ได้อะไร? จากวัดอัมพวัน

โดย เสียงสาน ต้นสา

ากการที่กองทัพบกได้ดำเนินการเปิดการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรกองทัพบกประจำปี ๓๘ ที่วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านมาแล้ว ๓ รุ่นๆละ ๑๕๐ คน ซึ่งการฝึกเช่นนี้มีมานานหลายรุ่นแล้ว จนท่านหลวงพ่อจรัญหรือพระราชสุทธิญาณมงคล ได้พูดเสมอว่า กองทัพบกเป็นผู้ริเริ่มก่อนใครๆ และทำมานานหลายปีแล้ว จนเดี๋ยวนี้วัดอัมพวันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ มีผู้คนมานั่งวิปัสสนากรรมฐานกันมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นของกองทัพบก

การฝึกอบรม ระยะเวลาแตกต่างกันไปตามหมู่คณะ ๒ วัน ๓ วันก็มี ๕ วัน ๗ วันก็มี ผู้เข้ารับการฝึกไม่ต้องเตรียมอะไรให้ยุ่งยากกังวลใจ เพียงแต่เตรียมชุดปฏิบัติธรรมสีขาวสักชุดหรือ ๒ ชุดไปก็พอแล้ว นอกนั้นก็เตรียมกายใจไว้รับเอาตามกำลังบุญของเรา ซึ่งวันหนึ่งจะมีการนั่งสมาธิ ๓-๕ ครั้ง (เช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืน) รวมระยะเวลาก็ประมาณ ๓-๕ ชม. ตอนเช้า ๐๕.๐๐ น. กับเวลากลางคืน ๑๙.๐๐ น. สวมนต์ แผ่เมตตา สลับกับการอบรมแนะนำธรรมและศาสนาพิธี ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนรับศีล ๘ รับประทานอาหาร ๒ มื้อ ดื่มน้ำปานะ เสริม ๒ ช่วง ที่ทุกคนจำได้แม่น คือบทแผ่เมตตาบทแผ่ส่วนกุศล ท่องกันได้ทั้งภาษาบาลีภาษาไทยเพราะหลังจากเดินจงกรมนั่งสมาธิเสร็จแล้ว จะต้องแผ่อุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดา ญาติ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ เทวดา เปรต เจ้ากรรมนายเวร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทุกครั้ง และได้พิเศษคือพิจารณาอาหาร โดยก่อนรับประทานอาหารจะกล่าวพร้อมกันว่า “อาหารและน้ำนี้ ข้าพเจ้าจะรับประทานเพื่อระงับความหิว บำรุงร่างการให้แข็งแรงปราศจากโรคภัยไขเจ็บ เพื่อมีชีวิตอยู่กระทำความดีปฏิบัติธรรมะ ข้าพเจ้าจะไม่รับประทานเพื่อบำรุงกิเลสตัณหาแต่อย่างใด ขอให้ท่านที่บริจาคและท่านที่บริการ จงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากโรคภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง และจงเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้ว ทั่วกันทุกท่านเทอญ”

ด้วยคำพิจารณาที่จับใจ ด้วยผู้ปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์ผู้รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์แน่แท้ จึงมีผู้มีจิตศรัทธาขอจองคิวเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารทุกวัน คงเป็นเพราะว่า การได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรม รักษาศีลนับร้อยนับพันคน นับว่าได้บุญกุศลมหาศาล ในเรื่องการเลี้ยงอาหารแล้ว ที่วัดอัมพวันเลี้ยงดูผู้ไปเยือนตลอดวัน

ที่ผ่านมา พอจะส่งกำลังพลไปวัดอัมพวัน บางคนปฏิเสธ เริ่มคิดสำรวจตนเองว่าเรานี่บกพร่องอะไร? ไปแล้วได้อะไร? อย่าได้สงสัยเลย ไปเถิด ไปแล้วจะรู้แจ้งเอง ได้ไปนับว่าได้บุญใหญ่แล้ว จึงขอให้มองกันเสียใหม่ว่าผู้ที่ไปเป็นผู้พร้อมที่จะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และไปแล้วขอให้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ หากไปหลบๆ เลี่ยงๆ สู้อยู่บ้านดีกว่ายังไม่บาปเท่ากับไป เพราะที่นั่นเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนแห่งธรรมะ คนนับร้อยๆ ทำได้ เราก็ต้องทำได้

ต่อไปคาดว่าจะเป็นหลักสูตรสำคัญหลักสูตรหนึ่ง ที่จะต้องหมุนเวียนกำลังพลไปพัฒนาจิต ข้อสำคัญจะเห็นว่านายทหารระดับผู้ใหญ่ไปฝึกกันมิใช่น้อย อย่างรุ่นที่ ๒ ในจำนวนผู้รับการฝึก ๑๕๓ คน มีระดับ พ.ต. – พ.ท. จำนวน ๑๔ นาย, พ.อ. – พ.อ. (พ.) ๗ นาย บางรุ่นมีระดับนายผล เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้แบ่งชั้นยศ สิ่งที่เราแบกไว้เป็นสิ่งกังวลต้องปล่อยละวางในช่วงนี้ อย่างประธานรุ่นที่ ๒ ท่าน พ.อ. (พ.) ผดุง นิเวศวรรณ ผอ.กกพ.นปอ.ทบ. และ พ.อ.สัมฤทธิ์ คมขำ รอง ผอ.กอศจ.กร.ทบ. ถึงกับปวารณาตัวขอล้างห้องสุขา ห้องน้ำ คนละ ๕-๗ ห้อง เพื่อบำเพ็ญทาน เพื่อชำล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ และอีกหลายคนปวารณาเก็บกวาดเช็คถูกทำความสะอาดวัด จะสังเกตเห็นว่าเวลาหลังรับประทานอาหารต่างขอจองล้างถ้ายชามกัน…นี่อะไรกันหรือ การไปวัดอัมพวันสามารถเปลี่ยนจิตใจกันได้ถึงขนาดนี้ นี่เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า การไปวัดอัมพวันได้สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์กลับมาแน่นอน คติกรรมฐานมีอยู่ว่า “กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมากปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง แล้วนั่งสบาย” ผู้ปฏิบัติธรรมสวมใส่ชุดขาวสะอาดตาเต็มวัดไปหมด แต่ละคนไม่หลงรูปหลงวัตถุ ไม่ตบแต่งร่างกายอะไรที่เกินความจำเป็น

ทหารอย่างเราๆท่านๆ เคยผ่านการฝึกหลักสูตรต่างๆกันมามากมาย เช่นหลักสูตรกระโดดร่ม , จู่โจม , ปจว., ปปส.,สนบ. หลักสูตรของหน่วยของเหล่า แต่ละหลักสูตรแต่ละคนต้องการเอาดี ให้ได้คะแนนดีๆ ที่ดีๆ แต่หลักสูตรนี้ค่อนข้างจะแตกต่าง เพราะไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร ใครทำใครได้ไม่ต้องการปมเด่นเป็นยอดเป็นหนึ่งเป็นรุ่น ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา ท่านมอบหมายให้เราคุมคนคนเดียว คนคนนั้นคือตัวเรา ทำได้เท่านี้ แล้วปฏิบัติตามที่ท่านวิทยากร พ.ท.วิง รอดเฉย (อดีตท่านก็เป็นทหารพลร่มเช่นกัน เป็นวิทยากรหลัก) แนะนำ ก็จะได้อะไรดีๆตามมา

นี่เป็นเพียงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่นำมาเล่าสู่กันฟัง สิ่งที่น่าจะเป็นแก่น คือได้รู้ได้ฝึกปฏิบัติด้านศาสนาพิธีเช่นการสวดมนต์ไหว้พระ การกราบไหว้ที่ทำกันเป็นหมู่คณะมากๆ ทำกันได้อย่างพร้อมเพียง และประการสำคัญ คือการได้รับฟังข้อธรรมะจากหลวงพ่อโดยตรง ซึ่งคงไม่ง่ายนักเพราะระดับพระอริยสงฆ์เช่นท่านหลวงพ่อจรัญ ท่านมีภารกิจธรรมมาก เวลาว่างเว้นมีน้อยเหลือเกิน ซึ่งสิ่งที่เราได้รู้ได้ยินกับหูได้เห็นกับตาในกิริยาอาการสำรวมของท่าน ไม่ว่าจะเป็น การเดิน การนั่ง การกราบไหว้ การเทศนา วิสัชนา ดูเพียบพร้อมงดงามไพเราะน่าเลื่อมใส สมเป็นพระนักวิปัสสนากรรมฐานโดยแท้ แล้วเมื่อเราได้ใกล้ชิดพระอริยะเช่นนี้ย่อมได้บุญกุศลมหาศาลนักแล

ที่ได้อีกและติดปากแน่ๆ คือคำว่า หนอ คำๆนี้ใช้มากที่สุด เพราะเวลาจะเดินจงกรมหรือนั่งวิปัสสนา เช่นยืนหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ กลับหนอ นั่งหนอ พองหนอ ยุบหนอ อิริยาบถต่างๆ จะใช้ หนอ ลงท้ายเสมอ เพราะคำว่า หนอ นี้เป็นชนวนป้องกันกิเลส เป็นคำที่ต้องการให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

อาการ สำรวม การสำรวมเป็นหลักปฏิบัติลดละกิเลสที่ถูกทาง ยามเดินระมัดระวัง ยามนั่งพิจารณา ยามกินกินแบบไม่ติดรส สำรวมตาไม่สอดส่ายโน่นนี่ มีการระมัดระวังอยู่เสมอ ทั้งในด้านที่ทำให้เกิดชื่นชอบ หรือไม่ชอบชิงชัง นี่ก็ได้อีก

สิ่งที่ได้อย่างมากคือ สติ รู้จักใช้พิจารณายับยั้งชั่งใจจะคิดจะทำอะไรรู้ตัว รู้สึกนึกคิดได้ตลอด เช่นโกรธแค้นอย่างรุนแรงถึงกับจะฆ่ากันให้ตาย คนมีสติแล้วจิตจะหยุดคิดหลวงพ่อท่านสอนว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ แล้วจะพบความสุข ให้เอาสติคุมจิตเพราะจิตเป็นตัวเตลิด จิตคิดพอดีแล้วจะทำงานได้ดี มีอะไรมากระทบรุนแรงก็จะเกิดสติหยุดยั้งคิดได้ไม่ดีใจหรือเสียใจจนเกินไป

ที่กล่าวมาก็ได้ทั้งหนอ ทั้งสำรวม และทั้งสติ ซึ่งความละเอียดกว่านี้ต้องไปศึกษาเอาเอง นอกจากนั้นเป็นหัวใจของศาสนาคือ อริยสัจ ๔ อันที่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่นัก ปจว. นำมาจัดระบบการบรรยายทางวิชาการเป็นปัญหา สาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ปัญหา การแก้/วิธีแก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นหนทางแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิตเรา นอกจากนั้นก็มี ขันธ์ ๕ ซึ่งมี รูป กับ นาม แต่ละอย่างคืออะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปอย่างไร ที่ว่า อายตนะภายใน หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส ถูกต้อง-สัมผัส นึกคิดอารมณ์ เป็นอย่างไร ท่านไปวัดอัมพวัน จะได้รู้ยิ่งๆขึ้น

จุดสุดยอดของกองทัพบก คือ ทำการรบให้ประสบชัยชนะ

หน้าที่ของทหาร คือ ช่วยให้กองทัพบกประสบผลสำเร็จ

จุดสุดยอดในโครงการพัฒนาบุคลากรกองทัพบก ที่วัดอัมพวัน เพื่อให้กำลังพลผู้เข้ารับการอบรมมีสติ เพราะมีสติแล้วจิตดี จิตดีแล้วจะพัฒนาตัว ให้ทำแต่สิ่งที่ดีงามและถูกต้อง อันจะเป็นผลพวงถึงความสำเร็จของหน่วยงานเราด้วย