สติปัฏฐาน – ภาคปฏิบัติ

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒

การบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐานสี่ ของพระพุทธเจ้าของเรานี้ วิธีปฏิบัติเบื้องต้นต้องยึดแนวหลักสติเป็นตัวสำคัญ

สติปัฏฐานสี่ มีอยู่ ๔ ข้อ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ จงท่องความหมายนี้ไว้ก่อน

ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลตามศัพท์ว่า พิจารณากายในกาย นี้สักแต่ว่ากาย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ให้เอาสติ เอาจิตเพ่งดูกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา จะคู้แขนเหยียดขาต้องติดตามดู คือใช้สตินี่เอง ดูร่างกายสังขารของเรา อันนี้เรารู้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อนสำหรับข้อหนึ่ง

ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ บัญชาการไม่ได้ ต้องเป็นตามสภาพนี้ และเป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ เวทนามีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา

ทั้งสามประการนี้ จุดมุ่งหมายก็ต้องการจะให้สติไปพิจารณาเวทนานั้น ๆ เช่น ฝ่ายสุขก็มีทั้งสุขกาย สุขใจ อันนี้เรียกว่า สุขเวทนา แล้วก็ทุกข์กายทุกข์ใจ หรือจะว่าทุกข์ทางด้านกายและใจก็ได้ เรียกว่า ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็คือไม่สุขไม่ทุกข์ จิตใจมักจะเลื่อนลอยหาที่เกาะไม่ได้ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

วิธีปฏิบัติต้องใช้สติกำหนด คือตั้งสติระลึกไว้ ดีใจก็ให้กำหนด กำหนดอย่างไรหรือ กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ จากจมูกถึงสะดือให้ได้ หายใจขึ้นลงยาว ๆ กำหนดว่า ดีใจหนอ ดีใจหนอ

ทำไมต้องปฏิบัติ เช่นนี้เล่า เพราะความดีใจและสุขกายสุขใจนั้น เดี๋ยวก็ทุกข์อีก สุขเจือปนด้วยความทุกข์อย่างนี้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตของเรา จะต้องรู้ล่วงหน้า รู้ปัจจุบันด้วยการกำหนด จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่

บางคนบอก กำหนดที่หัวใจ ถูกที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหนประการใด อันนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่ต้องรับรู้วิชาการ ทิ้งให้หมด ปฏิบัติตรงนี้ให้ได้

ลิ้นปี่เป็นขั้วแบตเตอรี่ชาร์ทไฟฟ้าเข้าหม้อ ทุกคนไปแปรธาตุการปฏิบัตินี้ไม่ใช่การวิจัย ไม่ใช่ประเมินผล แต่เป็นการให้ผุดขึ้นมาเองโดยปกติธรรมดานี่แหละ ให้มันใสสะอาด รู้จริงรู้จัง รู้ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ให้รู้ขึ้นมาเอง

คำว่ารู้เองนี้ทำยาก รู้วิชาการทำง่าย อ่านหนังสือท่องได้ก็ได้ แต่รู้เองให้ใสสะอาดขึ้นมารู้ยาก ทำไมจะรู้ได้ง่ายต้องปฏิบัติขึ้นมา ดีใจ เสียใจ มีความสุขกายสุขใจ อย่าประมาทเลินเล่อนัก เราต้องตั้งสติทุกอิริยาบถตามกำหนด

การกำหนดจิตนี้หมายความว่า ให้ตั้งสติ เป็นวิธีปฏิบัติ สัมปชัญญะมีความรู้ตัวอยู่ตลอดปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ให้เอาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น ให้ปฏิบัติอย่างนี้ โดยข้อปฏิบัติง่าย ๆ

ถ้าเสียใจ มีความทุกข์ใจ มันอยู่ในข้อนี้ จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ เสียใจหนอ ๆ หายใจลึก ๆ ยาว ๆ เสียใจเรื่องอะไร เป็นการป้อนข้อมูลไว้ให้ถูกต้อง

สตินี่ระลึกได้ หมายถึงตัวแจงงาน หาเหตุที่มาของทุกข์ ตัวสัมปชัญญะเป็นตัวบอกให้รู้ ให้มีความเข้าใจเรียกว่า ปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนั่นเอง คนเรานี่จึงต้องกำหนดที่เวทนานี้

ปวดเมื่อยเป็นเวทนาทางกาย แต่จิตไปเกาะ อุปาทานยึดมั่น ก็ปวดใจไปด้วย เช่นเราเสียใจ ร่างกายไม่ดี สุขภาพไม่ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บ จิตมันก็เกาะที่เจ็บนั้น จึงต้องให้กำหนดด้วยความไม่ประมาท เป็นวิธีฝึกปฏิบัติก็กำหนดเวทนานั้น

ปวดหัวเข่าที่ไหนก็ตามต้องตามกำหนด กำหนดเป็นตัวปฏิบัติเป็นตัวระลึก เอาจิตไปสู่จุดนั้น เป็นอุปาทานยึดมั่นก่อน เพราะเราจะก้าวขึ้นบันไดก็ต้องเกาะยึด เราจะก้าวต่อไปก็ต้องปล่อย นี่อุปาทาน ถ้าใหม่ ๆ นี้เรียกว่า สมถะ สมถะยึดก่อนแล้วปล่อยไปก็เป็นวิปัสสนา เป็นต้น เราจะทราบความจริงถึงจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมาต่อภายหลัง

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจอย่างนี้ ต้องกำหนด ส่วนใหญ่ไม่กำหนดกัน จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอย่างนี้เป็นต้น มีความสุขทางไหนก็ตาม เดี๋ยวจะทุกข์อีก นี่มันแก้ไม่ได้เพราะอย่างนี้

เกิดที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่ไปแก้กันที่อื่น หาเหตุที่มาของมัน คือ สติ สติเป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุ เป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผล ตัวสัมปชัญญะรู้ทั่วรู้นอก รู้ใน นั่นแหละคือตัวปัญหา ความรู้มันเกิดขึ้น

ตัวสมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้ เช่น เวทนา ปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวด

เพราะปวดนี่เราคอยยึดมัน จิตก็ไปปวดด้วย เลยก็กลับกลายให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอุปาทานไปยึดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้เอาสติไปดู ไปควบคุมจิตว่ามันปวดมากแค่ไหนประการใด

อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ใจก็ลอยหาที่เกาะไม่ได้ ใจลอยเหม่อมองไปแล้ว เห็นคนเป็นสองคนไป จึงต้องกำหนดอุเบกขาเวทนา กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ลึก ๆ สบาย ๆ แล้วก็ตั้งสติระลึกก่อน กำหนดรู้หนอ ๆๆๆ

ถ้าเราสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ครบ ป้อนข้อมูลเข้าไป รู้หนอ ๆ เดี๋ยวสติรวมยึดมั่นในจิต จิตก็แจ่มใส ความทุกข์นั้นก็จะหายไป

อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่จะประมาทพลาดพลั้ง จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถดังที่กล่าวนี้

ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องท่องให้ได้ ทำไมเรียก จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานของจิตต้องยึดในฐานทัพนี้ จิตเป็นธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง จิตเกิดที่ไหน ผู้พัฒนาจิตต้องรู้ที่เกิดของจิตอีกด้วย

จิตเกิดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์นี่เอง จะพูดเป็นภาษาไทยให้ชัด ตาเห็นรูปเกิดจิตที่ตา หูได้ยินเสียงเกิดจิตที่หู จมูกได้กลิ่นเกิดจิตที่จมูก ลิ้นรับรสเกิดจิตที่ลิ้น กายสัมผัสร้อนหรือหนาว อ่อนหรือแข็งที่นั่งลงไป เกิดจิตทางกาย เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

วิธีปฏิบัติทำอย่างไร ให้ทำอย่างนี้ ที่มาของจิตรู้แล้วเกิดทางตา ตาเห็น เห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จับจุดไว้ที่หน้าผาก อุณาโลมา….. กดปุ่มให้ถูก เหมือนเรากดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารมีครบ กดปุ่มให้ถูกแล้วผลลัพธ์จะตีออกมาอย่างนี้

เห็นหนอ ๆ เห็นอะไร เห็นรูป รูปอยู่ที่ไหน สภาวะรูปนั้นเป็นอย่างไร สภาพผันแปรกลับกลอกหลอกลวงได้ เยื้องย้ายได้ทุกประการ เรียกว่า รูป เป็นเรื่องสมมติ และเป็นเรื่องทำลายได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวนดับไป คือรูป ต้องกำหนด นักปฏิบัติอย่าทิ้งข้อนี้ไม่ได้

ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตเกิดที่ตา เกิดแล้วกำหนด ไม่ใช่ว่าเราแส่ไปหากำหนดข้างนอก ตาเห็นอะไรก็กำหนดว่า เห็นหนอ ทำไมต้องกำหนดด้วย เพราะจิตมันเกิด ตาสัมผัสกับรูปเกิดจิต ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เห็นของเหล่านั้น เรายังไม่มีปัญญา

เราชอบไหม ชอบเป็นโลภะ ไม่ชอบเป็นโทสะ เราไม่ใช้สติเลยกลายเป็นคนโมหะ รู้ไม่จริงรู้แค่ตาเนื้อ ไม่รู้ตาใน ดูด้วยปัญญาไม่ได้ เลยดูด้วยโมหะ คนเราจึงได้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปดังที่กล่าวแล้ว ต้องใช้สติ

นี่ข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตต้องพัฒนาตรงนี้ ต้องกำหนดทุกอาการ ทุกอิริยาบถ หูได้ยินเสียง หูกับเสียงอย่างไร ไกลแค่ไหนอย่างไร ไม่ต้องไปประเมินผล ไม่ต้องวิจัย ห้าม! ห้ามเพราะเหตุใด

เพราะมันเป็นวิปัสสนึกไป นึกขึ้นมาก็วิจัยตามวิชาการ มันจะไม่ได้ผล เราก็ตั้งสติไว้ที่หู ฟังเสียงหนอ เราฟังเฉย ๆ ไม่ได้หรือ ทำไมต้องกำหนดด้วย?

ถ้าเราไม่กำหนด เราจะขาดสติ ถ้ากำหนดก็เป็นตัวฝึกสติ ให้มีสติอยู่ที่หู จะได้รู้ว่าเสียงอะไร เสียงหนอ ๆ กำหนดเสียงเฉย ๆ ได้ไหม ได้! แต่ไม่ดี เพราะเหตุใด

หนอ ตัวนี้เป็นการรั้งจิตให้มีสติดี มีความหมายอย่างนั้น คำว่าหนอนี้ เป็นภาษาไทย หนอดีมาก เราจะบอกว่าเสียงหนอ มันรั้งจิตได้ดีมาก มีสติดีในการฟัง ระลึกหนอว่าเสียงเขาด่า เสียงเขาว่า หรือเสียงเขาสรรเสริญเยินยอ ประการใด

สัมปชัญญะ ตัวรู้ว่าเสียงนี้ของนาย ก. เสียงนี้ของ นาง ข. มาพูดเรื่องอะไร ตัวสติจะแจงเบี้ยหาเหตุที่พูด ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้น ตัวสัมปชัญญะก็บอกกับเราว่า อ๋อ เขาพูดนี่ เพราะอิจฉาเรา เขาด่าเรา มาว่าเรา สติบอก สัมปชัญญะเป็นตัวคิด ปัญญาก็แสดงออก คอมพิวเตอร์ตีออกมาว่า เสียงนี้ไร้ประโยชน์ เกิดขึ้นตั้งอยู่ก็วูบดับไปทันทีที่หู เลยก็ไม่ต่อเนื่องเข้ามาภายในจิต เราก็ไม่มีการเศร้าหมองใจ เพราะข้อคิดนี้

เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ต้องกำหนดตรงนี้ ไม่ใช่เดินจงกรมนั่งปฏิบัติ พองหนอยุบหนอให้ได้ ไม่ใช่ตรงนั้น ตรงนั้นเป็นตัวสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีพลังจิต ในข้อคิดของวิปัสสนาญาณอีกประการหนึ่งต่างหาก

ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาดูจิต จิตเกิดทางหู ถ้าเราสร้างเครื่องได้ดีแล้ว ป้อนข้อมูลถูก สร้างระบบถูก ข้อมูลในจิต คือ อารมณ์ที่เราเก็บเอาไว้นานนักหนาแล้ว คลี่คลายไม่ออกแฝงไว้ในอารมณ์คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตเศร้าหมองมาช้านาน ไม่ผ่องใสจึงต้องกำหนดอย่างนี้

เสียงหนอ ๆ ไม่ใช่เท่านี้เลยนะ เสียงเขาด่า ใช่แล้วถ้าเรามีสมาธิดี สะสมหน่วยกิตสติปัฏฐานสูตรไว้ชัดเจน เสียงหนอก็รู้แล้ว อ๋อเขาด่าเรา ด่าเราตรงไหน มีตัวตนตรงไหนบ้าง ที่เราจะถูกด่า แล้วเจ็บช้ำน้ำใจเช่นนี้ เราก็ใช้ปัญญานี้เอง

ฟัง อ๋อเขาด่า ด่ามาโดยสมมติว่าด่าเรา คิดว่าอย่างนั้น แต่เราอยู่ตรงไหน ก็หาตัวเราไม่ได้ ตัวเราไม่มี อย่างนี้คือ ปัญญาไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล แต่เป็นโดยสมมติขึ้นมาที่เขาด่าเท่านั้น แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงสภาพของมันแล้วก็หลุดไป ดับวูบไปที่หู อันนั้นก็หมดสิ้นไป นี้เรียกว่า ตัวปัญญา

นักปฏิบัติต้องกำหนดทุกอิริยาบถในการฝึก เป็นการดัดนิสัยให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้มีปัญญา เป็นความเคยชินจากการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ใครก็ทำได้ ใครก็รู้แต่ปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้ เพราะไม่เคยกำหนดเลย ปล่อยเลยไปหมด เข้ามาถึงจิตใจภายใจจิต คือ ประตูทั้ง ๖ ช่อง เข้ามาถึงห้องใน ที่นอนของเราแล้ว จนแต้มจนด้วยเกล้า จนด้วยปัญญา แก้ไขปัญญาไม่ได้เลย เพราะมันอยู่ในจุดนี้เป็นจุดสำคัญ

แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเอาไปทิ้งหมด ไม่เคยปฏิบัติจุดนี้เลย มีแต่ จะจ้องเดินจรงกรม จ้องท้องพองหนอยุบหนออย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ ไม่ครบสติปัฏฐานสี่ ปฏิบัติในข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ข้อนี้เป็นข้ออินทรีย์หน้าที่การงานที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องกำหนดเสียงหนอ ๆ ถ้ากำหนดไม่ทัน มันเลยเป็นอดีตไปแล้ว เกิดเข้ามาในจิตใจเกิดโทสะ เกิดโกรธขึ้นมาทันทีทำอย่างไร ไปเสียงหนออีกไม่ได้ ต้องกำหนดตัวสัมปชัญญะ กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่

บางทีไปสอนไม่เหมือนกันเสียแล้ว หลับหูหลับตาว่าส่งเดชไป จะถูกจุดได้อย่างไร กดเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ถูก กดไม่ถูกจุด แล้วมันจะออกมาอย่างที่เราต้องการไม่ได้ นี้สำคัญ

ผู้ปฏิบัติเน้นในข้อนี้ให้มากต้องกดที่ลิ้นปี่ แต่อรรถาธิบายอย่างไรนั้น จะไม่อธิบายในที่นี้ ขอให้ท่านโง่ไว้ก่อน อย่าไปฉลาดตอนปฏิบัติเดี๋ยวจะคิดเอาเอง เกิดขึ้นมาเดี๋ยวท่านจะได้ของปลอมไปนะ จะได้ของไม่จริงไปอย่างนี้

กำหนดที่เลยเป็นอดีตแล้ว ต้องกำหนดอยู่อย่างเดียวคือ รู้หนอ ไว้ก่อน รู้ว่าเรื่องอะไรก็ยังบอกไม่ได้ ทำไมจะรู้จริง ทุกสิ่งต้องกำหนดทั้งนั้น ที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ หายใจอย่างไร

ต้องตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ สูดลมหายใจจากจมูกถึงสะดือ แล้วก็ตั้งสติที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ เพราะมันเลยไปแล้วเป็นอดีต กำหนดปัจจุบันไม่ได้ ต้องกำหนดตัวรู้ อย่างนี้เป็นต้น รับรองได้ผลแน่

ข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม หมายความว่า เรามีสติปัญญาจะรู้แยกจิตของเราว่า คิดเป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะตัดสินอยู่ที่ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในข้อที่ ๔ นี้

ข้าพเจ้าทำงานนี้ไปเป็นกุศลหรืออกุศล เดี๋ยวจะรู้ตัวตนขึ้นมาทันทีที่มีปัญญา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาตมาหมายความถึงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการ วิชาการจะไม่อธิบายอย่างนี้

เป็นการปฏิบัติการในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม ทำนอกทำใน ธรรมกับทำมันต่างกัน ทำไปแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ทั้งทางโลกทางธรรม มันอยู่ร่วมกันนี่ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เรียกว่าทำนอก ทำใน ทำจิต ทำใจ ทำอารมณ์ แสดงออกเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเอง เลยคิดว่าตัวเองน่ะคิดถูก ทำถูกแล้ว

ถ้าเรามานั่งเจริญกรรมฐานแก้ไขปัญหา กำหนดรู้หนอ ๆ คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเรายังไม่รู้จริง รู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆๆ เดี๋ยวรู้เลย ว่าที่เราทำพลาดผิดเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลมวลเป็นอกุศลกรรมจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ถ้าแสดงออกเป็นอกุศล นี่ธรรมานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการนะ

บางคนบอกหลวงพ่อวัดอัมพวันอธิบายผิดแล้ว ใช่ มันผิดหลักวิชาการ แต่มันถูกปฏิบัติการ มันจะรู้ตัวเลยว่า เราทำไปนั่นเป็นกุศล ผลงานส่งผลคือเป็นบุญ เป็นความสุข

สิ่งนี้ที่ข้าพเจ้าทำเป็นอกุศลกรรม ทำแล้วเกิดความทุกข์ นี่ง่าย ๆ ทางเชิงปฏิบัติการ วิชาการ เขาอธิบายละเอียดกว่านี้ ถ้ามีกิจกรรมทำได้ไม่ยากเลย อยู่ตรงนี้เอง

รู้หนอ! อ๋อ รู้แล้วไปโกรธมันทำไม ไปโกรธรูปนาม หรือไปโกรธใคร ตัวโกรธอยู่ที่คนโน้นทำให้เราโกรธหรือ ตัวโกรธไม่ใช่อยู่ที่คนโน้น อยู่ที่เรา อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ อยู่ที่จิตเก็บความโกรธเข้าไว้

ท่านจะมีแต่ความเป็นโทษ มีแต่ความเศร้าหมองใจตลอดเวลา ท่านจะไม่เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้แก้ปัญหาไม่ได้เลย ก็สร้างปัญหาด้วยโทสะ สร้างปัญหาด้วยผูกเวร สร้างปัญหาด้วยผูกพยาบาท น้อยไป! ดูถูกเรา นี่ท่านจะต้องสร้างปัญหาแน่อย่างนี้เป็นต้น

การปฏิบัติเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาเหมือนอย่างที่ท่านเข้าใจ และมีปัญญาเห็นอารมณ์เรา ดูอารมณ์จิตของเรา ดูจิตใจของเราต่างหาก อย่างนี้เป็นต้นสำคัญมาก

บางคนไปสอนกันไม่ถูก โกรธหนอ ๆๆ เอาจิตตั้งตรงไหน เอาสติไว้ตรงไหน ไปกดไม่ถูก กดเครื่องคอมพิวเตอร์ผิด มันก็เลยออกมาแบบอย่างนั้นเอง จะวางจิตไว้ตรงไหน ก็ไม่รู้นี่สำคัญนะ

เห็นหนอ อย่าลืมนะ ส่งกระแสจิตไว้ที่หน้าผาก ไม่ใช่หลับตาว่ากันส่ง ถ้าท่านทำดังที่อาตมาแนะแนว รับรองได้ผลทุกคน

เห็นหนอ ก็ต้องส่งกระแสจิตจากหน้าผากออกไป เพราะว่าเราจะสังเกตตัวเองได้ทุกคน ความรู้สึกจะมารวมที่หน้าผากหมด ภาษาจีนเรียกว่า โหงวเฮ้ง มันจะมีแสงที่หน้าผากนะ ตอนนี้ไม่อรรถาธิบาย จิตท่านสูงท่านจะเห็นเองว่าดูหน้าคนดูตรงไหน โหงวเฮ้งอยู่ตรงไหน อย่าลืม

ที่อาตมาพูดหลายครั้ง ยังไม่มีใครตีปัญหาได้เลย อุณาโลมา….มันเป็นการส่งกระแสจิตได้ดีมากในจุดศูนย์สมาธิ นี่หละจะเกิดปัญญาได้ สำหรับตัวตนบุคคลปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งเห็นนิมิต

ถามกันไม่พักเลย หลวงพ่อคะ ฉันมีนิมิตอย่างนี้ ฝันว่าอย่างนี้จะได้แก่อะไร ไม่ต้องมาถามแล้ว ฝันปลอมก็มีจิตอุปาทานยึดมั่นก็ฝันได้ ถ้าจิตท่านโกรธ ผูกพยาบาทเก่ง จะฝันร้าย จะฝันหนีโจร เป็นนิมิตที่เลวร้าย เพราะจิตมันไม่ดี

ถ้าสติดี มีปัญญาดี จะฝันเรื่องจริงได้ ฝันแล้วเป็นเรื่องจริง ถ้าจิตเก๊ ก็ฝันเก๊ ๆ จิตปลอมก็ฝันปลอมออกมา

อาจารย์สอบอารมณ์บางคนชอบถามว่า ห็นอะไรหรือยัง เห็นโน่นเห็นนี่ไหม ไม่ต้องไปถามเขาอย่างนั้นนะ ถามว่า กำหนดหรือเปล่า เวทนาเกิดขึ้นกำหนดอย่างไร ต้องถามอย่างนี้จะถูกต้องมากกว่า ไม่ต้องถามเห็นอะไรไปแนะแนวเขาทำไมอย่างนั้น มีความหมายในการปฏิบัติมาก

เพราะฉะนั้นปักจุดให้ถูก กดปุ่มให้ถูก เหมือนท่านทั้งหลายคิดเลข ลองกดปุ่มผิด ๆ ซิ มันจะออกมาผิด ถ้ากดปุ่มถูก แต่ไฟฟ้าท่านหมด หมายความว่าสมาธิไม่มี กดอย่างไรก็ไม่ออกมาตามรูปแบบนั้น ต้องมีสมาธิ

สมาธิ คือ จับจุดงานของเราไม่วางธุระ การกำหนดจิตให้อยู่ในจุดเดียวกัน อย่างนี้ คือกระแสไฟ ถ้ากระแสไฟมันพร่องไป ไฟไม่ได้กำหนด กดมาผิดทั้งนั้น จะไปโทษเครื่องเขาไม่ดีไม่ได้ เครื่องเขาดีเราบอกว่าไฟไม่มี คือไม่มีสมาธิอยู่นั้นเอง มีความหมายอย่างนั้น ต้องจับจุดให้ถูกอย่างนี้

ถ้าหากว่าไม่รู้จะกำหนดอย่างไร ก็เอาความรู้มากำหนดที่ลิ้นปี่ คิดไม่ออกเลย ทำอย่างไรก็ทำแบบเดิม มันเป็นอดีตไปแล้วคิดไม่ออกไม่รู้จะบอกได้อย่างไร ก็ทบทวน

การทบทวน ดูหนังสือก็ต้องไปดูซ้ำ เรียกว่า ทบทวนหนังสือ ถ้าทบทวนอารมณ์ก็ต้องไปกำหนดอย่างนี้ = หายใจยาว ๆ นั่งท่าสบาย อยู่ตรงไหนก็ตาม อยู่บนรถก็ได้ ทบทวนชีวิต ทบทวนอารมณ์ ว่าอารมณ์ลืมอะไรไปบ้าง เก็บของไว้ที่ไหนมันลืม เลยก็หายใจยาว ๆ มีประโยชน์มาก ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ ดวงหทัย เรียกว่า เจตสิก อาศัยหทัยวัตถุอยู่ที่ลิ้นปี่ วิธีปฏิบัติอยู่ตรงนี้นะ

หายใจยาว ๆ คิดหนอ คิดหนอ หายใจลึก ๆ ยาว ๆ เข้าไว้ เพราะทางปัญญาอยู่ตรงจมูกของเรา ถึงสะดือของเรานะ สั้นยาวไม่เท่ากันอย่างนี้

อีกสักครู่หนึ่ง ถ้ามีกระแสไฟฟ้าครบ คือสมาธิดี คอมพิวเตอร์จะตีออกมาทันที คิดออกแล้วคิดที่แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รู้จะเอาวิชาข้อไหนมาแก้ ปัญญาจะออกมาบอกเราเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ตีออกมา แสดงอย่างนี้และเอาไปใช้เถอะ ได้ประโยชน์มากคิดออกแน่ ของใครของมัน ต้องทำขึ้นมา คือปัญญา ต้องทำให้ถูกจุดนี้

ยืนหนอ ๕ ครั้ง ขอให้คณะอาจารย์แนะแนวให้ถูกต้อง ยืนหนอ ๕ ครั้งนี่ทุกคนไม่เข้าใจ ตะจะปัญจะกะกรรมฐาน ฐานเดิมตั้งแต่มนุษย์ ที่เกิดมาจากคัพภาของมารดาแล้ว มีมาครบ เกศา โลมา นา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โบมา เกศา มีครบ

วิธีกำหนดทำอย่างไร ก็ให้ผู้ปฏิบัติยืนตรงแล้วไม่ต้องชิดเท้า เดี๋ยวจะล้มไป ยืนธรรมดา เอามือไพล่หลังก็ได้ ตัวตรง ๆ วาดมโนภาพ ว่าเรายืนรูปร่างอย่างนี้เป็นมโนภาพ ผ่าศูนย์กลางลงไปถึงปลายเท้า เริ่มต้นว่า

ยืน… จากศีรษะหยุดที่สะดือ ยืน…ถึงสะดือแล้ว สติตามทันไหม นี่ขั้นต้น อ๋อ! สติตามไม่ทัน ยืน… สติตามจิตไปถึงสะดือไหม ถึงแล้ว! ว่า หนอ… จากสะดือไปถึงปลายเท้า นี่วิธีจังหวะที่แน่นอน สติก็ตามจิตลงไปถึงปลายเท้า ได้จังหวะที่แน่นอน สติก็ตามจิตลงไปถึงเรื่องเลย ผ่าศูนย์กลาง ๙๐ องศา นะ

นี่ก็คือ เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนตั้งแต่ปลายขึ้นมาอย่างนี้ แต่วิธีปฏิบัติทำอย่างไร สอนกันไม่ถูกจุดนี้เลย ยืนมโนภาพ จิตก็ผ่านจากกระหม่อมลงไป สติตาม สติควบคุมจิต ยืน… ถึงสะดือแล้วสติตามกัน วรรคสอง หนอ… ลงปลายเท้าได้จังหวะพอดีเลย

ลองดูนะ แล้วสำรวมปลายเท้าขึ้นมาบนศีรษะครั้งที่สอง ยืนดูเท้าทั้งสองข้าง ทางด้านกายานุปัสสนา ยืน… ถึงสะดือ จุดศูนย์กลาง สติตามทันไหม พ้น หนอ… จากสะดือถึงกระหม่อมพอดี นี่ได้จังหวะ ถ้าทำอะไรผิดจังหวะใช้ไม่ได้

บางคนก็หลับตมยืนหนอ ๆ ๆ อะไรยืน ปากพูด ปากกำหนดจิตไม่รู้ สติไม่มี อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ได้ผลเลย ขอเจริญพรอย่างนั้น

วรรคสองยืนถึงสะดือแล้ว สติตามไม่ทันเสียแล้ว จิตมันไวมาก เอาใหม่ กำหนดใหม่ซี ได้ไหม ได้เปลี่ยนแปลงได้ ไม่เป็นไร สำรวมใหม่

จากปลายเท้าหลับตาขึ้นมามโนภาพ จากปลายเท้าถึงสะดือ ยืน… ขึ้นมา เอาจิตขึ้นมาทบทวนเรียกว่า ปฏิโลมอนุโลม เป็นต้น สำรวมจึงสะดือแล้ว ผ่าศูนย์กลางขึ้นมาเลยผ่านลิ้นปี่ขึ้นมา ยืนหนอ…

ถ้าท่านมีสมาธิดี สติดีนะมันจะซ่านไปทั้งตัว จะมีสติครบทางกาย ต้องรู้จุดมุ่งหมายของมันด้วย เอาไปสอนกันให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างสอน ต้องมีหลักสูตร วิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง คืออย่างนี้

สำรวมที่ปลายเท้ายืน… ถึงสะดือแล้ว หนอ…สติตามเลยว่าสะดืออยู่ที่ไหน ลิ้นปี่อยู่ที่ไหน แล้วสติปัญญาดี ปัญญาเกิดจะรู้จักคำว่า กายานุปัสสนาเป็นอย่างไรมันจะแจ้ง สติมีครบในด้านภายในกายนี้

กายภายในก็คือ อารมณ์ กายภายนอกคือ สภาวะอันเป็นรูป สภาวะอันเป็นนามธรรมก็อยู่ในตัว ภายในคือ ตัวกำหนด มันจะซ่านออกมามีสมาธิภาวนา เห็นชัดในรูปแบบออกมา ในรูปร่างของมัน คือรูปแบบนามธรรมชัดอย่างนี้

ครั้งที่ห้า สำรวมที่กระหม่อม มโนภาพ สติ แจ๋วแล้ว ๕ ครั้ง สติก็ตาม จิตอาศัยกันได้โดยเจตสิกที่ลิ้นปี่

ตัวอยากเป็นตัวเจตสิก จิตเป็นตัวที่ดำเนินงานคิดอ่านอารมณ์ต่าง ๆ ได้ อยู่ที่จิต มันก็ลงไปอีก หนอ… ถึงปลายเท้า ลืมตาได้ดูปลายเท้าต่อไป

สำรวมที่ปลายเท้าแล้วกำหนดขวาย่างหนอ เป็นต้น ขวาคืออะไร คือสติระลึกก่อนที่ขวา ซ้ายย่างเป็นตัวสัมปชัญญะรู้ว่าย่างยาวสั้นเท่าไร หนอ… ลงพื้นพอดี นี่เห็นชัดไหม ทำไมได้จังหวะ ถ้าๆไม่ได้จังหวะ เหมือนเราขึ้นบันได ผิดจังหวะ ตกบันไดนะ ไม่ได้ผล ดังที่กล่าวนี้สำคัญมาก

ขณะที่เดินจงกรม มีเสียงอะไรมา กำหนดเสียงหนอ ถ้าขณะเดินจงกรม มีเวทนา ปวดเมื่อย ต้นคอ หยุดเดินยืนเฉย ๆ กำหนดเวทนาไป เอาสภาพความเป็นจริงมาแสดงออกว่า มันปวดมากน้อยเพียงใด ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กำหนดแล้วหายปวด กำหนดต้องการจะให้รู้ว่ามันปวดขนาดได้เวทนาทำให้รู้กฎแห่งกรรมได้ เราจะรู้กฎแห่งกรรมว่าได้ทำอะไร ระลึกชาติได้อยู่ที่ตัวเวทนานะ บางคนไม่รู้หรอก อันนี้จะไม่อรรถาบาย เดี๋ยวจะเสียอารมณ์ เดี๋ยวจะนึกเอาเอง

นึกเอาเองนี่ไม่ได้ต้องให้มันผุดเอง ให้มันเกิดเองอยู่ในจิตใจของตน อย่างนี้เป็นต้น นี่วิธีทำ

และซ้ายย่างหนอ ผู้ปฏิบัติต้องเพ่งลงไปที่ปลายเท้า ไม่ใช่หลีบตาเดินนะ ไม่ใช่แหงนดูฟ้าและหลับตาดูไม่รู้เรื่อง ต้องเพ่งดูความเคลื่อนไหวของรูปนาม ว่ารูปนามมันเคลื่อนไหวอย่างไร จนชำนาญการแล้ว ไม่ต้องไปกำหนดอย่างนั้นก็ได้ มันจะเดินไปถูกจังหวะของมันเอง สติมันจะบอกทุกระยะอย่างนี้ เป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้น

ขณะที่เดินจิตออก จิตคิดหยุด อย่าเดิน เอาทีละอย่าง กำหนดที่ลิ้นปี่อีก แล้วหายใจยาว ๆ กำลังเดินจงกรม คิดหนอ ๆ มันไปคิด เอาเหตุผลมาตั้งบวกลบคูณหารไปตามลำดับ

คิดหนอ ๆ ฟุ้งซ่านที่ไปคิดนั้นเดี๋ยวคอมพิวเตอร์จะตีออกมาถูกต้อง อ๋อไปคิดเรื่องเหลวไหล รู้แล้วเข้าใจแล้ว ถูกต้องแล้ว เดินจงกรมต่อไป

ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินให้ช้าที่สุด เพราะจิตมันเร็วมาก จิตมันไวเหลือเกิน ทำให้เชื่องลงทำให้คุ้นเคย ช้าเพื่อไวนะเสียเพื่อได้ ต้องจำข้อนี้ไว้สั้น ๆ เท่านั้นเอง

นี่เวทนาเกิดขึ้นก็กำหนด คิดออกก็กำหนดฟุ้งซ่านออกก็กำหนด กำหนดทีละอย่าง อย่าเอาหลายอย่างมาปนกัน ใช้ไม่ได้ ต้องรู้จริง รู้แจ้ง เห็นจริง เห็นแจ้ง เห็นใจใน เห็นอารมณ์เราอย่างนี้จะถูกต้องมาก

ที่ว่า ยืนหนอ… อย่าลืมนะต้องกำหนดให้ได้ เดินจงกรมเสร็จนั่งภาวนา ที่ว่าพองหนอยุบหนอ เป็นการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ สร้างสมาธิ  แล้วสิ่งแวดล้อมจากจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่มาของขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ ต้องรู้อย่างนี้เป็นทีละอย่างไป ไม่ใช่กำหนดกันใหญ่เลยนะ

กำหนดอยาก… กำหนดโน่น กำหนดนี่ มันจะมากไป เอาแต่น้อยก่อน เพราะเดี๋ยวจะกำหนดไม่ได้ เอาทีละอย่างไปเดี๋ยวก็ได้ดีเอง แล้วค่อยกำหนดต้นจิตทีหลัง

ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอ ๆ นี่ต้นจิตเป็นเจตสิกเอาไว้ทีหลัง ค่อยเป็นค่อยไปก่อน ค่อย ๆ ทำฝึกให้มันได้ขั้นตอน ให้มันได้จังหวะก่อน แล้วฝึกละเอียดทีหลัง ถ้าเรากำหนดละเอียดเลยขั้นตอนไม่ได้ ก็เป็นวิปัสสนึกไปเลยพองยุบก็ไม่ได้

เดินจงกรมเสร็จแล้ว ควรนั่งสมาธิ ท่านอย่าไปทำงานอื่น ๆทำให้ติดต่อกันเหมือนเส้นด้ายออกจากลูกล้ออย่าให้ขาด ทำให้ติดต่อไป นั่งสมาธิ จะขัดสมาธิสองชั้นก็ได้ ชั้นเดียวก็ได้ หรือขัดสมาธิเพ็ชรก็ได้ แล้วแต่ถนัด ไม่ได้บังคับแต่ประการใด มือขวาทับมือซ้าย หายใจเข้ายาว ๆ

ก่อนกำหนดพองยุบ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ แล้วสังเกตท้อง หายใจเข้าท้องจะพองไหม หายใจออกท้องจะยุบไหม ไม่เห็นเอามือจับดู เอามือวางที่สะดือแล้วหายในยาว ๆ ท้องพองเราก็บอกว่าพองหนอ ยุบหนอให้ได้จังหวะ

ใหม่ ๆ อึดอัดมาก เพราะเราไม่เคย ต้องทำให้ได้ไม่ใช่พองหนอยุบหนอเอาแต่ปากนะ จิตใจทำไม่ได้ มันอยู่ที่จุดนี้ต้องทำให้ได้

บางคนมีนิมิตอย่างโน้น นิมิตอย่างนี้ มันมากไปมากเรื่อง เอาอย่างนี้ก่อนนะ เราหายใจเข้ายาว ๆ ที่ท้องพอง กำหนดพองไม่ทันหนอ ยุบแล้ว ไม่ทันหนอ พอขึ้นไปอีกแล้ว

วิธีปฏิบัติทำอย่างไร วิธีแก้พองคนละครึ่งซิ พองแล้วหนอเสียครึ่งหนึ่ง ลองดูสำหรับเราทุกคน ถ้าพอครึ่งไม่ได้ หนอครึ่งไม่ได้ เอาใหม่ เปลี่ยนใหม่ได้ เปลี่ยนอย่าง ไร พองหนอไปเลย ยุบแล้วลงหนอให้ยาวไปเลย เดี๋ยวท่านจะทำได้ ไม่ขัดข้อง ไม่อึดอัดแน่ใหม่ ๆ นี่ย่อมเป็นธรรมดา

ถ้านั่งไม่เห็น มือคลำไม่ได้ นอนลงไปเลย นอนเหยียดยาว นอนหงายไปเลย เอามือประสานท้อง หายใจยาว ๆ แล้วว่าตามมือนี้ไป พองหนอ ยุบหนอ ให้คล่อง พอคล่องแล้วไปเดินจงกรม มานั่งใหม่ เดี๋ยวท่านจะชันเจน นี่วิธีแก้ไข วิธีปฏิบัติให้ได้จังหวะ อย่างนี้เป็นต้น มีความหมายเหลือเกิน

ถ้าท่านโกรธกำหนดเลยนะ ถ้าท่านรู้สึกอยากได้กำหนดเลย รู้สึกเกลียดใครก็กำหนดเลย เป็นวิธีแก้ปัจจุบัน วิธีการแก้ปัญหาที่โกรธ

ผูกพยาบาทใครก็ต้องกำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าปล่อยให้ค้างคืน ปล่อยให้เลยไปถึงจิตใจ เหมือนโจรเข้าไปในห้องในฉะนั้น มันก็จี้เราได้ เราก็ยอมจำนนมัน โดยวิธีนี้

โกรธหรือ ต้องแก้ปัญหากำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าไปผลัดไว้แก้พรุ่งนี้ ผูกความโกรธเข้าไว้ทำให้ใจเศร้าหมอง ตลอดคืนยังรุ่ง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียเวลามาก จึงต้องแก้เดี๋ยวนี้

โกรธหนอ โกรธหนอ ปักจิตไว้ที่ลิ้นปี่ สติรวมไว้ แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะออกมา อ๋อไปโกรธเขาทำไม่เล่า มันจะออกมาอย่างนี้ใครบอก อารมณ์เราบอก จิตบอก สติบอก ปัญญาบอก สรุปเหลือปัญญาบอก เราจะรู้แจ้งเห็นจริงเลย เพราะปัญญาบอกเราเอง

เหมือนอย่างตัวเราบอกเองดีกว่าคนอื่นมาบอกเรา เราสอนตัวเองดีกว่าคนอื่นมาสอนเรา เราจะเห็นแจ้งชัดเจนดีมากในโอกาสนี้นี่กำหนดอย่างนี้

กำหนดเวทนา ถ้าหากว่าพองหนอ ยุบหนอแล้วเกิดเวทนาต้องหยุด พองยุบไม่เอา เอาจิตปักไว้ตรงที่เกิดเวทนา เอาสติตามไปดูซิว่ามันปวดแค่ไหน มันจะมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ปวดหนอแล้วหายเลย ไม่หาย มันยังไม่หาย มันยังไม่เป็นวิปัสสนา ยังเป็นสมถะ มันยังเป็นอุปาทาน ยึดเวทนาอยู่

เหมือนท่านทั้งหลายเป็นไข้เอาจิตไปแตะที่ไข้ จิตท่านก็เป็นไข้ไปด้วย อย่างนี้แหละ ท่านทั้งหลายโปรดทราบ ยังแยกรูปแยกนามยังไม่ออก แยกเวทนาไม่ออกก็ต้องยึดอย่างนี้ก่อน

พอยึดปวดหนอ โอ้โฮยิ่งปวดหนัก ตายให้ตาย ปวดหนักทนไม่ไหวแล้ว จะแตกแล้ว ก้นนี่จะร้อนเป็นไฟแล้ว ทนไม่ไหวแล้วตายให้ตาย กำหนดไป กำหนดไป สมาธิดี สติดี เวทนาเกิดขึ้นดับไปซ่า! หายวับไปกับตา นี่แยกเวทนาได้ แยกรูปแยกนามได้ ใช้ได้ใหม่ ๆ ยังแยกไม่ออก ยังกอดกันอยู่ มันยังปวด ไม่รู้จักหาย

ขอให้ท่านอดทนฝึกฝนในอารมณ์นี้ให้ได้ เวลาเจ็บ ท่านจะได้เอาจิตแยกออกเสียจากป่วยจิตไม่ป่วยไม่เป็นไรนะ สำคัญจิตไปป่วยเสียด้วย เลยก็หมดทั้งกายทั้งใจ หมดอาลัยตายอยากอยู่ในจุดนี้ อันนี้เรื่องสำคัญมาก ต้องกำหนดอย่างนี้

 

ถ้าท่านง่วงเหลือเกินกำหนดง่วงหนอ ๆ แต่ปาก หายง่วงไม่ได้ ทำอย่างไรล่ะ จะกำหนดได้ กำหนดอย่างไรจะไม่ง่วง เอาจิตกำหนดที่อุณาโลมง่วงหนอ ๆ ๆ ๆ สำรวมจิตไว้ที่โหงวเฮ้ง รับรองหายง่วงทันที นี่วางจุดให้มันถูกเรื่องกันซิ ไม่ใช่กำหนดแต่ปาก แก้ไขปัญหาไม่ได้

ถ้าหากว่าเรานอนไม่หลับ ถ้าสมาธิดี ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบมันนอนไม่หลับ หายใจยาว ๆ นอนลงไปหมายถึงว่า หน่วยกิตดีแล้วสะสมไว้ได้มากแล้ว หลับทันทีนะ วางจิตไว้ที่ไหน กดปุ่มไหน ต้องเอาจิตไว้ที่ลูกกระเดือก เอาสติไว้ที่ลูกกระเดือก หายใจยาว ๆ เอาจิตไว้ที่ลูกกระเดือกที่กลืนน้ำลายตั้งสติไว้ เดี๋ยวท่านจะหลับผล็อยไปเลย หลับโดยมีสติด้วย พลิกตัวกี่ครั้งรู้หมดเลยนะ อย่างนี้เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติยืนก็ทำได้ เดินก็ทำได้ นั่งก็ทำได้ นอนก็ทำได้ นอนทำอย่างไร ถ้านั่งไม่ทนก็นอนลงไป สำคัญอย่านอนหลับ นอนกำหนดพองหนอยุบหนอ ถ้าท่านมีสติดี สมาธิดี ปัญญาเกิด ท่านจะหลับวูบลงไปตอนพองหรือตอนยุบจับให้ได้ ถ้าจับหลับได้ท่านจะพลิกตัวกี่ครั้ง ตื่นเวลาไหนได้ตามความเหมาะสม

จะตื่นตีสี่ พอถึงตีสี่มันจะสะดุ้งขึ้นมา ตื่นทันที ปัญหามีอยู่ว่า ตื่นแล้วจะลุกหรือเปล่า ถ้าจะนอนต่อก็มีปัญหาเหมือนกัน สำคัญเคยชินอย่างนี้

ขอเรียนพระอาจารย์ และเรียนคณะอาจารย์หญิงชายด้วย สอนให้ถูกจุดนี้ให้เหมือนกัน นี่วางปุ่มนี้รับรองได้ เห็นหนอ ๆ ถ้าเรายืนหนอได้ รู้จักคำว่าอารมณ์ของเรา จากปลายผมลงไป จากปลายเท้าขึ้นมา ๕ ครั้ง มันก็เห็นจากปลายผมลงไปปลายเท้า จากปลายเท้าขึ้นไปปลายผม ที่เห็นคนอื่น ก็ไม่เห็นตัวเรา

เราจะรู้ว่าคนนี้นิสัยเป็นอย่างไรทันที ขอให้ส่งกระแสจิตออกที่โหงวเฮ้ง ส่งกระแสจิตที่ระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ส่งออกไปเห็นหนอเห็นอย่างไร เห็นด้วยปัญญา เราเกิดสัมผัสกับคนนี้ขึ้นมา คือ เห็นหนอ เห็นรูป เห็นนาม คนนี้เดินเข้ามาแล้ว คอมพิวเตอร์จะตีออกมาเลยว่าคนนี้คบไม่ได้ นิสัยไม่ดี สัมผัสแล้วเกิดสติปัญญาทันที คนนี่เดินเข้ามาทำไม อ๋อ ทราบแล้วสติจะแจงบอกให้เราเข้าใจ สัมปชัญญะรู้ตัว คือตัวปัญญาตัวเดียว

คนนี้เข้ามาจะขอยืมเงิน รู้แล้ว ปัญญาตัวรู้จะผลักดันให้คอมพิวเตอร์ตีออกมา อย่าให้! ยิ้มเข้ามาแล้วตั้งแต่หน้าประตูบ้าน เป็นมิตรตอนกู้เป็นศัตรูตอนทวงอย่าให้โกรธกันในวันนี้วันเดียวเท่านั้น นี่มีประโยชน์ไหมนี่

มีผู้ปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางเสียเยอะแยะเลยรู้ไม่จริงอย่างนี้นะ บางคนนั่งผงกแล้วโงกไปโงกมา สมาธิดี ขาดสติ อะไรอย่างนี้ใช้ไม่ได้ นี่แหละสมาธิดี แต่สติใช้ไม่ได้ ไม่มีสติเลยนะ นั่งโงกไปโงกมา ก็กำหนดรู้หนอ ๆ ๆ โอ๊ยรู้แล้วไม่โงกเลย

โยมทั้งหลายจะเห็นคนในรถยนต์ นั่งโงกไปโงกมา ถ้านั่งมีสติสัมปชัญญะดีจะไม่โงก จะหลับอย่างสบาย จะไม่ไหวติงในประการทั้งปวง นี่เห็นชัดขาดสติมาก

ทำอย่างไรจะหายโงก ก็กำหนดเสีย โงกหนอหรือรู้หนอก็ได้ ถ้ามันไม่หาย กดจิตไว้ที่ใต้สะดือ ๒ นิ้ว นี่วิธีแล้ว กดลงไปลึก ๆ กำหนดรู้หนอ เดี๋ยวหายโงกทันที โงกงึมนี่หายเลย จับจุดได้ตรงนี้

อาตมากำลังเขียนตำราคู่มือบางคนจะได้มีวิชาการสอบอารมณ์ วิธีปฏิบัติสอบอารมณ์ด้วย อย่าไปสอนเขาส่งเดช แล้วปฏิบัติไม่ถูกจุด มันก็ไม่ได้ผล

เพราะการเจริญวิปัสสนา การเดินจงกรม การนั่งภาวนานี้ เป็นการสร้างข้อมูลใส่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด คือ ทบทวนอารมณ์จิต ให้เข้าข้อคิดผู้มีปัญญาแล้วอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราครบ ถึงเวลาคอมพิวเตอร์จะตีออกมา แก้ปัญหาให้เราเอง ของใครของมัน เครื่องใครเครื่องมันนะ มันจะเหมือนกันอย่างไรเล่า

การเดินจงกรมเป็นการสร้างข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นการสร้างสิ่งที่เร้นลับ ที่กระจัดกระจายตีให้แตก ให้แยกกันได้แล้วข้อมูลจะเก็บไว้

การเดินจงกรม การนั่งภาวนา เราก็ไม่ทราบว่าปัญญามีได้หรือไม่ เป็นการเก็บข้อมูลสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ สร้างข้อมูลไว้ในเครื่อง ถึงเวลาแล้วมีข้อมูลครบ เราจะกดปุ่มไหนมันจะออกมาแก้ ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่จะแก้ปัญหา

ถึงมีทุกข์มียากมีลำบากขึ้นมา คอมพิวเตอร์จะตีไปตามขั้นตอนโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกำหนดก็ได้ เพราะเราถึงขั้นแล้ว ทำความดีถึงขั้นแล้ว มันจะบอกเลยว่าเราเดินทางไปไหน จะมีความสุขสบายประการใด

คอมพิวเตอร์จะตีออกมาว่าเดินทางให้ระมัดระวังจะต้องมีปัญหาระหว่างทาง เราก็เริ่มสร้างความไม่ประมาทระหว่างทาง ถึงจะมีเรื่องเกิดขึ้นมามันก็น้อยลงไป เพราะเราคอยระมัดระวังไว้ นี่คือประโยชน์จากการเจริญวิปัสสนา

บางคนไม่เอา สอนผิดจุดกันหมด ขอให้ผู้ปฏิบัติธรรมทำจุดนี้ท่านทั้งหลายจะดูได้ อุณาโลมา หน้าผากนี่ดูคน เห็นหนอ ไม่ต้องไปสร้างภาพ โดยที่ว่าเห็นคนโน้นอย่างไร คนนี้อย่างไหน ไปสร้างอย่างนั้นให้ไม่ได้ ต้องประสบการณ์เห็นอย่างไร ต้องว่าอย่างนั้นมันเกิดจำเป็นจะต้องเห็น เราก็กำหนดทันที

ไม่ใช่ไปเห็นเขาก็กำหนดสวย กำหนดรวยไม่ใช่นะ ต้องประสบการณ์เฉพาะปัจจุบันธรรมเท่านั้น อดีตไม่เอาอนาคตไม่เอาทั้งนั้น ปัจจุบันเป็นการสร้างเสริมข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และกดปุ่มไหน ปุ่มนั้นจะออกมาตามข้อมูลนั้น ๆ ข้อมูลที่ป้อนก็คือสติสัมปชัญญะครบ

ถ้าสติสัมปชัญญะครบแล้ว ป้อนข้อมูลเข้าไปก็แสดงออก ตีออกมาโดยถูกต้อง ถ้าข้อมูลไม่ดีป้อนไม่ถูก อารมณ์เราไม่ดี ป้อนผิดหมด ออกมาผิ ด อย่าไปโทษเครื่องคอมพิวเตอร์

เครื่องคอมพิวเตอร์เขาเป็นธรรมชาติแต่เราป้อนข้อมูลผิดเอง อารมณ์เราไม่ดีอย่างนี้เป็นต้น เลยออกมาเสียหายมากมาย ดังที่กล่าวแล้ว

ขอเจริญพรญาติพี่น้องที่เข้าใหม่ ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ขออย่างเดียวอย่าคุยกัน อย่าเอาหนังสือไปดู เอาให้มันรู้ ให้แจ้งชัด ปัจจัตตัง ด้วยตนเอง ให้มันเกิดเอง ของเกิดเองโดยธรรมชาติ ให้มันผุดขึ้นมาเรียกว่า ภาวนา เกิดเองนี่เป็นของที่จะต้องแจ้งถึงใจเราเอง

และจิตใจเราก็ละพยศได้ ละทิฏฐิมานะได้ เพราะเราเห็นด้วยใจ อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าปัญญาแหลมลึก ปักลงไปที่ภาวนาของเรา ทำเป็นคนโง่ อย่าทำเป็นคนฉลาด

ขณะปฏิบัติอย่าประเมินผลอย่าวิจัยว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าวิชาการมากนัก ท่านปฏิบัติไม่ได้สมปรารถนาอย่างแน่นอน โง่ไว้ก่อน เก็บตำราใส่ตู้ไว้ก่อน ใช้ตำราที่อยู่ในจิต ที่มันขาดการดูแลมานาน ขาดการควบคุมมานาน

การดูแลนี้จะยากอยู่ เพราะปล่อยจิตไปตามยถากรรม จะใช้สติปัญญาแม้กว่า ๕ นาทีก็ยาก ขาดสตินั่นเอง ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นโดยวิธีนี้

ขอเจริญพรญาติพี่น้องผู้ใคร่ธรรม สัมมาปฏิบัติในหน้าที่ดังกล่าวนี้ รับรองท่านจะมีปัญญา คนมีปัญญาขยันไม่พัก คนที่ขาดปัญญาจะไม่ขยัน จะไม่ทำงาน ทายอะไรก็ผิดพลาด

เพราะการนี้เป็นการกำหนดเป็นการปฏิบัติ เป็นการคาดคะเนได้ถูกต้อง เพราะอารมณ์ของเราเคยสัมผัสวสีเข้าออกให้ถูกต้อง เกิดไปสัมผัสกับคนนี้เป็นอย่างนี้ไปสัมผัสกับคนอื่น อารมณ์อย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้อีก อ่านตัวออกบอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น เห็นตัวตาย คลายทิฏฐิ ดำริชอบ ประกอบกุศล ได้ผลอนันต์ เป็นหลักฐานสำคัญแน่ นี่มันอยู่ที่ตัวปฏิบัติ ไม่ได้ดูที่ไปอ่านหนังสือได้นั่นเป็นวิชาการแต่เราก็ต้องเรียนเหมือนกัน ต้องรู้ไว้

การปฏิบัติทบทวนและมาดูวิชาการ ท่านจะแนบสนิทติดหัวใจ ท่านจะสามารถขยายความจากวิชาการได้ดีมาก เสริมวิชาการให้สูงขึ้น ดังที่กล่าวนี้

เท่าที่อาตมาชี้แจงเบื้องต้นมา ขอให้นักปฏิบัติธรรม กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มาก ท่านจะได้ของจริงติดตัวไป

อย่าทำของปลอม เพราะปลอมชอบสบาย ของจริงคนไม่อยากได้เพราะทำยาก ของจริงต้องได้มาด้วยความลำบาก ต้องอดทนต้องฝึกฝน มาใช้ของจริงในห้องกรรมฐาน เพราะใช้ชีวิตจริงตั้งแต่บัดนี้

ที่เราอยู่บ้านสบายมามากนั่นแหละของปลอมเป็นของที่ยั่วยุเป็นของที่ให้สบาย ความสบายนี่เป็นของปลอม ความทุกข์ความยากเป็นของจริงได้ทุกสิ่ง

สุขได้มาจากทุกข์ ขยันได้มาจากขี้เกียจ ร่ำรวย สวยดี มั่งมี ศรีสุขได้มาจากความจนที่ไม่มีอะไรเลย เรามาสร้างมาทำขึ้น มันก็รวย มันก็สวย มันก็ดี มันก็มีปัญญา

นี่แหละท่านทั้งหลายเอ๋ย ธรรมะแปลว่าทุกข์ไม่ใช่ความสุข ความสุขที่แน่นอนมีที่ไหนเล่า นอกเหนือจากบรมสุข คือพระนิพพานเท่านั้น ความสุขในโลกมนุษย์มีแต่เจือปนหมด ไม่มีของจริงเลย มีแต่ของปลอดยั่วยุ มีแต่ของที่เป็นของเก๊

ที่เรามานั่งในห้องกรรมฐานมาใช้ของจริงกัน แสดงออกของจริงทั้งนั้น แต่เราจะทนรู้ของจริงหรือไม่ประการใด เป็นเรื่องของท่านทั้งหลาย แต่ละรายไป

ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ขอให้ทุกท่านรีบเดินทาง ข้ามเกาะแก่งทุรกันดาร อุปสรรคทั้งหลาย ถึงฝั่งฟาก ความสำเร็จ คือพระนิพพาน โดยทั่วหน้ากัน ณ โอกาสบัดนี้เทอญ