ปัญญา เกิดจากการปฏิบัติ

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

การกำหนดท้องพองยุบ ก็คือ อานาปานสติ ที่พระพุทธเจ้าได้ดำเนินมาแล้วเช่นเดียวกัน สมาธิแน่วแน่นี่ต่างกัน ทางที่เจริญปัญญาตามสติปัฏฐาน ๔ สมาธิยังไม่คงที่คงวาคงศอกแน่วแน่แต่ประการใด มันจะมีพวกกิเลสต่าง ๆ อารมณ์ต่าง ๆ มาแทรกแซงอยู่เสมอ นี่เราใช้สติกำหนดได้อย่างนี้ มันจะมีความสงบได้แค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เราจะกำหนดได้ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น แล้วปัญญาจะเกิดเองตามลำดับ แล้วความคุ้นเคยก็จะมาสงบต่อไปภายหลัง

ในด้านวิปัสสนาอันนี้ก็ค่อยเป็นค่อยไป ที่อาตมาว่า ตั้งสติที่ลิ้นปี่นี่เราต้องสะสมไว้ให้ได้ อาตมาเคยสอนเด็กมาแล้ว บางทีเขาเรียนวิชาการที่จะสอบ คิดไม่ออกก็ให้ตั้งสติที่ลิ้นปี่เป็นวิธีปฏิบัติได้ผลมาแล้ว คือการกำหนดโดยหายใจยาว ๆ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ ๆ ยาว ๆ นี่สำหรับนักศึกษาเด็กชั้นระดับวิทยาลัย อีกสักครู่หนึ่งเขาคิดออก ตอบได้ตามนั้นแล้วไม่เคยผิดพลาด อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับที่ลิ้นปี่ บางทีเราไม่รู้ตัวว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรามีสติกำหนดตรงลิ้นปี่รู้หนอ ๆ พอสติดีปัญญาเกิด เราก็รู้อะไรขึ้นมาเหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่วิธีฝึก แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่เกิดเฉพาะหน้า ก็ปฏิบัติอย่างนั้น

แต่ฝึกที่ว่า พองหนอ ยุบหนอ การเดินจงกรมนั้นเป็นการฝึกตามระเบียบที่กำหนดนั่นเอง ปัญญานี้ไม่ใช่วิชาการ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ต้องทิ้งตำรับตำราวิชาการ โดยปฏิบัติตามหลักเหตุผลนี้ โดยทิ้งทิฐิ ทิ้งตำรับตำราหมด กำหนดไปเรื่อย ๆ เป็นการสะสมหน่วยกิตให้เกิดปัญญา คือรอบรู้เหตุผลในอารมณ์ที่เกิดขึ้นแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเขามาถามปัญหาท่าน ถ้าท่านมีปัญญาในเรื่องนี้ ท่านจะแก้ปัญหาให้เขาได้ประการหนึ่ง ประการที่ ๒ ถ้าเรามีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนผงเข้าตาเรา เราสามารถใช้ปัญญาแก้ไข ก็คือความสามารถให้เกิดความสุขในครอบครัวได้ นี่ปัญญาอย่างนี้ ไม่ใช่มานั่งแล้วเกิดปัญญา ไปเห็นโน้นเห็นนี้

ปัญญาที่รอบรู้เหตุผล คือ ปัญญาช่วยตัวเองได้ สามารถจะขจัดปัดเป่าความชั่วจากตัวได้ แล้วกิเลสที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรา สามารถยับยั้งได้ทันเวลา ไม่ใช่ปัญญารู้ว่าต้องค้าขายอย่างนั้นได้กำไร อย่างนี้ได้กำไร ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ ปัญญาที่เราประสบมาจากการวิปัสสนานี้ มันบอกกันไม่ได้ และให้กันไม่ได้ด้วย มันเป็นพรสวรรค์ของใครของมัน บางท่านที่เป็นวิทยากรก็มีเทคนิคอีกอย่างหนึ่ง บางท่านก็มีอีกอย่างหนึ่งสามารถแก้ปัญหาในส่วนนั้นได้

ปัญญาของวิปัสสนานี้เราจะรู้ได้ คนนี้มีทุกข์เราจะแก้ทุกข์ให้เขาอย่างไร เราจะพูดตามวาระจิตเหมือนพระพุทธเจ้าไปทรงโปรดกับสัตว์ทั้งหลาย รู้วาระจิตของคน อย่างนั้นแก้ไขได้ตามขั้นตอน แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญญาในเรืองทำมาหากินโดยเฉพาะ แต่มันเป็นผลพลอยได้อันหนึ่ง เช่น ปัญญารอบรู้ในสังขาร รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในตัวเรา แก้ปัญหาได้เดี๋ยวนี้

ตามปกตินี่เราไม่รู้ว่าปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญญานี้ไม่ใช่ความเฉลียวฉลาดโดยเฉพาะ แต่มันเกิดปัญญาสามารถแก้ปัญหาที่เกิดเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที อันนี้หายากอย่างที่ว่า เห็นหนอ นี่ที่อาตมาว่านี้ อาตมาก่อนจะรู้เป็นเวลานาน โมหะเกิดขึ้นในตัวเราสามารถยับยั้งได้ทันท่วงที อาตมาว่าขอให้จับให้ได้ว่า คนเดินมานี้มีธุระอะไร แต่เราทำกันไม่ได้ ไม่เคยกำหนดนั่นเอง จึงไม่มีประสบการณ์กับปัญหาเรื่องนี้ บางทีผู้หญิงมา ผู้ชายมา เราจะได้มีปัญญารู้ว่าเขามาธุระอะไร เรื่องอะไรกับเรา นี่ไม่ใช่เป็นวิชาการแต่มันมีปัญญาเกิดขึ้นจากสติตัวเดียวเท่านั้น ดูหน้าตารู้อันนี้ ก็สังเกตเหตุการณ์ อันนี้บอกกันยากนะ ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จะเห็นชัด ถ้าเราเป็นนักวิชาการ เรา ไปเชื่อตำราแล้วไม่ปฏิบัติ ผลที่เกิดจากภาคปฏิบัติจะไม่มี

การศึกษา ภาคปฏิบัตินี้ยากมาก คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาแทรกแซงเรา ก็ขอเจริญพรว่า ให้ กำหนดทีละอย่าง ศึกษาไปทีละอย่าง ทีนี้มันฟุ้งซ่าน ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เพราะไม่ได้ปฏิบัติมานาน เราไม่ได้ฝึกทางนี้ ไม่ต้องวิจัยประเมินผล ให้เกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นด้วยปัญญาของเรา ปัญญาตัวนี้สำคัญ ไม่ใช่ปัญญาสามารถทางวิชาการ แต่กลับเป็นปัญญาทางใน เช่น มีเวทนา กำหนดทีละอย่าง มันก็ปวดอย่างที่อาตมาเจริญพรแล้ว ยิ่งปวดหนัก ๆ เดี๋ยวมันจะเกิดอนิจจังไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์จริง ๆ นะ ทุกข์นี่คือตัวธรรมะ เราจะพบความสุขต่อเมื่อภายหลัง แล้วเวทนาก็เกิดขึ้นสับสนอลหม่านกัน แล้วความวัวไม่ทันหาย ไอ้โน้นแทรกไอ้นี่แซงตลอดเวลาทำให้เราขุ่นมัว ทำให้เราฟุ้งซ่านตลอดเวลา

เราก็กำหนดไปเรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน มันก็จะรู้ในอารมณ์นั้นได้อย่างดีด้วยการกำหนด มันมีปัญหาอยู่ว่า เกิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้น อย่าไปทิ้ง อริยสัจ ๔ แน่นอน เกิดทุกข์แล้วหาเหตุที่มาของทุกข์ เอาตัวนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ แล้วจะพบอริยสัจ ๔ แน่นอนโดยวิธีนี้ อันนี้ขอเจริญพรว่าค่อย ๆ ปฏิบัติ กำหนดไปเรื่อย ๆ พอจิตได้ที่ ปัญญาสามารถตอบปัญหาสิบอย่างได้เลยในเวลาเดียวกัน คนมาเรื่องโน้นเรื่องนี้ เดี๋ยวคอมพิวเตอร์ตีสามารถจะแยกประเภทบอกเขาได้ อารมณ์ฟุ้งย่านต้องเป็นแน่เพราะเราเพิ่งปฏิบัติไม่นาน

แต่อาตมาทำมานานแล้ว ๓๐ กว่าปีแล้ว แล้วทำอย่างจริงจังถึงจะได้รู้ว่าตัวเวทนาเป็นตัวธรรมะ ตัวทุกข์นี่เป็นตัวธรรมะแล้วตัวสุขนี้เป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อก่อนนี้เราก็หาไอ้เรื่องสุข ต้องการมีความสุขความเจริญด้วยกันทุกคน แต่เราไม่ผ่านความทุกข์เลย เราก็สุขเจือปนในความทุกข์ไม่แน่นอน ความสุขเป็นอนิจจังอย่างแน่นอน

อาตมาก็ทำมาหลาย ๆ อย่างเลยจัดจดนี้ได้ เราจึงแบ่งวาระจิตออกไปทำงานและโอกาสที่มันจะเกิดปัญญาเหตุผลข้อเท็จจริง สามารถจะเอาปัญญาของเรานี้ไปช่วยคนอื่นได้ บอกหนทางคนอื่นได้ แต่นี่มันก็ไม่ใช่วิชาการ คือ พองหนอยุบหนอให้ชัด ๆ ไว้ถ้ามันชัดไม่ได้ในตอนใหม่ ๆ ก็ค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่อาตมาว่า นอนตั้งสติไปเรื่อย ๆ

อาตมาว่าเรายึดทางสายเอก ทางอื่นอาจจะถูกของท่าน แต่เราไม่เคยปฏิบัติ เราก็อาจจะว่าของท่านไม่ถูก ให้มีสติก็ใช้ได้ แต่อาตมาว่าอย่างนี้ง่าย ๆ ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ปฏิบัติได้ทุกเวลา อายตนะธาตุอินทรีย์เป็นหลักของเรา อินทรีย์เป็นหน้าที่รับผิดชอบ เกิดจิตที่อินทรีย์ หน้าที่สัมผัส มันก็ปรุงแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ตั้งสติไว้แล้วก็ดับวูบลงไป อันนี้เป็นคำสอนทางสายเอกนะ

พระพุทธเจ้าว่าทางสายเอกนั้นทำได้ทุกเวลา จะยืนเดินนั่งนอน เหลียวซ้ายแลขวามีสติสัมปชัญญะทุกเวลากาล จะหยิบก็มีสติ หยิบแล้วให้รู้ตัวว่าหยิบอะไร อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ละเอียดอ่อน โดยอิริยาบถที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ มีสติหมด แต่ที่เราฝึกปฏิบัตินะ เชี่ยวชาญแล้วไม่ต้องกำหนด มันเกิดขึ้นเอง เวลาเรายกมือขึ้นหรือจะหยิบอะไรนี่ สติจะบอกว่าหยิบมาทำอะไรและเกิดประโยชน์อย่างไร ปัญญามันจะสอดคล้องต้องกัน

เรายึดหลักที่สติปัฏฐาน ๔ เป็นข้อปฏิบัติ เพราะเราทำได้ผลมาแล้ว มันเกิดปัญญารอบรู้เหตุผลชีวิตของเราที่จะต้องเกิดขึ้นในวันหน้า อันนี้เป็นอีกรูปหนึ่ง บางแห่งก็ปฏิบัติกันอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็คงถูกจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันอย่างที่อาตมาเคยพูดเสมอ คือ คลำช้าง มันก็คือช้างด้วยกัน เป็นช้างตัวเดียวกัน จะไปว่าของท่านผิดก็ไม่ได้หรอก

แต่การที่แก้จริตในสมถะ ๔๐ ประการนั้น ก็ต้องแก้จริตไปแล้วแต่ชอบเพ่งรูปสวยก็ไปสำเร็จมรรคผลนิพพานเหมือนกัน แต่ต้องเจือจางหายไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไปเป็นทางวิปัสสนาได้ แต่บางแห่งก็ไม่ถูกเหมือนกัน ไปทางไสยศาสตร์ ไปกำหนดทางอื่นไปก็เยอะ ก็แล้วแต่

การหายใจออกยาวหรือสั้นนั้นไม่สำคัญ ๆ อยู่ข้อเดียว คือกำหนดได้ในปัจจุบัน คือ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดได้ หากเรากำหนดไม่ได้ เร็วไป ช้าไป กำหนดไม่ทันก็กำหนดใหม่ อันนี้ไม่ต้องคำนึงถึงว่าพองยาวหรือยุบยาว หรือยุบยาวไป พองสั้นไป อันนี้ไม่ต้องกำหนด เราเพียงแต่รู้ว่ากำหนดได้ในปัจจุบันหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ ก็กำหนดเรื่อย ๆ ไปอย่างนี้เท่านั้นก็ใช้ได้ ทีนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าพองยาวเท่านั้นยุบยาวเท่านั้นเท่านี้ แต่บางครั้งจะรู้เอง จะรู้ว่าพองมีกี่ระยะยุบมีกี่ระยะ บางครั้งมันจะเกิดมาเอง ว่าพองยาวยุบสั้น บางทีบางครั้งยุบยาวยุบลงไปลึกเดี๋ยวพองสั้นมันเกิดขั้นเองนะ อันนี้มีข้อหมายอยู่อันหนึ่งว่า กำหนดให้ได้ในปัจจุบัน

อาตมากว่าจะปฏิบัติพองยุบได้ก็ต้องฝึกอยู่นาน เพราะปฏิบัติพุทโธมาตั้ง ๑๐ ปี ธรรมกายสัก ๖ เดือน ทีนี้เราก็มาเลื่อนทำสติปัฏฐาน ๔ เดี๋ยวพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวพุทโธ อาตมาได้แก่ตัวเอง บางทีกำหนดได้ อ้าวมาตรงนี้อีกแล้ว ทำมานาน ๑๐ ปี มันก็ฝังอยู่นาน แล้วก็ค่อย ๆ ไป อาตมาว่าอย่างนี้แหละดี พองหนอยุบหนออย่างนี้แหละ แต่ก็อดไปติดที่พุทโธไม่ได้ เพราะเราทำพุทโธมาก่อน ๑๐ ปี ทีนี้หนักเข้าอารมณ์ก็ไปหลาย ๆ กระแส แต่พุทโธใช้สติปัฏฐาน ๔ ก็เหมือนกัน ก็ได้เหมือนกันนะ แต่ทำอารมณ์เดียวที่ท้องนี่ทำให้เราเห็นได้ชัด

พองหนอยุบหนอเป็นประการใด บางทีมันจะวูบไปตอนพองหรือวูบไปตอนยุบ นี่ก็จับได้ชัดดีกว่ากันเท่านั้นเอง มีนิมิตอะไรบ้างไหม บางคนบอกว่านั่งหลายชั่วโมงแล้วไม่เห็นอะไร คงจะไม่ได้ดี บางคนเขาว่าอย่างนั้น ข้อเท็จจริงทำวิปัสสนาไม่ต้องการเห็นนิมิต ถ้ามีนิมิตในสมถะเกิดขึ้นแล้วก็กำหนดเห็นหนอไม่เอาเสีย บางแห่งบางคนประสาทไหวติงมันมีอุปาทานยึดมั่น นิมิตเยอะ เดี๋ยวนิมิตเกิดอย่างนี้อย่างนั้นกัน บางทีนั่งแค่ ๕ นาทีเทพธิดาลอยมาแล้ว เห็นโน้นเห็นนี่กันมากมายก็ต้องกำหนดได้ มันเป็นวิธีปฏิบัติ

เวลายืน ที่กระหม่อมตั้งสติให้ดี วับลงไปที่ปลายเท้า ยืนหนอที่ปลายเท้าพอดี สำรวมที่ปลายเท้าขึ้นมาบนศีรษะ ยืนสำรวมนึกมโนภาพ จากปลายเท้าถึงกระหม่อมพอดีหนอ มันจะมีพิจารณาตัวเองโดยเฉพาะ เกิดภาพกายขึ้นมาโดยเฉพาะ แล้วนึกมโนภาพจากกระหม่อมถึงปลายเท้า ทั้งหมด ๕ ครั้ง แล้วก็ลืมตา มันมีความรู้สึกว่า มันชาไป ชาตามตัว แต่มันเกิดคิดในใจขึ้นมาเอง ถ้าเรายืนหนอ บางที่จิตเรามันถากมาทางซ้ายทางขวาจะไม่รู้สึก หากถากทางด้านขวา ทางด้านซ้ายจะไม่รู้สึก

วิธีปฏิบัตินี้ก็ให้กำหนดยืนหนอให้เห็นตัวทั้งหมด ให้นึกมโนภาพว่าตัวเรายืนแบบนี้ ให้กึ่งกลาง ศูนย์กลางจากที่ศีรษะลงไประหว่างหน้าอกแล้วก็ลงไปถึงระหว่างเท้าทั้งสอง แล้วมันจะไม่มีความไหวติงในเรื่องขวาหรือซ้าย บางที่ถ้าเราไปทางขวา ทางซ้ายเราไม่มีความรู้สึก แต่ไม่ใช่อัมพาต มันเกิดเอง ยืนนี่กำหนดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ให้จิตมันพุ่งไปได้ตามสมควร จากคำว่ายืนหนอ ยืนจากซ้ายหนอขึ้นบนศีรษะพอดี บางทีจิตนี่มันลงไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง ทีนี้เราก็แวบลงไปในมโนภาพให้รู้สึกว่าเรายืนท่านี้ลงไปเท่านั้น

พองยุบก็เหมือนกัน ตอนแรกก็ชัดดี พอเห็นหนักเข้าก็เลือนลางบางทีแผ่วเบา จนไม่มองเห็นพองยุบ ถ้ามันตื้อไม่พองไม่ยุบให้กำหนดรู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัดเลย ถ้าหากว่าพองหนอยุบหนอนี่มันไม่ชัดแผ่วเบามาก เรายังกำหนดได้ก็กำหนดไป เอามือจับคลำดูก็ได้ว่ามันจะชัดไหม เดี๋ยวก็ชัดขึ้นมา ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ให้กำหนดตัวรู้เสีย รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้แล้วกำหนดพองหนอ ยุบหนอเดี๋ยวชัด จิตฟุ้งซ่านมากไหม ถ้ามีบ้างก็ให้กำหนดสติปัฏฐาน ๔ นั้นมีกำหนดอย่างนี้ อย่างที่ทางพุทโธนั้นไม่ใช่ อาตมาเคยทำมานานกว่าจะเข้าเบาะเข้าแสใช้เวลานานหน่อย ต้องค่อย ๆ กำหนดไป

แต่เรื่องวิปัสสนานี่มีอย่างหนึ่งที่น่าคิด คือ ประการแรก ปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมันมีกิเลสมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้นในตัวเราทั้งหมด เราจะรู้กฎแห่งกรรมความเป็นจริง จากภาพเวทนานั้นเอง ประการที่ ๒ รองลงไปมีอะไรก็กำหนดสติปัฏฐาน ๔ ให้ยึดหลักนี้ไว้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ให้กำหนดเหตุนั้น ไม่ใช่ดิ่งลงไปเฉย ๆ ปัญญาที่จะเกิดนั้นไม่ใช่เกิดเพราะดิ่งเฉย ๆ คือความรู้ตัวเกิดขึ้นโดยสติสัมปชัญญะภาคปฏิบัติจากการกำหนดนี่เอง เวทนาที่ปวดเมื่อยนั้น มันปวดตามโน้นตามนี้เราก็หยุดเอาทีละอย่าง อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว กำหนดเวทนาให้ได้ คือ เวทนากำหนดได้เมื่อใด มากมายเพียงใดซาบซึ้งเพียงนั้น มันเกิดเวทนาอย่างอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องเล็กไป อันนี้ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้

บางครั้งมันอาจจะนึกได้ ไปทำเวรทำกรรมอะไรไว้ไม่ต้องไปคำนึงถึงกรรมนั้นเลย ให้มีข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ฟุ้งซ่านไปอยู่ในกรรม ก็ด้วยการกำหนดเวทนานั้นเอง นี่วิธีปฏิบัติไม่ต้องเอาอย่างอื่นแล้ว กำหนดเวทนาที่เกิดขึ้นกับเราเองโดยเฉพาะ เดี๋ยวมันจะแจ้งชัดขึ้นมาเอง เจ็บมากให้กำหนด เราจะแผ่เมตตาตอนทำกรรมฐานไม่ได้ มีหลักปฏิบัติคือ พอเรานั่งกำหนดเรียบร้อยดี ๑ ชั่วโมง หมดสัจจะที่เราอธิษฐานไว้ เราก็อโหสิกรรม วิธีปฏิบัติอโหสิกรรมต่อการกระทำ เวรกรรมที่ทำไว้อดีต เราอโหสิให้ได้ อโหสิแล้วก็แผ่เมตตาให้แก่เขาโดยวิธีนี้

ยกตัวอย่าง นักศึกษามาจากขอนแก่นเรียนที่วิทยาลัยครูอยุธยา ปวดทนไม่ไหว กำหนดก็ไม่หาย ก็มานึกได้ว่าเมื่อตอนเป็นเด็ก พ่อแม่ให้ไปจับเขียดก็ไปหักขามัน มันกำลังเป็น ๆ เด็กคนนี้เล่าให้ฟัง อาตมาถามว่า “หนูกำหนดหายไหม” “ไม่หายเจ้าค่ะ กำหนดยิ่งปวดใหญ่” “เมื่อก่อนเคยนึกถึงเขียดไหม” “ไม่เคยนึกเลย” หนักเข้าทำอย่างไร ก็แก้ไขปัญหาด้วยการแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล หายปวดเลย เดี๋ยวนี้เป็นอาจารย์ไปแล้ว สำเร็จ คบ. ก็ใช้วิธีปฏิบัติอย่างที่เราปฏิบัติกันมา……..