หลวงพ่อเทพนิมิต

โดย พระนรินทร์ สุภากาโร

าตมาเคยสนทนากับโยมคุณตาท่านหนึ่ง (คุณธวัช ปุริปุณณะ) ท่านเป็นคนเก่าแก่ของวัด ได้เล่าให้อาตมาฟังว่า ตรงบริเวณเขตปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ในสมัยก่อนยังไม่มีสิ่งก่อสร้างมากมายเหมือนในปัจจุบันนี้ จะมีก็เพียงกุฏิไม้หลังเล็ก ๆ อยู่ทางด้านใต้เพียง ๒ หลังเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรเลย จนกระทั่งในเวลากาลต่อมา หลวงสมานวนกิจ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ได้นำพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่เคยมีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปลูก จึงเรียกบริเวณนี้ว่า สวนพุทธประวัติ

ในบริเวณสวนพุทธประวัติมีศาลาปฏิบัติธรรมอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งโยมเสน่ห์ สารสุวรรณ เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โยมเสน่ห์ได้เล่าว่า ตอนที่โยมคิดจะสร้างศาลาหลังนี้ขึ้นนั้น ได้เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง นั่งประดิษฐานอยู่ในบริเวณสวนพุทธประวัติ ก็เกิดความคิดอยากจะสร้างศาลาเพื่อบดบังแสงแดดให้กับท่าน จึงตกลงใจจะสร้างศาลาหลังเล็ก ๆ ขึ้นสักหลัง จึงไปถามแม่ใหญ่ว่า “พระองค์นี้ทำไมมานั่งตากแดดอยู่ตรงนี้ครับ ไม่มีใครคิดที่จะสร้างศาลาให้ท่านอยู่หรือครับ” แม่ใหญ่ก็ตอบว่า “เดี๋ยวเจ้าของเขามาเขาก็สร้างเอง” โยมจึงบอกกับแม่ใหญ่ว่าจะเป็นผู้สร้างศาลาให้ท่าน แม่ใหญ่ท่านก็อนุโมทนา

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่ศาลาในสวนพุทธประวัติ โยมคุณตาท่านบอกว่า เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มาก คนที่มาปฏิบัติกรรมฐานอย่างตั้งใจจริง ๆ ไปบอกกล่าวขอร้องให้ท่านช่วย ท่านก็มักช่วยเหลือให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ท่านประดิษฐานอยู่เป็นประธานอยู่ในเขตปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์ มีชื่อว่า “หลวงพ่อเทพนิมิต”

อาตมาสนใจประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อเทพนิมิตมาก วันหนึ่งอาตมาจึงเข้าไปกราบถามหลวงพ่อ ถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ หลวงพ่อท่านมีเมตตาเล่าให้อาตมาฟังว่า

หลวงพ่อมีน้าชายอยู่คนหนึ่งชื่อ ป่วน” มีบ้านอยู่ที่บ้านตะลุง ตำบลงิ้วลาย จังหวัดลพบุรี มีอาชีพทำนา ในบริเวณที่นาของแกนั้น มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่อยู่หนึ่งต้น และข้าง ๆ ที่นาของแกก็เป็นวัดร้าง

วันหนึ่งเป็นวันที่มีฝนตกหนัก แกขับรถกะแทะออกไปทำนา แกก็ไถนาไปเรื่อย ๆ น้ำฝนก็ไหลมาเป็นร่องตามทางที่แกไถ สักพักหนึ่ง แกก็ไถไปกระทบกับวัตถุสิ่งหนึ่ง แกก็คิดว่าคงเป็นก้อนหินจึงไม่ได้สนใจสังเกตดู ทั้งฝนกำลังตก ใจอยากรีบจะทำงานให้เสร็จ จึงไถนาผ่านเลยไป

พอตกกลางคืนแกฝันไปว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีแต่เศียร ลำตัวไม่มีมาบอกกับแกว่า “ป่วนเอ๋ย เจ้าขับรถชนหลวงพ่อจนศีรษะหลวงพ่อบิ่นไปแล้ว เจ้าต้องไปขุดเอาศีรษะหลวงพ่อออกมา และนำมาบูชาที่บ้านเจ้าจะได้ทำมาค้าขึ้น” น้าป่วนเลยตกใจตื่นขึ้น แต่ยังจดจำความฝันได้อย่างแม่นยำ พอรุ่งเช้าแกจึงตรงไปที่นาไปขุดหาก็พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีแต่เศียร แกดีใจมาก นำเศียรพระองค์นั้นกลับไปใส่ถาดบูชาอยู่ที่บ้าน ปรากฏว่าในเวลากาลต่อมา ความเป็นอยู่ของน้าป่วนก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ที่นาก็งอกงามสมบูรณ์ดี แกจึงเริ่มมีเงินมีทอง และลูกหลานก็มีหลักฐานมีงานที่ดีทำ

หลวงพ่อท่านได้บอกกับอาตมาอีกว่า เศียรพระองค์นี้เป็นของเก่าแก่ เศียรเป็นหินทราย เป็นพระปางลพบุรี ตอนที่น้าป่วนนำเศียรพระมา ก็นิมนต์หลวงพ่อไปที่บ้าน และนำเศียรพระมาให้ดูเสมอ จนกระทั่งแกได้ตายลง ลูกหลานของแกจึงได้ประชุมกันว่าจะเอาเศียรพระของคุณพ่อไปไว้ที่ไหน ก็เลยนึกถึงหลวงพ่อได้จึงพากันมาที่วัด แล้วนำเศียรพระนั้นมาถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อนำเศียรพระใส่พานบูชาไว้ข้างที่นั่ง ยังไม่คิดว่าจะนำเศียรพระไปต่อ หรือนำไปสร้างเป็นองค์พระ จนกระทั่งโยมนิพนธ์ นันทพงษ์ มาเล่าเรื่องความฝันให้หลวงพ่อฟัง และขออนุญาตหลวงพ่อ สร้างองค์พระและต่อเศียรให้หลวงพ่อเทพนิมิต โยมนิพนธ์ นันทพงษ์ ได้เขียนประวัติการก่อสร้างหลวงพ่อเทพนิมิตมาดังนี้

ประวัติการสร้างหลวงพ่อเทพนิมิต

นิพนธ์ นันทพงษ์

ตอนกลางคืนของวันที่ ๕ ก.ค. พ.ศ.๒๕๑๗ ข้าพเจ้าได้ฝันว่าเกิดป่วยขึ้น ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ได้ไปหา นพ...สมหมาย ทองประเสริฐ รักษา เพราะครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นคนไข้ประจำของท่าน ในฝัน นพ.สมหมาย บอกว่าอาการป่วยแบบนี้ตัดศีรษะออกมารักษา รายอื่นที่เป็นเหมือนกันก็ต้องรักษาแบบนี้ แต่รายอื่นรักษาแล้ว เอาศีรษะมาต่อเข้าก็ต่อติดเหมือนเดิมได้หมด แต่ของข้าพเจ้ารักษาแล้วต่อศีรษะไม่ติด พอตื่นขึ้นก็จำความฝันได้อย่างแม่นยำ รู้สึกไม่สบายใจมาตลอดวัน พอตอนหัวค่ำปิดร้านค้าแล้วก็รีบไปหาหลวงพ่อที่วัดอัมพวัน เพราะตั้งใจไว้แต่ตื่นนอนแล้วว่าจะต้องมาปรึกษาขอความเห็นจากท่าน

พอมาถึงกุฏิก็พบเศียรพระตั้งอยู่บนถาดในกุฏิหลวงพ่อ เป็นเศียรของเก่าสลักด้วยศิลา พอเห็นก็มีความรู้สึกว่า ความฝันเมื่อคืนนี้คงเกี่ยวข้องกับเศียรพระนี้แน่ แต่หลวงพ่อท่านไม่อยู่ พบแต่พระปลัดประสิทธิ์ เรียนถามท่านว่า หลวงพ่อได้นำเศียรพระมาจากไหน ท่านปลัดประสิทธิ์บอกว่ามีคนลพบุรีถวายให้ หลวงพ่อเพิ่งไปรับมาเมื่อวานนี้ (๔ ก.ค. ๒๕๑๗) ข้าพเจ้าได้นั่งรอพบหลวงพ่อจนดึก ได้เล่าความฝันให้ท่านฟัง และได้เสนอขอสร้างพระต่อเศียรจากท่าน หลวงพ่อบอกว่าตั้งแต่ได้เศียรพระมามีผู้มาขอต่อหลายรายแล้วแต่ท่านไม่ให้บอกว่าจะให้คนที่ฝันเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้เล่าความฝันให้ท่านฟัง ก็ได้รับความกรุณาจากท่านให้สร้างและต่อเศียรพระองค์นี้ ข้าพเจ้าดีใจมากคิดว่าได้สะเดาะเคราะห์ที่ฝันน่ากลัวนี้แล้ว และท่านได้ให้ธรรมะเป็นการสั่งสอนว่า การยังพระปฏิมาที่ชำรุดให้สมบูรณ์เป็นบุญกุศลอย่างสูง ทำให้อายุยืนและประสบผลสำเร็จในกิจการที่ประกอบอยู่อย่างดี เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้ชื่อจากท่านว่า หลวงพ่อเทพนิมิต หลังจากนั้นกิจการค้าของข้าพเจ้าก็เจริญรุ่งเรืองตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้าพเจ้าก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าและครอบครัวขอน้อมรับพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ด้วยความซาบซึ้งอย่างสูงสุดหาสิ่งใดเปรียบมิได้

การที่ข้าพเจ้าสร้างเป็นพระปางสมาธิ เพราะข้าพเจ้าต้องการสร้างเป็นปางตรัสรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาบารมี ต่อมาได้มีท่านผู้มาจากกรุงเทพฯ ได้มาขอสร้างศาลาจตุรมุขเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อเทพนิมิต ได้ออกแบบมา ข้าพเจ้าเห็นแบบแล้วสวยมาก แต่ความตั้งใจเดิมของข้าพเจ้าต้องการให้เป็นปางตรัสรู้ จึงไม่ตกลงให้สร้าง

ปกติข้าพเจ้ามีเวลาว่างก็จะมากราบหลวงพ่อเทพนิมิตเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งประมาณ ๒ ทุ่มเศษ ข้าพเจ้าได้มากราบหลวงพ่อเทพนิมิตอีก ได้พบเศียรพระพรหมเป็นศิลาสลักเช่นกัน สวยงามมากวางอยู่บนแท่นหน้าหลวงพ่อเทพนิมิต ได้เรียนถามหลวงพ่อก็ไม่ทราบที่มา ข้าพเจ้าก็เลยขออนุญาตสร้างพระพรหมอีก ๑ องค์ เพราะเป็นพื้นที่ อำเภอพรหมบุรี และมารดาของข้าพเจ้าก็เป็นชาวพรหมบุรีด้วยก็ได้รับความกรุณาจากหลวงพ่อให้สร้างเช่นกัน

ธรรมดาข้าพเจ้าสนใจสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ มาตั้งแต่สมัยอยู่อำเภอพรหมบุรี โดยได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากหลวงพ่อมาตลอด การที่ได้สวดมนต์ไหว้พระ และทำสมาธิเป็นประจำทำให้เกิดปัญญา สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความรู้ความเข้าใจบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักตัวเองดีขึ้น รู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมทั่วไป ยอมรับความจริงที่เกิดกับตัวเองทุก ๆ อย่าง ทำให้ลดความทุกข์ลงได้มากเมื่อมีทุกข์

สมัยอยู่พรหมบุรี หลวงพ่อท่านปฏิบัติเข้านิโรธสมาบัติเป็นประจำทุกปี พอทราบวันออกจากนิโรธ ข้าพเจ้าก็นำดอกไม้ ธูป เทียน อาหารมาถวายท่านทุกครั้ง

การสร้างพระหลวงพ่อเทพนิมิต และการสวดมนต์ไหว้พระทำสมาธิ ตามคำแนะนำสั่งสอนของหลวงพ่อเป็นประจำทำให้ชีวิตและครอบครัวของข้าพเจ้าอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา

นิมิตจากหลวงพ่อเทพนิมิต

คุณพยุงศรี เจียรพฤฒินิเวศน์

ปัจจุบันนี้ ศาลาปฏิบัติธรรมที่ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อเทพนิมิตนั้น กำลังดำเนินการก่อสร้างใหม่ให้สวยงาม และสามารถรับผู้ที่มาปฏิบัติกรรมฐานได้เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าศาลาหลังเดิม โดยผู้ริเริ่มในการก่อสร้างศาลาหลังใหม่นี้ขึ้น คือ โยมพยุงศรี เจียรพฤฒิเวศน์ ซึ่งโยมพยุงศรี ได้เล่าประสบการณ์สำคัญที่เป็นเหตุ ให้ต้องมาเป็นผู้สร้างศาลาหลวงพ่อเทพนิมิตหลังใหม่นี้ต่ออาตมาว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ โยมมีความคิดที่จะหาที่สงบ ๆ เพื่อจะเจริญกรรมฐาน ได้ไปเสาะแสวงหาตามวัดที่ใกล้เคียงหลายวัด แต่เมื่อเข้าไปตรวจดูสถานที่ของวัดต่าง ๆ นั้นแล้ว ไม่เกิดความรู้สึกชื่นชอบเลย

จนกระทั่งโยมไปพบเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งปกติในสมัยเรียนหนังสือเด็กคนนี้จะเกมาก มาชวนโยมให้ลองไปดูวัดของหลวงพ่อจรัญ ที่อยู่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี โยมก็นึกขึ้นในใจว่าชักเข้าท่า เพราะโยมเป็นคนจังหวัดอ่างทอง โยมจึงตกลงใจเดินทางมาที่วัด

มาถึงวัดโยมก็เข้าไปกราบหลวงพ่อ ท่านก็ไม่ได้สนใจอะไรโยม จนกระทั่งได้กล่าวกับท่านว่าโยมจะมาปฏิบัติกรรมฐาน หลวงพ่อท่านจึงสั่งเด็กผู้หญิงว่า “ให้ลองพาเขาเดินไปดูให้ทั่ว ๆ วัดก่อนซิ ว่าจะอยู่ได้ไหม” โยมก็เกิดตกใจคิดว่า โยมไม่เคยพบท่านมาก่อนเลย ท่านทำไมคล้ายจะรู้ว่าโยมตั้งใจจะมาดูวัด และได้ดูมาหลายวัดแล้ว จึงเกิดความประทับใจท่าน เป็นเหตุให้โยมเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โยมเกิดป่วย ไปให้หมอทำการรักษาผ่านไปเก้าคน โยมก็ไม่มีดีขึ้น หมอก็วินิจฉัยว่าโยมคงเป็นโรคเกี่ยวกับเลือด เพราะถ้าหากโยมถูกมีดบาดเพียงเล็กน้อย เลือดจะไหลไม่หยุด โยมก็ท้อแท้ใจ

โยมป่วยมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๔ โยมต้องทำการผ่าตัดมดลูก จึงไปกราบเรียนให้หลวงพ่อท่านทราบ ท่านก็บอกว่ายังไม่ต้องทำการผ่าตัดตอนนี้ และได้ให้ยาที่ปั้นเป็นลูกกลอนมาให้ และเปลี่ยนชื่อโยมว่า “แม่ฉาย” หลังจากนั้นหกเดือนหลวงพ่อจึงอนุญาตให้ทำการผ่าตัดและเรียกโยมว่า “แม่สุขใจ” พอโยมผ่าตัดเสร็จ ท่านถึงได้เรียกโยมว่า “แม่พยุงศรี”

หลังจากผ่าตัดแล้ว โยมได้มาปฏิบัติกรรมฐานให้หลวงพ่อเทพนิมิต เพราะได้บอกกับท่านว่า หากการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จะมานั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ท่าน ระหว่างที่โยมนั่งโยมมีเวทนามาก โยมปวดมาก โยมก็นึกในใจว่าขอให้หลวงพ่อช่วยให้ปวดน้อยลง เพราะปวดขนาดนี้ปฏิบัติไม่ได้แน่ ก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อเทพนิมิตบอกว่าให้นั่งต่อไป โยมก็นั่งต่อไปแต่ยังปฏิบัติได้ไม่ดีนัก

ในบางครั้งที่โยมมานั่งกรรมฐานที่หน้าหลวงพ่อเทพนิมิต ท่านก็จะมาสอนโยมในสภาพเป็นรูปนิมิต ขณะอยู่ในสภาวะการนั่งเจริญกรรมฐาน ท่านสอนโยมว่า “ให้หายใจลึกลงไปอีก หายใจให้แรงกว่านี้ เท่านี้ใช้ไม่ได้ ลึกลงไปอีก” บางครั้งก็สอนให้หายใจยาวไปอีกหน่อย ท่านจะสอนโยมอยู่ตลอด

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โยมเกิดฝันไปว่าหลวงพ่อจรัญนั่งรถไปหาโยมที่บ้าน โยมจึงตัดสินใจไปหาท่าน พอพบท่านที่วัด หลวงพ่อก็ถามโยมว่า “มีเวลาว่างบ้างไหม มานั่งกรรมฐานหน่อยซิ” โยมก็รับปาก

จากนั้นโยมก็มากราบหลวงพ่อเทพนิมิตว่า ” ตอนนี้ลูกมีภารกิจมากเงินทองที่ต้องใช้จ่ายก็มากเหลือเกิน ตอนนี้ลูกได้ไปยืมที่ๆหนึ่งของคนเขามาจำนอง ลูกอยากพ้นสภาวะนี้เหลือเกิน อยากจะไถ่ที่ผืนนี้คืนเจ้าของเขาไป ขอให้หลวงพ่อช่วยลูกด้วย ลูกจะได้มีเวลามานั่งปฏิบัติกรรมฐานให้หลวงพ่อได้” หลวงพ่อเทพนิมิตท่านก็นั่งยิ้ม ๆ แต่ไม่ยอมตอบอะไร

จนกระทั่งโยมไปเล่นหุ้น ก็ปรากฏว่าสามารถหาเงินมาไถ่ถอนเรื่องที่ได้ โยมจึงไปกราบขอบคุณหลวงพ่อเทพนิมิต

โยมพิจารณาเห็นว่าศาลาของหลวงพ่อเทพนิมิต มีสภาพทรุดโทรมมาก โยมจึงตั้งใจจะซ่อมแซมหลังคาให้ท่าน

หลังจากนั้นผ่านมาอีกหนึ่งอาทิตย์ เป็นคืนวันโกนโยมก็ฝันไปว่ามีพระองค์หนึ่งไปยาโยม แต่ไปเฉพาะเศียรเท่านั้น โยมจึงโทรศัพท์ไปกราบหลวงพ่อ เล่าให้ท่านฟังว่า โยมฝันเห็นพระองค์หนึ่งที่วัด มีแต่เศียรใส่พานอยู่ในสภาพเก่าแก่มาก พระเกษข้างบนก็ทั้งแตกทั้งคด ตรงคิ้วมีรอยเป็นแผล มาลอยให้โยมเห็น

หลวงพ่อก็บอกกับโยมว่า “ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ คงเป็นหลวงพ่อเทพนิมิต” โยมถึงรู้ว่าตอนที่หลวงพ่อจรัญได้หลวงพ่อเทพนิมิตนั้น ท่านมีแต่เศียร ซึ่งก่อนหน้านั้นโยมไม่ทราบเลย พอมาพบท่านก็เห็นท่านทั้งองค์แล้ว

พอโยมรู้ว่าเป็นหลวงพ่อเทพนิมิต โยมจึงตัดสินใจมุงหลังคาให้ท่านใหม่ และหาลิเกมาฉลองให้ท่านดู ซึ่งตามปกติหลวงพ่อจรัญท่านไม่ยอมให้มีหนังมีลิเกที่วัด แต่โยมเล่าความฝันให้ท่านฟัง ท่านก็บอกว่าโยมมีนิมิตที่ถูกต้อง จึงอนุญาตให้มีลิเกที่วัด

ในบางครั้งที่โยมมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัด หลวงพ่อเทพนิมิตท่านจะสอนโยม โยมจะเห็นในลักษณะเหมือนสภาพของโทรทัศน์ จะกะพริบไปเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งเห็นเป็นพระองค์หนึ่งสูงมาก ภายหลังจึงไปเห็นองค์จริงท่านอยู่วัดอินทร์ บางขุนพรหม บางครั้งโยมก็มีนิมิตไปว่า เห็นพระแก่องค์หนึ่งเข้ามาถามโยมว่า “นี่โยมรู้ไหมว่าฉันเป็นใคร” โยมก็ตอบไปว่า “ไม่รู้จักค่ะ เพราะท่านไม่บอกชื่อ” ท่านจึงตอบโยมว่า “ข้าชื่อชุ่ม” และมีผู้หญิงคนหนึ่งสวยมาก แต่งตัวก็ดี มาบอกโยมว่า ชื่อ “กาหลง” มาหาโยม โยมจึงแผ่เมตตาให้ท่านเหล่านั้น

โยมมีนิมิตไปอีกว่า เห็นพื้นดินแห้งแล้งมาก แม่น้ำในคลองก็แห้ง มีแต่น้ำครำ ปลาที่อยู่ในน้ำก็เอาท้องลอยขึ้นมามากมาย ตึกรามบ้านช่องก็ล้ม แผ่นดินแยกออก ผู้คนกรีดร้องโวยวาย ค่อย ๆ หล่นไปตามรอยแยกนั้นทีละคน บ้างก็หล่นมาจากหลังคา บ้านเมืองมีแต่ความมืด มีแต่ความร้อนมากเมื่อหนาวก็จะหนาวมาก ความร้อนความหนาวก็เกิดสลับกันไป โยมก็ได้แต่กำหนดตามอย่างที่หลวงพ่อท่านสอน สักพักโยมก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อเทพนิมิตท่านบอกว่า “กำหนดไปอีก กำหนดไปอีก” โยมก็ทำตาม ปรากฏว่าโยมไปเห็นพงหญ้าสูงใหญ่ ขึ้นเขียวชะอุ่มสวยงามมาก แล้วมีคนออกมาเรียกโยมว่า “เข้ามานี่ มาดูซิว่าสวยไหม” โยมก็นึกตอบออกไปว่า “ถ้าเข้าไปเดี๋ยวไม่ได้กลับมาหาหลวงพ่อ จะทำอย่างไร ตอนนี้ก็จะหมดเวลาแล้วจะกลับไปหาหลวงพ่อจรัญแล้ว” คนหลายคนที่เฝ้าอยู่ที่นั่นก็ร้องเรียกโยมอีก ก็เลยรับเข้าไป แต่ก็ให้เขารับปากว่าจะอนุญาตให้โยมกลับ พวกเขาก็พยักหน้าตอบตกลง โยมก็เข้าไปดู แล้วก็ออกมา พอโยมออกจากกรรมฐานก็ดูเวลา ปรากฏว่าเวลาได้ผ่านไปถึงสามชั่วโมงครึ่ง

นิมิตในครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ทำการรื้อหลวงพ่อเทพนิมิตออกจากฐาน เพื่อที่จะก่อสร้างศาลาหลังใหม่ นิมิตก็เกิดขึ้นในคืนนั้นว่า หลวงพ่อเทพนิมิตท่านมาหามาแต่เศียรเหมือนครั้งแรก และได้ยินเสียงเขาทุบปูนดังปึ้ง ปึ้ง โยมก็นึกต่อว่า ทำไมเขาถึงต้องทุบแรงอย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาทุบอะไร พอรุ่งขึ้นเช้าวันต่อมา มีคนโทรศัพท์บอกโยมว่า เขากำลังกะเทาะหลวงพ่อเทพนิมิตออกแล้ว โยมก็เลยตั้งจิตอธิษฐานบอกกับหลวงพ่อเทพนิมิตว่า “ถ้าเกิดทำอะไร อันเป็นเหตุให้กระเทือนและรบกวนถึงหลวงพ่อ ลูกก็ขออโหสิกรรม และลูกจะสร้างศาลาหลวงพ่อให้ใหม่ ให้สวยงามและกว้างขวาง สามารถให้คนใช้เป็นที่ปฏิบัติได้มากขึ้น”

ศาลาหลังใหม่ของหลวงพ่อเทพนิมิตนี้ คงเสร็จสมบูรณ์ภายในไม่ช้า เพื่อที่จะให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และด้วยผลบุญใด ๆ ที่โยมได้สร้างและกระทำลงไป โยมก็ขออุทิศให้หลวงพ่อ แม่ใหญ่ ผู้ช่วยเหลือหลวงพ่อทุก ๆ คน รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ภายในวัดอัมพวันแห่งนี้ด้วยเทอญ

อย่าสอนลูก ขณะที่ ลูกกำลังทานข้าว

อย่าสอนลูก ขณะที่ ลูกกำลังอ่านหนังสือ ทำการบ้าน

อย่าสอนลูก ขณะที่ ลูกกำลังจะนอน

จงสอนลูก หลังจาก ลูกสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว