากับเฮียฮ้อ หรือคุณไชยา เกษมวิลาส ซึ่งท่านเป็นนักธุรกิจที่เอาใจใส่กับศูนย์ฯนี้ตลอดมา จึงเล่าสิ่งที่ตนเองสงสัยให้ท่านผู้นี้ฟัง เฮียฮ้อเคยปฏิบัติมามากแล้ว ก็แนะนำดิฉันว่าบางคนที่เขาเคร่งครัดมาก เขาเห็นภาพอะไรจะไม่เล่าให้ใครฟังเลย เพราะกลัวกรรมฐานจะร่วง ไม่พูดคุยกับใคร เขาจะเขียนป้ายคิดหน้าอกเอาไว้เลยว่า “ขออภัยงดพูด” จนกว่าจะเสร็จสิ้นการอบรมจึงค่อยซักถามสอบอารมณ์ ดิฉันนึกในใจถึงกับอย่างนั้นเชียวหรือ นับประสาอะไรตัวเราไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างนี้ดีจะเที่ยวเล่าให้ใครฟังอีกไม่ได้ จะทำตามคำแนะนำของผู้รู้อย่างจริงจัง

คติกรรมฐาน เขียนไว้ที่บริเวณใกล้ประตูศาลาปฏิบัติธรรม เดินเข้า-เดินออกก็มองเห็นว่า “กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก” ดิฉันก็พยายามทำตาม เพื่อนครูที่ปฏิบัติด้วยกัน ก็บอกให้ดิฉันรู้ตัวเหมือนกันว่าดิฉันเริ่มเก็บหน่วยกิตบ้างแล้ว การอบรมปฏิบัติธรรมเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกวัน วันที่ ๔-๕ ของการอบรมเริ่มเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ แล้ววันที่ ๖สู้จนจะขาดใจ ช่วงเวลาค่ำหลังจากทำวัตรเย็นจบแล้วพระอาจารย์เจ้าอาวาสก็ถามดูว่า วันนี้ใครมีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างไร ท่านกวาดสายตามองดูครูทุกคนและมาพักสายตาที่ดิฉันพอดี จึงตอบท่านไปว่า “ก็ให้เดิน-ยืน-นั่ง อย่างละ ๑ ชั่วโมง ไม่เข้มได้ยังไง ดีนะไม่มีใครร้องไห้” (จริง ๆ ก็ร้องแต่น้ำตาไม่ออก มันตกใน) ได้ยินเสียงคณะผู้เข้าอบรมบ่นพึมพำ ๆ เพราะนึกไม่ถึงว่าจะปฏิบัติกันได้ถึง ๑ ชั่วโมง วันที่ ๗ ของการอบรมก็มั่นใจได้ว่าต้องทำได้

มีอยู่วันหนึ่งที่ตรงกับวันพระ ดิฉันตื่นเต้นมากเพราะทราบจากทางวัดว่า วันพระจะมีคนภายนอกมาสวดมนต์ทำวัตรเย็นกันเยอะ ก็เป็นจริงตามนั้น เด็ก ๆ อายุ ๖-๑๐ ขวบก็นุ่งชุดขาวมากับครอบครัวด้วย และก็มีคนทุกเพศทุกวัย มาวัด นักเรียนรุ่น ม.๑-ม.๖ รุ่นหนุ่มสาว วัยทำงาน จนถึงวัยชรา ทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมแน่นไปถนัด ท่านอาจารย์ ดร.ลำใย โกวิทยากร ผู้ถวายที่ดินสร้างวัด ๒๐ ไร่ และคณะก็มาร่วมสวดมนต์ด้วย วันพระการสวดมนต์เพิ่มบทสวดพุทธคุณ ๑๐๘ จบและปารมี ๓๐ ทัศ เป็นครั้งแรกในชีวิตดิฉันตั้งใจสวดจนครบถ้วน

ผลการปฏิบัติ รู้สึกว่าอยู่ที่วัดมีความเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้ปฏิบัติ ลืมคิดถึงบ้านเพราะว่าอยู่ที่นี่ก็มีความสุขกายสุขใจดี ทางบ้านยินดีให้มาปฏิบัติธรรมเลยไม่ได้มีความวิตกกังวลสิ่งใด จึงทำให้ใจเป็นสมาธิดี ความรู้สึกส่วนตัวบอกตนเองว่า สบายใจเหลือเกิน ภูมิใจที่จะเดินก้าวเท้าออกนอกเขตวัดได้อย่างมั่นใจ เพราะเป็นศิษย์ที่มีครูด้านกรรมฐาน ได้รู้จักตนเองยิ่งขึ้น เดิมเป็นคนเจ้าอารมณ์คิดว่าอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

การตั้งใจปฏิบัติและมีความศรัทธาอย่างแน่วแน่มีอานิสงส์มาก ดิฉันตั้งใจปฏิบัติตามคำแนะนำของ ครูบาอาจารย์สอนอย่างเต็มความสามารถ เกิดผลดีอย่างมาก เป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตซึ่งประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ อยากให้คนส่วนมากหันมาสนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานกันให้มากขึ้นค่ะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ดิฉันปรารถนาว่าหากบุญพาวาสนาส่งขอให้ได้เดินทางไปกราบหลวงพ่อจรัญที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ในเร็ววันด้วยเถิด เพียง ๒ อาทิตย์ก็ได้ไปกราบท่านตามที่ตั้งใจ ทั้ง ๆ ที่หวุดหวิดจะพลาดอยู่แล้ว กล่าวคือชาวขอนแก่นโดยคณะของอาจารย์ ดร.ลำใย โกวิทยากร มีความประสงค์จะเดินทางไปวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๘ เพื่อถวายภัตตาหารเช้าและเพลเป็นสังฆทาน เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา ไปกันรถทัวร์ ๑ คัน ดิฉันสอบถามเจ้าหน้าที่เช็คตั๋วว่าเต็มหรือยัง เจ้าหน้าที่บอกว่าเต็มแล้ว มีอยู่ ๑ คันที่มีคนจองไว้แต่ยังไม่ติดต่อมา รถออก ๔ ทุ่มครึ่ง ถ้าถึงเวลาเขาไม่มาคุณก็ได้ไป ก็ปรากฏว่าเขาไม่มา ติดธุระด่วน จึงได้ไปนมัสการท่านหลวงพ่อตามที่ตั้งใจไว้

ขอแนะนำว่า ผู้ที่กำลังสนใจจะเข้าปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจให้สงบว่าสิ่งที่ต้องการเตรียมตัวคือ

๑.   จิตใจของท่านเองพร้อมหรือยัง ขอให้มาด้วยความศรัทธาจะได้ผลเร็ว

๒.  ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าชุดขาว ขันน้ำ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ยารักษาโรคส่วนตัว ยกเว้น มุ้ง หมอน เสื่อ ผ้าห่ม เหล่านี้ทางศูนย์มีให้เพียงพอ

สุดท้ายขอให้ท่านผู้อ่านจงมีความสุขกายสุขใจ โชคดีมีสุขยิ่ง ๆ ขึ้นเทอญ

นางสายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์
โทร (๐๔๓) ๒๖๑-๓๕๗