แยกรูป แยกนาม

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒

ญาติโยมมาปฏิบัติฝึกหัดกาย วาจา ใจ เบื้องต้น ด้วยศีลอบรมให้มีสติประจำตน เพื่อให้เกิดผลสมาธิภาวนา และเกิดปัญญาญาณ ได้แก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์

สภาพความเป็นอยู่ของกายคือรูป สภาพความรู้ของจิตซึ่งรู้เหตุการณ์ของชีวิต เรียกว่าอารมณ์ เป็นการผสมผสาน ให้เกิดผลงานในสติปัฏฐานสี่ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น

การสำรวมจิตใช้สติไปที่กายแล้วเราก็ภาวนา เคลื่อนย้ายโดยกาย จิตเป็นผู้สั่ง กายเป็นผู้เคลื่อน สติระลึกอยู่เสมอ สัมปชัญญะรู้ตัวขณะปัจจุบัน จิตของเราที่กระสับกระส่ายและฟุ้งซ่าน ก็จะสงบเข้าสู่แหล่งแห่งกาย เรียกว่า กายานุปัสสนา

ภายในก็แจ่มใส สติควบคุมจิตไว้ได้ กายจะเคลื่อนย้ายไปทางไหน ก็เต็มพร้อมไปด้วยศีล เพราะเรามีสติดี ความรู้ตัวก็ดี เคลื่อนย้ายอยู่ปัจจุบันขณะ ขณะเคลื่อนย้ายไปย้ายมาก็รู้ตัว

ความรู้นั้นคือตัวสัมปชัญญะ สัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติรู้ตอนขณะจะเคลื่อนจะย้าย รู้ตัวอยู่เรียกว่า สติ สัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติตอนรู้ขณะจะเคลื่อนจะย้ายก็รู้ว่าจะย้าย รู้ตัวไปควบคู่กับจิต เรียกว่าสติสัมปชัญญะ

แล้วเรารู้เคลื่อนย้ายในสภาวะรูป รูปกายคือเรารู้เคลื่อนไปทางไหน รู้หมด ในขณะกำหนดปัจจุบันนั้น ปัญญาคือความรู้ มันก็เกิดรู้จริงในอารมณ์ของเรา

ถ้าไม่มีอย่างนี้ ความรู้ที่เกิดขึ้นขณะนั้นก็รู้ไม่จริง รู้สิ่งที่เคลื่อนย้ายไปเฉยๆ ขาดสติสัมปชัญญะเรียกว่าเรื่องธรรมดา นักปฏิบัติต้องกำหนดให้ละเอียด มีสติสัมปชัญญะนี้ทำยาก ไม่ใช่ทำง่าย

แต่มันง่ายสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จะเคลื่อนย้ายก็ใช้สติอยู่เสมอ ใช้ความรู้คือตัวสัมปชัญญะ ในการเคลื่อนย้ายให้ทันปัจจุบัน

ปัญญาคือความรู้ ก็เกิดมารู้ในอารมณ์ รู้แน่นอนโดยละเอียด ว่าจิตจะเคลื่อนย้ายซ้ายขวาประการใด เราจะรู้ตัวแจ้งชัด ละเอียดอ่อน เรียกว่ารู้สภาวธรรม

การรู้อย่างนี้ต้องมีจิตละเอียด จิตละเอียดได้ต้องมีสมาธิจิต จับจุดอยู่ในการเคลื่อนย้ายของกาย จึงเรียกว่าสมาธิ

แต่สติไม่ย้ายไปที่ไหน อยู่ในอารมณ์จิตที่กายเคลื่อนย้าย ก็ตามไปตามอันดับ

คำว่าตามไปนั้น เรียกว่าตัวสัมปชัญญะ รู้ตัวขณะตามจิต รู้ตัวย้ายเคลื่อน เหลียวซ้ายแลขวา จะคู้หรือจะเหยียด รู้พร้อมมูลบริบูรณ์ดี เรียกว่า รูปนาม

เคลื่อนเป็นรูปนาม รูปมันเคลื่อน แต่จิตรู้เป็นตัวนาม ประกอบด้วยปัญญาญาณ รู้ละเอียดอ่อน รู้มารยาท รู้ปัจจัตตัง รู้ขณะนั้นเรียกว่า ปัญญา

ปัญญาตัวนี้แปลว่ารอบรู้ในกองสังขาร เรียกว่ารู้ขันธ์ ๕ รูปนามประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ที่ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ นั้น คือ รูป สักแต่ว่ารูป ก็เป็นรูปเคลื่อนย้าย แปรผันกลับกลอก ไม่คงที่เรียกว่ารูป มันเสื่อมได้ มันเป็นสมมติขึ้นมาในรูปกาย โยกย้ายเคลื่อนคลอนได้ เรียกว่าสภาวรูป

ส่วนเวทนาเล่าก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง ที่เรียกว่า เวทนาขันธ์ คำว่าเวทนาขันธ์นี้ มันเกิดมาจากตัวเราบังคับบัญชาไม่ได้ เราอยากจะรู้จักขันธ์ข้อที่ ๒ คือเวทนานี้ ต้องใช้สติสัมปชัญญะเช่นเดียวกัน ขันธ์ของรูป รูปขันธ์ทิ้งไป อย่าไปไขว่คว้าอยู่ในจุดรูปขันธ์ ต้องเคลื่อนย้ายมาอยู่ในจุดของเวทนา เรียกว่า เวทนาขันธ์

เวทนาขันธ์ข้อนี้สำคัญมาก มีปวดเมื่อย เรียกว่าทุกข์ภายในด้านกาย มันเกิดขึ้นกับตัวเรา มันก็ต้องประกอบไปด้วยรูป เพราะสังขารทั้งหลายปรุงแต่ง มันเกิดเวทนาเช่นนี้ เราก็ต้องอาศัยสติไปอยู่ที่จิตจับจุดเวทนา ลึกเข้าไปเวทนาในเวทนา สัมปชัญญะขณะรู้ว่าปวด สติบอกเวทนา

ตัวสัมปชัญญะจะบอกว่า ปวดมากปวดน้อยประการใด นักปฏิบัติต้องจับจุดนี้ก่อน เรียกว่า เวทนาขันธ์ ก็กำหนดที่ขันธ์นั้นเกิดขึ้นแก่ตัวเรา

แต่ในขั้นนี้ เราจะแยกอย่างไรเล่า เราใช้สติไประลึกว่า อ๋อนี่คือเวทนา เราก็ใช้สตินี้ไปควบคุมดูเวทนาของจิต เอาจิตไปจับที่มัน ปวดที่มันเมื่อย อยู่ในจุดนั้น แล้วเราก็ใช้ตัวรู้ คือการปรุงแต่ง มันก็เกิดขึ้น ในเมื่อเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว เราก็กำหนดว่า ปวดหนอๆ

หนอนี้รั้งจิตให้มีสติ หนอตัวนี้สำคัญ ทำให้เรามีสติ ทำให้รู้ตัวเกิดขึ้น โดยไม่ฟุ้งซ่าน ในเรื่องเวทนาที่มันปวด และเราก็ตั้งสติต่อไป ปวดหนอๆ หายใจยาวๆ ด้วย แล้วก็เอาจิตเกาะอยู่ที่เวทนาในภายนอก

เวทนาตัวใน คือรูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ตัวเวทนาตัวใน ไม่มีอื่นไกลคือรูปกับนามทั้งสิ้น อยู่ในจุดนั้นทำไมเกิดรูปเกิดนาม ตอบเกิดสัมผัสและปรุงแต่ง มันเกิดขึ้นในเวทนา เวทนา ปวดหนอๆ

ปวดนี้เป็นกรรมอันหนึ่ง หรือเป็นอุปสรรคอันหนึ่งสำหรับผู้นั่งสมาธิ อาจจะไม่ทนต่อเหตุการณ์ปวดได้ จึงต้องทน อดทน เราต้องฝึก เราต้องฝืนใจเป็นอันดับต้น เพราะรู้ปฏิบัติ เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่เคยปฏิบัติ ต้องฝืนใจก่อน

บางท่านไม่เคยนั่งพับเพียบนาน ไม่เคยนั่งสมาธิสองชั้นนาน ถึงจะนั่งก็นั่งเปลี่ยนอิริยาบถ จึงไม่รู้จักตัวกฎแห่งกรรม คือ คำว่าปวด ไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะเราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ

นั่งนานเราก็ลุกเดิน เดินแล้วเมื่อยก็นั่ง นั่งเมื่อยเกินไปก็เอนหลังนอน เปลี่ยนโยกย้ายอย่างนี้ เราจะรู้ของจริงไม่ได้ เราจะรู้ได้เพียงของปลอม

บางครั้งปวดมาก โยมต้องศึกษา ต้องเรียนขันธ์นี้ให้สำเร็จ คือ เวทนาขันธ์ เพราะขันธ์นี้เกิดขึ้นแก่ตัวเราแล้ว คือเวทนา ไม่สบาย บังคับไม่ได้ ทนต่อเหตุการณ์นี้ไม่ได้

ต้องฝืนต้องใช้สติไปพิจารณาเกิดความรู้ว่าปวดขนาดไหน ปวดอย่างไร แล้วก็ภาวนากำหนดตั้งสติไว้เอาจิตเข้าไปจับ ดูการปวด เคลื่อนย้ายของเวทนา เดี๋ยวก็ซา เดี๋ยวก็สร่าง จับมันได้ว่า บังคับมันไม่ได้ มีความเข้าใจในขันธ์นี้ เรียกว่า เวทนาในเวทนา

คำว่าในเวทนานี้ จะอธิบายให้โยมฟังง่ายๆ คือ ในจิต จิตไปเกาะเวทนา รู้สภาพเวทนาเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วก็แจ้งในขันธ์นี้ มันก็เกิดขึ้นโดยสังขารปรุงแต่ง แล้วก็จะเสื่อมโดยสภาพของมัน แล้วก็จะแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความปวดนั้นก็จะเคลื่อนย้าย เราก็จับในเวทนาได้ว่า อ๋อ ในเวทนานี้ มันปวดขนาดนี้

เรารู้ตัวอย่างนี้ เราเข้าใจอย่างนี้ เราก็มีปัญญาญาณเกิดขึ้น รู้ข้อคิดในอารมณ์ของเวทนา ว่าปวดอย่างนี้ คนอื่นไม่ปวดอย่างเรา เพราะปวดคนละคน เราจะรู้ของคนอื่นก็ยาก เราต้องรู้ตัวอย่างนี้ พอรู้ได้แล้ว เราก็กำหนดเวทนา จิตก็คล่องแคล่ว สมาธิเกิด

ในเมื่อสมาธิเกิดด้วยสังขารปรุงแต่ง ความเบาก็เกิดขึ้นในสภาวธรรม เรียกว่าเคลื่อนย้าย และเคลื่อนจากปวดสูงเต็มที่แล้ว มันก็เคลื่อนย้ายลง ยุบลงๆ แพ้สยบเราแล้ว

เมื่อทุกขเวทนาแพ้เราแล้ว เราจะรู้เวทนาตัวใน คือรู้ทันเวทนาตัวใน เรียกว่ารู้ทันรูปนาม ตัวในเรียกว่ารู้ทันปัจจุบัน ในเมื่อทันปัจจุบันเช่นนี้แล้ว ญาณก็เกิด คือ ปัญญา สามารถจะรอบรู้ในกองสังขาร ในการปรุงแต่งได้

จิตก็แยกออกมา รูปก็แยกออกไป เพราะอาศัยกันอยู่ มันถึงได้ปวดหนัก พอแยกได้เมื่อใด พระไตรลักษณ์แจ้งชัด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้หนอ เวทนาเอ๋ยเวทนานั้นก็เสื่อมชำรุดยุติแค่นั้น

เวทนานี้มันปวดลึกซึ้ง มันปวดในกระดูก แต่เราก็ไม่รู้มัน เพราะเราไม่เอาจิตไปเกาะ กลับไปเคลื่อนย้ายมัน ไปเดิน ไปนั่ง ไปนอน ไปเปลี่ยนอิริยาบถ ไปนั่งชมวิวแล้วก็ชื่นใจ ตัวเวทนานั้นมันต้องสู้กับเราต่อไป เพราะเราจับมันไม่ได้ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมัน เราก็ไม่สามารถจะทราบว่าเวทนาของเราเป็นประการใด เพียงรู้เวทนาในเปลือกของมันว่า ปวด

แต่รู้ภายใน ก็เรียกว่ารู้ด้วยปัญญา รอบรู้ในกองสังขาร เข้าใจสังขารของเราดี เข้าใจว่าเป็นสภาพอย่างนี้ด้วยกันทุกคน ไม่มีอื่นใดมาปะปนระคนกัน อารมณ์เราก็เข้าสู่ สภาวะเอกัคคตา ในเวทนาสมาธิ ปัญญาก็เกิดรอบรู้ในกองสังขาร ไม่เที่ยงหนอ อย่าไปพะเน้าพะนอมันเลย

เวทนาในเวทนานี้ ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่เกาะเกี่ยวเกี้ยวพันในสันดานสืบเนื่อง มันก็ปรุงแต่งให้เราปวด ปรุงแต่งให้เราเจ็บ ปรุงแต่งให้เรากระหาย ปรุงแต่งให้เราเหนื่อย ปรุงแต่งให้เราเมื่อย ตลอดรายการ

ปวดเมื่อยไม่ต้องแก้ มันไม่หาย แต่เรารู้เท่าทันเวทนาได้ เวทนาในเวทนา เราก็แยกจิตออกเป็นส่วนหนึ่ง เอารูปออกมาอีกส่วนหนึ่ง นามธรรมรูปธรรมก็แยกกัน เรียกว่าแยกสังขารเวทนาออก เรียกว่ารู้ในเวทนา

เวทนาตัวบอกคือรูป แยกจิตออก จิตไม่ไปเกาะในเวทนา จิตก็ไม่ปวดกับมัน จิตแยกออกมาเพลิดเพลินด้วยสมาธิ ปัญญาภาวนาเกิดขึ้น เวทนาที่ปวดนั้นมันก็วูบวาบหายไป เพราะเหตุใดหรือ

ตอบให้โยมฟัง ถ้ารู้เท่าทันเวทนาเมื่อใด ปัญญาเกิด จิตไม่ไปเกาะ ไม่มีอุปาทานยึดมั่น ก็รู้ของจริงตามสภาพความเป็นอยู่ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อนิจจัง มันไม่เที่ยงมันจึงเป็นทุกข์ ทุกขัง มีแต่ทุกข์อยู่ในจิตใจ จิตมันไปเกาะทุกข์ ไปเกาะที่เวทนา เลยเวทนาเกิดขึ้น ไม่หายอย่างนี้

นักปฏิบัติต้องมีความเข้าใจข้อนี้ด้วย ถ้าไม่เข้าใจจริง กำหนดไม่หายเลิกเลย แล้วก็เคลื่อนย้ายไปนั่ง ไปนอน ไปคุยกัน รับรองโยมจะไม่พบพระไตรลักษณ์ ไม่พบอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเลย เห็นเป็นของจริงที่ไม่แน่นอน ของที่ไม่แน่นอนกลับเห็นเป็นของแน่นอน

เหมือนเรามีแว่นตาที่เป็นสี มองไม่เห็นของจริง หญ้าแห้งๆ เห็นเขียวๆ พอเอาแว่นสีออกจะมองเห็นว่าหญ้านั้นมันแห้ง ไม่เป็นสีเขียวแต่ประการใด นี้ก็เปรียบเทียบเช่นเดียวกัน

การรู้ของจริงนั้นต้องรู้ในเวทนา ไม่ใช่รู้เพียงปวด ไม่ใช่รู้เพียงเมื่อย ไม่ใช่รู้เพียงแต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในวิชาการต้องรู้ว่าเกิดอย่างไร เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร เคลื่อนย้ายอย่างไร

เวทนาเกิดจากไหน ก็เกิดจากของไม่เที่ยง คืออนิจจัง จิตมันไปเกาะที่เจ็บ จิตเกาะที่ปวดท้อง จิตไปเกาะที่ปวดศีรษะ จิตเกาะที่หัวใจเป็นโรคหัวใจ

เราเข้าใจอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายเลยเกาะกันแน่น เลยจิตก็อุปาทานยึดแน่น ท่านจะไม่พบของจริง คือพระไตรลักษณ์ จึงแยกเวทนาออกจากจิตไม่ได้ เพราะมันมีรูปบังเกิด สมส่วนควรกันในสังขารปรุงแต่ง มันจึงปวดหนัก และเราไม่ไปเพลิดเพลิน

ยกตัวอย่างให้โยมฟัง จิตไม่ไปเพลินที่เวทนา จิตกลับเพลินที่เราพูดคุยกัน จิตไปเพลินที่ไปดูอะไรต่างๆ ที่เราเรียกว่าลืมปวด ลืมเมื่อยนั่นเอง ลืมไปหมด นี่มันแยกออกไปได้

เพียงแต่จิตรู้เท่าทันของเวทนาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ดับไป โดยสังขารปรุงแต่ง แล้วก็เกิดอนัตตาความไม่แน่นอน เป็นอย่างนี้แหละหนอ

จิตที่ไปเกาะนั้นมันก็ถอยออกมา ไม่ไปเกาะเวทนาต่อไป ความเมื่อยปวดนั้นก็หายวับไปกับตา ด้วยสังขารที่ปรุงแต่ง มันก็เกิดขึ้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตของเราก็เข้าสู่ภาวนา จิตก็เข้าสู่ปัญญาญาณเรียกว่าแยกรูปแยกนามได้

แยกขันธ์แต่ละขันธ์ออกเป็นสัดส่วน เรียกว่าเวทนาขันธ์ จะเป็นความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมย์ หรือจะเป็นโทมนัสสัง โสมนัสสัง เกิดขึ้นในทุกข์ ทุกข์อยู่ประจำ หรือทุกข์จรเข้ามา จิตมันก็แยก ไม่เกาะ

จิตมันเหมาะเจาะอยู่ในรูปนาม ไหนเลยล่ะทุกข์จรจะเข้ามาหาเราได้ ทุกข์ประจำมันก็ออกไป แล้วเราจะไปทุกข์มันเรื่องอะไร มันจะบอกเราด้วยปัญญา แปลว่า รอบรู้ในกองการสังขาร เมื่อปรุงแต่งเกิดขึ้น เราไม่ติดที่ปรุงแต่ง

สังขารมันเกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติของมัน ต้องปรุงแต่ง ห้ามไม่ได้ มันจึงปวดรวดร้าวทั่วสกนธ์กาย เหมือนโยมเป็นไข้ แยกเวทนาออก ไข้มันร้อน ปวดศีรษะเป็นกำลัง จิตก็มีอุปาทานยึดในปวดนั้น แยกออกมาเป็นสัดส่วน

รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์เมื่อใด โยมจะไม่มีจิตเป็นไข้ ใจไม่เป็นไข้ แต่เป็นไข้เฉพาะสังขารที่มันปรุงแต่งอยู่เสมอ แต่จิตก็แยกออกมา เรียกว่านามธรรม

สภาวธรรมเกิดขึ้นนั้น เรียกว่า ตัวปัญญา สามารถจะรอบรู้ในกองการสังขารได้ชัดเจน

รู้ของจริงต้องรู้สภาพความเป็นจริงของสังขารที่เกิดขึ้นตามสภาวะ โดยสี โดยสัณฐาน โดยอาการของมันอย่างนี้แล้วถึงจะเรียกว่ารู้จริง รู้ว่ามันปวดอย่างไร รู้จริงขึ้นมาด้วยตนเอง ตามศัพท์นี้เรียกว่า “ปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตน ของตนเองเท่านั้น คนอื่นเขาไม่รู้ คนอื่นเขาไม่เข้าใจ

แต่ปัญญาในหลักกรรมฐานนี้ ต้องจับจุดปัญญาได้ แยกเวทนาได้ เอาเวทนาไปฝากไว้ก่อน เอาจิตใจเราไปทำงานอื่นเสียก่อน สบายใจ เพราะเวทนาไม่มาเกี่ยวกันกับสังขาร ไหนเลยล่ะ จิตจะไปพัวพันให้ปวดต่อไป

เพราะฉะนั้นต้องอาศัยสมาธิภาวนา รู้ว่าสังขารไม่เที่ยงหนอ เราไม่พะเน้าพะนอสังขารมัน สังขารมันก็ปรุง เกิดสัมผัส เกิดบัญญัติว่า ปวดจัง เลยไม่ทราบเจ็บหนักเจ็บเบาประการใด

ท่านเรียกว่ามายา เกิดขึ้นคือของปลอม ของปลอมเรียกว่ามารยาสาไถย แต่ของจริงไม่ใช่มายา เป็นของจริงแจ้งโดยปัจจัตตัง รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์

การปวดหนักก็กลายเป็นเบาเพราะจิตไม่ไปเกาะ ถ้าจิตไปเกาะมากมันก็ปวดมาก จิตเกาะน้อยมันก็ปวดน้อย ถ้าจิตไม่เกาะเกี่ยวมัน ไหนเลยล่ะจะไปปวดได้ อันนี้บั้นปลายแล้ว

แต่วิธีฝึก วิธีปฏิบัติต้องเอาสมาธิเข้าขันธ์เวทนา เอาจิตจับจุดให้เป็นสมาธิ ปัญญาก็เกิดในขันธ์เวทนา คือ รู้จริง รู้ทุกสิ่งแปรปรวน รู้โดยสี โดยสัณฐาน โดยอาการของมัน ในเวทนานั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

เวทนาก็หายวับไปกับตา กลับซู่ซ่า เวทนากับจิตที่อยู่คู่กันจะหายจากกันไป โดยแยกออกไปเป็นสัดส่วน จึงรู้ว่าควร ไม่ควร เหมาะสมประการใด

ไม่ใช่ปวดแล้วเลิก แล้วก็พลิกไปพลิกมา อย่างนี้จะไม่พบของจริง แต่โยมใหม่ๆ ค่อยเป็นค่อยไปนะ ทำ ๕ นาที ๑๐ นาที ค่อยๆ เรียนรู้ เล็กๆ น้อยๆ ค่อยเก็บเล็กผสมน้อยไป จึงต้องมีเวทนาทุกคน

อาตมาก็เป็น ไม่ใช่ไม่เป็น บัดนี้ปวดไหม ปวด! ปวดมากหรือน้อย โยมรู้ไหม โยมก็ไม่รู้ ใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นเจ้าของก็รู้ว่ามันปวด แต่เจ้าของไม่สนใจกับมัน แยกมันอยู่เสีย จิตก็ไม่เกาะเท่านี้เอง กลายเป็นเวทนาในเวทนา แก้ปัญหาจากเวทนาปวดเมื่อย

ยกตัวอย่าง โยมเป็นโรคปวดขา โยมก็เกาะเกี่ยวกันด้วยการกำหนด ปวดขาหนอ ปวดขาหนอ พอสมาธิเกิดขึ้นจากการภาวนา เรียกว่า เกาะจับจุด

สมาธิแปลว่าอะไร สมาธิแปลว่าจับจุดเดียว แต่งกายแต่งตัวอยู่ในชุดเดียว เรียกว่าสมาธิ โยมกำลังทำงานไม่ข้องเกี่ยวกับใคร ถือว่าทำงานด้วยสมาธิ จิตไม่วอกแวก จิตไม่ส่งไปที่อื่นแต่ประการใด เรียกว่า เวทนาสมาธิ เกิดสมาธิมันก็เกิดแจ้งจิตใจ จิตสงบลงที่สมาธิ ในภาวนาของเวทนา ขันธ์ ๕ ในรูปเวทนานี้ มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน วูบหายไป เวทนาตัวหนักก็เบาลงไป

ใจก็ใสสะอาดในภายใน โยมจะเห็นชัด นี่แหละตัวอนิจจัง ไม่แน่นอน ปวดเดี๋ยวก็ปวดอีก ไม่ใช่ว่าดิฉันนั่งสมาธิได้ดีแล้วเจ้าข้า ได้ญาณสูง นั่งทีไรไม่เคยปวดเมื่อยเลย ไม่จริง! ทุกสิ่งมากหรือน้อย ต้องเป็นทุกคน ต้องประสบขันธ์ ๕ ทุกคน

รูปก็อยู่ตามรูป เวทนาขันธ์ปนกันรูป แต่แยกออกมา เรียกว่าขันธ์หนึ่ง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกเป็นหนึ่งว่า นามกับรูป

เวทนาก็คงเป็นเวทนา นามรู้ปวด สัญญาความจำ จำได้หมายรู้ เรามีความจำในขันธ์ สัญญา มีสมาธิภาวนาแล้ว จำแม่นไม่ลืม จำดูดดื่มในปัญญา จำอะไรหรือ จำรูป จำนาม จำขันธ์ ๕ ได้

นามธรรมเป็นสมาธิในสัญญา ในสมาธิภาวนา มันจะจำไม่ลืม ไปจำเอาตอนจิตเป็นทุกข์ตายขณะนั้น โยมไปนรก ถ้าไปจำตอนมีสุขไปเจือปนตอนนั้น โยมตายไปสวรรค์ สุคติปาฏิกังขา จุดนี้เป็นจุดสำคัญ มีความหมายในเวทนานี้

สัญญาจำเวทนาได้ไหม ต้องจำได้ ถ้าเราเคยปวด เคยทำ โอ๊ย จำได้ ปวดขาอีกแล้วตามเดิม มันก็จำตัวสัญญาบอกให้จำ แต่เราขาดสติสัมปชัญญะ

นี่อะไรโยม “สัญญา” ความจำได้หมายรู้ ได้มาจากไหน สัญญาขันธ์ ขันธ์ตัวนี้มั่นคง มีสมาธิลงด้วยองค์ภาวนา ประกอบไปด้วยสติ สัมปชัญญะ แยกรูปแยกนามได้ ไม่ปนกัน

คนที่อารมณ์ดี จิตมั่นคง คนที่มีอารมณ์เยือกเย็นเป็นบัณฑิต จิตมั่นคง สัญญาก็ไม่ขาด สัญญาเกิดความจำ สัญญาฝึกอยู่ในเทป คือจิตสำนึก สมัญญา เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อสามนี้ สำหรับบันทึกจิต จิตเป็นธรรมชาติ คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เวลานาน มาเปิดเมื่อใด โผล่ออกมาเมื่อนั้น สัญญาความจำได้หมายรู้ มันเป็นกิจอันหนึ่ง เป็นสัญญาลึกซึ้ง นี่จิต-ตานุปัสสสนาสติปัฏฐาน

จิตฟุ้งซ่านเป็นธรรมชาติของจิต ต้องผันแปร แต่อารมณ์ที่จำได้ มันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาขันธ์ เป็นขันธ์ที่จำได้แม่นยำ ต้องประกอบด้วยสติ ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ สติมา สัมปชาโน โผล่ออกมาในสังขาร ในสัญญาขันธ์

สติสัมปชัญญะได้มาจากไหน ได้มาจากการกำหนด กำหนดได้มาจากไหน ได้จากการเจริญสติปัฏฐาน ๔

เดินยืนนั่งนอนได้มาจากไหน ได้มาจากอินทรีย์ หน้าที่การงานรับผิดชอบ ตาเห็นรูปกำหนด หูได้ยินเสียงกำหนด จมูกได้กลิ่นตั้งสติไว้ด้วยการกำหนด เพื่อสัญญาความจำ เป็นสมาธิภาวนาเกี่ยวโยง

ความจำมี ๒ อย่าง จำฝ่ายดี จำฝ่ายชั่ว จำเอาตัวไม่รอด จำด้วยราคะ จำด้วยโทสะ จำด้วยโมหะ จำได้แม่น ทำไมถึงจำด้วยโทสะ เพราะเมื่อวานซืนต่อยกันมา เมื่อปีกลายตีกันหัวแตก จำได้ไหม ได้ อะไรเป็นตัวจำ ตัวสัญญาจำ

นี่แหละจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์จิต มีสัญญาจำ ๒ ประการ จำดี จำชั่ว จำชั่วไว้เป็นโรคประสาท จำดีไว้ในสมองปัญญาดี จิตใจผ่องใสในทางดี

จำทางชั่วไว้ จิตใจเป็นอกุศลตลอดไป มันลืมไปแล้ว เห็นคนนี้มานั่ง พอเห็นปั๊บพลุ่งขึ้นทันที ความจำเก่าสัญญาขึ้นมา อ๋อเมื่อ ๓ ปี คนนี้ทะเลาะกับเรา มันจำที่ไม่ดีนะ เพราะเหตุใด เพราะแยกรูปแยกนามไม่ออก แยกความชั่ว แยกความดีไม่ออกจากกัน ไปผสมกัน เจอชั่วก็จำได้ เจอดีก็จำได้

เหมือนคนมาทำบุญละบาปไม่ได้ เหมือนมาบวชกันละชั่วไม่ได้ เอาดีได้อย่างไร มันจำแต่ชั่ว ดีไม่ค่อยจำ นี่เรียกว่าสัญญาอันหนึ่ง

ถ้ามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว แยกรูปแยกนามได้ แยกชั่วกับดีออกจากกันได้ แยกเอาชั่วทิ้ง เอาดีไว้ แยกเอากุศลเข้าไว้ เอาอกุศลออก แยกโลภะ แยกโทสะ แยกโมหะ

แยกตรงไหน ตาเห็นรูป ชอบไหม ชอบเป็นโลภะ ไม่ชอบเป็นโทสะ จำได้แม่น ตากับรูปเป็นคนละอันกัน รูปกับตา อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม พอแยกออกจากกันแล้ว มันก็ออกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็สลดปั๊บดับลงไป

มาสร้างบุญกุศล ทำไมเอาบาปติดมาเล่า มาสร้างความดี ทำไมเอาชั่วติดมาเล่า มาเป็นมนุษย์ ทำไมเอาลิงติดกันมาเล่า เสียใจสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานนะ ไม่น่าเลย

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เสียงหนอ เขาด่าเรา เราจำได้ เอามาไว้ในใจ ไม่กำหนดเสียงหนอ จำเอาเสียงด่ามาไว้ในใจ เลยก็กลุ้มอกกลุ้มใจ

นี่แหละกฎแห่งกรรมนะ หนีไปไหนจะเห็นคนด่า คนว่า มีที่ไหน แยกรูปแยกนามเสียเถิด จะได้ประเสริฐเป็นพระ ใจประเสริฐแล้ว จะได้ไม่จำที่ชั่ว ที่อยู่ในตัวเราบันทึกเทปไว้เสียเต็มเปา เต็มกระเป๋าเลย

แยกรูปไม่ออก แยกนามไม่ออก จิตก็เป็นอกุศลกรรม ตอบได้ดังที่ได้ชี้แจงแสดงมา ณ บัดนี้

ขออนุโมทนาส่วนกุศลไว้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน ขอโปรดจงแยกรูปแยกนาม แยกความชั่วแยกความดีออกจากกัน อย่าไปปนกันอย่างนั้น มันทำให้สับสนอลหม่าน ..ทั้งดีทั้งชั่วปนกันเลย เลยก็ทะลึ่งตึงตังดังที่กล่าวมา

ไม่กำหนดเสียงหนอ ไม่กำหนดรูปหนอ เห็นหนอไม่กำหนด กลิ่นเหม็นก็ไม่กำหนดไว้ในใจ เลยคนนั้นก็เป็นบาปติดตัวไป ไม่ต้องไปหาวัดอื่นต่อไปแล้ว ไปวัดของเรา วัดกาย วัดวาจา วัดใจ วัดนอกวัดใน ในสติปัฏ-ฐานสี่ ดังที่ได้ชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ด้วยประการฉะนี้