โบสถ์เทพนิมิต

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ก่อนจะมีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่นั้น มีสิ่งมหัศจรรย์นิมิตปรากฏ แต่ท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ และคุณทองย้อย  ชโลธร เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อน ซึ่งสามัญชนธรรมดายากที่จะเข้าใจ เพราะไม่ได้เห็นหรือได้ประสบมากับตัวเอง นอกจากผู้ที่มีจิตใจสูงหรือเข้าใจในหลักธรรมดีแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าใจโดยถ่องแท้ เนื่องจากมีเหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ พอจะอนุโลมขนานนามสมมติได้ว่า “โบสถ์เทพนิมิต” ขอให้ท่านปัญญาชนได้อ่านและพิจารณาในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนก่อสร้างพระอุโบสถ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วถูกต้องตามนิมิตนั้นทุกประการ

 

๑. นิมิต ก่อนการสร้างพระอุโบสถ

ท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์มีความดำริที่จะสร้างพระอุโบสถมาช้านานแล้ว แต่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอสนับสนุนแนวความคิดนี้ได้ และกาลเวลาสิ่งแวดล้อมยังไม่อำนวยให้ เพียงแต่บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ถึงอย่างไรก็ดี สภาพของโบสถ์เก่าเป็นภาพติดตาตรึงใจเป็นการกระตุ้นเตือนท่านพระครูอยู่ตลอดเวลาว่า อยู่ไม่ไหวหนอ! เอียงหนอ! ทรุดหนอ! พังหนอ! ไม่ปลอดภัยหนอ!

อยู่มาวันหนึ่งในปี ๒๕๑๐ ได้มีอุบาสิกาเป้า  ปาลวัฒน์วิชัย บ้านเดิมอยู่ อ.อินทร์บุรี ได้มาเยี่ยมท่านพระครู ต่อจากนั้นได้เดินชมพระอุโบสถโดยรอบ ขณะนั้นเองอุบาสิกาเป้าได้เห็นน้ำไหลขึ้นมาจากพื้นพระอุโบสถ จึงแปลกใจมาก และได้พูดกับท่านพระครูว่า ชาวจีนถือว่าเป็นนิมิตดี ภาษาจีนว่า เฮง และได้พูดต่อไปอีกว่า พระอุโบสถชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว จำเป็นต้องสร้าง รอไปอีกสักหน่อย หากสร้างก็ควรใช้ที่เดิมนี่แหละจะดีมาก ๆ

กาลเวลาได้ผ่านมาถึงปี ๒๕๑๑ ในคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี ๔ นาฬิกาเศษ เกิดนิมิตและเสียงกระซิบของชายชราแว่วเข้าหูท่านพระครูพูดว่า โบสถ์พัง  โบสถ์ท่านพังแล้วอย่าไปไหนนะ? ท่านพระครูต้องสะดุ้งลืมตาส่ายหาแหล่งต้นเสียงสักครู่หนึ่ง แต่ไม่ปรากฏตัว และในเวลานั้นยังไม่มีคนใดตื่นนอนเลย ท่านพระครูจึงทำสมาธิต่อไปอีก และได้ยินเสียงชายชรากระซิบซ้ำเช่นเดิม จนกระทั่งรุ่งเช้า ท่านพระครูได้ทำกิจวัตรเรียบร้อยแล้ว รีบเดินไปสั่งงานหน้าวัด จึงได้นึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในคืนนั้นว่าจะเป็นไปได้หรือ ท่านพระครูสั่งงานเรียบร้อยแล้ว ได้เดินมาหาพระภิกษุเฟื่อง และได้ถามท่านว่า โบสถ์เราพังเมื่อไร? โบสถ์เราจะพังจริงหรือเปล่า? พระภิกษุเฟื่องตอบว่า โบสถ์ไม่ได้พัง ผมเพิงออกจากทำวัตรในโบสถ์เดี๋ยวนี้เอง ท่านพระครูไม่เชื่อ ต้องการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง และต้องการทดสอบว่าเป็นไปตามเสียงกระซิบของชายชรานั้นจริงเท็จเพียงใด ท่านพระครูจึงได้ชวนพระภิกษุเฟื่องเดินมุ่งหน้าไปยังโบสถ์ และยืนพิจารณาสภาพของโบสถ์ทั่ว ๆ ไป สักครู่ได้ยินเสียงลั่นเปรี๊ยะและบางส่วนเชิงชายหน้าโบสถ์ก็ยุบลงมาเสียงแบบนกปีกหัก เมื่อประสบเหตุการณ์ต่อหน้าและเป็นไปตามเทพนิมิตเช่นนี้ ท่านพระครูได้อธิษฐานจิตและพังเพยออกมาว่า อย่าเพิ่งพักลงมาเลย ผลัดขอแรงคนเขามารื้อเสียก่อน และเชิงชายโบสถ์ก็ยุติการพังลงชั่วคราว ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ (วันอังคาร แรม ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ) หลังจากนั้นท่านพระครูได้ป่าวประกาศพระเณรและชาวบ้านข้างวัด เพื่อขอแรงรื้อเฉพาะเชิงชายโบสถ์ตามที่ได้สัญญากับเทพไว้ ส่วนตัวพระอุโบสถ์ยังมิได้รื้อ เห็นว่ามีความจำเป็นในการทำสังฆกรรมและยังมีความปลอดภัยตามสมควร

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นการบีบบังคับให้ท่านพระครูจะต้องร้อนรน เหมือนไฟสุมขอน ได้แต่คิด ๆ อยู่เสมอว่า จะหาเงินที่ไหน ใครเขาจะมีศรัทธาในการสร้างพระอุโบสถใหม่ เพราะจะต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมากมาย และการเรี่ยไรในสมัยนี้ก็ไม่ถูกต้องตามระเบียบคำสั่งของเถระสมาคมด้วย หากจะมีการเอ่ยบอกบุญจากผู้มีจิตศรัทธาและสานุศิษย์ก็คงจะได้บ้างเป็นบางส่วน จึงได้หวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ได้เรี่ยไรทำการก่อสร้างพระอุโบสถวัดพรหมบุรีเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระคุณเจ้าได้เสียสละเวลา แรงกาย ทุนทรัพย์ส่วนตัว เดินทางด้วยเท้า และโดยยานพาหนะทุกประเภท เช่น โดยสารเรือ, รถยนต์, จักรยานยนต์ ซึ่งแล้วแต่จะหาได้ แต่ละท้องถิ่นคนเรี่ยไรเพื่อการกุศลมีสภาพไม่ต่างกับคนขอทานเท่าใดนัก ท่านได้พบปะสนทนากับชาวบ้านในถิ่นต่าง ๆ มีการพูดเสียดแทง สะเทือนใจ บางท่านมีจิตเป็นกุศลพอพูดรู้เรื่องกันบ้าง

ท่านพระครูเดินทางเรี่ยไรไปเกือบทั่วทุกแห่งหวังว่าจะได้เงินครบตามที่กะไว้ก็ต้องใช้เวลาถึง ๗ ปี จึงได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ และเหตุการณ์ที่ประสบอยู่ในขณะนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนในครั้งนั้นอีกหรือ? ท่านพระครูได้พิจารณาหาทาง และอธิษฐานจิตสอบถามองค์เทพอันศักดิ์สิทธิ์ถึงภารกิจหน้าที่ที่หนักหน่วง จะดำเนินและลงเอยในรูปใด และต่อมาอีกไม่นานนัก เสียงกระซิบจากชายชราในร่างเดิมบอกว่า ไม่ต้องกลุ้มใจ ไม่ต้องเดือดร้อน ญาติพี่น้องที่เขาเคยสร้างไว้ จะมารวมกันสร้างเอง

ต่อจากนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ดูเหมือนว่าจะมีเค้าเป็นความจริงขึ้นแล้ว ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๑ ท่านพระครูได้หยั่งทราบเป็นภายใน ได้เรียกช่างชำนาญสร้างโบสถ์ มาปรึกษาในเรื่องขนาดแบบโบสถ์ งบประมาณค่าก่อสร้าง ตามที่กะไว้อย่างคร่าว ๆ และท่านพระครูได้ติดต่อช่างหล่อพระประธานซึ่งอยู่ จ.นนทบุรี ให้พิจารณาแบบ ขนาด ตลอดจนลวดลายของฐานพระประธานตลอดจนวงเงินที่ใช้จ่าย

ท่านพระครูได้เดินทางขึ้นล่องจากวัดไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อติดต่อนายช่าง ตัวอย่างโบสถ์ พระประธาน ฯลฯ จนนับครั้งไม่ถ้วน จนร่างกายผ่ายผอมฉันอาหารไม่เป็นเวลา บางครั้งก็ไม่ฉันอาหารเสียเลย

คุณทองย้อย ชโลธร

ต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๑๑ ได้มีเจ้าภาพ ๓ รายมาจองกฐินเพื่อจะทอดที่วัด เจ้าภาพผู้ศรัทธานั้น ได้แก่ คุณทองย้อย  ชโลธร (จ.ลพบุรี) โยมฟัก  ยุติโยธิน (จ.พิจิตร) และโยมปรุง  ศรีพวงวงศ์ (จ.นครราชสีมา)

ท่านพระครูได้แนะแนวทางว่าให้เป็นกฐินสามัคคีร่วมกันเถิด ชาติหน้าจะได้พึ่งพาอาศัยกัน เราอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ เราทำบุญต่างคนต่างก็ได้กุศลด้วยกัน แต่มีงานใหญ่ที่อยากปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องพระอุโบสถหลังเก่าได้พังลง หากจะนำรายได้ส่วนนี้มาช่วยสร้าง จะขัดข้องประการใด โดยบอกพวกที่มาร่วมได้ทราบเจตนากันเสียก่อน หากคนอื่นใดไม่รู้ความจริงจะพูดกันไปคนละเรื่อง เมื่อได้ปรึกษากันแล้วเจ้าภาพทั้ง ๓ รายก็เห็นด้วย และจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของท่านพระครู ทางฝ่ายคุณทองย้อย  ชโลธร ได้นัดประชุมกรรมการจัดงานทอดกฐินสามัคคีวัดอัมพวัน ได้ดำเนินการวางแผนตั้งกรรมการ, เจ้าหน้าที่, และกำหนดการต่าง ๆ ซึ่งมีเอกสารหลักฐานประกฎอยู่ที่วัดอัมพวันแล้ว ผลของการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ว่า

ก. จะทอดกฐินสามัคคีร่วมกัน เจ้าภาพอีก ๒ ราย ซึ่งมาจากจังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครราชสีมา

ข. เงินรายได้สมทบทุนสร้างพระอุโบสถวัดอัมพวัน

ค. จะเริ่มงานใน ๒-๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๑

ง. จัดเจ้าหน้าที่เตรียมรับรองในเรื่องอาหาร, ที่พักแรม และอื่น ๆ

จ. จัดเจ้าหน้าที่เรี่ยไรแบ่งเป็นสาย ๆ

เมื่อถึงวันงานทอดกฐิน เจ้าภาพทั้ง ๓ ได้มาร่วมพิธีพร้อมเพียงกัน การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการได้รับเงินจากผู้บริจาคเป็นมูลค่าทั้งสิ้น ๒๔๐,๐๐๐ บาท เป็นที่น่าอนุโมทนาชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความดีเด่นในผลงานและการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ท่านพระครูได้ยึดมั่นในอุดมการณ์ และความปรารถนาดีต่อทุก ๆ คน จึงดลบัลดาลให้สัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา

 

๒. แบบ ขนาด ของพระอุโบสถ

ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์กับคณะกรรมการอยู่เสมอ ทั้งแบบทรวดทรงขนาดตลอดจนส่วนประกอบของพระอุโบสถ และงบประมาณค่าก่อสร้าง ซึ่งท่านพระครูได้ให้นโยบายไว้ว่าให้เป็นแบบธรรมดาสร้างง่าย ๆ ราคาย่อมเยา และให้ใช้ประโยชน์ทางศาสนกิจหลาย ๆ อย่าง

            พระคุณเจ้าต้องการแบบทรงไทย ขยายกว้างออกไปโดยรอบ พระประธานเป็นเนื้อปูนปั้นให้มีลีลาอ่อนช้อย, ส่วนคุณทองย้อย  ชโลธร ต้องการอัดพื้นด้วยไม้สัก (อัดปาเก้) ดูเก๋ดี และประตูหน้าต่างควรจะเป็นมุ้งลวดยุงจะได้ไม่กัด ส่วน คุณสมเจตน์  วัฒนสิทธุ์ ถามว่าจะประดับไฟฟ้าแบบไหน มีช่อระย้ารสลับสีหรืออะไรขอให้บอกมา เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าเรามีเยอะ เมื่อได้ฟังการสนทนาแล้วรู้สึกปลื้มใจ เพราะจิตเป็นกุศลด้วยกันทั้งนั้น ต่อจากนั้นมานายช่างได้นำแบบแผนผังตลอดจนรูปองค์พระประธานมาให้ และมีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย พอสรุปรายการใหญ่ ๆ ให้ทราบดังนี้

พระอุโบสถ

: สร้างทับที่เดิม ทำเป็นรูปแบบศาลาทรงไทย ขยายตามกว้างออกไปโดยรอบ

: มีขนาดกว้าง ๖ วา ๒ ศอก, ยาว ๑๓ วา ๒ ศอก

ภายในพระอุโบสถ

: มีพระประธานแบบปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูง ๕ศอก

: ประดับตกแต่งโคมไฟหลากสี, พื้นไม้สัก, ปรุด้วยมุ้งลวด ตามบานประตูหน้าต่าง

: ใต้ฐานพระประธานบรรจุพระพิมพ์แบบปางพระประทานพรและแบบปางสมาธิเนื้อผงผสมแร่ ๑๖ อย่าง

ภายนอกพระอุโบสถ

: ด้านหน้าพระอุโบสถ จะมีแผ่นศิลาหินอ่อนจารึกรายชื่อผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์

: มีใบเสมาแนบติดผนังโบสถ์โดยรอบ

งบประมาณค่าก่อสร้าง

: มีคิดไว้ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท

: อาจจะเพิ่มวงเงินอีกเล็กน้อย เนื่องจากราคาอุปกรณ์ก่อสร้างสูงขึ้นเรื่อย ๆ และแนวความคิดในการประดับตกแต่งมีแปลก ๆ อยู่เรื่อย ๆ

 

๓. พิธีพวงสรวงสังเวยเทพารักษ์

การทำพิธีบวงสรวงสังเวยเป็นลัทธิพราหมณ์ ซึ่งจะมีแทรกปะปนกับพิธีทางศาสนาพุทธควบคู่กันมาช้านาน

ในคราวทอดกฐินสามัคคีเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ ท่านพระคุณเจ้าพระราชสิงหวรมุณี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้มาเป็นประธานสวดพระพุทธมนต์เย็น ก่อนเดินทางกลับได้เดินดูพระอุโบสถอันเก่าแก่ ทรุดโทรม พระคุณเจ้าได้สั่งท่านพระครูว่า ก่อนจะทำการรื้อพระอุโบสถ ขอให้ทำพิธีบวงสรวงสังเวยบอกเล่าให้ถูกต้องตามประเพณีนิยมแต่โบราณกาล จะได้มีความเจริญรุ่งเรือง

ท่านพระครูได้น้อมรับคำสั่งมาตรียมงาน และได้ปรึกษากับกรรมการและชาวบ้านข้างวัดต่อไป อยู่มาในคืนวันหนึ่งพวกชาวบ้านได้มาหาท่านพระครูและได้เสนอการทำพิธีบวงสรวงครั้งนี้ว่า จะต้องมีตั้งศาลเพียงตา, มีเหล้า ๒ ไห, หัวหมู ๑ หัว, ไก่ ๒ ตัว, เหล้าแม่โขง ๒ ขวด และทำบายศรีด้วยผล สุดท้ายยังลงเอยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างชำนาญด้วยกันทั้งนั้น จึงเดือนร้อนองค์เทพ (ชายชรา) จะต้องตัดสินใจจะเอาอะไร? แค่ไหน? อย่างไร? ชายชราได้กระซิบสั่งท่านพระครูในยามดึกสงัดคืนนั้นว่า ไม่ต้องมีเหล้า, ไม่ต้องมีสาโท, ไม่ต้องมีไก่, ไม่ต้องมีหัวหมูบายศรี และไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นให้เดือดร้อน และไม่ต้องเชื่อพวกนั้น เพราะพวกนั้นจะหาเรื่องกินกันต่างหาก

พอวันรุ่งขึ้นท่านพระครูเดินทางไปหาคุณทองย้อย  ชโลธร ที่บ้าน จ.ลพบุรี เพื่อเล่าเรื่องการรื้อโบสถ์ตามนิมิตฝันที่เกิดขึ้น พอท่านพระครูพูดไปได้เล็กน้อย คุณทองย้อยฯ ก็พูดขึ้นว่าคืนนั้นได้ฝันเหมือนกันว่ามีชายชรามาบอกให้รื้อพระอุโบสถได้เลย จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดใจที่ชายชนาไปเข้าฝันในคืนเดียวกันทั้ง ๒ คน และได้พร้อมใจกันทำพิธีบวงสรวงเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ ตามที่ท่านเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีได้สั่งไว้

 

๔. การก่อสร้างพระอุโบสถ

ท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์และคณะกรรมการได้พิจารณาเลือกช่างก่อสร้างที่มีฝีมือดี และค่าแรงสมเหตุผล บางอย่างก็ขอแรงจากชาวบ้านมาช่วยในการรื้อถอน ปรับพื้นและขุดหลุมเสา เป็นต้น แม้แต่ไม้ที่จะนำมาทำแบบ ก็ได้จากแนวความคิดของคุณทองย้อย  ชโลธร โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นำมาจ้างเลื่อยด้วยฝีมือชาวบ้าน แม้แต่ทรายก็ขอแรงชาวบ้านขนจากท่าวัดมาสู่บริเวณก่อสร้างหรือหินชนิดต่าง ๆ และปูนก็ได้คุณหมอปราโมทย์ ณ นคร อำนวยการเกณฑ์และบรรทุกมาส่งที่วัด จะซื้อเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ การควบคุมงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของนายช่างก่อสร้าง ส่วนคุณทองย้อย  ชโลธร ได้ตรวจตราดูแลอย่างใกล้ชิดและพูดรับรองว่า โบสถ์นี้แข็งแรง รับรองว่าไม่พังแน่ ๆ เพราะได้ควบคุมแนะนำทางเทคนิคเป็นพิเศษ

ผลงานก่อสร้างรวดเร็วทันใจสมกับเป็นโบสถ์เทพนินิมิตจริง ๆ

คุณลุงปุ่น เชยโฉม

คุณลุงปุ่น  เชยโฉม ไวยาวัจกร วัดอัมพวัน อดีตปลัดอำเภอพรหมบุรี อายุ ๖๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ที่ ๕ ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้เล่าประวัติความเป็นมาของโบสถ์ดังนี้

วันที่โบสถ์พังตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ หลวงพ่อท่านบอกว่า มีเสียงบอกว่า โบสถ์จะพังแล้ว ท่านให้คนไปตามมาดูโบสถ์พร้อมกับท่าน

พระประธานโบสถ์เก่า

พอไปถึงยืนดูสักครู่หนึ่ง จึงได้ยินเสียงไม้ลั่น ได้แหงนดูพบว่าจันทัน เชิงชายของโบสถ์ด้านทิศตะวันออกจะหลุดออกจากัน เลยไปขอแรงชาวบ้านมาช่วยรื้อหน้ามุขโบสถ์ด้านทิศตะวันออกก่อน

ต่อมาได้มีการประชุมกัน จะมีผู้มาช่วยสร้างจึงได้ทำการรื้อพระอุโบสถทั้งหลัง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๑

ภายในพระอุโบสถมีพระประฐานอยู่ ๑ องค์ หน้าตักกว้าง ๔ ศอก…นิ้ว แบบสุโขทัย ปางสะดุ้งมาร เนื้อปูนปั้นสีขาว ก่อนจะรื้อพระอุโบสถ ได้อัญเชิญท่านมาอยู่ที่วิหารในเขตกรรมฐานของพระภิกษุสงฆ์

ขณะอัญเชิญมามีการชำรุด เพราะองค์ท่านหนักมาก แรงกระแทกกับพื้น ปูนที่องค์จึงร้าวทำให้เห็นลักษณะภายในว่าเป็นหินสีเขียวคล้ำคล้ายใบเสมา

วิหารที่ประดิษฐานพระประธานโบสถ์เก่า ระหว่าง ๒๕๑๑-๒๕๒๘

หลวงพ่อจึงได้ให้ช่างบูรณะองค์ท่านให้ดีดังเดิม แต่ไม่ได้ลงรักปิดทองแต่ประการใด และยังคงประดิษฐานที่วิหารตลอดมา

แม่สุ่ม  ทองยิ่ง เท่าให้ฟังว่า ได้เคยนั่งดูองค์ท่าน ทราบว่าคนที่สร้างโบสถ์เขานำมาเอง ใส่เรือฉลอมมาจอดที่หน้าวัด อัญเชิญประดิษฐานในพระอุโบสถตั้งแต่นั้นมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงพ่อมีโครงการอบรมครูอาจารย์ทั่วไประเทศ เป็นรุ่นที่ ๒ อาจารย์นิตยา  เสถียรโชค เข้ารับการอบรมด้วย ขณะที่เจริญสมาธิอยู่ได้รับสัมผัสว่า องค์ท่านให้ปิดทองให้ ผิวกระดำกระด่างเต็มทีแล้ว ได้ถวายความเห็นหลวงพ่อไว้

ขณะเดียวกันหลวงพ่อเล่าว่า มีชาวบ้านไปรายงานให้ฟังว่า ได้ฝันถึงพระประธานองค์เก่า ท่านบอกว่าอยากอยู่ที่เดิม ท่านเป็นใหญ่ในที่นี้ ทำไมนำท่านมาไว้อย่างนี้

พอดีกับ ดร.กิ่งแก้ว  อัตถากร มีความคิดจะอัญเชิญพระประธานองค์เก่าเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถและสร้างพระอัครสาวกถวาย ได้ถวายความเห็นหลวงพ่อดังนี้

คุณแม่สุ่ม ทองยิ่ง

ของเก่าที่เป็นผลงานที่แสดพงเจตนารมณ์อันแรงกล้าของบรรพบุรุษ หรือเจ้าของเดิม เราควรรักษา ถ้าทรุดโทรม ก็ควรปฏิสังขรณ์ ถ้าหมดสภาพจะต้องสร้างใหม่ ก็ความหุ้มของเก่าไว้เพื่อไม่ให้สูญสลายไปทั้งหมด

โดยปกติ ในพระอุโบสถจะนิยมสร้างรูปพระอัครสาวก สำหรับพระพุทธรูปประธานเสมอ แต่ปรากฏว่าในพระอุโบสถวัดอัมพวันยังไม่มี และได้ฟังหลวงพ่อปรารภบ่อยครั้งว่า ขาดผ้ที่ช่วยอบรมสั่งสอนธรรมในวัด

มีความคิดว่า เราควรเจริญรอยตามประเพณี เพื่ออาราธนาคุณของพระ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์สาวก ให้ครบถ้วนสมบรูณ์แบบ เมื่อเราเคารพและอาราธนาในองค์คุณของท่าน เราก็ย่อมได้ผลและได้รับการประสิทธิ์ประสาทในองค์คุณเหล่านั้นครบถ้วนสมบูรณ์แบบเช่นกัน

ผู้มีศรัทธาสร้างพระอัครสาวกถวาย ได้แก่ คุณครรชิต คุณวิบูลพร อัตถากร  พลเอกวีระ  ไทยกล้า มี่ศรัทธาปิดทองพระประธานองค์เก่า และพระอัครสาวกด้วย

ได้มีการสมโภชพระประธานองค์เก่าพร้อมทั้งพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ในวันจันทรที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๘

ทางทิศใต้ของพระอุโบสถมีศาลพระภูมิตั้งอยู่ คุณลุงปุ่น ได้เล่าให้ฟังว่า

เดิมมีต้นไม้ใหญ่ชื่อพญาสัตบรรณอยู่ด้านใต้ของพระอุโบสถ ข้างในลำต้นเป็นโพรงหนา หลวงพ่อเกรงว่าถ้าลมพัดแรง จะโค่นลงทับพระอุโบสถ จึงปรึกษาคระกรรมการวัด

อาจารย์นิตยา เสถียรโชค

คณะกรรมการได้ลงมติให้โค่นต้นสัตตบรรณ จ้างคนญวนมาโค่น ค่าจ้าง ๘๐๐ บาท (ราคาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒)

ต่อมาชาวบ้านได้มาบอกหลวงพ่อว่า เทพที่อาศัยที่ต้นสัตบรรณมีที่อยู่ เขาขอให้สร้างที่อยู่ให้ด้วย หลวงพ่อรับฟังเฉย ๆ

            บรรดาศิษยานุศิษย์ ประกอบด้วยคณะกรรมการวัดมีความเห็นว่า ควรจะตั้งศาลพระภูมิให้ จึงได้ไปซื้อที่สิงห์บุรีมาราคา ๘๐๐ บาท

ที่วัดอัมพวันนี้ ก่อนที่หลวงพ่อจะมารอยู่ จะมีงานวัดประจำปี มีการแข่งเรือ การละเล่นต่าง ๆ เช่น ละคร เป็นต้น

เมื่อหลวงพ่อมาอยู่แล้ว ท่านสอนให้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และไม่ได้สนใจเรื่องการจัดงานประจำปีอีกเลย

หลังจากตั้งศาลแล้ว ชาวบ้านจึงจังให้มีละครประจำปีทุกปีที่หน้าศาล ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลวงพ่อวัดอัมพวัน ได้ดำเนินการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามปณิธานที่ตั้องไว้ได้ราบรื่น ก้าวหน้าไม่มีอุปสรรคใด ๆ จนตราบเท่าทุกวันนี้

 

จากหนังสือประวัติและผลงานของพระครูภาวนาวิสุทธิ์ พ.ศ. ๒๕๑๒

 

 

วิปัสสนาดีนักรักความสงบ

พบความสุขแสนวิเศษกิเลสหาย

เกิดสมาธิสติดีอีนทรีย์กาย

สุขสบายสู่สถานนิพพานเอย

มีศิลธรรมนำสุขทุกสมัย

เราเป็นไทยเพราะมีธรรมประจำชาติ

ถ้าไร้ศิลสิ้นธรรมต่ำอำนาจ

ไทยทั้งชาติจะอยู่ได้อย่างไรกัน