แก้กรรมด้วยการกำหนด

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

อารัมภกถา

เจริญสุขญาติโยมพุทธบริษัท ญาติโยมได้มาพร้อมใจกันสวดมนต์ไหว้พระเจริญกุศลภาวนาตามลำดับ แล้วจงอโหสิกรรมแก่ท่านสาธุชน และหมู่กรรมทั้งหลายให้มารับเวรรับกรรมรับภัยที่เราขออโหสิกรรม จะได้หมดเวรหมดกรรม หมดภัยหมดโทษ และเราก็จะโฉลกดีเป็นเบื้องต้น

การสวดมนต์เป็นนิจนี้ มุ่งให้จิตแนบสนิทติดในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จิตใจจะสงบเยือกเย็นเป็นบัณฑิต มีความคิดสูง ทิฎฐิมานะทั้งหลาย ก็จะคลายหายไปได้ เราจะได้รับอานิสงส์เป็นผลของตนเองอย่างนี้จากสวดมนต์เป็นนิจ

การอธิษฐานจิตเป็นประจำนั้น มุ่งหมายเพื่อแก้กรรมของผู้มีกรรม จากการกระทำครั้งอดีตที่เรารำลึกได้ และจะแก้กรรมปัจจุบันเพื่อสู่อนาคต ก่อนที่จะมีเวรมีกรรมก่อนอื่นใด เราทราบเราเข้าใจแล้ว โปรดอโหสิกรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย เราจะไม่ก่อเวรก่อกรรมก่อภัยพิบัติ ไม่มีเสนียดจัญไรติดตัวไปเรียกว่า เปล่า ปราศจากทุกข์ ถึงบรมสุข คือ นิพพานได้

เราจะรู้ได้กรรมติดตามมาและเราจะแก้กรรมอย่างไร ในเมื่อกรรมตามทันถึงตัวเรา เราจะรู้ตัวได้อย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องที่แล้วๆ มา นี่ข้อหนึ่ง

ข้อสอง แก้แล้ว เราจะรับกรรมหรือไม่ และเราจะสร้างเวรกรรมใหม่ประการใด และจะแก้กรรมอย่างไรในอนาคต เผื่อเป็นผู้โชคดี เป็นผู้มีกรรมดีในอนาคต

ชีวิตต่อไปในเบื้องหน้า เราไม่สามารถจะทราบได้ จะทราบได้วิธีเดียว คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ การปฏิบัติให้มีสติสัมปชัญญะ โยคีผู้บำเพ็ญเพียรจะรู้ได้ จะทราบด้วยญาณวิถีของตนเป็นปัจจัตตัง

คำว่า ญาณวิถีของตนนั้น หมายความว่า ความรู้ให้เกิดผล ได้อานิสงส์  เป็นผู้มีปัญญา ปรีชาสามารถ เฉลียวฉลาดในการปฏิบัติธรรม แก้กรรมได้ และกรรมนั้นจะไม่ส่งผลในอนาคตข้างหน้าได้แน่นอน

ผู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แก้กรรมได้ ผู้นั้นต้องการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติด้านกายของตน กายนอกกายใน ภายในจิต กายทิพย์ ทิพยอำนาจของใจ ได้มาเป็นกายทิพย์ ทิพย์นี้หมายความว่าภายนอกภายใน รู้ภายในใจ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายนุปัสสนา ข้อที่หนึ่ง หมายความว่าผู้ปฏิบัตินั้นรู้กายในกาย คือรู้สักแต่ว่ากายนี้ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเรา เขา ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีกายอยู่ในตัวตน จิตจะได้รู้ว่าการที่กายเคลื่อนย้ายไหวติงประการใด มันอยู่ที่ใจทั้งหมด

จิตก็กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน จะเหลียวซ้ายแลขวา คู้เหยียด เหยียดขา จะมีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลกาย เมื่อจิตผ่องใสสะอาดบรสุทธิ์เรียกว่า กายในกาย ภายในจิตผ่องใส ภายนอกจิตผ่องใส

ภายนอก กายจะเคลื่อนย้าย มันก็เคลื่อนอย่างช้าๆ มี ๓ ระยะ เคลื่อนไปทางไหน ก็มีจังหวะ จะยืนเดินนั่งนอนอันใด ก็มีจังหวะมีระเบียบวินัย มีสังขารปรุงแต่ง เกิดกาย เรียกว่า กายทิพย์ เพราะเรามีจิตเป็นกุศล สมาธิก็ดี สติก็ดี ควบคุมจิตไว้ดีแล้ว จะรู้กายในกาย

รู้กายในกายนี้ จะรู้ได้ด้วยตัวกำหนด เช่น ยืนหนอ ๕ ครั้ง เป็นต้น จะรู้กายภายนอก สภาวธรรมอยู่ภายใน จิตในก็ดีเยือกเย็น สติก็ควบคุมไว้ได้อย่างดี เราก็เป็นผู้มีปัญญา จิตก็ใสใจก็สะอาดหมดจด เรียกว่าบริสุทธิ์

ในเมื่อจิตเข้าขั้นบริสุทธิ์แล้ว เราจะรู้ว่าใจของเราเป็นประการใด มันอยู่ภายในจิต เรียกว่ากายในกาย จะรู้แจ้งแก่ใจของเรา

เช่น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กายนอกดูความเคลื่อนย้ายของสกนธ์กาย เรียกว่าสภาวรูป รูปเคลื่อนย้ายและโยกคลอนได้ เคลื่อนไปที่ไหน มันก็ดับที่นั่น จิตใจก็เข้าไปรู้ในภายใน รูปกับนามก็แยกออกไป นี่แหละกายภายนอกและกายภายใน จิตใจก็รู้เรียกว่า นามธรรม

คำว่านามธรรม ในที่นี้คือ จิตที่ลึกซึ้ง รู้ว่ากายเคลื่อนไหว มีมารยาท มีวินัยดี กายก็เคลื่อนย้ายโดยสภาวะ สุนทรวาจาก็กล่าวไพเราะ เหมาะเจาะด้วยเหตุและผล ข้อเท็จจริงทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากจิต เพราะจิตเป็นหัวหน้า มันจะสั่งให้กายเคลื่อนย้ายไปหยิบอะไรก็ได้

ในเมื่อกายในถึงที่แล้ว แยกรูปแยกนามออกได้แล้ว ก็เรียกว่านามธรรม นามธรรมตัวนี้แปลว่าตัวรู้ ตัวเข้าใจ ตัวมีเหตุมีผล เพราะจิตของผู้ปฏิบัติประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ มีสติดี ควบคุมจิตไว้ได้ จึงจะรู้แจ้งแห่งจิต เรียกว่า กายในกาย กายภายใน

คนที่มีสติดี มีสัมปชัญญะ รู้ตัว รู้ทั่ว รู้นอกรู้ใน รู้แจ้งแห่งจิต รู้เหตุผลต้นปลายทุกประการแล้ว อย่างนี้เรียกว่ากายในกาย มันจะเกิดทิพยอำนาจ อำนาจเกิดกายทิพย์

กายทิพย์นี้หมายความว่า สภาพสกนธ์กายคือสภาวรูป รูปเคลื่อนย้ายเกิดขึ้น แล้วก็แปรปรวนแล้วดับไป แล้วก็เข้ามาถึงจิตใจเราว่า อ๋อ นามธรรม จิตนี้มันก็เป็นนามธรรม มีคุณสมบัติอยู่ข้อหนึ่ง คือรู้กายในกาย รู้ภายในจิต

จะเคลื่อนย้ายไปทางไหนก็รู้ จะคู้เหยียดประการใด มันจะมี ๓ ระยะ แต่ ๓ ระยะนั้นมันจะบอกชัด ไปในกายของตนว่า จะเคลื่อนย้ายอย่างนี้ จะหยิบแก้วน้ำ ก็มีระเบียบ ไม่มีเสียงดัง เพราะคนนั้นรู้นามธรรม มีสติควบคุมจิต และก็เคลื่อนย้ายไปอย่างละเอียดอ่อน จะวางช้อน จาน หม้อ ไหก็เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างนี้ เรียกว่า กายในกาย

รู้กายเคลื่อนย้าย จะหยิบอะไรก็หยิบหนอ เคลื่อนมาช้าๆ แล้วก็วางหนอ อย่างนี้เรียกว่ารู้ภายใน

ความรู้ในภายในตัวนี้เรียกว่า รับรู้ เพราะมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตัวรู้นั่นแหละ เป็นการรู้ในภายใน รู้เข้าใจ รู้ความถูกต้อง รู้กาลเทศะ รู้อย่าวนี้จึงเป็นการถูกต้อง เรียกว่ากายทิพย์

กายทิพย์นี้หมายความว่า มีรูปสภาวะ มีจิตสภาวะ มีสติควบคุมเคลื่อนย้ายได้ในสภาวรูป เรียกว่า กายนอก รู้ภายในบริสุทธิ์ว่าจะเคลื่อนย้ายรูปไปอย่างไร จะหยิบอะไร จะมีระเบียบมีวินัย จะต้องตั้งไว้ที่ไหน ถูกต้องประการใด อย่างนี้เรียกว่ากายภายใน

จะกล่าวเป็นข้อที่สามว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน กายรู้เข้าใจในกาย คือจิต

จิตรู้แล้ว เข้าใจถูกต้อง เรียกว่านามธรรม เป็นกิจกรรมของจิต จิตก็ผ่องใสใจสะอาดหมดจด จะทำอะไร เปรอะเปื้อน จะกล่าวอะไรออกมาก็เป็นธรรม เป็นกิจกรรมที่ถูกต้อง

นี่แหละก็เข้าในหลักที่ว่ากายในกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฎ-ฐาน คำว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่าอะไร เรียกว่ากายภายใน

รู้ภายในว่า อ๋อ อะไรเป็นสัตว์ อะไรเป็นบุคคล มือคลำไม่ได้เลย แยกรูปออกไป แยกนามออกมา แล้วก็รู้ว่ากายในกายภายในเป็นกายทิพย์ กายทิพย์นี้มองไม่เห็นตัว อย่างนี้เรียกว่า นามธรรม แสดงกิจกรรมออกมาทางรูป

หน้าตาน่าดูพิสมัย จิตใจก็เบิกบาน หน้าก็ไม่เศร้า ใจก็ไม่หมอง เรียกว่ากายภายใน มีสติดีมีสัมปชัญญะ รู้ตัวด้วยเหตุผล รู้ตัวและเข้าใจกาย รู้เข้าใจในจิต รู้ความผิดความถูก รู้ชอบ มันรู้อยู่อย่างนี้

ในเมื่อมีความรู้ความเข้าใจดีเช่นนี้แล้ว ไหนเล่าจะเป็นตัวตน ใครจะด่าเรา เราจะรู้ว่าด่าตรงไหน อะไรเป็นกาย อะไรเป็นจิต มันแยกรูปแยกนามออกไป กายส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง สลายไปแล้ว มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สิ่งที่เป็นของเหลวกลายเป็นธาตุน้ำ สิ่งที่แข็งก็กลายเป็นธาตุดิน สิ่งอบอุ่นในร่างกายก็กลายเป็นธาตุไฟ และความเย็นใจเกิดขึ้น ไหวติงอยู่เสมอ ลมก็พัดเข้ามาเยือกเย็นอยู่ในเส้นโลมาเป็นธาตุลม ก็เป็นเพียงธาตุทั้งสี่ ประกอบกรรมทำดีในร่างกาย สังขารปรุงแต่ง มันก็อยู่อย่างนี้เป็นต้น ไหนล่ะมีตัวตน

ถ้าเราไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นเขา ก็ต้องทะเลาะกัน เขาด่าเราๆ อยู่ที่ไหน หาตัวเราให้พบนี่แหละ ท่านจึงบอกว่า คนที่รู้ซึ้งในกายภายในแล้ว จะไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งหลายแต่ประการใด

เขาด่า เราจะโกรธประการใดเล่า เลยความโกรธก็ไม่มีเพราะเหตุนี้ ความรักโดยกามตัณหาราคะก็ไม่มีในส่วนนี้ มีแต่เมตตาอยู่ในตัวตน

นี่คืออรรถาธิบายสำหรับกายานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อที่หนึ่ง เรียกว่ากายในกายหนอ เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้ว ก็เคลื่อนย้ายดับไป ไม่มีอะไรเป็นตัว เป็นตน มีแต่กุศลอยู่ในจิตใจทำนองนี้ เป็นต้น

อันนี้เป็นกายภายในกายจิต เรียกว่าจิตแสดงเคลื่อนย้าย แล้วเราก็แยกออกมาได้ การเคลื่อนย้ายทั้งหมดเรียกว่ารูป สติดีคุมใจไว้ภายใน จิตรู้ว่าเคลื่อนย้ายไป มือเท้า เหยียดแข้ง เหยียดขา คู้เหยียด เคลื่อนย้ายไปด้วยความถูกต้องทุกประการแล้ว ความเป็นระเบียบก็เกิดขึ้น ความหมองใจที่มีก็หายไป และเราก็รู้ว่านี่แหละคือนามธรรม

มีธรรมะคือสติสัมปชัญญะควบคุมจิตเรียกว่านามธรรม ถ้าเราแยกรูปแยกนามในด้านกายานุปัสสนาได้แล้ว เราจะรู้เองว่าไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเขา ไม่มีเรา และจะโกรธไปทำไมเล่า ไปโกรธตัวตน เกลียดหนังมังสา เกลียดเหงื่อ ขี้ไคล เกลียดขี้หูขี้ตา ใช้ไม่ได้

คนประเภทนี้ยังติดอยู่ในรูป ติดอยู่ในกามคุณ ติดอยู่ในสิ่งที่ไร้สาระ เลยแยกนามรูปไม่ออก บอกไม่ได้ ใช้ไม่เป็น เห็นแต่ตัวตาย จะคลายทิฏฐิไม่ได้ เห็นความเกิดดับในจิตไม่ได้ เลยก็ไม่รู้จริงอย่างนี้

นักปฏิบัติธรรมโปรดทำความเข้าใจ ต้องกำหนดตั้งสติทุกอิริยาบถ ท่านจะซึ้งในรสพระธรรม ท่านจะดื่มรสพระธรรมด้วยทางกายและทางใจ

หมายความว่า ตัวปฏิบัติที่เรารู้ชัดเจน รู้ความเข้าใจเรื่องตัวตน สักว่ามีแขน มีขา มีสภาวรูปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเคลื่อนย้ายอยู่อย่างนี้ มันเกิดดับอยู่วันยังค่ำ

เวลาหนึ่งไม่ทราบว่าดับไปกี่พันครั้งในจิต เราจะรู้ข้อคิดเป็นกายทิพย์ ทิพยอำนาจเกิดจากจิต ทำให้เกิดกายทิพย์ ทำให้กายหล่อหลอมน้ำใจ เราจะเคลื่อนย้ายไปทางไหน สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของจิตให้กายลอดช่องเล็กไปได้เมื่อตื่นเต้นหนึ่ง

ลอดไปได้เพราะสมาธิจิตเป็นปีติ เกิดขึ้นเป็นข้อสอง จิตหวั่นไหวตะลึงพรึงเพริดขาดสติ ก็มุดเข้าไปช่องเล็กได้ เป็นข้อที่สาม เป็นการตื่นเต้น ตื่นตัว ไม่ใช่ตื่นใจ ใช้อำนาจแค่ปีติเท่านั้น ก็สามารถจะทำได้

แต่การที่จะรู้ซึ้งถึงด้านกายนี้ รู้ยาก ผู้ปฏิบัติต้องปรารภธรรม ว่าจะเดินจงกรม ว่าเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อะไรย่าง เท้าย่าง เอาสติไว้ที่เท้า

ก็กลายเป็นสภาวรูป กายแสดงออกเป็นภายนอก แต่จิตมีสติที่เยื้องเท้าไปว่า ขวา (ระลึกก่อน) ย่าง…หนอ ที่เราจะรู้ได้ มีสติควบคุมจิตอย่างนี้

รู้เดินจงกรมได้จังหวะดี สติดี อยู่ในจิตคล่องแคล่วดี ตัวนี้เป็นตัวรู้ว่าย่างยาวหรือสั้น ลงตรงไหนประการใด มีสติควบคุมได้ชัดเจน นี้เรียกว่า นามธรรม เป็นจิตตั้งอยู่ในภายใน รู้เคลื่อนย้ายของกายภายนอก

กายภายนอกกล่าวชัด เพราะภายในบอกจิตสติได้ สติระลึกได้ รู้ตัวอย่างนี้แล้ว ไปตามตัวกำหนด

ตัวกำหนดนี้เป็นตัวปฏิบัติ เป็นตัวฝึกให้สติควบคุมจิต ให้จิตเดินไปด้วยดีและถูกต้อง และเดินจงกรมก็คล่องแคล่วว่องไว จะไม่เซ จะไม่หนัก เพราะมันไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล เรา เขา

ถ้าเราแยกไม่ได้ มันก็โกรธกัน คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี เป็นต้น ถ้าเรารู้ซึ้งกายภายในแล้ว เราจะเห็นใจต่อกัน ว่าคนเราทั้งหลายเอ๋ย ธาตุสี่ประชุมรวมกันรวมอรรถาธิบายเรียกว่า ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อายตนะ ๖ ปรารภอย่างนี้ แล้วเราก็เกิดคุณความดี ดื่มรสพระธรรม เพราะมีจิตใจเป็นกุศล สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ปัญญาก็เกิด จึงรู้ว่า อ๋อ เรานี้ไม่มีตัวตน

ชื่อของเรานี้เป็นตัวสมมติบัญญัติ สมมตินามแทนชื่อนี้ให้เขาเรียกถูกต้อง เราจะได้เข้าใจว่าเขาเรียกเรา เท่านี้เอง ก็เพียงให้คนอื่นรู้ จะได้เรียกชื่อถูก อย่างนี้เป็นสมมตินามแทนชื่อ

แต่ความดีไม่ใช่อยู่ที่ชื่อ ชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ใช่ชื่อที่ตั้ง มันอยู่ที่นามธรรม นามธรรมเป็นมิ่งขวัญของชีวิตประจำตนของบุคคลผู้มีกายทิพย์

ทิพยอำนาจเกิดจากจิต จิตแสดงเหตุผล ถ้าเรามีจิตผ่องใส รู้รูปธรรมนามธรรมได้ แล้วก็แยกออกไป ไรเป็นรูป ขวาย่างหนอ ขวาเป็นรูป ซ้ายเป็นรูป เรียกว่ากาย

อะไรรู้มันย่างไป จิตรู้ และรู้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ควบคุมไปพร้อม สติมา สัมปชาโน สว่างแล้ว เข้าใจแล้ว นี่เป็นรูปเคลื่อน เป็นรูปธรรม

และนามธรรมนั้นได้แก่อะไร มีจิตรู้ว่าขวาย่าง ซ้ายย่าง ยาวสั้นประการใด แล้วสติไปควบคุม สติก็ดีขึ้น จิตใจก็เบิกบาน คล่องแคล่วในสมาธิภาวนา เรียกว่า นามธรรม เราก็แยกได้ชัดเจน

เราทำได้ เราก็แยกได้เอง ไม่ใช่ครูอาจารย์ไปสอนให้แยก เรามาแยกออกได้เรียกว่ากายทิพย์ กายในกาย กายนอกคือรูป กายในภายในคือจิต ได้แก่นามธรรม

แยกรูปแยกร่างสังขารออกไป มันปรุงแต่งทำให้เกิดจิต ปรุงแต่งขึ้นมาทำให้เกิดกิเลส เกิดราคะบ้าง เกิดโทสะบ้าง เกิดโมหะบ้าง แล้วเราก็ขาดสติ ไม่มีสติสัมปชัญญะ จิตหลั่งไหลสู่ที่ต่ำ เรียกว่า ถูกใจไม่เป็นการถูกต้อง เป็นการผิดพลาดน่าเสียดาย

ถ้าแยกได้แล้ว เราจะรู้ตัวเองว่า อ๋อ ปัจจัตตังแล้ว รู้ตัวรู้ตนว่าในตัวเราทั้งหมด ไม่มีอะไรดีเลย มีรูปกับนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์เท่านั้น ไม่มีอื่นใด มีแต่อารมณ์ของเราคือจิต จิตที่แสดงท่าทีเหี้ยวโหดดุร้ายหลายประการ มันกินอาหารกิเลสเป็นเหตุทำลายตัวเราตลอดรายการ

เพราะจิตนี้กับรูปกับนามนี้มันแยกง่าย ถ้าเราปฏิบัติจะรู้เอง เราคู้เหยียด เหยียดแขน คู้เข้ามาดูช้าๆ เราจะรู้ว่ามี ๓ ระยะ ได้จังหวะจะโคน มีระเบียบ

รูปก็แยกออกไป นามก็ไปส่วนหนึ่ง เรียกว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ด้ายกาย ด้านกายานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน จิตใจก็เบิกบาน เราจะไม่มีตัวตน จะไม่ถือตนถือเรา ถือเขาแต่ประการใด

มีอะไรหรือ ตอบออกมาทันทีว่ามีรูปกับนาม จะไม่มีความโกรธ จะไม่โทษใคร มีโทษของตนก็ยอมรับกรรมไป แล้วตนก็แก้ไขกรรมของตนเอง จากการกระทำนั้นเป็นต้นเหตุ สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้ชี้แจงแสดงมาให้ปฏิบัติทางสายเอก อย่างนี้

คำว่า ตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่น มันโกรธ ลงโทษเขา ตัวเองไม่โกรธา กลับไปโกรธาคนอื่น นี่เพราะแยกกันไม่ได้ รูปกับนามแยกไม่ออก มันจึงโกรธกัน มันไม่มีอะไรต่อเนื่องกันเลย

นี่มันหลงกันเหลือเกินคนเราทุกวันนี้ มันแยกรูปแยกนามไม่ออก มันยังถือตัวตนอยู่ ถือเราถือเขาอยู่ อะไรเป็นเขา อะไรเป็นเราก็ไม่รู้ เลยก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้มา คนเราจึงโกรธกันง่าย ทะเลาะเบาะแว้งกันง่ายดาย ดังได้ชี้แจงมาอย่างนี้เป็นต้น นี่อยู่ตรงนี้เรียกว่ากายในกาย

 

เวทนานุปัสสนา

เวทนุปัสสนาข้อที่สองนั้น จะแยกเวทนาอย่างไรหรือ เวทนาที่เป็นหลักปฏิบัติ มี ๓ ประการ เรียกว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา

ในเมื่อเราเจริญทางกาย เดินจงกรมนั่งกำหนดพองหนอ ยุบหนอ กายพอง กายยุบ รูปพอง รูปยุบ สติดีมีปัญญา เราจะรู้ว่าพองเท่าไร ยุบเท่าไร จิตใจเป็นประการใด ยาวสั้นประการใด จิตเป็นผู้สร้าง จิตเป็นผู้รู้ แต่ปัญญาจะเกิดหรือไม่ เป็นเรื่องของคนทำ

ในเมื่อมีสติดี พองหนอ ยุบหนอชัดเจน และคล่องแคล่วดี มันก็เกิดรูปธรรมนามธรรม เกิดจิตพองหนอ ยุบหนอ พองก็เป็นรูป ยุบก็เป็นรูป จิตกำหนดรู้เป็นนาม และก็สติมั่นคงอารมณ์ดี อานาปานสติได้พองหนอ ยุบหนออย่างนี้

จิตเข้าขั้นดี อารมณ์ก็ดีขึ้น จิตใจก็คล่องแคล่วเรียกว่านามธรรมแยกออกไป รู้นอกรู้ในด้วย ที่ด้านกายทั้งหมด

และเวทนาแทรกซ้อนมาอีก เดี๋ยวก็สุขกายสุขใจ เดี๋ยวก็ทุกข์กายทุกข์ใจ เดี๋ยวก็จิตลอยไปโน่น ลอยไปนี่ ขาดสติสัมปชัญญะ สุขก็เวทนา เจือปนด้วยความทุกข์ ไม่แน่นอนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นอกเหนือจากนั้น ทุกขเวทนา ทุกข์นอก ทุกข์ใน ทุกข์จร โทมนัสสัง ทุกข์ใจ เรีกยว่าความทุกข์ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากกันก็เป็นทุกข์ เป็นกรรมของเรา จากการกระทำของสัตว์โลก จากการกระทำของตน ความทุกข์อย่างนี้ไม่มีความสุข หาความสุขแน่นอนไม่ได้ในโลกมนุษย์นี้

เราก็จับได้ สุขหนอ ดีใจหนอ เสียใจหนอเป็นต้น ตั้งสติไว้ กำหนดตลอดไป เราจะรู้แก่ใจเองว่า อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์ กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา ธรรมเป็นกุศล ธรรมเป็นอกุศล จะรู้ได้ในเวทนา รู้มากทีเดียว อ๋อ กุศลกรรม จิตไม่ดีแล้วก็เสียใจ

ทุกข์เอ๋ย ทุกข์ใน ทุกข์นอก ทุกข์จร ทุกข์ใจโทมนัสสัง เราทุกข์ ใครไม่ทราบ เรามาเพิ่มทุกข์อยู่ในใจ ความโกรธเคียดแค้นก็เกิดขึ้นแก่ตนเอง  นี่แหละเวทนา มันเกิดทุกข์หาความสุขไม่ได้แล้ว

เกิดความสุข ดีใจหัวร่อร่าชั่วโมงนี้ จะไปร้องไห้ชั่วโมงหน้า ต้องเสียอกเสียใจ ไม่มีอะไรมั่นคง เพราะแยกไม่ออก ไม่รู้เลย ความทุกข์จรมา

เพราะคนเราเดี๋ยวนี้ ทุกข์ประจำก็มากแล้ว กลับไปเอาทุกข์จรมาอีก ทุกข์ไม่ใช่เรื่องของตน ก็เอามาเป็นทุกข์ เพราะยังไปถือตน ถือเรา ถือเขา ก็ไปเอาทุกข์จรมา

ในเมื่อทุกข์จรขึ้นมาแล้ว ทุกข์ประจำมันก็หนักขึ้น ความเสียใจก็เพิ่มขึ้น ตลอดทุกข์โทมนัสสัง ความเสียใจก็ดี ความทุกข์ทรมานหัวใจก็ดี ก็เกิดขึ้นแก่ตัวเรา และตัวเราก็เกิดระทมขมขื่น บันทึกไว้ในจิตใจ มีแต่ความทุกข์ หาความสุขไม่ได้

คนห่างธรรมะ ชอบเอาทุกข์จรนอกประเด็นมาเผาจิตใจตน ทุกข์ของเราก็เต็มเปา ไม่ชอบจะแก้ไข เราต้องแก้ไขทุกข์ประจำก่อน ให้มันหายไป แล้วทุกข์จรมันก็แก้ง่าย

ทุกข์ประจำแก้ไม่ได้ มันเป็นทุกข์หนัก ทุกข์จรเป็นเรื่องเล็กๆ มาประสบทุกข์หนัก เลยก็หนักอกหนักใจตลอดรายการ

ได้ยินพระท่านมาติกาบังสุกุล ปัญจักขันธา รูปักขันโธ เวทนากขันโธ เห็นได้ชัด แต่เราไม่เอารูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นอารมณ์ แต่ไปเอาทุกข์มาอีก ไม่อยู่ในอารมณ์ของขันธ์ ๕ ไม่อยู่ในอารมณ์ของรูปนาม และเราก็เอาทุกข์ประจำมาใช้เป็นทุกข์จร เอาทุกข์จรมาประสมทุกข์ประจำ เลยทุกข์ก็หนักกันต่อไป บรรเทาทุกข์ไม่ได้ บำบัดทุกข์ถึงบรมสุขคงไม่ได้

จะบำบัดทุกข์ได้อย่างไร เป็นการเพิ่มทุกข์เสียแล้ว เพิ่มทุกข์ให้มาก ทุกข์กายทุกข์ใจ ปวดเมื่อยทั่วสกนธ์กาย ก็เป็นทุกข์แล้ว หิวกระหายก็เป็นทุกข์ มันเป็นเรื่องของทุกข์ไปหมด ทำนองนี้ เพราะเราแก้ไขไม่ได้ เวทนาก็แยกไม่ได้แล้ว

ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่ากายแยกได้แล้ว เวทนาก็ต้องแยกได้เหมือนกัน อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เวทนาอาศัยรูปเกิด ถ้าไม่มีรูป เวทนาเกิดไม่ได้ มันปรุงแต่งตลอดเวลา

มันยังปวดขา ปวดกระดูก ปวดนอก ปวดใน นี่แหละมันปรุงแต่ง และมันก็เกิดทุกข์เวทนา เกิดกับตัวเรา เรียกว่าทุกข์นอก ทุกข์ใน ทุกข์ทั่วสกนธ์กาย ทุกข์ในใจ

ทุกข์กายปวดเมื่อย มันก็ใจไม่สบาย ใจไม่ดีแล้ว แต่เราแยกรูปแยกนามได้ แยกเวทนาได้ กำหนดเวทนานั้นว่า ปวดหนอ ๆ ปวดหนัก หนักแล้วจะเห็นตัวทุกข์

เห็นทุกข์แล้ว ทุกข์มันจะดับ ดับไปแล้วเป็นอะไร เป็นความสุข ปราศจากทุกข์ แยกตัวทุกข์ออก ตัวสุขออก จิตก็ว่าง จิตก็ไม่ไปยึดทุกข์ จิตก็ไม่ยึดสุข จิตก็ลอยลำ เป็นการปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง จิตใจก็ผ่องใส จิตใจก็บริสุทธิ์

ร่างกายสังขารไม่สมฤดี ปวดเมื่อยทั่วสกนธ์กาย เราต้องเอาจิตไปปักที่ตัวปวด ปักเป็นการฝึก ครูเวทนามาสอน ต้องฝึกว่าเป็นทุกข์ทรมานเหลือเกิน ทุกข์นอก ทุกข์ใน

ทุกข์นอกไม่สำคัญเท่าทุกข์ใน คือทุกข์ในใจ กายหนอกาย มันทุกข์เกิดปวดเมื่อย เพราะมันมีรูปปรุงแต่ง สังขารอาศัยรูปเกิด มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยึดไปยึดมายึดทุกข์ หนักเข้าก็สนุกกัน ทุกข์ก็หายไป ปวดเมื่อยหายไป จิตใจก็ผ่องใส จิตก็ไม่ไปยึดมั่นมีอุปาทานแต่ประการใด

จิตไม่ไปปวดรวดร้าว ปวดก็แยกไปเป็นส่วนหนึ่งของเวทนา  นามธรรมก็ไปอีกส่วนหนึ่ง จิตจะไม่ไปเกาะเกี่ยวกับความทุกข์ จิตจะเบิกบาน นี่แยกเวทนาออกเป็นสัดส่วน ความปวดเมื่อยก็หายไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าพระไตรลักษณ์ นั่นแหละคือวิปัสสนา เราจะได้รู้ว่าอะไรเป็นตัวตน ไม่มีแล้ว ไม่มีมันก็ไม่ปวด เพราะไม่ไปยึดตัวตน เท่านี้เองทำกันไม่ได้ พอปวดหน่อยเลิกแล้ว ไม่ได้กำหนด

คนเราจะรู้กฎแห่งกรรมได้ จะต้องรู้ตัวทุกข์ดี มันจะเกิดแตกสลาย จึงจะเกิดทุกข์ ทุกข์หายไปแล้ว กรรมเก่าตั้งแต่อดีตชาติมา มันจะบ่งชัดว่าเราทำกรรมอะไรไว้ ตรงนี้เป็นตัวสำคัญ

ขอฝากผู้ปฏิบัติไว้ว่า ต้องอดทน ต้องฝืนใจ ถึงจะพบตัวธรรมะ พบรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ถ้าเราไม่ฝืนใจปล่อยตามอารมณ์ก็มีอุปาทาน มันก็ไปยึดเหนี่ยวอยู่ในจุดนั้นตลอดไป และเราก็ไม่ทราบความจริง ก็มีแต่กิเลสเพิ่มพูนบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ไหนเลยจะพ้นทุกข์ได้

มานั่งกรรมฐานควรจะพ้นทุกข์ กลับมาเพิ่มทุกข์ หาแต่ความสุข ความสุขก็ไม่เข้า ความทุกข์ก็ไม่แน่ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาความแน่นอนไม่ได้ ด้วยวิธีนี้ประการหนึ่ง

เพราะฉะนั้น สุขเอ๋ย สุขกาย สุขใจ ต้องกำหนดตั้งสติควบคุมดูแลจิต เราจะได้ไม่ถือตัวถือตน ไม่มีทิฏฐิมานะแต่ประการใด เราจะไม่โกรธใครเลย ถึงจะมีความโกรธอยู่บ้าง ก็หายได้ไว หมั่นสั่งสมบุญกุศล อย่างนี้จะได้ผล

ผู้ปฏิบัติธรรมบางคน รูปนามก็แยกไม่ได้เวทนาก็แยกไม่ได้ เอาแต่ทุกข์จรมาประสม เลยแส่หาทุกข์บ้านเหนือบ้านใต้ เอามาประสมจิตใจก็ไม่เข้าสู่กระแสแห่งความบริสุทธิ์ได้

แค่รูปนามยังแยกไม่ได้ เวทนาก็คงแยกไม่ได้ เพราะมันยากกว่ารูปนาม เวทนาก็คือรูปนาม ปวดเป็นทุกข์ เรียกว่าอะไร มีทั้งรูปทั้งนามตัวปวด เพราะจิตปวดไปด้วย ปวดนั้นคือสังขารรูป เรียกว่ารูป แต่จิตไปเกาะเรียกว่านาม มีทั้งรูปทั้งนามนะ เวทนาตัวนี้

ถ้าจิตไปถึงขั้นวิปัสสนาญาณ ขันธ์ ๕ รูปนามเกิด พระไตรลักษณ์เกิด รูปก็แยกไปคือเวทนาที่ประสมด้วยรูป สังขารปรุงแต่ง จิตก็แยกออกไป ไม่ปวดรวดร้าวทั่วสกนธ์กาย แล้วก็สามารถจะรู้รสพระธรรมตรงนั้น

และรสพระธรรมที่ดื่มเข้าไปจากเวทนา จะทนต่อการพิสูจน์จากทุกข์ยากลำบากนี้ เราจะรู้กฎแห่งกรรมได้ทันที อยู่ตรงนะ

 

จิตตานุปัสสนา

จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐานข้อที่สาม ทำไมเรียกว่าจิตตานุปัสสนา เพราะจิตไม่มีตัวตน เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ต้องคิดอ่านอารมณ์อยู่ตลอดเวลา คิดนอกคิดใน ตั้งแต่ครั้งไหนมาก็บันทึกไว้ แล้วก็แสดงออกได้เรียกว่าจิต

อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันก็เกิด ดับเรื่อย แต่เกิดดับเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าเกิดดับ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นก็แปรปรวนดับไป มันก็เป็นอย่างนี้แหละหนอ

จิตที่คิดออกไปนอกประเด็นก็มีมากมาย จึงต้องกำหนดรู้หนอ คิดหนอ เป็นต้น นี่จากอารมณ์จิต เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติ ต้องคิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏ-ฐาน

รู้ว่าจิตในจิต เวทนาในเวทนา เวทนาตัวในคือนามธรรม รู้แยกออกรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์เวทนาก็แยกออกไป จิตก็แยกออกมาเป็นนามธรรม จิตก็ไม่สนใจในการปวด และเราจะปวดทำไมเล่า ไม่มีตัวตนจะปวด อย่างนี้เรียกว่าเวทนาในเวทนา

จิตใจ หมายความว่า จิตธรรมดาเราคิดอ่านอารมณ์ก็ไม่รู้ว่าถูกผิดก็ไม่เข้าใจ จิตในจิต สักแต่ว่าจิต ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็อันเดียวกัน ในเมื่อจิตทราบดีแล้ว ก็แยกออกไปๆๆ แยกความโลภ โกรธ หลง อายตนะ ธาตุอินทรีย์ สัมผัสเกิดจิตที่จิตตานุปัสสนา

อินทรีย์เกิดจิตที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นักปฏิบัติอย่าปล่อยเลยไป ต้องกำหนด ตาเห็นรูป กำหนดเห็นหนอ จิตตานุปัสสนา เสียงหนอ เกิดที่จิตที่จิตตานุปัสสนา จมูกได้กลิ่น ชิวหารับรส กายสัมผัสร้อนหนาว อ่อนแข็งที่ก้นจิตรู้เกิดขึ้น จิตเกิดทางไหน ร้อนหนาวก็รู้ อ่อนแข็งกันก็รู้ นี่คือจิตที่กาย จิตภายนอกเพียงรู้

จิตภายในจิต หมายความว่า มีสติสัมปชัญญะตัวกำหนดภายในจิต จิตมีสติดี จิตมีสัมปชัญญะดี เรียกว่าภายในจิต ไม่มีตัวตน และเราก็มีสติควบคุมจิตต่อไป จิตก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ในจิตภายนอกเรียกจิตนอกจิตใจก็เพราะอย่างนี้เอง

คนที่สติสัมปชัญญะดี เรียกว่า จิตในจิต รู้ข้อคิดรู้ปัญญา รู้ความสามารถของตน รู้ความเป็นอยู่ของชีวิต ขอขยายให้ฟัง ต้องกำหนดรู้หนอ คิดหนอ จิตออกไปที่ไหนไม่ทราย ออกไปเดินนอกวัด ออกไปบ้านแฟน เที่ยวทั่วประเทศ เที่ยวทั่วโลกคือจิต แต่เรารู้ภายใน จิตก็เข้ามาอยู่ข้างใน คือ นั่งทางใน คือปัญญา จิตมันก็มีปัญญา มีความสามารถ ประกอบกิจใช้จิตทั้งนั้น นี่คือจิตตานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ

ต้องกำหนดรู้ ต้องกำหนดคิด จิตมันต้องรู้ จิตมันต้องเข้าใจ ถ้าแสงสว่างเกิดเป็นทางธรรมแล้ว เรียกว่า นามธรรม จิตก็เกิดแสงสว่าง คือ ปัญญา รู้ภายในจิตของเรา รู้อารมณ์ของเราว่ามีความโลภเข้ามา มีความโกรธเข้ามา มีความหลงเข้ามา จิตเกิดอายตนะดังที่กล่าวนี้ ก็ต้องกำหนด

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องกำหนดทุกอิริยาบถ คนที่ปฏิบัติธรรมนานไปก็มีทิฏฐิสูง สะสมแต่กิเลส ไม่ได้สะสมรูปธรรม นามธรรม ให้เห็นผลประจักษ์ชัดเจน ก็ไร้ผลไม่เกิดประโยชน์

 

ธรรมานุปัสสนา

ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐานข้อที่สี่นั้น ธรรมเป็นกุศล อกุศล เราจะรู้แจ้งตนเอง เพราะแยกรูปแยกนามได้ เราจะแยกออกไป นี่กุศลกรรม นี่อกุศลกรรม กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ มันจะแจ้งแก่ใจในตอนนั้น สักแต่ว่าธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน

หมายความว่า ธรรมคือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ธรรมะเป็นคุณค่าสภาพชีวิต ธรรมะคือความทุกข์ ธรรมะไม่ใช่ความสุข เรารู้แจ้งความทุกข์ได้เด็ดขาดแล้ว สามารถจะกำจัดทุกข์ไปได้ โดยอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดขึ้นแก่ตัวตนของเรา จิตใจก็แยกประเภทออกไป เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง

กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ก็กลายเป็นกิจกรรมเรียกว่ากุศลกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ และเราก็ทายออกมาได้ว่า ธรรมอันนี้เป็นกุศล ธรรมอันนี้เป็นอกุศล แจ้งแก่ใจตนเป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ รู้ได้เฉพาะตัวเรา คนอื่นหารู้ได้ไม่

เราไปทำชั่วที่ไหนไว้ เราเท่านั้นเป็นผู้รู้ เราเท่านั้นเป็นผู้รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลทุกข์ ยากลำบากแก่ใจของตนเป็นประการใด เรียกว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา ธรรมเป็นกุศล ธรรมเป็นอกุศล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ตรงนี้ เรียกว่าวิปัสสนาภูมิ ภูมิของนักวิปัสสนา ต้องรู้ต้องเข้าใจในเชิงปฏิบัติการ

ไม่ใช่รู้ตามที่หนังสือเอามาอ่าน ตามที่ฟังพระสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้รู้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิก อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นนิพพาน

นิพพานํ ปรมํ สุญญํ นิพพานต้องสูญจากกิเลส เป็นเหตุทำลายจิต นิพพานนั้นต้องหมดกิเลสตัณหา จึงจะเกิดบรมสุข เรียกว่า นิพพานํ ปรมํ สุขํ สุขอื่นใดไม่มีเท่าสุขพระนิพพาน เพราะหมดกิเลสตัณหาด้วยประการทั้งปวง เรียกว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน ดังที่กล่าวมาแล้ว อยู่ที่ของง่ายๆ ลับลี้ลับไรเท่านั้น

กรรมครั้งอดีตนี้จะรู้ได้จากเวทนา กรรมครั้งอดีตชาติ อดีตที่ผ่านเมื่อปีที่แล้ว สิบปีก่อนโน้น จะรู้ได้จากเวทนา

 

แก้กรรมด้วยการกำหนด

กรรมปัจจุบันที่เราจะอโหสิกรรม ก็แก้กรรมด้วยตัวกำหนด เช่น เสียงหนอเขาด่าเรา กำหนดให้หายจะไม่มีเวรกันต่อไป นี่แก้ปัจจุบันนะ

กรรมครั้งอดีตแก้ไม่ได้ ต้องใช้กรรม เหมือนอย่างที่อาตมาคอหัก เราก็รู้กรรมของเราครั้งอดีต รู้จากเวทนาที่เจริญสติปัฏฐานในด้านเวทนานุปัสสนา เกิดขึ้นกำหนดไปให้แตก แล้วก็แยกออกไปเป็นสัดส่วน แล้วทุกข์นั้นก็หาย สุขเข้ามาแทนที่ จิตใจก็ผ่องใส จึงรู้กฎแห่งกรรมครั้งอดีตได้ ว่าเราเคยไปฆ่าสัตว์ เคยไปฆ่านก อย่างนี้รู้ได้โดยปัจจัตตัง

กรรมปัจจุบันจะสร้างให้เกิดอนาคต หมายความว่ากรรมนี้จะมาในปัจจุบัน เช่น คนเดินมาไม่ถูกกัน เห็นแล้วคลื่นไส้ ไม่พอใจ ไม่มองหน้ากัน เกลียดขี้หน้ากัน แก้เสีย เพื่อไม่ให้เกิดในอนาคต ก็แก้ว่า เห็นหนอ รูปนามแยกไป อะไรเป็นรูป คนที่เดินมาเป็นรูป เห็นหนอ อะไรเห็น ทางตาเห็น อะไรรู้ นามรู้

แก้ได้ไหม ได้  แก้กรรมปัจจุบันก็กำหนดเห็นหนอ เห็นหนอ คนนี้ไม่ถูกกัน ไม่พอใจกัน ไม่มองหน้ากัน เกลียดขี้หน้ากัน แก้เสีย เพื่อไม่ให้เกิดอนาคตก็แก้ว่า เห็นหนอ รูปนามแยกไป อะไรเป็นรูป คนที่เดินมาเป็นรูป เห็นหนอ อะไรเห็น ทางตารู้ นามรู้

ทางตาเป็นรูปหรือนาม ตาเป็นรูป รูปนั้นเป็นรูป แต่จิตที่รับรู้นั่นว่ารูปเดินมานั้นคือใคร เป็นตัวนามแก้ปัจจุบันไม่ให้เกิดในอนาคต เราก็กำหนดเห็นหนอๆ

ไม่พอใจคนไม่ถูกกันมา ไม่พอใจเกิดโกรธต้องรีบกำหนด ความโกรธเป็นการแก้กรรม เพื่อไม่ให้ลุกลามไปในอนาคต กำหนดโกรธหนอ โกรธหนอ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ โกรธหนอ โกรธหนอ รูปนามเป็นอารมณ์ แยกรูปคนนั้นออกไปเป็นส่วนหนึ่ง นามที่จิตไปผูกโกรธ ก็แยกออกไปเสีย ไหนไปโกรธตัวตนที่ไหน ใครเป็นตัวตน

อ๋อ นายก. เป็นตัวตน เอามือคลำซิ มีแต่รูป มีแต่กายกับจิต มีรูปกับนามเท่านั้น จิตก็แปรปรวน เปลี่ยนแปลงเป็นกุศล มหากุศลจิต และจิตก็เกิดกุศลมูลเหตุของจิต จิตก็ผ่องใส ความโกรธก็ตกไป หายวับไปกับตา ไม่มีอะไรที่มาแฝงอยู่ในใจต่อไป และเราจะไม่โกรธไปในวันพรุ่งนี้ เราจะไม่โกรธไปในวันมะรืนนี้ เราจะไม่โกรธถึงปีหน้า

นี่คือวิธีแก้กรรมปัจจุบันเพื่อไม่ให้เกิดในอนาคต ตัดต้นไฟเสียแต่เบื้องต้น ตัดไฟที่จะลามเข้าไปในสันดานของจิต และพิษภัยก็จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต

แปลว่า ปรารภคนเดินมาไม่ถูกกัน เลยก็น่าสงสารไปโกรธเขา เขาก็โกรธเรา โกรธในตัวเขา คลื่นไส้ในตัวเขา ก็คลื่นไส้ในตัวเรา ก็โกรธตัวเรานั่นเอง เป็นการเพิ่มกรรม

เราตัดเวรตัดกรรมอโหสิกันเสียว่าโกรธหนอ ฉันจะไม่โกรธเธออีกแล้ว ปัญญาบอก สติบอก สัมปชัญญะบอก แล้วก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับวูบที่ตา รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ รูปคนเดินมาก็ไม่มีตัวตน ที่จะไปเกลียดเขาได้ ความรัก ความโกรธ ความโลภ ความหลงประการใด มันก็หายวับไปกับตา มีแต่รูปนามที่เดินมา

ตาเราก็เป็นรูป ประกอบด้วยลูกตา มันเป็นอันเดียวกันได้หรือ มันเป็นรูปนอก รูปใน รูปจิต รูปใจ รูปนามธรรม แล้วปัญญาก็แยกออกไปอย่างนี้ เราก็ไม่ผูกโกรธเขาอีกต่อไป นี่เป็นการแก้กรรมปัจจุบันไม่ให้ลามไปในอนาคต

แต่กรรมครั้งอดีตนี่แก้ไม่ได้ ต้องใช้ ต้องประเมินถึงจะต้องใช้ แต่ก็ใช้น้อยลงไป รู้ตัวว่าเรามีกรรมที่ทำเขาไว้ เราก็อโหสิ พออโหสิกรรมแล้ว กรรมที่จะใช้ ๑๐๐ บาท ก็ใช้เพียง ๕๐ บาท ถ้าอโหสิเพิ่มขึ้น กุศลสูงขึ้น เราอาจยืม ๑๐๐ บาท แต่ใช้เพียง ๑๐ บาทก็ได้ น้อยลงไป

 

ข้อสำคัญไม่ต้องมีดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยนี่คือ การสะสมกรรม ทำให้มีดอกดวงมากขึ้น หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด ยังไปขอยืมหนี้ใหม่ สร้างเวรสร้างกรรมกันทำไม อย่าไปสร้างต่อเลย

ท่านสาธุชนทั้งหลายเอ๋ย จงอโหสิกรรมกันเถิด แล้วกรรมจะไม่ก่อบังเกิดในอนาคต เราเลิกโกรธกันเถอะ เอาไว้อาศัยกันต่อไปในโอกาสหน้ากันเถิด จิตใจจะได้ประเสริฐด้วยกรรมจากการกระทำของตน นี่แก้กรรมปัจจุบันเพื่อไม่ให้ลามไปในอนาคต

เสียงหนอ มาด่าฉันหรือคะ ใช่แล้ว อ๋อ เสียงกับฉันต่างกัน หูฉันกับปากเธอไกลกัน เธอก็ด่าตัวเธอก็แล้วกัน ด่าไม่ถูกฉัน ไม่ถูกตัวตน ตัวตนมีที่ไหน คลำก็ไม่ได้แล้ว เกิดขึ้นตั้งอยู่ วูบดับไปที่หู ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ เลยเสียงนั้นก็ตกไป เสียงกับหูคนละอัน ไกลกันลิบ จิตใจเราไม่มารับเลยอโหสิกรรม ด่าอย่างไรก็ไม่โกรธ ด่าอย่างไรก็ไม่เจ็บ นี่แก้กรรมปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ลุกลามไปในอนาคต

เหมือนไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ กำลุงลุกอยู่ ณ บัดนี้ เราก็ดับวูบลงไป ไฟก็ไม่ลามต่อไปในอนาคต ถ้าเราไม่ดับไฟ…ไฟก็จะลุกลามต่อไป

เราจะไม่ก่อเวรก่อกรรมกันอีกแล้ว เราจะมีสติยึดมั่น สติมา สัมปชาโน ยึดมั่นสติปัฏฐานสี่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยกรรม จากการกระทำของตน

กรรมครั้งอดีตนั้นต้องแก้ด้วยการเจริญทุกขเวทนา มีเวทนาต้องสู้ ทนทุกข์นอกทุกข์ใน โทมนัสสัง โทมนัสสังทุกข์โทษในเวทนา มากมายถึง ๔ ประการ

ทุกข์นอก ทุกข์ใน ทุกข์ในใจอีก เอาทุกข์นอกประเด็นมาสะสมเข้าอีก เลยก็ทุกข์กันใหญ่ หาความสิ้นสุดของทุกข์ไม่ได้ บำบัดทุกข์ไม่ได้ ไม่สามารถจะถึงบรมสุข คือพระนิพพานได้

เราทราบดีแล้ว อนิจจา ไม่น่าไปโกรธเขาเลย ไปจองเวรเขาทำไม ไปผูกพยาบาทเขาทำไม เมตตาก็ปรากฎชัดแก่ตัวผู้ทำ เมตตาปรารถนาดีทุกคน

ความปรารถนาดี เป็นมงคลชีวิต มีในบ้านใดบ้านนั้นเป็นบ้านมงคล เป็นบ้านเศรษฐี นึกถึงเงินก็ไหลนอง นึกถึงทองก็ไหลมา เป็นบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

อาตมภาพได้บรรยายมาในเรื่องกรรมฐาน รู้กฎแห่งกรรม และแก้กรรมด้วยการกำหนดของตน กรรมครั้งอดีตต้องแก้ด้วยการเจริญทุกขเวทนา แล้วเวทนาจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะรู้ว่าเราทำกรรมอะไรไว้

แก้กรรมปัจจุบันก็กำหนดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์ หน้าที่การงาน ให้มันดับไป อย่ามาติดใจและข้องอยู่แต่ประการใด ไฟราคะ โทสะ โมหะ ก็จบไม่ลุกลามไปถึงอนาคต

จิตใจก็โน้มเข้ามา ถึงแก่นแท้ พระพุทธศาสนาโน้มมาถึงธรรมสัมมาปฏิบัติ มีเมตตา มีความปรารถนาดี ไม่รบราฆ่าฟันกัน

มีแต่จะเสริมสร้างความดีต่อกัน คือ สัจจะ เมตตา สามัคคี มีวินัย ศักดิ์ศรี ก็เกิดขึ้นแก่ตนดับวูบไปเกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์

กรรมเก่าก็แก้ด้วยการใช้หนี้เขาไป เพราะว่าจะหมดไม่ได้ แต่กรรมใหม่เราจะไม่สร้าง เราจะแก้กรรมปัจจุบันด้วยอายตนะ ธาตุอินทรีย์ ให้มันดับวูบไปเสีย อย่าให้มันลุกโพลงด้วยราคะ โทสะ โมหะอยู่ประจำจิตเลย

ให้จิตแยกออกไป คือรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ รูปธรรม นามธรรม คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตใจก็เบิกบานเป็นปัญญา แสงสว่างคือมรรคมรรคา ก็ส่องให้เราเดินทางไปโดยสวัสดี เพราะเรามีปัญญาดี เดินทางก็ไม่หลงทาง เดินทางถึงนิพพานโดยทั่วหน้ากัน

อนึ่ง วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ จาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ผ่านมาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปีแล้ว อาตมาขอถวายสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวร ที่เราเกิดเคราะห์หามยามร้ายอย่างแรงกล้า คอหักไป ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ เราก็จะทำบุญกุศลเพื่ออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร อย่าจองเวรกันเลย พ่อกรรมเอ๋ย เพราะเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมา

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายที่โดนฆ่าจากเรา จงอโหสิกรรมให้เราเถิด ขอถวายสังฆทานอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ท่านทั้งหลายจงอโหสิกรรม และกรรมจะไม่ต่อเนื่องต่อไป อโหสิ เหมือนรถหมดน้ำมัน ไม่วิ่งไปหากรรมชั่วอีกแล้ว

เราก็เหมือนรถหมดน้ำมัน หมดเชื้อไขในกฎแห่งกรรม จะสิ้นกรรมกันเสียที

อาตมภาพขออนุโมทนาส่วนกุศลท่านที่เจริญวิปัสสนาทุกท่าน ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ชี้แจงแสดงเหตุผลข้อเท็จจริง ในเชิงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับผลอย่างนั้นจริง แก้กรรมเก่าโดยรับใช้ แก้กรรมใหม่โดยใช้กรรมปัจจุบัน ไม่สร้างให้ต่อเนื่องต่อไป ตัดเวรตัดกรรมด้วยการกำหนดจิต เสียให้ได้ทุกทิศา อายตนะ ธาตุอินทรีย์ที่มีมาประจำ ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ ได้ผลอย่างแน่นอน

ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านสาธุชนทั้งหลายโดยทั่วกัน