กุฏิเจ้าอาวาส

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

อาตมาอยู่กุฏิหลังนี้มานาน ๓๕ ปีแล้ว ค่อย ๆ ซ่อมแซม เปลี่ยนกระเบื้องเล็กเป็นกระเบื้องใหญ่ เปลี่ยนกระเบื้องใหญ่เป็นสังกะสี มันรั่วบ่อยนักเอาสังกะสีมุงเสียเลย ไม่มีใครมาอยู่กับเราหรอก ตอนกลางวันร้อนเหงื่อหยดลูกคาง

ไม้พื้นทีแรกนึกว่าเป็นไม้สัก พอรื้อเข้าจริงเป็นไม้ตะแบก ผุหมดเลย

อาตมาก็ไม่ได้รู้ว่าพวกกรุงเทพฯ เขาจะมาทำ คิดว่าจะทำกันเอง คอยช่างทำศาลาพักร้อนหน้าวัดให้เสร็จก่อน ซื้อสังกะสีมาเปลี่ยน รื้อไปเปลี่ยนวันเดียวก็อาจเสร็จ และคงจะใช้ทุนไม่เท่าไร

มีอยู่วันหนึ่ง จิ้งจกสองหัวสองหางมาตีข้างฝา ตีแล้วร้องใหญ่และสักประเดี๋ยวหนูออกมาอีกแล้ว มาเยอะเลย มาดึงจีวรอาตมา อาตมาเลี้ยงไว้เยอะเลย ไม่กัดอะไรใครหรอก ให้กล้วยมันกิน

เดี๋ยวแมลงสาบออกมาอีกแล้ว เดินกันเป็นหางหมด ก็เดินมาหาอาตมา เขาอยากจะพูดแต่พูดไม่ได้ ถ้าพูดได้ เขาคงบอกว่า หนีเถอะ เขาจะมารื้อกุฏิแล้ว

อยู่ต่อมา ๓ วัน สัตว์เหล่านี้หนีหมดเลย เอากล้วยให้หนูกินก็ไม่มา แมลงสาบก็ไม่มี จิ้งจกสักตัวเดียวก็ไม่มี ตัวที่มาตีข้างฝาเมื่อ ๒ คืนที่แล้ว ก็ไม่มี หายไปหมด

กุฎิหลวงพ่อกำลังซ่อมแซม

โยมปาริษา รุ่งโรจน์ธนกุล อยู่หมู่บ้านอยู่เจริญ ได้มาตกลงกันง่าย ๆ บอกว่า หลวงพ่อย้ายกุฏิเถอะ จะซ่อมสร้างให้ใหม่ เลยอาตมาก็ต้องย้าย

พวกสัตว์เขารู้ก่อน หนีไปหมดเลย  โบราณเขาบอกว่า จิ้งจกทักต้องเชื่อไว้ก่อน เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเชื่อพ่อแม่ แม่ว่า แม่ทัก แล้วยังจะมาเถียงแม่อีก
พอช่างมาดู เขาบอกให้สร้างใหม่ดีกว่า รื้อตรงโน้นก็พัง ยุ่งไปหมด บานปลายออกไป เลยใช้ไม้แดง ไม้แดงหมด แต่อาตมาไม่มีเจตนาจะได้ไม้แดงหรอก ก็แล้วแต่เขา

 

แรงบันดาลใจในการสร้างกุฏิ

โดย ปาริษา รุ่งโรจน์ธนกุล

คุณปาริสา รุ่งโรจธนกุล และลูก

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นวันแรกซึ่งหลวงพ่อได้กล่าวว่า ท่านถูกคนกรุงเทพฯ ปฏิวัติ เพราะท่านต้องถูกสั่งย้ายโดยมิทันตั้งตัว เตรียมใจ

ชั่วเวลาหลวงพ่อฉันเช้าเสร็จ เข้าประกอบศาสนพิธีที่หอฉัน กลับออกจากหอฉันหลังเพลแล้ว เพียงระยะเวลา ๓-๔ ชั่วโมง กุฏิของท่านก็โล่งเรียบ

โต๊ะหมู่บูชา พระ โต๊ะ เก้าอี้ ป้าย สารพัดสิ่งของข้างล่าง ไม่มีอะไรเหลือให้เห็นอีกเลย ผนังที่เป็นปูน
ทุกด้านถูกทุบออกได้โดยง่ายดาย เพราะน้ำยาประสานปูนสลายตัวแล้ว

กาลครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำสมเจตนารมณ์ตั้งแต่อดีตที่ข้าพเจ้าเคยนึกอธิษฐานไว้ว่า (พ.ศ. ๒๕๒๐)

“ถ้าพระองค์นี้ดีจริงแล้ว เมื่อข้าพเจ้าได้ “ดี” ข้าพเจ้าจะกลับมาเป็นผู้อุปัฎฐาก เป็นศิษย์ของหลวงพ่อ”

และข้าพเจ้าก็ได้กลับมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ ได้เริ่มทำตามที่เคยอธิษฐานมาจนบัดนี้

ในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมิได้กลับมาที่วัดอัมพวันนี้ ข้าพเจ้านึกถึงแต่หลวงพ่อพระภาวนาวิสุทธิคุณ
ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน ตลอดมานับเวลา ๑๕ ปี

ครั้งแรกที่ข้าพเจ้ามาที่วัดอัมพวันและเริ่มรับหลวงพ่อท่านเข้าไว้เหนือศีรษะนั้น เริ่มมาจากคุณอาของข้าพเจ้า คุณวันเพ็ญ คุณธนูน้อย วงษ์รักไทย ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไปประกอบอาชีพที่จังหวัดระยอง

คุณอาได้อ่านหนังสือประวัติของหลวงพ่อ ว่าสามารถรู้กรรม รู้แก้ อโหสิกรรมให้เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเรา
มีอะไรติดค้าง จะได้สามารถทำให้ถูกจุด แก้ให้ถูกทางได้

เหมือนว่าเราทำชั่ว ทำอะไรไม่ดีไว้ ชั่วหรือไม่ดี ก็จะสนองกลับให้เราต้องทุกข์โศก เกิดเป็นปัญหาให้เราต้องทุกข์ และเราจะต้องหาทางออกทางแก้อย่างไรให้พ้นทุกข์ ถ้าเราหาทางออกทางแก้ได้แล้ว เราจึงจะมีความสุขสงบได้

ส่วนความทุกข์ของคุณอาของข้าพเจ้าก็คือ บุตรสาว (น้องเจี๊ยบ หรือมาริษา วงษ์รักไทย) ได้ป่วยเป็นลูคิเมีย (มะเร็งในเม็ดเลือด) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐

คุณอาของข้าพเจ้าได้เรียนถามหลวงพ่อว่า บุตรสาวของท่านสวย น่ารัก เรียบร้อย เป็นที่รักของทุกคน
ไม่เห็นทำอะไรที่ไม่ดีเลย ทำไมถึงต้องมาป่วยด้วยโรคเช่นนี้ ทำอย่างไรจึงจะแก้ให้ดีได้

หลวงพ่อท่านหลับตาชั่ว ๑๐ วินาที (กะพริบตา) ท่านได้กล่าวว่า “โยม มารดาของโยมทั้งสองสบายดีหรือ”

คำตอบนี้คือ ธนูดอกแรก ที่ตรึงข้าพเจ้าให้เริ่มศรัทธานับถือครั้งแรกเพราะความหมายอันนี้หมายความว่า

ถ้าเรารักบุตรอันเป็นทิศเบื้องล่างมากเท่าไร บิดามารดาก็ย่อมรักเรา เมื่อเรารักเอาใจใส่ดูแลปรนนิบัติบิดามารดา อานิสงส์อันนี้แหละจะย้อนกลับให้บุตรธิดาของเราได้ดีได้งามสมกับความสุขที่บิดามารดาได้รับ เราก็จะมีความสุข ครอบครัวก็จะเป็นสุข

ซึ่งคำตอบนี้ข้าพเจ้าตีความเข้าใจเพียงผู้เดียว เพราะเวลานั้นคุณอายังว้าวุ่นใจ เกี่ยวกับโรคภัยของน้องเจี๊ยบโดยไม่มีเวลาเอาใจใส่คุณปู่คุณย่ามากนัก (คุณพ่อคุณแม่ของอา)

ต่อมาน้องเจี๊ยบก็ได้จากไป ยังความโศกเศร้าให้แก่คุณอาทั้งสองและข้าพเจ้ายิ่งนัก

ธนูดอกที่สอง ที่ตรึงข้าพเจ้าเมื่อกลับมา เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ เมื่อข้าพเจ้าย้อนถามในใจกับตัวเองว่าที่ข้าพเจ้าคิดไว้เมื่อ ๑๕ ปีนั้น ถูกต้องดีแท้แค่ไหน

ข้าพเจ้าจึงเรียนถามหลวงพ่อว่า

“ถ้าเราทิ้งลูกทิ้งสามีมาอยู่วัด นั่งกรรมฐานนี้บาปไหม”

หลวงพ่อท่านตอบว่า

“เราทิ้งไปทำดีหรือทำไม่ดีล่ะ ถ้าทำดีจะบาปได้อย่างไร”

หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้นิมนต์หลวงพ่อมาฉันเพลที่บ้านพ่อบ้านคือ คุณสมชาย รุ่งโรจน์ธนกุล มีบุตรธิดา ๒ คน คือ ด.ช. หนึ่ง และ ด.ญ. หทัยทิพย์ รุ่งโรจน์ธนกุล

คุณสมชายยินยอมและยินดีให้เลี้ยงพระ ทั้ง ๆ ที่เวลาลูกน้องหรือญาติมิตรทำบุญบ้าน จะถูกตำหนิว่าบ้าน
ก็ดีมีสุข ทำไมต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลา เงินทอง มีเวลาว่าง เงินเหลือใช้เหลือกินแล้ว

เคยเรียนถามหลวงพ่อว่า คุณสมชายทานเหล้าเก่ง ไม่ค่อยมีเวลาให้กับบ้าน แต่หลวงพ่อก็ได้ตอบกลับมาว่า

“ถึงอย่างไรเขาก็เป็นพ่อบ้านที่ดี โยมมาวัดเขาก็ไม่ขัดศรัทธา โยมอยากจะทำบุญอะไร หรือพี่น้องเดือดร้อนอะไรเขาก็จะช่วยเหลือให้ทุกอย่าง ไม่ว่าญาติข้างตัวหรือญาติข้างเรา” ซึ่งเรื่องนี้เป็นความจริงเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ข้าพเจ้าศรัทธาในหลวงพ่อ

ทั้งที่คุณสมชายก็ไม่เคยเห็นหลวงพ่อ และหลวงพ่อเองก็ไม่เคยเห็นตัวคุณสมชายมาก่อน หรือรู้ประวัติเรามาก่อน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มาหาหลวงพ่อ โดยที่ไม่มีใครพามาเลยเรามาเอง (เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔)

คุณสมชาย ถ้ารู้ว่ามาหาหลวงพ่อจะไม่ขัดเลย จะเลี้ยงเพล หรือมาวัดทุกครั้งจะไม่ขัด มาทุกครั้งก็จะฝากเงินมาทำบุญด้วย

โดยที่จริงแล้วคุณสมชายไม่เคยพบหลวงพ่อเลย นอกจากฟังจากปากเรา ก็ยอมทำบุญบ้านโดยที่ยอมปิดสำนักงาน ทำบุญกันที่บ้าน

คุณสมชายได้พบหลวงพ่อจริง ๆ เมื่อคราวที่นิมนต์หลวงพ่อไปฉันเพลที่บ้านรวมแล้ว ๒ ครั้ง

หลังจากทำบุญครั้งแรกได้ ๑ อาทิตย์ คุณสมชายได้ให้ไปรับพระกับหลวงพ่อที่วัดอัมพวัน แต่ข้าพเจ้าไม่สนใจ เพราะคิดว่าคุณสมชายอ่านหนังสือหลวงพ่อแล้ว อยากจะได้พระ

ครั้งที่สองคุณสมชายก็เร่งให้ไปรับพระอีก บอกว่าหลวงพ่อมาเตือนให้มารับพระ ก็ยังไม่สนใจ แต่ก็บอกกับคุณสมชายว่า จะขอเดินทางไปเที่ยวฮ่องกงก่อน แล้วจะกลับมารับให้

ทันทีที่กลับจากฮ่องกง คุณสมชายก็เร่งให้ไปรับพระอีก จึงได้เดินทางมารับในวันเสาร์ต้นเดือนของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔

พอมาถึง หลวงพ่อบอกให้เตรียมพระไว้ให้แล้วสององค์ ทำให้ข้าพเจ้าขนลุกมากเลย

คุณสมชาย และข้าพเจ้า รวมทั้งคณะหมู่บ้านอยู่เจริญ ได้ร่วมกันซ่อมกุฏิครั้งใหญ่ จนเกือบจะเรียกได้ว่าสร้างใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

ซึ่งในกาลครั้งนี้ได้ปรึกษากับคุณพี่เสนอ คุณสมประสงค์ รวมทั้งพระและชาววัดอัมพวันซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อ

หลวงพ่อท่านมิได้ออกความประสงค์สิ่งใด นอกจากความมั่นคงแข็งแรงของกุฏิ มิฉะนั้น เวลาลูกศิษย์ ลูกหามามาก ๆ อาจจะทนรับน้ำหนักไม่ไหว

หากกุฏิขาดตกบกพร่อง มีตำหนิสิ่งใดแล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมรับผิดเพียงผู้เดียว และถ้ามีส่วนกุศลอันใด ข้าพเจ้าและคณะขอมอบให้หลวงพ่อช่วยแผ่เมตตาถึงลูกศิษย์ทุกท่านด้วย

เดิมทีกุฏิสร้างมานานนับ ๕๐ ปี พื้นไม้ชั้นบนเป็นรูโหว่ ขนาดเอามือสอดลงมาได้ หลังคากุฏิชั้นบนเปิดจั่วเห็นนกพิราบ (ฝ้าบนเป็นบ้านนกพิราบ) ฝนตกก็รั่ว

หลังคาเป็นสังกะสีทำให้ร้อนอบอ้าว ฝ้าบนเปิดรั่ว มูลนก เศษฟางสิ่งปฏิกูลหล่นลงมา

พื้นบนแสนกว้าง แต่เป็นที่วางหนังสือและสิ่งของจิปาถะ จะมีที่ว่างประมาณ ๑x๒ ตารางเมตร คือที่จำวัดของหลวงพ่อ

ตอนแรกนั้นได้ยินแต่หลวงพ่อท่านปรารภว่า หลังคารั่ว ต้องการจะรื้อหลังคาซ่อมใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าตอนนั้นคิดเพียงแต่ซ่อมหลังคา คงไม่ต้องใช้เท่าไรนัก

จึงมาปรึกษากับคุณสมชาย ซึ่งยังไม่เคยเห็นกุฏิหรือมาที่วัดนี้เลย ก็เห็นด้วย ยินดีเป็นนายทุน เป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่าย

ส่วนข้าพเจ้าเป็นผู้ประสานงานและออกทุนทรัพย์เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อช่าง (ผู้รับเหมาจากหมู่บ้านอยู่เจริญ) มาเห็นกุฏิแล้ว คงลงความเห็นว่า ควรรื้อกุฏิซ่อมทั้งหมดเพียงสถานเดียว

เพราะฝ้าชั้นล่างรับน้ำหนักชั้นบนจนแอ่นโค้งลงมาหมดแล้ว แถมปลวกอีกรังเบ้อเริ่ม ยังกับขนมแผ่นอัดเป็นชั้น ๆ เห็นแล้วชวนให้ขนลุก

 

งบประมาณในการซ่อมกุฏิ

มีดังนี้

ค่าเฟอร์นิเจอร์                ๑๐๐,๐๐๐ บาท

ค่าวัสดุก่อสร้าง               ๘๐๐,๐๐๐ บาท

ค่าแรงคนงาน                 ๑๐๐,๐๐๐ บาท

เบ็ดเตล็ด                        ๕๐๐,๐๐๐ บาท

จะซื้อตู้เย็น โคมไฟ เตาแก๊ส ทีวี และทุกสิ่งทุกอย่างภายในกุฏิหลวงพ่อจะขอเหมาหมดเลย

อยู่ต่อมาสักระยะหนึ่ง ข้าพเจ้าฝันเห็นเลือดและคนตาย ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า “ที่ฝันสิ่งนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

หลวงพ่อได้บอกว่า เจ้ากรรมนายเวรเขามาตามทวง ต้องทำบุญหรือทำกรรมฐานแผ่เมตตาให้พวกเขา สวดมนต์ให้มาก ๆ

ในครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ทำทรัพย์สินเสียหายไปเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เราคืนให้เขาแล้ว เจ้ากรรมนายเวรตามไม่ถึงตัวเราแล้ว ก็ถือว่าฟาดเคราะห์ไป

เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงพ่อได้โทรศัพท์มาที่บ้าน บอกให้ไปตรวจอย่างละเอียดโดยการเอ็กซเรย์ ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนหลวงพ่อว่าได้ไปหาหมอแล้ว

แต่หลวงพ่อได้สั่งให้กลับไปตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพอตรวจวันนั้น ก็จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลจริง ๆ เพราะปวดท้องมากเลย เป็นไข้ อาเจียนออกมาเป็นเลือด

เมื่อไปตรวจอย่างละเอียด ถึงได้รู้ว่า ป่วยเป็นลำไส้อักเสบ ต้องนอนโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๓-๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕

วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาลถึงบ้าน หลวงพ่อได้โทร.มาอีก บอกว่าตอนนี้หายแล้วนะ ไม่มีอะไรแล้ว

ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกมากเพราะก่อนเข้า หลวงพ่อก็สั่งให้เข้าพอออกมาปุ๊บ หลวงพ่อก็บอกไม่มีอะไร หายแล้ว เรียบร้อยไม่มีปัญหาในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ข้าพเจ้าได้เลี้ยงเพลพระที่วัดอัมพวันและหลวงพ่อสวดธรรมจักรให้

กุฏิที่เสร็จออกมานี่ยังไม่สวยสมใจเพราะใช้เวลาเร็วเกินไป และตัวเองป่วยอยู่ ทำให้ไม่คุมงานเป็นปกติ และดีใจมากที่ได้มาสร้างกุฏิให้หลวงพ่อ รู้สึกเป็นความผูกพันกับหลวงพ่อและกุฏิ

แม้บางครั้งจะเบื่อไม่อยากมา ก็ต้องมีสาเหตุให้มา และพอมาก็สมใจส่วนใหญ่ที่มาก็จะได้พบหลวงพ่อทุกครั้ง

จะมาดึกดื่น เช้า กลางวัน ก็ต้องได้พบหลวงพ่อ เหมือนว่าหลวงพ่อจะคอย

บางวันหลวงพ่อไม่อยู่ ก็จะบอกว่าวันนี้สงสัยปาริษามา ให้บอกด้วยว่าหลวงพ่ออยู่รอไม่ได้

บางครั้งนึกในใจว่า ขอให้หลวงพ่ออยู่ด้วยนะ ป่วยรอก็ได้ พอมาถึงแล้ว หลวงพ่อป่วยจริง ๆ ด้วย อยู่ดีดีก็ปวดศีรษะขึ้นมา

ตอนนี้ก็เลยไม่กล้าที่จะนึกจะคิดว่า ให้หลวงพ่อป่วยรอนะ เพราะจะเหมือนการแช่งหลวงพ่อ กลัวบาป

การสร้างกุฏิหลวงพ่อไม่เคยให้คำแนะนำในการก่อสร้างเลย ท่านคงเห็นว่าเป็นเรื่องสุดแท้แต่ความศรัทธาของโยมผู้บริจาค

สรุปแล้วข้าพเจ้าจะเป็นคนสร้างคนทำทั้งหมด เพราะหลวงพ่อยกกุฏิให้เลย ให้เป็นคนทำเองหมด ยกให้ตัดสินใจคนเดียวไปเลย

ข้าพเจ้าได้อาศัยถามพระบ้าง ถามลูกศิษย์ภายในวัดด้วย เพราะบางสิ่งบางอย่างเราไม่เข้าใจว่าหลวงพ่อมีวัตถุประสงค์เช่นไร

 

ผู้บริจาคปัจจัยสมทบทุนสร้างกุฏิ มีดังนี้

๑. คุณแม่กิมตุ๋ย   แซ่อึ้ง  (รุ่งโรจน์ธนกุล)
๒. คุณสมชาย   รุ่งโรจน์ธนกุล
๓. คุณศิริลักษณ์   รุ่งโรจน์ธนกุล
๔. คุณศิริอร   รุ่งโรจน์ธนกุล
๕. คุณปรีชา-ระพี  จิระสกุลสุข
๖. คุณธนูน้อย-วันเพ็ญ  วงษ์รักไทย

ผู้ร่วมให้คำปรึกษาประกอบด้วย

๑. คุณเสนอ   ตันศิริ
๒. คุณสมประสงค์  เหล่าตระกูล
๓. คุณนิรันดร์  เอกสุภาพันธ์