เมื่อข้าพเจ้าเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวัน

โดย สุจิตรา รณรื่น

ความเป็นมา

รศ.ดร. สุจิตรา รณรื่น

ข้าพเจ้ารู้จักวัดอัมพวันครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๖ เนื่องจากวิทยาลัยส่งมาเข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรมในโครงการ “สัปดาห์แห่งการปฏิบัติธรรม สำหรับข้าราชการ” ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๕ มิถุนายน ท่านเจ้าของโครงการ คือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนาวิสุทธิ์ (สมณศักดิ์ในปัจจุบันเป็นท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ)

นับเป็นโอกาสอันดีที่ข้าพเจ้าได้มาเรียนรู้วิธีปฏิบัติธรรมอย่างเป็นแบบแผน มีครูอาจารย์ควบคุม ซึ่งดีกว่าอ่านจากตำราแล้วปฏิบัติเองดังที่ข้าพเจ้าเคยทำ ผู้เข้าอบรมในเวลานั้นมีเพียง ๑๓ คน ทั้งที่หลวงพ่อท่านมีหนังสือเชิญชวนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสมัยนั้นคนยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม ตลอดเวลา ๗ วันที่พวกเราอยู่ที่วัด หลวงพ่อท่านเมตตาสอนด้วยตนเองทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีคุณแม่ยุพิน บำเรอจิต เป็นผู้ช่วย ข้าพเจ้าปฏิบัติได้พอสมควร ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มที่เพราะมีความกังวลห่วงลูกชาย ซึ่งขณะนั้นอายุเพิ่งจะ ๔ เดือนเศษ แต่ข้าพเจ้าก็อยู่ปฏิบัติจนครบกำหนดและนั่นเป็นนิมิตอันดีสำหรับข้าพเจ้า เพราะหลังจากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอำนาจแห่งรสพระธรรมและความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั่นเอง

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้เข้าปฏิบัติธรรมที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ตามคำชวนเชิญของอาจารย์ผ่องพรรณ ปัณฑรานนท์ ผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยมีคุณแม่ดร.สิริ กรินชัย เป็นผู้ให้การอบรม พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ได้มาแสดงธรรมให้ผู้ปฏิบัติฟัง และข้าพเจ้าก็ได้ถือโอกาสกราบเรียนถามข้อสงสัยบางประการ เกี่ยวกับเรื่องลูกชายของข้าพเจ้า โดยให้เหตุผลว่าที่ต้องกราบเรียนถามเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนคนอื่น หลวงพ่อไม่ตอบคำถาม แต่ได้พูดว่า “จะให้เหมือนคนอื่นได้ยังไงล่ะจ๊ะ ก็สุจิตรามีคนเดียวในประเทศไทย” ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกงวยงงสงสัย ไม่เข้าใจว่าหลวงพ่อหมายความว่าอย่างไร แต่บัดนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเข้าใจแล้ว (แต่จะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ที่ว่าชีวิตของข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ นับตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวันแล้วหน้าที่การงานก็ดีขึ้น ๆ ตามลำดับข้าพเจ้าไม่เคยคิดที่จะเขียนตำรามาก่อนเลย ก็ได้เกิดความคิดที่จะเขียน และก็ได้เขียนตำราศาสนาเปรียบเทียบ (ขณะนี้พิมพ์ครั้งที่ ๓) กับ จริยศึกษา อีกหนึ่งเล่ม ส่งขอตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้ได้กระโดดจากซีเป็นซี ๖ คือได้เป็นซี ๕ อยู่สองวัน พอได้ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ท่านก็ปรับให้เป็น ซี ๖

นอกจากจะเข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันหลายหนหลายครั้งเป็นการส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ายังได้จัดโครงการนำนักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรีมาปฏิบัติธรรมหลายรุ่น หลายครั้งและก็ได้ฟังธรรมบรรยายจากหลวงพ่ออยู่เสมอ ๆ จนบางเรื่อง(ที่เกี่ยวกับกฎแห่งกรรม) จำได้ขึ้นใจทีเดียว

ต่อมาในปี ๒๕๓๐ ข้าพเจ้าก็สอบเข้าเรียนปริญญาเอก สาขาปรัชญา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบเข้าได้ที่หนึ่งของรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีผู้สอบทั้งสิ้น ๕๐ คน แต่สอบได้เพียง ๓ คนทั้งที่เขาต้องการรับ ๕ คน ข้าพเจ้าเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ที่สอบเข้าได้ที่หนึ่งเพื่อน ๆ ลงความเห็นว่า เพราะเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวัน ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่คัดค้าน ในเทอมแรก ข้าพเจ้าเรียนได้สองสัปดาห์ก็ขอลาป่วย ผ่าตัดตาซึ่งเป็นต้อเนื้อ (เคยผ่าตัดครั้งหนึ่งแล้วแต่ได้งอกขึ้นอีกภายในเวลาไม่กี่เดือน) ทำให้ต้องพักการเรียน พอเปิดภาคเรียนที่สองก็เข้าไปเรียน แต่รู้สึกไม่ถูกโฉลกกับเนื้อหาวิชา เพราะเขาไปเน้นแต่ปรัชญาตะวันตกที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งพวกนักปรัชญาผู้เป็นเจ้าของลัทธิคำสอนเหล่านั้นก็เปลี่ยนแนวคิดอยู่ตลอดเวลาจนผู้เรียนตามไม่ทัน (เพราะคำสอนเหล่านั้นไม่เป็นสัจธรรมเหมือนคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง)ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อและเรียนไม่รู้เรื่องเพราะ รับไม่ได้ ยิ่งคิดไปว่าตัวเองอาจจะต้องกลายเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆอย่างพวกนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น ก็ยิ่งไม่อยากเรียน แล้วก็เลยสอบตก โดนรีไทร์สมความปรารถนา (ก็เสียใจอยู่เหมือนกันตรงที่อุตส่าห์สอบเข้าไปได้) ข้าพเจ้าก็มากราบเรียนหลวงพ่อว่า ตกเรียบร้อย และเขาไล่ออกแล้วเจ้าค่ะ ท่านบอกไม่เป็นไรแล้วเป่าหัวเพี้ยง ๆ เป็นอันว่าสิ้นสุดสำหรับการใฝ่ฝันอยากเป็น ด็อกเตอร์

          ความที่ไปวัดฟังธรรมจากหลวงพ่อหลายครั้งหลายหน จนแทบว่านับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ชีวิตพลิกผันไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ข้าพเจ้ากลายเป็น “นักเขียน” ที่มีผู้อ่านติดตามผลงานมากที่สุดผู้หนึ่ง ซึ่งจะขอเล่าอย่างย่อ ๆ คือ ข้าพเจ้าใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ก็ได้แต่ฝัน เพราะผู้ที่จะเป็นนักเขียนได้นั้น จะต้องเป็นคนรอบคอบ ละเอียดลออ เป็นนักอ่านตัวยง และที่สำคัญ คือ ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “พรสวรรค์” ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้าเลย การใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนจึงเป็นได้แค่ความฝันที่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้

 

ธรรมะสร้างพรสวรรค์ได้

แทบไม่น่าเชื่อว่าธรรมะจะมีอำนาจลึกล้ำมหัศจรรย์เช่นนี้ เพราะเมื่อข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ในที่สุดธรรมะก็สามารถสร้างพรสวรรค์ขึ้นในตัวข้าพเจ้าได้กล่าวคือ อยู่ ๆ ในต้นปี ๒๕๓๒ คุณยุพา งามสมจิตร บรรณาธิการนิตยสารกุลสตรี ได้มีจดหมายมาถึงข้าพเจ้า มีใจความตอนหนึ่งว่า “อยากได้เรื่องของอาจารย์ลงในกุลสตรีทุกฉบับ อาจารย์พอจะมีเวลาเขียนให้ไหมคะ” ข้าพเจ้ารู้สึกปิติและปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด แต่ก็มีความกังวลว่า จะทำได้หรือเปล่า ข้าพเจ้าเคยเขียนเรื่องสั้น ส่งไปที่นิตยสารกุลสตรี ๓ ครั้ง และก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารทุกครั้งโดยไม่มีการ “ลงตะกร้า”

นับแต่วันที่ได้รับจดหมาย ข้าพเจ้าก็มาคิดใคร่ครวญอยู่เป็นเดือนว่าจะเขียนอย่างไร เพราะหากจะพิมพ์ลงในทุกฉบับก็จะต้องเป็นเรื่องยาวไม่ใช่เรื่องสั้น ในที่สุดข้าพเจ้าก็นำเรื่องที่ฟังจากหลวงพ่อเล่าไปเขียนเป็นนวนิยาย ๕ ตอนจบ ชื่อเรื่อง “ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก” ก็ปรากฏว่ามีท่านผู้อ่านมีจดหมายมายัง บก. ว่าเป็นเรื่องที่สอนคุณธรรมอ่านแล้วทำให้สะดุ้งกลัวต่อบาป บก. ได้โทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าและบอกว่าอาจารย์เตรียมพล็อตเรื่องใหม่ไว้ได้แล้ว แฟนติดกันเกรียวเลย (ขณะนี้เรื่อง “ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก” ได้พิมพ์รวมเล่มแล้ว) ข้าพเจ้าก็ไปคิดอีกเป็นเดือนว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี

ในที่สุดเรื่อง สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ก็ออกมาสู่สายตาท่านผู้อ่าน และทำให้ข้าพเจ้าบังอาจเรียกตัวเองว่าเป็น “นักเขียน” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ คุณยุพา งามสมจิตร ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นครูอาจารย์ที่ “ปั้น” ข้าพเจ้าขึ้นมา (แต่ท่านไม่อนุญาตให้เรียกว่า “อาจารย์” ข้าพเจ้าจึงเรียกว่า “คุณพี่” แทน) บอกว่าภูมิใจมากที่ปั้นนักเขียนใหม่ได้สำเร็จและในเวลาต่อมา ทั้งคุณพี่และน้องชาย น้องสะใภ้ ก็กลายเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวันเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

เรื่องการเป็นนักเขียนของข้าพเจ้านี้ ครั้งหนึ่งในงานทำบุญบ้านของพันเอกหญิง วีณา ตุงคสวัสดิ์ ซึ่งได้กราบนิมนต์หลวงพ่อมาเจริญพระพุทธมนต์ หลวงพ่อได้พูดกับสามีของข้าพเจ้าว่า “นี่ต้องลงโทษให้หนักนะ ทำให้คนเข้าวัดเป็นพัน รับแขกไม่พักเลย” คือคนที่อ่านเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนแล้ว พากันไปวัดอัมพวันจำนวนมาก ทำให้หลวงพ่อต้องรับแขกจนไม่มีเวลาพักผ่อนนั่นเอง

 

เป็นรองศาสตราจารย์เพราะศรัทธาในหลวงพ่อ

ข้าพเจ้าเคารพนับถือและศรัทธาในหลวงพ่อมาก ไม่ว่าท่านจะบอกอะไร สอนอะไร ข้าพเจ้าจะพยายามทำตามนั้น ทั้งที่บางเรื่องเกินกำลังของข้าพเจ้า เป็นต้นว่า วันหนึ่งข้าพเจ้าไปวัดอัมพวันกับพันเอกหญิงวีณา ข้าพเจ้ากราบเรียนหลวงพ่อว่า “คุณวีณาได้เลื่อนยศจากพันโทเป็นพันเอกแล้ว หนูยังไม่ได้เลื่อนเลยเจ้าค่ะ” หลวงพ่อพูดว่า “ไปเขียนหนังสือเข้า” ข้าพเจ้าก็ไปเขียนตำรา ๒ เล่ม คือ ปรัชญาเบื้องต้น กับ การฝึกสมาธิ ส่งไปขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ แล้วก็ผ่านขั้นตอนทุกอย่างโดยไม่ถูกส่งกลับมาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง นับเป็นเรื่องอัศจรรย์สำหรับข้าพเจ้ามาก

 

ไปเรียนปริญญาเอกที่อินเดีย เพราะหลวงพ่อ

สิ่งที่เกินกำลังของข้าพเจ้าคือการเรียนปริญญาเอก เพียงเทอมเดียวที่เรียนจุฬาฯ ก็รู้สึกว่าสู้ไม่ไหว เพราะตัวเองอายุมาก สุขภาพไม่ดี การจะทุ่มเทขนาดอ่านหนังสือตลอดคืนจนรุ่งเช้าทำไม่ได้แน่นอน ช่วงนั้นท่านพระมหาวิจิตร วิจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดภาวนาภิรตาราม บางกอกน้อย ได้ชักชวนให้ข้าพเจ้าไปเรียนปริญญาเอกที่อินเดีย และท่านก็ได้ขอให้ท่านอาจารย์เขมานันทะ (บาง สิมพลี) เป็นธุระในการสมัครให้ บังเอิญข้าพเจ้าได้ทุนของรัฐบาลอินเดีย ต้องเดินทางไปรับทุนด่วน จึงเดินทางไปโดยไม่ได้มากราบลาหลวงพ่อ แต่ก็ได้เขียนจดหมายไปกราบเรียนและขอพรให้เดินทางไปกลับด้วยความปลอดภัย ข้าพเจ้าไปในครั้งนั้นใช้เวลา ๑๐ วัน เมื่อกลับมาก็คิดว่าจะไม่ไปอีก เพราะคิดว่าคงอยู่ไม่ได้ ข้าพเจ้ารับทุนมาแล้ว แต่ก็พยายามผัดผ่อน กระทั่งคิดจะยอมสละทุน ต่อเมื่อได้รับกำลังใจจากหลวงพ่อว่า ไปแล้วจะเรียนจบ และกลับมาจะมีชื่อเสียงมาก ข้าพเจ้าจึงไป ใช้เวลาเขียนวิทยานิพนธ์ ๒ ปีเศษ ก็จบ แต่ก็ต้องทุกข์ยากมากมาย หากไม่ได้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็คงไม่จบ ก่อนไปหลวงพ่อสั่งให้ไปเข้ากรรมฐานเพื่อสร้างพลัง” ข้าพเจ้าก็ไปปฏิบัติอยู่ ๙ วัน หลวงพ่อกรุณามอบปากกาให้สองด้าม บอกให้เอาไว้เขียนวิทยานิพนธ์ ข้าพเจ้าก็ปฏิบัติตาม บางครั้งเขียนไปร้องไห้ไป แต่ปากกาที่เคารพของข้าพเจ้าก็ช่วยเขียนให้จนเสร็จ ทั้งที่ไม่ใช่ภาษาของตัวเอง

 

หลวงพ่อส่งพลังไปช่วย

ระหว่างที่เรียนอยู่ที่อินเดีย หลายครั้งที่ข้าพเจ้าประสบปัญหาหนักหน่วงมาก แต่ข้าพเจ้าก็ต่อสู้โดยใช้ธรรมะและหลวงพ่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วก็สามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ได้ ข้าพเจ้าเห็นอานิสงส์ของการปฏิบัติก็ในตอนนั้น และก็เข้าใจแจ่มแจ้งว่า เหตุใดก่อนมาหลวงพ่อจึงสั่งให้ข้าพเจ้าไปสร้างพลังสะสมไว้ก่อน มีเรื่องหนึ่งข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า หากมิใช่เพราะหลวงพ่อแผ่เมตตาไปช่วย ข้าพเจ้าก็อาจจะต้องเสียชีวิตหรือกลายเป็นคนพิกลพิการไป คือข้าพเจ้าเคยกราบเรียนหลวงพ่อว่าจะกลับมาทำงานในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ เพื่อจะได้เงินเดือนขึ้นทันตุลาคม ๓๕ แต่พอถึงเวลานั้นข้าพเจ้าไม่ได้กลับเพราะงานไม่เสร็จ จึงเลื่อนออกไปเป็นเดือนธันวาคม ได้ฝากท่านอาจารย์จรัญ ธิตธมฺโม แห่งวัดดอน ซื้อตั๋วกลับให้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๔ ปรากฏว่าพี่สาวของข้าพเจ้าคือ คุณเยาวลักษณ์ งามวงศ์ชน กับคุณพ่อได้เขียนจดหมายมาบอกว่า หลวงพ่อไม่ให้กลับ ขอให้สิ้นปีนี้ไปก่อน ข้าพเจ้าก็เลยไม่ได้กลับ แล้วก็เร่งตรวจงาน (พิสูจน์อักษร) การพิมพ์วิทยานิพนธ์

ข้าพเจ้าต้องทำงานหนักมากอากาศก็หนาวจัด และไฟฟ้าก็ดับอยู่เสมอ ๆ นับเป็นอุปสรรคต่อการทำงานมาก ครั้นถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม อันเป็นวันที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะบินกลับ แต่ก็ต้องเลื่อนด้วยเหตุผลข้างต้น คืนนั้นประมาณสองทุ่ม ข้าพเจ้าก็นั่งเขียนหนังสือ ขณะนั้นพวกเด็กวัยรุ่นทิเบตกำลังเต้นรำกันอย่างสนุกสนานอยู่ชั้นล่าง ซึ่งจัดงานฉลองวันที่องค์ดาไล ลามะ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จู่ ๆ ไฟในห้องข้าพเจ้าก็ดับลง ข้าพเจ้าก็ไม่แปลกใจเพราะเรื่องไฟดับเป็นเรื่องปกติในประเทศอินเดีย บางคืนติด ๆ ดับ ๆ กว่าสิบครั้ง ยิ่งที่เมืองนาลันทา ไฟดับนานครั้งละ ๒-๕ วัน เป็นเรื่องธรรมดามาก (ข้าพเจ้าอยู่เมืองพุทธคยา วัดทิเบต) แต่ในวันนี้ (๑๐ ธันวาคม) ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะห้องอื่น ๆ และชั้นล่างไม่ดับ แสดงว่า ดับห้องข้าพเจ้าคนเดียว ข้าพเจ้าจึงยกเก้าอี้ไปวางบนเตียงแล้วปีนขึ้นไปดูหลอดไฟขนาด ๖๐ แรงเทียน ใช้เทียนไขส่องดูใกล้ ๆ ว่าจะเป็นเพราะหลอดขาดหรืออะไร แต่แสงเทียนก็ไม่สว่างพอที่จะรู้ได้ว่าไส้หลอดขาดหรือไม่ ข้าพเจ้าก็เลิกสนใจ หันมาเขียนหนังสือต่อไปภายใต้แสงเทียนสองเล่ม ๓๐ นาทีต่อมา ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นจนกระจกห้องสะเทือน คิดว่าใครเอาก้อนหินขนาดใหญ่มาขว้างกระจกหน้าต่างแตก เหลียวไปดูไม่เห็นแตก ก็คิดว่าคงเป็นห้องถัดไป แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะออกไปดู ก็ทำงานต่อไปอีกสักครู่เกิดความรู้สึกว่าอยากจะดูหลอดไฟอีกสักครั้ง จึงหยิบเทียนไขเตรียมจะปีนขึ้นไปดูอีก สิ่งที่เห็นทำให้ข้าพเจ้าตัวชา ระลึกถึงหลวงพ่อและสวดมนต์ นั่งสมาธิในทันที

สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเมื่อมองไปที่หลอดไฟก็คือ ไม่มีหลอดไฟอยู่มีแต่ขั้ว ส่วนหลอดไฟแตกละเอียดกระเด็นลงมากองรวมกันในหม้อข้าวไฟฟ้า เสียงระเบิดดังสนั่นที่ได้ยินเมื่อครู่ก็คือเสียงระเบิดของหลอดไฟนั่นเอง ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าหากมันระเบิดในช่วงที่ข้าพเจ้าใช้เทียนส่องดูไส้หลอดนั้น อะไรจะเกิดขึ้น แน่นอน หากไม่ตาย ข้าพเจ้าก็ต้องกลายเป็นคนพิกลพิการไป ซึ่งถ้าจะต้องเป็นอย่างหลังก็ขอเปลี่ยนเป็นอย่างแรกยังจะดีเสียกว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นหากไม่ใช่เพราะหลวงพ่อส่งพลังไปช่วยแล้วจะเรียกว่าเพราะอะไร อาจารย์อุบล สุขสบาย เล่าให้ฟังหลังจากที่ข้าพเจ้าเรียนจบกลับมาแล้วว่า เขาเคยไปหาหลวงพ่อและเรียนถามท่านว่า อาจารย์สุจิตราอยู่ที่อินเดียเป็นอย่างไรบ้าง หลวงพ่อตอบว่า หนักมาก กำลังส่งพลังไปช่วย

หลวงพ่อช่วยข้าพเจ้าจนกระทั่งช่วงสุดท้าย คือการสอบสัมภาษณ์ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นโดยที่ข้าพเจ้าไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องเกิด ข้าพเจ้าโกรธอาจารย์ที่ปรึกษามาก ถึงกับลั่นวาจาว่า “ฉันไม่สอบก็ได้ ตรากตรำมาสองปีเศษ คุณก็รู้ก็เห็น แล้วมามีปัญหาตอนที่ฉันควรจะจบ ฉันไม่จบก็ได้” อาจารย์ที่ปรึกษาแทนที่จะโกรธกลับขอโทษขอโพยข้าพเจ้าเป็นการใหญ่ ในที่สุดก็จัดการให้ข้าพเจ้าสอบสัมภาษณ์จนได้ ที่น่าแปลกก็คือ ข้าพเจ้าไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือตัวเจ้าของเรื่องเองไม่รู้ แต่หลวงพ่อท่านทราบทุกอย่างและได้ช่วยจนสำเร็จ ได้รับการบอกเล่าจาก อาจารย์สมพร แมลงภู่ และ คุณเอื้อมทิพย์ คงเพ็ชร ภายหลังจากที่กลับมาแล้ว มีหลายเรื่องที่หลวงพ่อทราบและได้ช่วยไว้ ในที่นี้ไม่สามารถเล่าได้ทุกเรื่อง นับเป็นบุญของข้าพเจ้าโดยแท้

 

สิ่งที่ได้จากประเทศอินเดีย

หากจะเล่าให้หมดทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อมาจนถึงปัจจุบัน ก็คงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะ (๑) ต้องใช้เวลากันกว่าสามวันสามคืน หรือถ้าจะเขียนก็คงหลายร้อยหน้า ซึ่งไม่มีเวลาที่จะทำเช่นนั้น และ (๒) จะไม่มีท่านผู้ใดทนฟังหรือทนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบแม้แต่คนเดียว

จึงต้องรวบรัดตัดใจความว่าที่หลวงพ่อท่านสนับสนุนให้ข้าพเจ้าไปเรียนที่ประเทศอินเดียนั้นจริง ๆ แล้วการเรียนเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักและประโยชน์ที่ข้าพเจ้าได้กลับเป็นเรื่องการปฏิบัติและความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งกว่าที่เคยรู้มา ข้าพเจ้าสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้เข้าใจซาบซึ้งกว่าแต่ก่อน เพราะได้มารู้มาเห็นวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวภารตะ วัดทิเบตที่ข้าพเจ้าเช่าพักอยู่ตรงข้ามกับพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมด้วยการทำประทักษิณ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และที่มากที่สุดที่ทำได้สม่ำเสมอคือการสวดมนต์ ซึ่งข้าพเจ้าจะสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา (รุณิโก) แล้วสวดพระพุทธคุณอย่างเดียว ๑๐๘ จบ ทั้งเช้าและเย็น (วันละ ๒ ครั้ง) จิตใจของข้าพเจ้าสงบเยือกเย็นขึ้นและมองเห็นไตรลักษณ์ชัดเจนขึ้น

ทุกเช้าหลังจากปฏิบัติธรรมเสร็จข้าพเจ้าจะตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเจดีย์ พระแท่นวัชรอาสน์ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ อธิษฐานในเรื่องที่เกี่ยวกับหลวงพ่อ เมื่อใดที่คำอธิษฐานนั้นกลายเป็นความจริง เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะเปิดเผยว่าได้อธิษฐานไว้ว่าอย่างไร

ปัจจุบันข้าพเจ้ามีความสุขกับการทำงาน นอกจากงานสอนที่วิทยาลัยครูธนบุรี ซึ่งมีทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำแล้ว ทางกรมการฝึกหัดครูยังแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะทำงาน โครงการอบรมครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับประถมและมัธยม ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาและพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดอัมพวันจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของข้าพเจ้าในการดำเนินชีวิตที่ดีงามตามแบบชาวพุทธแท้ ขออย่าได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นชาวพุทธ ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้า

ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อที่จะเวียนมาอีกครั้งในวันที่ ๑๕ สิงหาคมศกนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมจิตอธิษฐานอาราธนาพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในแดนพุทธภูมิ มี พระเจดีย์พุทธคยา พระแท่นวัชรอาสน์ และพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น โปรดดลบันดาลให้ท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี จงมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ปราศจากโรคาพยาธิ และประสบความสำเร็จในกิจการงานทั้งปวง เทอญ