เรื่องเก่ามาเล่าใหม่

โดย หนุน ทำนอง

รื่องเก่ามาเล่าใหม่นี้ เป็นชื่อที่ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลตั้งชื่อให้ เป็นเรื่องนิมิตของข้าพเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากที่คุณทองย้อย ชโลธร ได้ถึงแก่กรรมไปได้เพียงไม่กี่วัน

คืนหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้าพเจ้านิมิตว่า มีบุคคลหนึ่งนำลูกกุญแจอุโบสถวัดอัมพวันมาให้ เมื่อข้าพเจ้าได้ลูกกุญแจก็เข้าไปในอุโบสถวัดอัมพวันแล้วเดินสำรวจรอบ ๆ ขณะเดินเข้าไปครั้งแรกพบคนนั่งปฏิบัติธรรมด้วยอาการสงบอยู่คนหนึ่ง เมื่อพิจารณาดูเห็นเป็นคุณทองย้อย ชโลธร สวมเสื้อผ้าชุดขาว นั่งอยู่ข้างเสาต้นที่ ๒ ทิศตะวันออกทางด้านขวาของพระประธาน ข้าพเจ้าตรวจดูรอบ ๆ ในอุโบสถไม่เห็นมีใคร มีแต่คุณทองย้อย ชโลธร เพียงคนเดียว

วันต่อมาข้าพเจ้า ไปที่วัดอัมพวัน พบคุณสุมาลย์ ชโลธรและบรรดาญาติ ๆ ได้ทำบุญครบรอง ๕๐ วันให้คุณทองย้อยที่บ้าน แล้วนำของใช้บางอย่างที่ยืมไปจากวัดอัมพวันมาคืน ข้าพเจ้าอยากจะเล่าความจริงในใจ ให้คุณสุมาลย์ ชโลธร ทราบก็ไม่กล้าพูด เกรงว่าจะเป็นการไม่สมควร และคงไม่เหมาะสมด้วยประการต่างๆ จึงเก็บเรื่องนี้ไว้ ๑๗-๑๘ ปีแล้ว และข้าพเจ้าขณะนี้ก็มีอายุ ๗๐ ปี มาคิดดูว่า ควรจะได้เล่าความจริง ให้ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลทราบ

ข้าพเจ้าได้เล่าว่า ได้พบคนชราสองคนพูดคุยกันว่า คนเราเมื่อก่อนจะถึงแก่กรรม ถ้ามีนิมิตว่ามี คนนำกุญแจในสิ่งที่เราได้ก่อสร้างไว้มาให้เรา เมื่อเราถึงแก่กรรม เราจะได้ไปอยู่ในสถานที่นั้น ข้าพเจ้ามีความคิดขึ้นมาว่า เราจะมีบุญ มีกุศล มีวาสนามากมาย เช่นนี้เชียวหรือ แล้วข้าพเจ้าพูดกับท่านเจ้าคุณฯต่อไปว่า เดิมที กระผมจะเขียนเป็นจดหมาย เล่าเรื่องมาให้ท่านเจ้าคุณทราบ แต่ท่านเจ้าคุณฯกลับพูดว่า โยมมาพูดด้วยตนเองอย่างนี้ชัดเจนดีกว่าเขียนเป็นหนังสือมา เพราะมีโอกาสได้พูดได้คุย ได้ซักถามกันอย่างเต็มที่ ก็โยมได้ก่อสร้างไว้ เมื่อช่างก่อสร้างเสร็จ เขาก็เอากุญแจมาให้โยมนะซี และมีหลายครั้งที่กระผมปฏิบัติธรรม จิตไม่ค่อยสงบ เมื่อนึกถึงอุโบสถวัดอัมพวัน จิตสงบทันที

ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล กล่าวว่า ความจริง ความผูกพันมีกันมาหลายร้อยปีแล้ว คุณทองย้อย ชโลธร มีคนเห็นเป็นเทพ เอาน้ำชามาเลี้ยงชายชราที่มาปฏิบัติธรรมในวัดอัมพวัน มีชายชราคนหนึ่งมาปฏิบัติธรรม ทางวัดได้นำน้ำเย็นไปเลี้ยงต้อนรับแขก แต่ชายชราคนนี้ไม่ชอบดื่มน้ำเย็น ชอบดื่มน้ำชา ก็มาชายแต่งกายชุดขาวนำน้ำมาให้ดื่ม รสดีเป็นที่ถูกใจ วันหนึ่งไม่มีน้ำชาจะดื่มก็มาที่กุฏิท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ขอน้ำชาท่านเจ้าคุณฯ ดื่มแล้วพูดว่า รสเหมือนที่เขาเคยดื่ม เขาเดินหาชายชุดขาวในวัดอัมพวัน อยู่นานเท่าไรก็ไม่พบ วันหนึ่งเขาขึ้นไปบนศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ เขาเห็นรูปคุณทองย้อย ชโลธร อยู่บนศาลา เขาก็พูดว่า ชายคนนี้เคยเอาน้ำชามาให้เขาดื่ม เขาไปอยู่ที่ไหน? ขณะนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง อยู่บนศาลานั้นด้วย จึงพูดขึ้นว่า ชายคนนี้ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชายชราก็ไม่ได้ดื่ม น้ำชาจากคุณทองย้อย ชโลธรอีกเลย แล้วท่านเจ้าคุณได้พูดกับข้าพเจ้าอีกว่า มีคนเห็นพลตรีวสันต์ พานิช แต่งกายเป็นเทวดาสวมชุดขาว มีชฎาด้วย ความจริง เสธ.วสันต์ พานิช เป็นบุคคลสำคัญของวัดอัมพวันคนหนึ่ง เป็นรุ่นบุกเบิกวัดอัมพวันมาด้วยกัน ท่านเป็นคนสมถะ เหมือนชอบปิดทองหลังพระ

วันหนึ่งเป็นวันโชคดีในชีวิต ของข้าพเจ้าที่มีโอกาสจะได้พบแสงธรรม วันนั้นเป็นตอนเช้าเวลาประมาณ ๘.๓๐ น. เดือน มกราคม ๒๕๐๘ ท่านอาจารย์เดินผ่านมาทางข้าพเจ้า ก่อนจะเข้าไปในอุโบสถหลังเก่า ได้กล่าวชวนว่า ครูเข้าไปในอุโบสถด้วยกัน เมื่อท่านเดินนำหน้าเข้าไปในอุโบสถ ข้าพเจ้าเดินตามท่านไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมายอันใด พอเข้าไปในอุโบสถ ก็พบคุณสุวรรณา มาขึ้นธรรมกับท่านอาจารย์ คราวนี้ หัวใจของข้าพเจ้าพองสุดขีด ดีใจมาก และคิดว่าโอกาสการปฏิบัติธรรม เป็นของข้าพเจ้าในวันนี้

ท่านอาจารย์สอนการปฏิบัติธรรม กับคุณสุวรรณาอย่างใด ข้าพเจ้าจดจำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การภาวนา การกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก และกำหนดภาวนา พองหนอ ยุบหนอ เสร็จจากการขึ้นธรรมของคุณสุวรรณา ท่านอาจารย์ก็กลับไปกุฏิ ส่วนข้าพเจ้าดีใจเป็นล้นพ้น พอถึงบ้านตอนค่ำก็เริ่มปฏิบัติธรรมตามที่ได้รับฟังมา ปฏิบัติครั้งแรก ๆ รู้สึกว่า ไม่ค่อยได้ผล แต่ด้วยจิตมีศรัทธาในการปฏิบัติธรรม จึงปฏิบัติทุกคืน ๆ มิได้ขาด ผลดีย่อมเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย เป็น ป จฺ จ ตฺ ตํ คือรู้เฉพาะตัวของเราเอง

ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ วันนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ผลการปฏิบัติธรรมจะนานเท่าไรไม่ทราบ ก็มีนิมิตเป็นอัศจรรย์ขึ้น คือได้พบจุดแห่งความสุขของสมาธิ ความสุขของสมาธินั้น เป็นยอดปรารถนาของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะสุขอื่นใด ก็ไม่เทียบเท่าสุขแห่งความสงบ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้

แม้ได้พบความสุขแห่งความสงบแล้ว ข้าพเจ้ามิได้หลงใหลติดอยู่ในสุขนั้น เพราะเคยฟังท่านอาจารย์สอนว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด และให้กำหนดรู้หนอ รู้หนอ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นั้นข้าพเจ้าเป็นข้าราชการชั้นตรี มีระเบียบและกฎเกณฑ์ออกมา เท่าที่ฟังแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสก้าวหน้า เคยได้ไปพูดคุยให้ท่านอาจารย์ฟัง พอตกกลางคืนมีนิมิตเกิดขึ้น รู้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวัดอัมพวัน เป็นชายร่างใหญ่ผิวดำ เดินข้ามศีรษะข้าพเจ้าไป แล้วพูดว่า เป็นชั้นเอก ข้าพเจ้ามองดูที่บ่าซ้าย และบ่าขวา มีแถบใหญ่สีเหลือง ๓ ขีดใหญ่เต็มทั้ง ๒ ข้างคือ เป็นชั้นเอก ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่า เราจะมีวาสนาเป็นชั้นเอกเชียว หรือ เพราะสมัยนั้นนายอำเภอ และปลัดจังหวัดยังมีแค่ชั้นโท เป็นจำนวนมาก รุ่งขึ้นข้าพเจ้ามาที่วัดอัมพวัน เล่าสิ่งที่นิมิตให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่า ครูอาจได้เป็นชั้นเอก ถ้าไม่ได้เป็นชั้นเอก สถานะความเป็นอยู่ของครูจะต้องได้เท่าชั้นเอก ต่อมาข้าพเจ้าสอบชั้นโทได้ และต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๑ ข้าพเจ้าก็ได้ประดับยศ เป็นชั้นเอก

ผลของการปฏิบัติธรรมนั้น เคยนิมิตเห็นหญิงคู่หนึ่งต้องชดใช้กรรมต่อกัน คือมองลงไปเห็นหญิงทั้งสองอยู่ใต้พื้นที่เราอยู่นี้ คนหนึ่งใช้ด้ามไม้กวาดก้านมะพร้าวตีที่ศีรษะของหญิงอีกคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา และหญิงทั้งสองคนนี้ ข้าพเจ้ารู้จักเขาดี เขาได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว คนถูกตีเคยเป็นนายจ้าง ส่วนคนที่ใช้ด้ามไม้กวาดก้านมะพร้าวตี เมื่อมีชีวิตอยู่เป็นลูกจ้างกัน

และเคยนิมิตเห็นพระสงฆ์ ต้องมารับกรรมรวม ๓ รูป คือ รูปที่ ๑ ถูกจองจำมีโซ่ล่ามอยู่ที่ข้อเท้า อีกรูปหนึ่งถูกแขวนคอ ส่วนรูปที่ ๓ ถูกธรณีสูบ เมื่อเห็นแล้วรู้สึกสลดใจอย่างยิ่ง เพราะมีผ้าเหลืองหุ้มห่อร่างกายอยู่
ข้าพเจ้ามีความเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม เพราะถือว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสรณะของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความจริงใจต่อการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ และได้อธิษฐานจิตต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า จะขอปฏิบัติธรรมตลอดไป จนถึงลมหายใจครั้งสุดท้ายและเกิดชาติใด ๆ ก็ตาม ขอให้ได้ปฏิบัติธรรมจนถึงพระนิพพาน

วัดอัมพวันได้พัฒนาตั้งแต่ท่านอาจารย์มาเป็นเจ้าอาวาส การรื้ออุโบสถหลังเก่า ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ได้รับความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งพ่อค้า ประชาชน ทหาร ตำรวจ และข้าราชการ

ขณะนั้นการหาเงินมาสร้างอุโบสถก็แสนจะลำบาก และพร้อมกันนั้นก็เร่งรีบพัฒนาวัดไปด้วย เพราะเป็นนโยบายของกรมการศาสนา ท่านอาจารย์ก็มิได้ย่อท้อ ยอมต่อสู้กับงาน ร่างกายท่านอาจารย์ขณะนั้น ผ่ายผอมอิดโรย ท่านอาจารย์กับข้าพเจ้าขึ้นล่องกรุงเทพฯ นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อไปติดต่องานของวัด ถ้าคราวใดว่าจ้างรถเก๋งไป ท่านอาจารย์นั่งเบาะหลัง จะได้พักผ่อนหลับบ้าง ตื่นบ้างไปจนถึงกรุงเทพฯ ถ้าคราวใดไปโดยรถปิดอัพต้องนั่งตอนหน้า ๓ คน ท่านอาจารย์มักจะหลับซบมาทางข้าพเจ้าเสมอ ด้วยบารมีของวัดและบารมีของท่านอาจารย์ จึงมีผู้ศรัทธามาร่วมบุญในการก่อสร้างได้สำเร็จ เกินคาดหมาย ขณะที่กำลังก่อสร้างอุโบสถวัดอัมพวันอยู่นั้น วัดอัมพวันได้รับยกย่องเชิดชูให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาวัด กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

คุณทองย้อย ชโลธร เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง ตั้งแต่รากฐานอุโบสถกับท่านอาจารย์ เพื่อให้มีความแข็งแรงมั่นคง ตั้งแต่ฐานอุโบสถไปตลอดผนังอุโบสถ เทเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง ส่วนโครงสร้างด้านบนใช้เหล็ก แบบตัวแอลต่อเชื่อมกันทั้งหลัง เฉพาะอุโบสถหลังนี้ คณะกรรมการเคยพูดว่า “๑๐๐ ปีก็อยู่ได้”

พลตรีวสันต์ พานิช เป็นเสนาธิการทหารปืนใหญ่ จังหวัด ลพบุรี เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างอุโบสถวัดอัมพวันอย่างมาก ครั้งที่อยู่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัด ลพบุรี ได้นำทหารมาช่วยกิจการของวัดอัมพวัน และได้ชักชวนให้อนุศาสนาจารย์ ๒-๓ ท่าน มาช่วยในกิจการทางศาสนพิธี และฝ่ายประชาสัมพันธ์ด้วย ต่อมาพลตรีวสันต์ พานิช ย้ายไปประจำอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด แม้ท่านจะไปอยู่ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด ท่านก็ยังไม่ทอดทิ้งวัดอัมพวัน โดยเฉพาะการก่อสร้างอุโบสถ ท่านได้เอาเป็นธุระอย่างมาก ตั้งแต่การพิมพ์หนังสือเป็นอนุสรณ์ในการวางศิลาฤกษ์ และการพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในคราวฝังลูกนิมิต ท่านพลตรีวสันต์ พานิช ท่านเป็นผู้รวบรวมเรื่อง และจัดทำเป็นเล่ม และมีหลายเรื่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นเป็นฝีมือการเขียนของท่าน ดังจะได้นำสำเนาการเขียนจดหมายของท่านมายังข้าพเจ้า พร้อมด้วยข้อแนะนำในการจัดงานคราวฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดอัมพวัน

ในวันทำพิธีฝังลูกนิมิต พลตรีวสันต์ พานิช ได้แต่งกายชุดขาว เป็นเทวดาประจำลูกนิมิตด้วย

คุณหลวงบุเรศรบำรุงการ ก็เป็นอีกท่านหนึ่ง ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้วัดอัมพวันมีความเจริญก้าวหน้าตลอดมา เพราะท่านเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทางพฤกษศาสตร์ ได้นำต้นไม้ตามพระพุทธประวัติมาปลูกไว้ในวัดอัมพวันเกือบทุกชนิด พร้อมกับเขียนป้ายชื่อติดประจำไว้ด้วย ท่านเป็นบุคคลที่มีประชาชนให้ความเคารพเป็นอย่างยิ่ง วันพระราชทานเพลิงศพคุณหลวง บุเรศรบำรุงการ ท่านอาจารย์กับข้าพเจ้า และชาวคณะวัดอัมพวัน ได้ไปร่วมการพระราชทานเพลิงศพด้วย

คุณหมอเยื้อน ชโลปถัมภ์ ข้าพเจ้าจะเรียกท่านว่า คุณน้าหมอ ท่านก็เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์อีกคนหนึ่ง มาปฏิบัติธรรมประจำอยู่ที่กุฏิของท่านอาจารย์ และมีบ่อยครั้งที่คุณหมอเยื้อน ชโลปถัมภ์ ได้เป็นศิษย์ติดตามท่านอาจารย์ไปในกิจการต่าง ๆ อยู่เสมอ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้าให้ความเคารพอย่างมาก เพราะเลื่อมใสศรัทธาในท่าน บางครั้ง ข้าพเจ้าไปสนทนากับท่านที่บ้าน จังหวัดสิงห์บุรี

คุณยุพิน บำเรอจิต อาจารย์ฝ่ายปฏิบัติธรรมของวัดอัมพวันอีกท่านหนึ่ง ที่เป็นแรงสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของท่านอาจารย์ ในทางปฏิบัติธรรม เพราะคุณยุพิน บำเรอจิต เป็นนักปฏิบัติธรรมที่มีคุณธรรมสูงท่านหนึ่ง สามารถปฏิบัติธรรมได้นานครั้งละ ๒๐ ชั่วโมง ข้าพเจ้าเคยไปสนทนาธรรมกับท่าน มีเรื่องหนึ่งท่านพูดว่า การปฏิบัติธรรม บางครั้งเกิดความว่างขึ้นในร่างกาย แม้จะมีบุตรอยู่ในครรภ์ ก็เหมือนไม่มี ข้อนี้เป็นความจริง ขณะปฏิบัติ เมื่อจิตละเอียด การละเอียด ลมหายก็ละเอียด จะทำให้เกิดความว่างเปล่าเกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่ามือ แขน ขา และเท้า ของเรามีอยู่หรือไม่? และเกิดความสงสัยในขณะนั้นว่า เราอยู่ได้อย่างไร? เราหายใจหรือเปล่า ? ผู้ปฏิบัติธรรมได้พบครั้งแรกจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของเขา

คุณน้าสุ่ม ทองยิ่ง โดยทั่วไปเรียกว่า แม่ใหญ่ ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว คุณน้าสุ่มได้มานั่งปฏิบัติธรรมที่ศาลาการเปรียญหลังเก่า มีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง ข้าพเจ้าได้มาดูการปฏิบัติของน้าสุ่มด้วย มีอุบาสก อุบาสิกาอยู่ด้วยกันหลายคน ข้าพเจ้าต้องการทราบว่า การปฏิบัติธรรมถึงขั้นที่จิตมีความละเอียดเช่นนี้ ร่างกายจะเป็นอย่างไร? ข้าพเจ้าพูดกับอุบาสก อุบาสิกาว่า จะขอจับแขนคุณน้าสุ่ม ทุกคนในที่นั้นมิได้พูดคัดค้านแต่อย่างใด ก่อนจับ ข้าพเจ้ายกมือขึ้นไหว้คุณน้าสุ่มก่อน เพื่อขอสมาอภัยจากคุณน้าสุ่ม เมื่อจับที่แขนก็มีความรู้สึกทันทีว่า เย็นมาก ตามปกติร่างกายของคนธรรมดาทั่วไป จะมีความอุ่นเล็กน้อย
วันที ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ข้าพเจ้า เคยสนทนาธรรมกับท่าน และได้ถามถึงการระลึกชาติของท่าน ท่านเล่าให้ฟังตั้งแต่ชาติที่ ๑ ถึงชาติที่ ๗ และท่านพูดให้ฟังว่า ต่อจากชาตินี้ไป จะไปเกิดเป็นพรหมเพราะมีสถานที่รอรับอยู่แล้ว

ต่อมาข้าพเจ้ามีความสงสัยในการปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้าเอง จึงถามท่านว่า เป็นเพราะเหตุใด? การปฏิบัติจึงไม่ค่อยเหมือนก่อน ๆ. เหมือนท่านรู้จิตของข้าพเจ้า ท่านพูดว่า “ไม่ดื่มลึก เหมือนก่อน ๆ ใช่ไหม? ข้าพเจ้าตอบท่านไปว่า ใช่ ครับ แล้วคุณน้าสุ่มพูดว่า เปรียบเหมือนเทปที่เต็มแล้วก็จะคลายออก และข้าพเจ้าได้ถามท่านถึงความละเอียดของจิตเมื่อครั้งปฏิบัติได้ ๓๐ ชั่วโมง กับปฏิบัติธรรมได้ ๔๐ ชั่วโมง ความละเอียดของจิตเป็นอย่างไร? ท่านพูดให้ฟังว่า ปัจจุบันมีความละเอียดกว่า แต่ก่อนมาก

ข้าพเจ้ามาช่วยกิจการของวัดอัมพวัน ด้วยความศรัทธาในท่านอาจารย์ ส่วนมากเป็นกรรมการของวัด มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเป็นเลขาของวัด งานโต้ตอบหนังสือต่าง ๆ ของวัดและรายงานผลการปฏิบัติธรรม การพัฒนาวัด ต่อเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค กรมการศาสนา ข้าพเจ้าจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้หมด เช่นใบเสร็จรับเงินไว้ทั้งหมด เป็นใบเสร็จซื้อสิ่งของซ่อมแซมหรือก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในวัด และพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์ได้มอบเครื่องพิมพ์ดีดไว้ให้ข้าพเจ้าที่บ้านหนึ่งเครื่อง ข้าพเจ้าเก็บคู่ร่างไว้ทุกครั้ง เมื่อท่านอาจารย์ต้องการรายงานผลการปฏิบัติงานของวัด จะเป็น ๓ เดือน ๖ เดือน หรือในรอบ ๑ ปี หรือ ๒-๓ ปี ก็จัดทำรายงานได้อย่างสบาย บางครั้งท่านอาจารย์ไปบอกด้วยตนเอง บางครั้งให้คนของวัดไปบอก ว่าจะต้องการรายงานถึงใคร ระยะเวลาตั้งแต่ไหนถึงไหน ข้าพเจ้าจะทำให้เรียบร้อยทุกอย่าง โดยท่านอาจารย์ไม่ต้องร่างเรื่องมาเลย ข้าพเจ้าได้ช่วยกิจการของวัดอัมพวันอยู่ประมาณ ๙-๑๐ ปี

เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๕ ท่านอาจารย์พูดว่า ผลการรายงานของโยมที่ส่งไปไม่เคยตีกลับมาเลย และผลงานของโยมยังมีอยู่บนกุฏิของท่าน บางครั้งข้าพเจ้าไปติดต่อเจ้าคณะภาค และกรมการศาสนาแทนท่านอาจารย์เพราะได้รู้จักเป็นอย่างดี และเช่นเมื่อก่อนท่านอาจารย์จะไปประเทศ ศรีลังกา องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ในประเทศไทย ต้องการแนะนำเกี่ยวกับการเดินทาง ท่านอาจารย์ส่งให้ข้าพเจ้าไปรับฟังข้อแนะนำต่าง ๆ แทนท่าน

ขณะที่กำลังก่อสร้างอุโบสถวัดอัมพวัน และกำลังพัฒนาวัดไปด้วย ท่านอาจารย์กับข้าพเจ้าได้ไปติดต่องานของวัดที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง ระหว่างทางที่อยู่ในรถ ข้าพเจ้าพูดกับท่านอาจารย์หลายครั้งว่า ผมได้ร่วมทำบุญในการก่อสร้างอุโบสถน้อยมาก แต่กระผมขอช่วยด้วยแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาอย่างเต็มที่ ท่านอาจารย์พูดว่า แรงกาย แรงใจ และสติปัญญานั้นสำคัญกว่า ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านอาจารย์พูดเพื่อให้กำลังใจ

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๕ ท่านอาจารย์ยังได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “วัดเราที่เจริญรุ่งเรืองมานี้ เพราะผลงานการเขียนของโยม ท่านอาจารย์พูดคำนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกงง ๆ ชอบกล ข้าพเจ้าไม่ได้พูดและไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างใด ได้แต่สงบนิ่งฟังท่านเท่านั้น ความจริงในขณะนั้น ข้าพเจ้าช่วยกิจการของวัดอัมพวัน ด้วยศรัทธาและตั้งใจช่วยด้วยความบริสุทธิ์ทุกอย่าง มิได้หวังสิ่งตอบแทนแต่อย่างใด

 

วัดอัมพวันทุกท่านร่วมกันสร้าง

คนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ช่างเสกสรร

แต่มากมาหาน้อยพลอยร่วมกัน

ดังที่ท่านได้เห็นเด่นงามตา

ที่มีมากออกมาไม่ยากจิต

บ้างมีนิดพลอยนิดไม่อิจฉา

บ้างช่วยแรงช่วยความคิดจิตศรัทธา

ต่างมุ่งมาสู่วัดช่วยจัดการ

(จากหนังสือ ผูกพัทธสีมา วัดอัมพวัน ๒๕๑๓)

 

สิ่งหนึ่งที่ประทับใจข้าพเจ้ามาก มาจนถึงปัจจุบันคือ การร่างและพิมพ์เรื่องขอพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา อุโบสถวัดอัมพวัน ข้าพเจ้าจัดทำเรียบร้อย แล้วให้ท่านอาจารย์เซ็นชื่อ

ครั้งหนึ่ง ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมมนตรี ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดอัมพวัน เมื่อประมาณ ๑๕ ปีมาแล้ว ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล (พระครูภาวนาวิสุทธิ์) ได้นำพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาเข้าไปต้อนรับในอุโบสถวัดอัมพวันก่อน แล้วให้ข้าพเจ้าต้อนรับอยู่ที่กุฏิของท่านเจ้าคุณฯ เมื่อ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญาธรรมศักดิ์มาถึง ให้ข้าพเจ้านำท่านเข้าไปในอุโบสถ ขณะที่นำ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ และคณะเดินไปยังอุโบสถ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ พูดกับข้าพเจ้าว่า วัดนี้ใช่ไหม? ที่เขาร่ำลือกันว่าบริเวณวัดสะอาด

 

ท่านพระครูฯ พัฒนาทั่วอาวาส

ดูสะอาดร่มรื่นชื่นหรรษา

ใครพบเห็นเย็นระรื่นชื่นนัยน์ตา

ทั่ววัดวาเป็นระเบียบเรียบร้อยดี

(จากหนังสือ ผูกพัทธสีมา วัดอัมพวัน ๒๕๑๓)

 

เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ามาวัดอัมพวัน เห็นสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ มากมายและอาคารก่อสร้างแต่ละหลังราคาเป็นล้าน ๆ รู้สึกปลื้มปีติยินดี กับผลงานของวัด และเจ้าศรัทธา ส่วนผู้มาแสวงบุญ ก็เห็นมากมายเหลือเกิน เป็นเพราะบารมีของวัด บารมีของท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล สำหรับข้าพเจ้ารู้ตัวได้ดีว่า เป็นคนแปลกหน้าไปแล้ว

การนิมิตของข้าพเจ้า เกี่ยวกับมีคนนำลูกกุญแจอุโบสถวัดอัมพวันมาให้ข้าพเจ้า และได้เข้าไปในอุโบสถ พบคุณทองย้อย ชโลธร กำลังนั่งปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยชุดขาวนั้น ได้สร้างความสงสัยมานาน บัดนี้ได้ทำให้ความสงสัยนั้นหายไปแล้ว เพราะท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้พูดว่า โยม ความผูกพันนั้นมีกันมาหลายร้อยปีแล้ว ส่วนคุณทองย้อย ชโลธร ก็เป็นความจริง ตามที่นิมิต และเสธ.วสันต์ พานิช ท่านก็เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่ เริ่มพัฒนาวัดอัมพวัน เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ตามที่ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลตั้งชื่อให้นั้น ขอยุติไว้เพียงนี้
การบริจาคทาน หรือการบริจาคในการก่อสร้างต่าง ๆ ถ้าบริจาคด้วยจิตศรัทธาที่บริสุทธิ์ และเงินที่บริจาคนั้นเป็นเงินที่บริสุทธิ์ ผู้บริจาคย่อมได้รับอานิสงส์นั้น

สวัสดี!

 

หนุน ทำนอง
๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๕
ร้านเมืองพรหม โคกสำโรง